ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เวทีสัมมนา “การพัฒนาการบริหารงานบุคคลเกี่ยวข้องกับงานสอบสวน” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมบุณยะจินดา สโมสรตำรวจ

เพื่อต้องการแก้วิกฤติเร่งด่วนเกี่ยวกับชนวน พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย และพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอกับปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสาเหตุ พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย หรือกำลังคิดฆ่าตัวตายเพราะคนที่ไปทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ไม่สมัครใจไปดำรงตำแหน่ง เมื่อถูกแต่งตั้งข้ามสายงานที่ตัวเองถนัด

ขณะเดียวกัน กลุ่มเหล่านี้ไม่เคยทำงานสอบสวนมาก่อน คอมพิวเตอร์แทบไม่เคยได้จับ พิมพ์ดีดก็ไม่คล่อง ถึงขั้นไม่เป็นก็มี

ตอนหนึ่งของการสัมมนายังมีการเปรียบองค์กรตำรวจกับอาชีพเกษตรกร

งานป้องกันปราบปราม เสมือน อาชีพปลูกมันสำปะหลัง งานจราจรปลูกสับปะรด งานสืบสวนปลูกอ้อย ทั้ง 3 สายงานอาชีพเกษตรกรล้วนทำงานบนบก มีจอบ มีดก็ทำงานได้

ผิดกับงานสอบสวน

เขาบอกเหมือน “อาชีพประมง” ต้องไปทำงานกลางทะเล ไปงมเข็มในมหาสมุทร เพราะเป็นงานที่ต้องใช้วิชาความรู้และประสบการณ์คลี่คลายปมปัญหาของคดีรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

นอกจากต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือแล้วยังจะต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการทำหน้าที่พนักงานสอบสวนด้วย

ในเมื่อ “เรือประมง” มีพนักงานสอบสวนเป็น “กัปตัน” จำเป็นต้องมีผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเป็น “ลูกเรือ” ที่ผ่านงานสอบสวนมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี กลุ่มคนเหล่านี้เข้าที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ ทำบันทึกตรวจสอบที่เกิดขึ้น บันทึกสอบปากคำผู้เสียหาย พยาน หรือผู้ต้องหา

ย่อมรู้จักวิธีการจัดการคลี่คลายคดี เพราะคลุกคลีอยู่กับสำนวน หรือหนังสือราชการเกี่ยวกับคดีค่อนข้างมากพอสมควร

การที่ทำงานในทะเลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ย่อมที่จะทนแดด ทนฝน ทนมรสุมคลื่นลม ชี้ให้เห็นว่า มีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งกับงานสอบสวนที่จะต้องทำสำนวนคดีต่าง ๆ พร้อมจะขึ้นมาขับเรือได้เมื่อกัปตันเกษียณ หรือปรับเปลี่ยนสายงาน

ดังนั้น ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติผลักดัน “ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน” ให้เป็น “พนักงานสอบสวน” แน่นอนว่า อาการคลื่นไส้ อาเจียน คล้าย เมาสำนวน จนคิดฆ่าตัวตายจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

วิกฤติที่เกิดขึ้นสิ่งที่องค์กรสีการต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ต้องให้พนักงานสอบสวนที่ไม่สมัครใจมาทำหน้าที่สอบสวน แต่งตั้งออกนอกสายงาน ป้องกันความเครียดจนคิดฆ่าตัวตาย

กับข้ออ้างที่ว่า หากแต่งตั้งกลุ่มไม่สมัครใจมาทำหน้าที่พนักงานสอบสวนออกไปแล้ว “กำลังพลขาดแคลน” จะทำอย่างไร

เวทีการสัมมนาเสนอหาทางออกเฉพาะหน้าว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ช่วยพนักงานสอบสวน 84 นายพร้อมจะทำหน้าที่พนักงานสอบสวน เพราะผ่านการสอบข้อเขียน เฉกเช่นเดียวกับบุคคลภายนอกคุณวุฒิเนติบัณฑิตยสภาที่ใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน สถานที่สอบเดียวกัน เวลาเท่ากัน

ปรากฏว่า 92   คะแนนของบุคคลภายนอก คือ ตำแหน่งตัวจริง แต่ 96 คะแนนของผู้ช่วยพนักงานสอบสวนกลับเป็นแค่ “ตัวสำรอง” ทั้งที่มีความรู้ไม่น้อยไม่กว่าบุคคลภายนอก มีความสามารถประกอบกับประสบการณ์ในการทำสำนวนเบื้องต้น

พร้อมจะก้าวขึ้นทดแทนกำลังพลที่ขอสับเปลี่ยนไปสายงานอื่น

แม้จะเกิดปัญหาได้ไม่มาก ยังดีกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ทำอะไรเลย

           

RELATED ARTICLES