ก้าวที่ 1 เป็ดไก่ไข่เป็นนก

 

 ช้าวันอาทิตย์ที่ 12 ของเดือนมิถุนายน ปี 2531

ผมยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่บนสะพานลอยคนข้ามถนนพระราม 4 ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท นาฬิกาบอกเวลา 8 โมงแล้ว สมหวัง กิตติสัทโธ เพื่อนตัวดีของผมยังไม่โผล่หัวมา มันเป็นความรู้สึกสั่นสะท้านอย่างบอกไม่ถูกกับก้าวแรกที่จะต้องเดินเข้ามหาวิทยาลัยในวันที่รุ่นพี่คณะนัดปฐมนิเทศไม่ต่างจากการรับน้องใหม่

วันนิเทศพบพี่ ที่มีบัตรเชิญจั่วหัวเชิญชวน “นัดพี่นัดน้องรวมพวกพ้องนกนิเทศ” สะใจกับดนตรี อร่อยฟรีกับอาหาร สนุกสนานบานเบิก เอิกเกริกอาสามาเฮ

ส่วนผมอ่านข้อความบัตรในมือแล้ว มันไม่เร้าอารมณ์อยากเฮด้วย เหมือนโดนบังคับให้มามากกว่า ห้วงลึกของความรู้สึกในชีวิตนักศึกษาน้องใหม่อย่างผม ไม่ชินกับการเจอผู้หญิง การเดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัยเพียงลำพังมันไม่ง่ายอย่างที่คิด

ตลอดระยะเวลา 6 ปีในโรงเรียนชายล้วนเทพศิรินทร์ ไม่เคยคิดวิ่งไล่จีบผู้หญิง เพราะวัน ๆ เอาแต่ทำกิจกรรม หรือไม่ก็เตะบอลพลาสติก เดินสายไปเชียร์ฟุตบอลโรงเรียนที่กำลังรุ่งโรจน์เป็นอภิมหาอำนาจลูกหนังขาสั้นของเมืองไทย

6 ปีของผมช่างรวดเร็วเหลือเกิน

ความทรงจำวันสุดท้ายในการสวมเครื่องแบบนักเรียนขาสั้นสีกากียังติดตา สอบวิชาสุดท้ายเสร็จพวกหมู่เพื่อนร่วมห้องไปนั่งตั้งวงเฮฮามีสุราบ้างประปรายอยู่ร้านข้าวเหนียวส้มตำหลังวัด แต่สาบานได้ ผมไม่ได้แตะรสชาติแอลกอฮอล์เลยสักนิด ก่อนยกพลไปตะเบงเสียงเชียร์ลูกหนังโรงเรียนเทพศิรินทร์รุ่น 16 ปี ดวลแข้งกับทีมจังหวัดลพบุรีในศึกฟุตบอลโค้กคัพรอบก่อนรองชนะเลิศชิงแชมป์ประเทศไทยที่สนามเทพหัสดิน

ลูกหนังเยาวชนเมืองละโว้ตอนนั้นเป็นทีมที่แข็งแกร่ง มีกองหลังดาวรุ่งอย่างเอกชัย นิราพาธพงศ์พร เปิดฉากยิงนำเทพศิรินทร์ไปก่อน 1-0 พวกเราแทบหมดหวัง เนื่องจากเวลาเหลือน้อยเต็มที ปรากฏว่ากองหน้าตัวเก่งปราการ จามรี ยิงตีเสมอก่อนหมดเวลาไม่ถึง 10 นาที เรียกเสียงเฮได้บ้าง แต่ถ้าผลออกมาแบบนี้ ทีมดังจากเมืองหลวงที่เปรียบเสมือนเจ้าถิ่นก็ร่วงตกรอบอยู่ดี ความหวังของเทพศิรินทร์ริบหรี่เต็มทน

ผมกับกลุ่มเพื่อนนั่งตากแดดลุ้นกันตัวโก่ง มันเป็นบรรยากาศเดิม ๆ ตลอด 6 ปีในชีวิตนักเรียนมัธยมขาสั้นสีกากีหัวเกรียนอย่างพวกผม

นักเรียนที่มักถูกเพื่อนต่างสถาบันแซวกรอกหูประจำว่า “พวกเด็กวัด” ทว่าพวกผมไม่เคยแคร์ และพร้อมสวนประโยคเด็ดกลับใส่เสมอว่า “ถึงเป็นวัดก็วัดหลวง วัดไว้เผา…มึง” สะใจกว่าเยอะ

นาทีสุดท้ายของเกมนัดประวัติศาสตร์วันนั้น ปราการ จามรี เด็กหนุ่มรุ่นน้องจากสุพรรณบุรีซัดบอลตุงตาข่ายให้เทพศิรินทร์พลิกกลับมาขึ้นนำ 2-1 กลายเป็นประตูชัยส่งให้ทีมลูกแม่รำเพยเข้ารอบรองชนะเลิศ ท่ามกลางเสียงเฮดังกึกก้องไปทั่วสนาม เด็กนักเรียนขาสั้นไม่ต่ำกว่า 1,000 ชีวิตต่างเฮโลวิ่งกรูลงไปดีใจในสนามแบบไม่ได้นัดหมาย

ผมอำลาอาลัยชีวิตนักเรียนขาสั้นกับภาพความประทับใจวินาทีนั้นอย่างไม่มีวันเลือน

คืนร่ำลา ผมนั่งอยู่ในสนามฟุตบอลโรงเรียนรำลึกความหลังกับกลุ่มเพื่อนสนิทไม่กี่คน ทอดสายตามองตึกเรียนเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี คิดเสมอตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเหยียบที่นี่ มีเรื่องราวมากมายในชีวิตนักเรียนมัธยม เวลาผ่านไปราวเกือบเที่ยงคืน ผมเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นั่งย้อนอดีตวัยเด็กจนมาถึงวันที่ทุกคนต้องจากลา

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร จะก้าวไปสู่ฝันที่วาดหวังไว้มากน้อยแค่ไหน หากทว่าวินาทีนั้นมีแต่รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะปนคราบน้ำตาที่ต้องลาจากเพื่อนฝูง

“เฮ้ย…กลับกันได้แล้ว”

“ใช่ กลับเถอะ โรงเรียนไม่ได้หนีไปไหน อยากมาเมื่อไหร่ก็มาได้ มาในฐานะของนักเรียนเก่าจะมาเศร้าทำไมกัน” ผมเตือนตัวเอง ก่อนเดินไปกราบพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 มิ่งขวัญของชาวเทพศิรินทร์ สถานที่ที่ผมมักไปนั่งทอดอารมณ์อยู่เป็นประจำเวลามีเรื่องไม่สบายใจ มันทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นจิตแบบบอกไม่ถูก

พระองค์เป็นนักเรียนเก่า เป็นเสมือนนักเรียนรุ่นพี่ของผม ทรงเข้ารับการศึกษาเมื่อปี 2475 มีเลขประจำพระองค์ 2329 แม้เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่พระองค์ท่านไม่เคยลืมสถาบันแห่งนี้ ทรงรักและผูกพัน เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยจะเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมโรงเรียน พร้อมทรงพระราชทานที่ดินเป็นที่ตั้งสมาคมนักเรียนเก่า สมัยนั้นพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดิน องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ทรงมีความยินดียิ่งและเต็มพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานให้

พระองค์ท่านทรงรับสั่งย้ำด้วยว่า “ฉันเป็นชาวเทพศิรินทร์คนหนึ่งเหมือนกัน”

นักเรียนที่นี่เกือบทุกคนถึงมีความรักและผูกพันเทพศิรินทร์ หลายคนที่ไม่ได้เข้ามาสู่สังคมในรั้วรำเพยอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ถึงวุ่นวายอยู่กับโรงเรียนเก่า ทำไมพวกเขาไม่ลืมอดีตชีวิตเด็กนักเรียนมัธยม

ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน แต่มันเป็นความผูกพันของสถาบันมีชื่อแห่งนี้ที่ไม่มีวันจากลา

“แล้วผมจะกลับมาครับ ผมสัญญา”

สติผมคืนมาอีกครั้งเมื่อเหลือบมามองนาฬิกาข้อมือบ่งบอกเวลาใกล้จะเก้าโมงเช้าแล้ว เพื่อนผมก็ยังไร้วี่แววจะมา ถึงนาทีที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเดินไปรอรถเมล์กลับบ้านดี หรือเดินดุ่ย ๆ เข้าไปมหาวิทยาลัยเพียงลำพัง สักพักเห็นเด็กหนุ่มร่างท้วมนามเกรียงไกร นิมิตสวรรค์เพื่อนต่างห้องในรั้วสถาบันเดียวกันเดินมาพอดี

สวรรค์โปรดจริง ๆ เพื่อนเอ๋ย

“เฮ้ย ไอ้เกรียง เรียนที่นี่ด้วยเหรอวะ” ผมไม่รีรอสวมรอยทักทายก่อนพากันเดินตีคู่กันไป อย่างน้อยวันนี้ก็ไม่มีอาการเด๋อด๋าเคอะเขินแล้ว

นี่หรือ คือ ชีวิตนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากมาเรียนแม้ค่าหน่วยกิตจะแพงไม่ใช่ย่อย

แต่สำหรับผม ไม่มีอยู่ในหัวมาก่อน

ผมเป็นลูกนายตำรวจดับเพลิง แม่เป็นครู ซึมซับฟัง ว.กรอกหูมาตั้งแต่จำความได้ ฝันอยากเป็นตำรวจจับผู้ร้าย เพราะชอบดูหนังแนวสืบสวนสอบสวน ติดซีรีส์หนังดังช่อง 3 สมัยก่อนอย่างมือปราบฮันเตอร์ ฮาวายไฟว์-โอ มุ่งมั่นมาตลอดว่าจะต้องเป็นตำรวจให้ได้ ขี้หมูขี้หมาก็ขอเป็นตำรวจดับเพลิงทำหน้าที่กู้ภัยเจริญตามรอยเท้าพ่อ

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประถมจะขึ้นมัธยม ไปติวเข้มกับอาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่รู้จักกับแม่ ทุกวันอาทิตย์ต้องตื่นแต่เช้าไปจับเจ่านั่งเรียนอยู่ในวัดโพธิ์ เห็นเส้นทางเดินอนาคตพุ่งไปยังรั้วตึกยาวที่เขาว่า สอบกันยากนักหนา เป็นโรงเรียนชื่อดังอันดับหนึ่งของเมืองไทย เห็นข่าวกีฬาในหน้าจอทีวี บอลประเพณีที่สวนกุหลาบยำใหญ่เทพศิรินทร์แล้วยังคิดว่า เลือกถูกสถาบัน

ทว่าชีวิตเหมือนถูกลิขิตเอาไว้แล้วหรืออย่างไรไม่ยืนยัน ถึงเวลาสอบจริง พ่อได้พลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร เจ้านายที่มีพระคุณกับเขามากเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ มีกำลังภายในมากพอที่จะฝากฝังเด็กน้อยอย่างผมได้

“เทพศิรินทร์เหรอ” ผมคิดคำนวณเส้นทางการเดินทาง หากเป็นสวนกุหลาบ ถ้าอยู่บ้านตาแถวท่าพระก็สะดวกไม่น้อย แต่อยู่บ้านพักครูวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพก็คงลากเลือด ผิดกับเทพศิรินทร์ที่มีถิ่นใกล้หัวลำโพง น้องชายยังเรียนประถมโรงเรียนสมาคมสตรีไทยใกล้แยกอุรุพงษ์ พ่อผมทำงานกองบังคับการตำรวจดับเพลิงแยกศรีอยุธยา น่าจะไปด้วยกันได้

“เทพศิรินทร์ก็เทพศิรินทร์” ผมโอเค แต่ก็ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองเหมือนกัน เพราะไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง หนักไปทางเล่นซะมากกว่า มันเป็นวิถีชีวิตหักเหของเด็กทุกคนในวัยประถมขึ้นมัธยมจริง ๆ

ในที่สุด ผมได้เป็นนักเรียนขาสั้นสีกากี หัวเกรียน ปักหน้าอก ท.ศ. เลขประจำตัว 21456 ด้วยบุญคุณที่ยากจะทดแทนของพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร ใช้ชีวิตตามประสาโรงเรียนผู้ชายแสนคุ้มค่า

แต่ว่าผมสอบเตรียมทหารไม่ติดตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 ถัดมาอีกปีมัธยม 6 ลองไปสมัครสอบอีกครั้งเข้าตรงโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ต้องผิดหวังอีกตามเคย

“มันจะไปติดอะไร ในเมื่อเรียน ๆ เล่น ๆ บ้ากิจกรรม ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข อังกฤษ ตกระนาว จบมาได้เกรดแค่ 0.8 …..” ผมยิ้มหัวเราะอย่างไม่อายบอกกับทุกคนเสมอ

อย่างไรก็ตาม ผมยังมีทางไป เลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยากเป็นลูกแม่โดม ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อเอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็ไม่คิดน้อยใจ หันไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เลือกนิติศาสตร์ มองทางกฎหมายที่ยังอาจมุ่งสู่การเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ลงเรียนซัมเมอร์ก็เริ่มรู้แล้วว่า ชีวิตนักศึกษารามคำแหงไม่ง่ายสำหรับเรา

“ไปลองสอบมหาวิทยาลัยกรุงเทพมั้ยลูก” แม่ผมเสนอไอเดีย เพราะมีลูกอาจารย์เทคนิคกรุงเทพด้วยกันเรียนอยู่

“คณะอะไรล่ะแม่” ผมถามแบบไม่ได้คิด ผมรู้ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนค่าหน่วยกิตแพงมาก ไม่อยากรบกวนพ่อแม่

“นิเทศศาสตร์ไง”

“ทำอะไรอะ นิเทศ”

“เยอะแยะลูก”

“มันแพงนะแม่”

“แม่ส่งไหวจะเรียนหรือเปล่าล่ะ” ใจผมตอนนั้นสับสนมาก คำว่านิเทศศาสตร์ที่อยู่ในหัว คือการไปอยู่ในแวดวงมายา โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่ผมไม่ถนัด และไม่ชอบเอาเลย มาสะกิดตรงที่แม่บอกว่า มีถ่ายรูปด้วย ทำให้ผมเริ่มคิดว่า อย่างน้อยงานถ่ายภาพเราก็พอไปวัดไปวาได้ แต่ยังไม่อยากที่จะเรียนเท่าไหร่ใจยังคงจดจ่ออยู่กับนิติศาสตร์ รามคำแพงที่ลงซัมเมอร์เตรียมเปิดเทอมแรกแล้ว

“เรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เรียนรามคู่ไปด้วยได้นะลูก” แม่พยายามโน้มน้าว

“ได้แม่ จะไปลองสอบดู” ผมรับคำเพื่อความสบายใจของผู้เป็นมารดา ไปสอบแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไรนัก คิดว่าไม่ติดด้วยซ้ำ ไม่ได้ท่องหนังสือ ไม่จดจ่ออยากจะเรียน แค่อยากทำเพื่อแม่ ขณะที่เพื่อนเทพศิรินทร์ที่อยู่ห้องเดียวกันแห่ไปสอบด้วยหลายคน แถมยังบอกทำข้อสอบได้หมด

“กูคงไม่ได้” ผมตอบตัวเองหลังฟังพวกมันโวลั่น กลายเป็นว่า ผมติด อีกหลายคนที่เรียนเก่งกว่าหลุดเฉย เหมือนเป็นการสอบคัดเลือดที่ใช้ฝีมือตัวเองครั้งแรกแล้วประสบความสำเร็จ

“เฮ้อออออ….” ผมถอนหายใจ

“น้องครับ เชิญมาลงทะเบียนด้วยครับ เร็วครับสายแล้ว” เสียงรุ่นพี่ตะโกนลั่นห้องประชุมมหาวิทยาลัย ผมเกือบเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าไปในงานนิเทศพบพี่ ตอน “เป็ดไก่ไข่เป็นนก”

“เอาไงก็เอา มาถึงขั้นนี้แล้ว” ผมกระตุ้นตัวเอง แต่ขาสั่นพั่บ ตาลาย เพราะมีผู้หญิงมากหน้าหลายตา ไม่ได้เสน่หาอะไรหรอกนะ ไม่ชินมากกว่า พยายามกัดฟันอีกไม่นานก็ผ่านพ้นวันไปแล้ว เขาให้ทำอะไรก็ทำไปเหอะ กลัวอย่างเดียว กลัวถูกจับไปเต้นแร้งเต้นกาออกไปแสดงโน่นแสดงนี่ต่อหน้าเพื่อนใหม่รุ่นราวคราวเดียวกัน

ผมเคยเป็นสตาฟฟ์เชียร์และแปรอักษรผ่านงานระดับชาติในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ยืนอยู่หน้าผู้คนนับพัน แต่ก็ไม่เขย่าขวัญเท่าครั้งนี้ ถึงจะเจอว๊ากเกอร์เสียงดัง ผมก็ไม่หวั่นอยู่แล้ว

วันเวลาในหอประชุมเอสซีที่ชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพเรียกกันผ่านไปช้าเหลือเกิน ผมนั่งตัวเกร็งตลอดเวลา ไม่กล้าสบตารุ่นพี่ กระทั่งถึงขั้นตอนการเลือกพี่รหัส สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย

“พี่เอ้ พี่รหัสผมช่วยคลายกังวลได้เยอะ”

สายพิณ ระเบียบ พี่ชั้นปี 2 สาวรุ่นวัยกระเตาะท่าทางเป็นมิตร งามด้วยจิตใจเทคแคร์น้องใหม่อย่างผมแบบเป็นกันเอง รอยยิ้มของเธอ ทำให้ผมเรียนรู้กับการมีพี่รหัส เหมือนพี่เลี้ยงคอยเคาะให้เราเข้าที่เข้าทางปรับจูนแนวคิดปฏิบัติให้รู้ถึงสังคมชาวนิเทศศาสตร์ เฉกเช่นชื่องาน “เป็ดไก่ไข่เป็นนก” มันเหมือนจับปูใส่กระด้ง แท้จริงมัน คือ การปรับพฤติกรรมจากน้องใหม่ที่มาทั่วสารทิศ ไม่ต่างเป็ดไก่ที่สุดท้ายต้องเปลี่ยนออกมากลายเป็นนก

นกน้อยในไร่ส้ม

เพลงนี้เริ่มดังก้องหู

“พวกเราสูงศักดิ์ สูงนักสูงหนา ร่อนเร่เคหาไม่มี ค่ำไหนนอนนั่น เราไม่หวั่นเราไม่หวาด รักษาเอกราชเสรี เราชาวสกุณา ร่มไม้ใบหญ้าเราก็กล้านอน เราก็กล้านอน บ่ห่อนเกรงภัยใดๆ ค่ำลงบันเทิงเริงใจ ฮะฮะ เริงใจ ชีวิตชะเอยสดใส เหมือนนกที่ในไร่ส้ม เราไม่ปรารมภ์ เราไม่ปรารมภ์ ต่อสิ่งใดๆ มีกินมีใช้เป็นพอ ไม่ขอรบกวนผู้ใด มีเงินมีทองไม่ต้องคิดอะไร ซื้อเหล้าใส่ไหไว้กินก็พอ…”

“กับแกล้มไม่ต้อง”

“เป็นของไม่ดี”

“กับแกล้มไม่ต้อง”

“เป็นของไม่ดี”

“สิ้นเปลืองใช่ที่ ถ้ามีก็เอา…..” ทำเอาผมเปรี้ยวปากทุกทีเมื่อได้ยินเพลงนี้เข้าโสตประสาทหู มันเป็นจุดเริ่มต้นของนกน้อยที่กำลังหัดบินในไร่ส้มของผม

ผมหมดโอกาสเป็นตำรวจถือปืนวิ่งไล่กวดจับวายร้ายนับแต่บัดนั้น แต่ใครจะรู้ ผมกลับได้มาจับปากกาที่เชื่อว่า คมกว่าลูกปืนในเวลาต่อมา

 

RELATED ARTICLES