บทเรียนจากความสะเพร่า

ความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รอบคอบย่อมส่งผลกระทบตามมาอย่างปฏิเสธไม่ออก

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบน โรงพักแห่งหนึ่ง ของจังหวัดชลบุรี จับกุมผู้ต้องหา “ผิดฝาแต่ถูกตัว” ทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อ “ผู้กำกับการโรงพัก” กับพวกรวม 3 คนตกเป็น “จำเลย” ถูกฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2

ในความผิดต่อหน้าที่ราชการ

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 83 เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ข้อเท็จจริงเกิดเมื่อเดือนตุลาคม 2560 รองสารวัตรป้องกันปราบปรามพร้อมพวก ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน)ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและมีเหตุอันควร

ผู้ต้องหาอ้างชื่อ นาย อ. บ้านอยู่จังหวัดสระบุรี ถูกนำไปบันทึกจับกุมส่งพนักงานสอบสวนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา มีการถ่ายภาพพร้อมของกลาง และพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติเรียบร้อย

หลังจากนั้นได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพัทยาฝากขัง ส่วนของกลางในคดีนำส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการพิจารณา

ผู้ต้องหาได้ยื่นประกันตัวและหลบหนีไป

อีก 2 เดือนต่อมา ตำรวจกองปราบปรามตามจับกุม นาย อ. ส่งศาลจังหวัดพัทยา

นาย อ.ยื่นขอประกันตัวพร้อมร้องต่อศาลว่า บุคคลที่ตำรวจชลบุรีจับดำเนินคดีไม่ใช่เขา แต่เป็น นาย ช. บ้านอยู่จังหวัดอ่างทอง เป็น น้องชายต่างพ่อ

ศาลจังหวัดพัทยาได้ออกหมายเรียกพนักงานสอบสวน และผู้จับกุม ไปเบิกความยืนยันว่า แท้จริงแล้วผู้ถูกจับกุมเป็น นาย ช.ไม่ใช่ นาย อ.ที่ผู้ต้องหาอ้างชื่อแต่แรก

ศาลเห็นว่า นาย อ. ไม่ใช่บุคคลที่กระทำผิดในคดีจึงปล่อยตัวไป

เป็นเหตุให้ นาย อ. ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ฟ้อง ผู้กำกับการโรงพัก พนักงานสอบสวน และรองสารวัตรป้องกันปราบปราม

เรื่องนี้ พ.ต.อ.ศักดิ์รพี เพรียวพานิช รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เห็นควรแจ้งให้สถานีตำรวจภูธรในสังกัด กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เพื่อทราบเป็นกรณีศึกษาและถือเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องอันเป็นเหตุให้ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นกรณีที่เกิดขึ้น

กำชับให้หัวหน้าโรงพักและผู้กำกับสืบสวนไปประชุมชี้แจงผู้ใต้บังคับบัญชา

เน้นย้ำว่า เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหา ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ชื่อ-สกุล ของผู้ต้องหาที่แจ้งไว้เป็นชื่อ-สกุล ที่ถูกต้องตรงกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจริงหรือไม่

อย่าเชื่อตามที่ผู้ต้องหาแจ้งเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบ

หากมีบัตรประจำตัวประชาชนให้ถ่ายสำเนาไว้ประกอบในบันทึกจับกุม หากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนให้ตรวจสอบในทะเบียนราษฎร์ และต้องตรวจสอบให้ละเอียดด้วยว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ต้องหาหรือไม่

สำหรับพนักงานสอบสวน เมื่อรับตัวผู้ต้องหาให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อไปตรวจสอบประวัติ จากนั้นให้ติดตามผลการตรวจสอบประวัติและลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาให้ได้โดยเร็ว ก่อนนำไปตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้งเพื่อยืนยันอัตลักษณ์บุคคลว่า เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม

ทั้งหมดถือเป็น “บทเรียนราคาแพง” ที่เกิดจากความสะเพร่าไร้ความละเอียดรอบคอบ

คำตอบถึงลงเอยด้วยการตกเป็นจำเลยข้อหากระทำผิดมิชอบต่อหน้าที่ !!!

         

 

RELATED ARTICLES