อุดมคติตำรวจอาชีพ

การเป็นตำรวจอาชีพไม่ง่ายที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสังคมรอบข้างและความคาดหวังสูง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(จวน อุฎฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 16 ได้พระนิพนธ์บทร้อยกรองถึง อุดมคติตำรวจ 9 ประการ เมื่อปี 2499 เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่

ให้สมเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นตำรวจของประชาชน

ทุกนายต้องท่องกันขึ้นใจ ตั้งแต่เริ่มต้นก้าวสู่ ปฐมบทเครื่องแบบสีกากี ทว่าจะมีสักกี่คนบรรลุและยึดถือเอาไปปฏิบัติ

มีคำบรรยายวิชา “อุดมคติตำรวจ” หลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มเติมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานสายตรวจในงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553

ขยายความให้แตกฉานชัดขึ้น

“เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่” ความหมายลึกซึ้งในตัวของมันเอง ท่านเป็นข้าราชการ คำว่า ข้าราชการ มีความหมายมหาศาล เพราะท่านคือผู้รับเอางานของพระราชามาทำ  การทำงานป้องกันปราบปรามเป็นการทำงานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง  ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

เมื่อท่านรับงานเหล่านี้มาทำ ท่านต้องทำให้เต็มที่ ให้สมกับคำว่า เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่

“กรุณาปราณีต่อประชาชน”  ตำรวจอยู่กับประชาชน ต้องได้ใจประชาชน ประชาชนมีความทุกข์ มีเรื่องเดือดร้อน อย่ามองเรื่องขโมยขึ้นบ้าน ถูกจี้ ถูกชิง ถูกทำร้าย ที่ประสบพบเจออยู่เป็นประจำจนเคยชินว่าเป็นเรื่องธรรมดา  เพราะประชาชนที่ได้รับความทุกข์ หรือเรื่องเดือดร้อนดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินพวกเขา  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วตำรวจต้องอยู่กับประชาชน  ต้องทำงานให้ได้ใจประชาชน

การได้ใจประชาชน คือ เขาเดือดร้อนเรื่องอะไร  ต้องไปช่วยเขา  ทำอย่างไรถึงจะบำบัดทุกข์เพื่อให้เขาอยู่อย่างเป็นสุข

“อดทนต่อความเจ็บใจ”  การที่จะมาเป็นตำรวจต้องยอมรับสภาพ  เพราะอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เหนื่อยยาก  เป็นอาชีพที่ต้องผจญกับปัญหานานาชนิด ทั้งคำด่า คำบ่น คำว่า ทำให้ต้องเจ็บใจอยู่ตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มากและปฏิบัติงานอย่าให้ประชาชนดูถูกได้

ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้บอกว่า  “คนเราทนดาบ ทนหอกได้  แต่ที่ทนไม่ได้ คือใครมาดูถูกเรา”

“ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก”  การออกไปปฏิบัติหน้าที่ต้องหนักเอา เบาสู้ ไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  มนุษย์เราอยู่ที่ใจ จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่ใจ ไม่มีใครสามารถบังคับได้ บังคับให้ตายถ้าใจไม่ทำสักอย่าง ทุกอย่างก็จบด้วยการไม่ทำ

ฉะนั้นขอให้เราคิดว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยใจแล้ว เราย่อมจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยดี

“ไม่มักมากในลาภผล”  คำนี้จำเป็นมาก ตำรวจต้องมีอยู่ในใจเสมอ จุดอ่อนมีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ห้ามใจตัวเองไม่ได้ 2.เปราะบางต่อความโลภ แต่อะไรคือ ความพอดี อยู่ในทางสายกลาง  อะไรที่ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน นั่นแหละคือสิ่งที่พอดีโดยไม่ต้องไปรีดไถ

ยึดหลักที่ว่า “เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ไม่มีเรื่อง” บางครั้งตำรวจทำประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นการบริการตามหน้าที่ ประชาชนเขาก็ตอบแทนด้วยน้ำใจอาจจะมากกว่าการกลั่นแกล้งประชาชนเพื่อหวังผลประโยชน์ต่าง ๆ เสียอีก

“มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”  ภาระหน้าที่ของตำรวจ คือ การสร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชน  ถือว่า เป็นการบำเพ็ญตนอยู่แล้ว  ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนในหน้าที่คือสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ดำรงตนในยุติธรรม ตำรวจคือผู้รักษากฎหมาย แต่ตำรวจไม่ใช่กฎหมาย ตำรวจเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความยุติธรรม เป็นผู้รักษากติกา  การดำรงตนในยุติธรรม  รักษาทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกา

ดังนั้นตำรวจต้องมั่นคงในกติกา ตำรวจต้องรักษากฎหมาย

“กระทำการด้วยปัญญา”  ตำรวจทำต้องรู้จริงเสมอ ไม่ใช่คาดเดา  ตำรวจต้องทำทุกอย่างด้วยปัญญา  ต้องขวนขวายหาความรู้มาใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา  เรื่องไหนที่ไม่รู้ ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม  อย่ากระทำลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ความรู้ไม่มีวันหมด จงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

“รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต”  หากใครไม่มีข้อนี้ โอกาสเสี่ยงสูงมาก  ความไม่ประมาทกับชีวิตต้องเสมอกัน ต้องเท่ากัน  ถ้ามีความประมาทเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงชีวิต ความไม่ประมาทจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย เพราะนั่นคือ สิ่งที่จะรักษาชีวิตของตำรวจ ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น เพราะนั่นคือ คนที่กำลังประมาท

ในการจับกุมคนร้ายต้องมีความพร้อม ถ้าไม่พร้อมอย่าเสี่ยง ตั้งแต่การใช้กำลังต้องพร้อม อาวุธต้องพร้อม  ยุทธวิธีต้องรู้

หลักของความไม่ประมาทเสมอชีวิต เป็นหลักสำคัญของการทำงานในอาชีพตำรวจ

แต่สิ่งเจ็บปวดที่สุดของตำรวจอาชีพ คือ การไม่สามารถดำรงชีพอยู่ตลอดรอดปลอดภัยไปใช้ชีวิตบั้นปลายตอนเกษียณอายุราชการให้บรรดาลูกหลานภาคภูมิใจในความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

เสมือนใบประกาศนียบัตรวิชาชีวิตตำรวจ     

 

RELATED ARTICLES