“เราเป็นกระจก ทำได้ดีที่สุด คือป้องปราม ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เห่าหอนบอกสังคมให้รับรู้”

าวสวยอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ นักข่าวคนเก่งผู้มาดมั่นและมากประสบการณ์ในวงการหนังสือพิมพ์ ตัดสินใจโบกมือลาค่าย “บางกอกโพสต์” ไปจัดรายการเจาะลึกทั่วไทยในอินไซด์ไทยแลนด์ วิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจเต็มตัว บ้านเดิมอยู่กรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา วัยเด็กมุ่งมานะอยู่กับการเรียน

ครั้งหนึ่งเคยมีความคิดอยากเป็นนักข่าว หลังเห็น สมเกียรติ อ่อนวิมล บุกเบิกรายการข่าวทำมิติข่าวในเมืองไทยเปลี่ยนไป ดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ไม่ได้คิดจริงจัง เพราะใจอยากเป็นนักออกแบบ หวังเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรถึงขั้นขอพ่อมาติวอยู่กรุงเทพฯ และเริ่มรู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด สุดท้ายเอ็นทรานซ์ไม่ติดต้องหันไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เรียนจบมากลับได้ทำงานข่าวอยู่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

เจ้าตัวเล่าว่า คงเป็นเพราะอยากเป็นนักข่าวอยู่ก่อนแล้วเลยไปกับเพื่อน สมัครเป็นคนสุดท้าย เขาคัดเลือก 10 คน เป็นรุ่นที่ต้องทำไทยสกายทีวีด้วย สัมภาษณ์ติด 1 ใน 10 ไปเทสต์หน้ากล้องซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เลย อาศัยด้วยความที่ตัวเองเป็นคนกล้าพูดกล้าคิด ทำให้ถูกมองมีบุคลิกของนักข่าวเลยได้งานเป็นนักข่าวไอเอ็นเอ็น

 “เริ่มเรียนรู้อาชีพนักข่าว การทำงานของนักข่าว สมัยนั้นไอเอ็นเอ็นเป็นเหมือนที่ฝีกคน ทุกอย่างต้องช่วยตัวเองหมด ไม่มีพี่เลี้ยง ทุกอย่างต้องดิ้นรน ไปกระทรวงยังไปไม่ถูกเลย ทำเศรษฐกิจทั้งหมด อยู่ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม คมนาคม ไปทำเนียบรัฐบาล ต้องรู้ทุกเรื่องที่เป็นข่าวเศรษฐกิจ อยู่ 2 ปี เป็นเวทีที่ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ทุกอย่างต้องคิดด้วยตัวเอง หาประเด็นเอง คิดประเด็นเอง ทำเอง ช่วยตัวเองหมด” อมรรัตน์จำภาพก้าวแรกของชีวิตคนข่าวไม่ลืม

เธอยอมรับว่า ตอนทำงานใหม่ ๆ ก็มีความใฝ่ฝันอยากไปอยู่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายสำนักของเมืองไทย สมัยนั้นนักข่าวไม่เยอะ ทำงาน 3 เดือนแรกก็มีพี่ในวงการหนังสือพิมพ์มาชวนเป็น 10 ฉบับ อาชีพนักข่าวอาจต่างจากอาชีพอื่น คือ ต้องวัดฝีมือด้วยตัวเอง ถ้าอยู่ในสนามข่าวมีความโดดเด่น เรามีฝีมือในการทำงานก็มีโอกาสที่จะถูกดึงไปที่อื่น ช่วงแรกมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับชวนไปเยอะมาก แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจไป

เหตุผลที่ยังยอมไม่ขยับย้ายสังกัด อมรรัตน์บอกว่า ไอเอ็นเอ็นเป็นที่ทำงานที่แรกที่ให้โอกาสเราได้ย่างเข้าสู่อาชีพนี้ คิดว่า อยากจะทำงานจนถึงจุด ๆ หนึ่งก่อน กระทั่งผ่านไป 2 ปี ออฟฟิศอยากจะดึงให้ไปอยู่ข้างใน มีความรู้สึกว่า 2 ปีเราเด็กมาก ถึงจะรู้จักแหล่งข่าวเยอะ มีประเด็น ทำข่าวได้ ณ ตอนนั้นไม่อยากอยู่ออฟฟิศ รู้สึกว่า ทำงานข้างนอกสนุก เป็นช่วงจังหวะหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ต้องการนักข่าวที่ทำข่าวได้เลย พี่ในวงการก็ชวนไปสมัคร ไปสัมภาษณ์ และอาจเพราะมีพื้นภาษาอังกฤษบ้าง พอเขาให้อ่านข่าวภาษาอังกฤษแล้วแปลสรุปประเด็นออกมา ก็โชคดีที่ทำได้ถึงเข้าไปทำงานบางกอกโพสต์ตั้งแต่บัดนั้นยันวันนี้

บนเส้นทางอาชีพนักข่าว สาวน้อยคนนี้เคยมีบางช่วงเวลารู้สึกท้อแท้ หลายครั้งมีความรู้สึกอยากอำลาวงการน้ำหมึกมาแล้ว เธอเล่าว่า ช่วง 5 ปีแรกไฟแรงมาก รู้สึกว่า นักข่าว คือ ผู้ที่จะต้องขจัดปัดเป่าให้กับสังคม ต้องสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม อุดมการณ์ยังเต็มหัว ใครทุจริตคอร์รัปชัน ต้องจัดการ พอมาอยู่ในอาชีพนี้นานเข้า ต้องบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่นำเสนอในหน้าสื่อไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งทีนักข่าวรู้ บางทีนักข่าวรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่นำไปเขียนเหลือแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ มันน้อยมาก ไม่มีหลักฐานบ้าง หรือเขียนไปกลัวจะถูกฟ้องบ้าง มีหลายเหตุและหลายปัจจัย

“อึดอัดอยากลาออกไปทำอย่างอื่น ทำงานแล้วรู้สึกว่า มันก็ยังโกง ได้กันเป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน อย่างนี้นักข่าวก็ไม่มีประโยชน์ อยู่ไปก็ไม่ได้ช่วยสังคม แต่ด้วยความที่เรามีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพเยอะ พอเปรยว่า อยากออกไปทำอย่างอื่นดีกว่า ก็จะมีกำลังใจจากผู้ใหญ่หลายคนบอกให้อยู่เหอะ บอกเหตุผลว่า ถึงแม้คุณจะไม่สามารถที่จะทำให้คนโกงหมดไปได้ แต่สิ่งหนึ่งมันจะช่วยป้องปราม ทำให้มันโกงยากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า จริง ๆ อาชีพนักข่าว ไม่ได้มีหน้าที่ไปชี้ถูกชี้ผิด ชี้ใคร หรือจับใครเข้าคุกเพราะคอร์รัปชัน แต่สิ่งที่ทำได้ คือ เราเป็นกระจก ทำได้ดีที่สุด คือป้องปราม ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เห่าหอนบอกสังคมให้รับรู้ แต่บอกแล้ว คนที่เกี่ยวข้อง นักการเมือง ราชการไม่ทำอะไร เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ แต่เราได้บอกกับสังคมแล้ว”

 ตอนหลังอมรรัตน์เลยมาปรับจูนระบบความคิดตัวเองใหม่ว่า หน้าที่เราจะทำได้แค่ไหนอย่างไรบ้าง บางครั้ง บางคนอาจจะมองว่าละเลย แต่นักข่าวไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รู้ทุกเรื่องแล้วจะจัดการได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่เทวดา มันก็มีจุดหนึ่งที่ต้องปรับให้เข้าใจกับวีถีชีวิตระบบราชการระบบการเมือง สื่อต้องทำการบ้านมากขึ้นเพื่อให้รู้เท่าทันนักการเมือง อย่างน้อยก็ทำให้นักการเมืองโกงได้ยากขึ้น โกงได้น้อยลง แต่ป้องกันการโกง สื่อไม่สามารถทำได้

อดีตนักข่าวสาวบางกอกโพสต์คนนี้ยังมีดีกรีปริญญาโทการบริหารสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำวิทยานิพนธ์ดีเด่นในเรื่อง “บทบาทสื่อกับการนำเสนอข่าวคอร์รัปชันในหน่วยงานของรัฐ” เข้าตานักวิชาการและกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่สนใจงานวิจัยของเธอ เปิดโอกาสให้เธอได้เข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการเขียนข่าวแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกทั้งยังได้เข้าไปเริ่มทำกิจกรรมกับสมาคมสะสมประสบการณ์กระทั่งนั่งเก้าอี้เลขาธิการ

ทำให้ อมรรัตน์ใช้เวลาว่างไปจัดรายการวิทยุคู่กับ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เจาะลึกทั่วไทยในอินไซด์ไทยแลนด์ ทางคลื่น 97.0 เมกะเฮิร์ตซ์ วิเคราะห์ข่าวการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และออกอากาศสดทางช่องสปริงนิวส์ ทุกเช้าวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่งให้เธอต้องทำการบ้านมากขึ้น อ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อยวันละ 10 ฉบับ อ่านข่าวทุกข่าว โดยเฉพาะข่าวที่ไม่ใช่สายงานตัวเอง

“ถือว่า เป็นประโยชน์มากกับอาชีพนักข่าวที่ทำให้เรารู้หลากหลายมากกว่างานในหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง” สาวนักข่าวมืออาชีพทิ้งท้าย

 

 

RELATED ARTICLES