“นักข่าวมันก็คือ ขี้ข้าคนหนึ่งของประชาชน”

ร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อจนกลายเป็น “ตำนานนักข่าวหญิงแห่งนครบาล” ที่มวลหมู่นายพล นายพัน ยันพลตำรวจต่างรู้จักหน้าค่าตาเป็นอย่างดี

ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี วันนี้ “ตุ๊กตา”ศุภลักษณ์ สุวัณณารุน หรือที่หลายคนขนานนามเรียกกันติดปากว่า “เจ้าป้า เนชั่น” ตัดสินใจโบกมืออำลาวงการแล้วบินข้ามขอบฟ้าไปหาประสบการณ์ใหม่อีกซีกโลกทิ้งเรื่องราวชีวิตคนข่าวไว้มากมาย

บ้านเดิมเธออยู่ลำพูน พ่อแม่แยกกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกแค่ 3 เดือนต้องอาศัยอยู่กับตายายและผู้เป็นป้า เรียนประถมวัดสันป่ายางหลวง ก่อนไปต่อมัธยมโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ แต่จบมัธยมปลายโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

ตอนเด็กมีความฝันอยากเป็นครู แต่พอโตขึ้นกลับมุ่งสวมบทปลัดอำเภอหญิงถึงดั้นด้นเข้ากรุงไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทั่งปี 2 เหมือนดอกไม้ผลิบานพาให้พบรักแรกกับสิบตำรวจหนุ่มตำรวจตระเวนชายแดนระหว่างไปทำกิจกรรมออกค่ายในพื้นที่ภาคอีสาน

ถึงขั้นยอมตกลงปลงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

ศุภลักษณ์ย้อนอดีตรักวัยแรกแย้มว่า ความจริงก่อนหน้าเคยเจอหน้ากันแล้วที่ลำพูน เขาไปฝึกงานพยาบาล ส่วนเรากลับไปเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาล เจอกันครั้งแรกไม่รู้สึกอะไร ไม่ชอบด้วยซ้ำ เพราะเกลียดตำรวจมาก พอตอนไปออกค่ายอาสาโครงการสู่ชายแดนที่กาฬสินธุ์ก็ไปเจออีกครั้ง นักศึกษาที่ค่ายต้องไปช่วยชาวบ้าน และเยี่ยมบำรุงขวัญให้ตำรวจตระเวนชายแดน ตอนนั้นกำลังคลั่งหนังเรื่องวีรบุรุษกองขยะที่สรพงษ์ ชาตรีเป็นพระเอก ดูแล้วร้องไห้ พอไปเยี่ยมค่ายตำรวจตระเวนชายแดนรู้สึกว่าน่าสงสาร และใช้ชีวิตลำบากมากเวลาอยู่ในป่า

ความเห็นอกเห็นใจตรงนี้เอง เป็นเหตุให้เธอเลือกมาใช้ชีวิตเคียงข้างกายสิบตำรวจหนุ่มคนรักอยู่ค่ายเสนีย์รณยุทธ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 เมืองอุดรธานี และมีพยานรักเป็นลูกชาย 1 คน ทว่าเรื่องราวของความรักกลับปิดฉากลงหลังลูกชายอายุไม่ถึงขวบ “ดิฉันทนความเจ้าชู้ของมันไม่ไหว ตัดสินใจเลิกรากัน เอาลูกกลับไปให้ตากับยายเลี้ยงที่ลำพูน ส่วนตัวเองกลับกรุงเทพฯไปเรียนต่อที่รามคำแหง” ศุภลักษณ์ระบายความขมขื่น

เธอหันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ลืมความเจ็บปวดตั้งหน้าตั้งตาเรียนพร้อมกับการทำกิจกรรมของค่ายสารพัดในมหาวิทยาลัย ไปจับกลุ่มรวมตัวประท้วงบ้างตามหน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา บ่อยครั้งเข้าก็สะดุดตาอาชีพนักข่าว “ เห็นภาพนักข่าวมาทำข่าวม็อบแล้วคิดขึ้นได้ การเป็นนักข่าวท่าจะเท่ น่าจะสนุก โดยเฉพาะข่าวการเมือง เลยไปสมัครเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ระหว่างที่เรียนรามไปด้วย ทำทุกอย่างทั้งอาร์ตเวิร์ก หาโฆษณา ติดต่อสัมภาษณ์เหมาหมด ทั้งที่ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน เงินเดือนแค่ 900 บาท บางเดือนก็ไม่ได้รับเงินเดือน อาศัยหาโฆษณา แต่ก็ไม่ได้ดี”

อดีตนักข่าวเนชั่นทีวีผ่านงานหนังสือพิมพ์มาหลายฉบับ หลังออกจากส่วนกลางก็มีเพื่อนแนะให้ไปอยู่หนังสือพิมพ์อธิปไตยของพล.อ.หาญ ลีลานนท์ ทำหนังสือการเมืองโดยเฉพาะ แต่กลับได้ไปทำอาร์ตเวิร์กแทน เงินเดือนแค่พันกว่าบาท ไม่นานก็ย้ายค่ายไปอยู่นิตยสารบนทางหลวงรายเดือน มีโอกาสทำข่าวเต็มตัวได้ไปสัมภาษณ์สัมภาษณ์ พล.ต.อ.มนัส ครุฑไชยยันต์ ตอนเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกูร เป็นผู้การทางหลวง พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ยังยศแค่ ร.ต.อ.เป็นนายเวรอยู่ เริ่มเข้าสู่แวดวงข่าวอาชญากรรม ข่าวตำรวจ แต่สักพักนิตสารก็ไปไม่รอด

ต่อมา ระหกระเหินย้ายไปทำข่าวหน้าแรงงานอยู่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ยุคอยู่ที่ถนนสีลม ไปสังกัดสยามเศรษฐกิจทำข่าวสายเศรษฐกิจ เขียนหน้าการตลาด สัมภาษณ์พิเศษโปรโมตสินค้าที่ออกมาใหม่ รับเงินเดือน 3 พันบาท ที่ถือว่าเยอะมากในขณะนั้น แต่ด้วยความที่อยากทำข่าวการเมืองก็ต้องออกไปทำหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ของสุขุม เชิดชื่น กินเงินเดือน 5 พันบาท ทำข่าวการเมืองควบคู่เศรษฐกิจสมใจ

สู่ยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ศุภลักษณ์ถูกทาบทามไปทำงานไทยสบายทีวี ทำข่าวอาชญากรรม นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ช่างภาพไปเก็บข่าวตามสถานที่ต่าง ๆ รอบกรุง ไทยสกายทีวีรุ่นบุกเบิกสมัยนั้นค่อนข้างบูมมาก เปิดเวลาข่าวอาชญากรรมสู่หน้าจอสมาชิกเคเบิลทีวีเต็มที่ นับเป็นก้าวแรกของเธอที่ได้สัมผัสข่าวอาชญากรรมจริงจังนับแต่นั้นมา

ตระเวนถือไมค์ทำข่าวลักวิ่งชิงปล้นฆ่ากันตายนาน 5 ปี วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกทำไทยสกายทีวีหยุดออกอากาศ แม้จะมีไอบีซี หรือยูทีวีรองรับช่วง แต่ศุภลักษณ์มองอนาคตไม่เห็น บังเอิญมีเพื่อนชวนไปอยู่เนชั่นที่กำลังเปิดทีวีดาวเทียมทำสงครามข่าวบนจอแก้วขึ้นมาเธอจึงไม่ปฏิเสธ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมข่าวตระเวนเนชั่นทีวีรับหน้าที่ดูแลกองบัญชาการตำรวจนครบาลตั้งแต่สมัย พล.ต.ท.ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

อยู่จนถูกขนานนามให้เป็น “เจ้าป้า”แห่งวงการสื่อโทรทัศน์ เธอเล่าถึงที่มาที่ไปว่า ตอนนั้นทำข่าวนครบาลจะไปกันแต่เช้า มีต้อย-สมมาส บรรพต นักข่าวไทยรัฐ และน้องที่อยู่ สวพ.91 อีกคน ขณะที่นักข่าวสังกัดอื่นมักจะมาสาย พวกเราจะเดินหาข่าวตามห้องนายพล ตามกองบังคับการที่อยู่ในกองบัญชาการตำรวจนครบาล และมักได้ข่าวก่อนใคร คุยกันไปคุยกันมา ต้อย-สมมาสเห็นเราเป็นคนเหนือเลยตั้งฉายาเรียกว่าเจ้าป้า ตั้งแต่นั้นก็มีคนเรียกเจ้าป้า ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว หรือแหล่งข่าวติดปากกันไปหมด

“ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำข่าวอาชญากรรมเยอะมาก แต่ที่ประทับใจมากที่สุด คือตามข่าวคดีฆาตกรรมแพทย์หญิงผัสพร บุญเกษมสันติ เมื่อได้ภาพวงจรปิดที่ห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ที่เห็นหมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ประคองร่างภรรยาออกมา ได้มาจากแหล่งข่าวเป็นนายพลในนครบาลเอาไปออกเนชั่นทีวีก่อนสถานีอื่น รู้สึกว่าสะใจมาก เพราะยุคนั้นนักข่าวทีวีเริ่มมีการแข่งขันกันสูงแล้ว”

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในวงการข่าวจนถึงเวลาโบกมือหันหลังทิ้งเพียงตำนานไว้ให้กล่าวขาน เจ้าป้ารับว่า ยังไม่อิ่มตัว ยังคิดถึงมันอยู่ รู้สึกใจหายยิ่งใกล้วันลาออกยิ่งคิดมากว่า จะออกจริง ๆ แล้วหรือ ทำใจไม่ค่อยได้ ที่สุดแล้วต้องปลง คิดว่าน่าจะถึงเวลาพักผ่อนของเราแล้วควรเบนเข็มไปหาตัวตนอีกซีกโลกหนึ่งว่า เราจะอยู่ได้หรือไม่

มันอาจจะเป็นบุพเพสันนิวาสพารักข้ามขอบฟ้ามาโดนใจเธออีกครั้งในยามเปลี่ยวเหงาจนกลายเป็นจุดหักเหที่เธอจำเป็นต้องเลือกระหว่างงานกับรักแท้บทสุดท้ายที่ชายต่างชาติคนหนึ่งเต็มใจจะมอบกายถวายชีวิตด้วยความจริงใจ

ใครจะเชื่อว่า “นิยายรักบทใหม่” ของศุภลักษณ์ สุวัณณารุน นักข่าวเนชั่นทีวีมากประสบการณ์จะเจอกันบนโลกของอินเตอร์เน็ตดลบรรดาให้ฝ่ายชายข้ามน้ำข้ามทะเลมาขอแต่งงานตามประเพณีไทยพิสูจน์ความรัก “ปกติดิฉันก็ไม่ค่อยเล่นคอมพิวเตอร์ ไม่ถนัด พอมีโอกาสคุยกัน รู้ว่าเขาเป็นวิศวกรชาวนอร์เวย์อยู่ที่บ้านเกิด คุยไปคุยมาเขาก็โทรศัพท์มาหาตลอดแทบจะวันเว้นวัน” เจ้าตัวยอมเปิดอก

“แล้ววันหนึ่งเขาก็มาเที่ยวเมืองไทยกับเพื่อนผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงคนไทยเลยนัดเจอกัน เขาขอแต่งงานเลย เขาบอกเขาขอบ ตอนนั้นบ่ายเบี่ยงบอกเขาว่า เราต้องดูกันไปก่อน ไม่รับปาก เขาบอกแต่งงานไปอยู่นอร์เวย์ด้วยกันเถอะ เราบอกไม่ตัดสินใจ เพราะยังรักอาชีพนักข่าวอยู่ ทั้งที่เขาจะให้เราลาออกเลยไม่ให้ทำงานในเมืองไทยแล้ว เราก็บอกว่า มีภาระที่ยังต้องรับผิดชอบลูกและแม่อีกคน”

ตอนนั้น เจ้าป้ายังไว้เชิงใจแข็งปฏิเสธยืนกระต่ายขาเดียว แม้ฝ่ายชายจะยื่นคำมั่นว่า ถ้าไปอยู่นอร์เวย์กับเขาแล้วจะดูแลตลอดชีวิต แต่ด้วยความที่เคยเจ็บปวดในรักครั้งแรกมันทำให้เธอไม่อาจผลีผลามในอาหารจานรักที่จ่อวางอยู่ตรงหน้า ตำนานคนข่าวสาวใหญ่บอกว่า ยังไม่เชื่อใจเขาเท่าไรนัก ขอดูไปก่อน เพราะเพิ่งเจอกัน ผ่านไปเกือบ 2 ปี คิดแล้วคิดเอง เขาทวงถามอยู่ตลอด ก็พยายามบอกว่า ยังทำใจไม่ได้ เพราะอยู่ในอาชีพนี้มายาวนานมาก ไม่เคยคิดจะออกจากวงการ

“เขาโทรมาเซ้าซี้กันเป็นปี ทำเอาเรานั่งคิดนอนคิด ถ้าทำงานอยู่ที่นี่บางเดือนเงินก็ไม่พอใช้ ต้องหาอาขีพเสริมด้วยการเย็บปักถักร้อย ทำกระเป๋าขาย เงินเดือนของนักข่าวไม่พอ แต่อีกใจก็ยังสนุก ไม่อยากจากไป เพราะคิดถึงพี่ ๆ น้อง ๆ เวลาไปทำข่าวทีจะสนุกสนานนั่งเล่นเม้าท์กันในกลุ่ม ทำให้คิดถึงบรรยายกาศแบบนี้ มันตัดใจไม่ได้ คิดอยู่เป็นปี สุดท้ายตัดสินใจไปก็ไป”

แต่ก่อนลาจากวงการ เธอฝากทิ้งท้ายถึงนักข่าวรุ่นน้องว่า นักข่าวสมัยนี้มีเยอะมาก แต่อยากบอกว่า การเป็นนักข่าวต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพตัวเอง ตรงต่อเวลา เพราะปัจจุบันเห็นนักข่าวใหม่จะไม่ตรงเวลา แบบเข้าเวรหกโมงเช้า เจ็ดโมงยังไม่มา “ดิฉันแก่ขนาดนี้ถึงจะกินเหล้าเมาขนาดไหนเที่ยวขนาดไหนต้องตรงเวลา ดิฉันต้องขึ้นรถแล้ว หกโมงกว่าต้องเตรียมตัวทำงานแล้ว ต้องพร้อมทุกอย่าง เห็นเด็กรุ่นใหม่มันไม่ค่อยจะเวิร์กในเรื่องนี้ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน บางคนก็กร่าง คิดว่าเป็นนักข่าวแล้วใหญ่ มันไม่ใช่นะ นักข่าวมันก็คือขี้ข้าคนหนึ่งของประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่คิดจะไปทำอะไรใครเขา อยากทำก็ทำ มันไม่ใช่”

อีกสิ่งหนึ่งที่เธอเน้นเป็นพิเศษถึงนักข่าวผู้หญิง คือเรื่องการวางตัวกับแหล่งข่าว หลังจากตัวเธอเคยเจอประสบการณ์ถูกนินทาใส่ร้ายป้ายสีจากคนในวงการเดียวกันทำให้ตัวเองและแหล่งข่าวเสื่อมเสียชื่อเสียง

“แม้วันหนึ่งคนก็ต้องรู้ว่า เราเป็นคนอย่างไร ข้อเท็จจริงมันก็ต้องมาเองว่า เราเป็นแบบไหน” บทเรียนคราวนั้น ศุภลักษณ์ถึงไม่อยากให้นักข่าวหญิงรุ่นหลังเผชิญชะตากรรมเฉกเช่นตัวเธอ

“นักข่าวสมัยใหม่อาจไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยนั้นจะไปไหนไปกัน กินเหล้า เที่ยวไปทุกที่กับแหล่งข่าว ข้อเสีย คือ ทำให้มองดูไม่ดี ภาพเสียหาย แม้ข้อดีจะมี คือเราจะได้ข่าวเชิงลึก ที่สำคัญเราต้องวางตัวให้ดี” ตำนานนักข่าวอาชญากรรมหญิงย้ำชัดเจน

 

RELATED ARTICLES