“แม้จะไม่มีใครกล่าวถึง แต่พวกเราภูมิใจที่ได้ช่วยให้ทุกคนปลอดภัย”

ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดไม่เคยฆ่าใคร แต่มีไว้เพื่อช่วยชีวิตคน

พวกเขาทำงาน “ปิดทองหลังพระ” เอาตัวเข้าไป “เสี่ยงตาย” เพื่อจุดมุ่งหมายให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชน

เฉกเช่นภารกิจกู้วิกฤติเมืองยะลาของ “ชุดปฏิบัติการศรชัย” ทีมงานนักเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เสียสละทำงานมาตลอด 14 ปีที่ไฟใต้ลุกโชนขึ้นยืดเยื้อยาวนาน

ทุกคนไม่ต้องสร้าง “ตำนานวีรบุรุษไร้ลมหายใจ” แต่มีหัวใจมุ่งมั่น “ถอดชนวน” ความรุนแรงของอานุภาพระเบิดสารพัดรูปแบบที่หวังทำลายความสงบในพื้นที่

เดิมพันด้วย “ความเป็น ความตาย”ของตัวเอง

 

ปฐมบททีมกู้ระเบิดปลายด้ามขวาน งานเสี่ยงตายที่อาศัยจิตใจมุ่งมั่น

“ไม่กี่คน…ที่จะเคยผ่านวินาที เป็น – ตาย มานับครั้งไม่ถ้วน และก็มีไม่กี่คนหรอกนะ ที่แม้รู้ว่าจะต้องเจอกับภารกิจที่หนักหนาสาหัสเท่าไหร่ พวกเขาก็ไม่เคยคิดที่จะหลีกหนี หรือท้อถอย แม้ความรุนแรงของระเบิด มันไม่เคยเลือกหรือปราณีใคร” พ.ต.ท.พีระศักดิ์ หลอดแก้ว สารวัตรงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา โพสต์ข้อความด้วยรักและอาลัยเสียใจต่อครอบครัว ด.ต.อนิรุทธ จันทะวงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดอีโอดีเพื่อนร่วมอาชีพ และส.ต.ธเนตร พุทโธ ชุดเฉพาะกิจทหารพรานที่ 47 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560

นับเป็นความสูญเสียที่เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนสมรภูมิชายแดนใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ย้อนถึงการก่อตั้งทีมเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดของตำรวจภูธรจังหวัดยะลาที่เรียกกันว่า “ชุดศรชัย” ปฐมบทมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 ผู้บังคับบัญชามอบนโยบายให้เปิดตำแหน่งชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดใน 3 จังหวัด นอกจาก “ชุดศรชัย” ของยะลา ยังมี “ชุดแจมเมอร์” ของปัตตานี “เหยี่ยวดง” ของนราธิวาส ทำงานประสานกับ “ทีมวินิจ” ของศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชุดแทงโก้” หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของตำรวจตระเวนชายแดน และ “ชุดอโณทัย” ของทหาร มีระดับของผู้คุมการปฏิบัติตำแหน่งสารวัตร

เปิดคัดเลือกทีมงานมาดำรงตำแหน่งชุดปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดจากตำรวจที่เข้ามาอยู่ทีมคุ้มกันในชุดศรศึกก่อนเบื้องต้นเพื่อดูลักษณะนิสัย ความสุขุมรอบคอบ แล้วถึงส่งไปอบรมหลักสูตรเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เพื่อลงไปทำงานตำแหน่งนักเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและชำนาญเฉพาะตัว มีจิตใจที่มุ่งมั่น รักในงานตรงนี้ เพราะงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เป็นงานที่เสียสละ

 

เด็กช่างกลโรงงานจากอีสาน ผันมารับราชการตำรวจภาคใต้

สำหรับ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ก่อนพลิกชีวิตมาสวมบทผู้นำหน่วยปฏิบัติการศรชัย เดิมทีเป็นคนจังหวัดยโสธร หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนยโสธรวิทยาคม เข้าศึกษาต่อในด้านเทคนิคสายช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคยโสธร แม้จะมีความตั้งใจอยากทำงานสายช่างตามที่ร่ำเรียนมา แต่ไม่อาจขัดที่อยากให้ลูกชายคนโตของบ้านรับราชการ ถึงต้องเบนเข็มไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอบเข้าเป็นนายตำรวจผู้มีวุฒินิติศาสตรบัญฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต อบรมโรงเรียนตำรวจภูธร 2 จังหวัดชลบุรี

เลือกตำแหน่งลงครั้งแรกบรรจุเป็นผู้บังคับหมวดหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงกำลังร้อนระอุตอนปี 2548 สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการกำลังพลพอดี ทั้งที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ด้านวิชาชีพของตำรวจเลย อาศัยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระทั่งไปทำงานกับทีมสืบสวนคดีสำคัญปะทะผู้ก่อความไม่สงบที่บ้านต้นหยี ตำบลลำพญา อำเภอเมืองยะลา ร่วมวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายไป 3 ศพ

หลังจากนั้น มีหลักสูตรเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดเกิดขึ้น เจ้าตัวได้ขอผู้บังคับบัญชาไปฝึกด้วยเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทาย “อยากมาทำงานเก็บกู้วัตถุระเบิดเพราะมีรุ่นพี่อยู่ คิดว่า ผมน่าจะทำได้ เพราะเรียนมาทางด้านช่างด้วย สุดท้ายจบหลักสูตรเป็นนักเรียนเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดรุ่นที่ 7 ของสรรพาวุธตำรวจ ขอลงในชุดปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดที่กำลังขาดแคลน แต่ก็ต้องไปเริ่มจากชุดขยายผลหลังเกิดเหตุระเบิดก่อน ยังไม่ได้ลงปฏิบัติหน้าที่ในสนามจริง” พ.ต.ท.พีระศักดิ์ว่า

 

ภูมิใจช่วยเมืองยะลาปลอดภัย ปลดชนวนบึมลูกใหญ่ 160 กก.

ทำงานสืบสวนหลังเหตุระเบิดไปขยายผลคดีสะสมประสบการณ์จนได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเติบโตขึ้นสารวัตรหัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดถึงปัจจุบันนี้ อยู่ยาวเลย พ.ต.ท.พีระศักดิ์บอกว่า แม้จะมีความเสี่ยง เกิดเหตุการณ์มีเพื่อนร่วมงานบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต กลับไม่มีใครขอย้ายออกสักนาย มีแต่ขออยู่สู้ต่อ “ผมจะบอกเสมอว่า คนที่จะเข้ามาอยู่ในชุดนี้ได้ ต้องมีจิตใจมุ่งมั่น เสียสละ มันเป็นการปิดทองหลังพระ แม้จะไม่มีใครกล่าวถึง แต่พวกเราภูมิใจที่ได้ช่วยให้ทุกคนปลอดภัย”

ตลอดกว่า 14 ปีในการทำงาน นายตำรวจหนุ่มนักกู้ระเบิดยอมรับว่า ต้องทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจ เพราะเป็นงานที่เสี่ยงพอสมควร คนมาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีสมาธิ แน่วแน่ที่จะปฏิบัติงาน ถ้าจิตใจวอกแวก อาจทำให้ทีม หรือหน่วยผิดพลาดได้เวลาปฏิบัติงาน ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญมากมาย ทุกเคสเราจะถือว่าเป็นเคสที่ยากลำบาก ไม่ง่าย และต้องไม่ประมาท

แต่ที่ภาคภูมิใจมากที่สุด พ.ต.ท.พีระศักดิ์เชื่อว่า เหมือนกับลูกทีมทุกคนที่ช่วยกันแก้วิกฤติพยายามเก็บกู้วัตถุระเบิดหน้าศูนย์โตโยต้าน้ำหนักเกือบ 160 กิโลกรัมได้สำเร็จ คือ ความภูมิใจที่ชุดศรชัยกู้เมืองยะลาได้ทั้งเมือง เพราะถ้าปล่อยให้รถผ่านไปได้จนระเบิดขึ้นจะเกิดความเสียหายมากเป็นวงกว้างรัศมีไม่ต่ำกว่า 200 เมตร  บริเวณนั้นมีทั้งโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง วัดพุทธภูมิที่น่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย เป็นเคสที่ทุกคนในทีมหนักใจ มีความกดดัน ต้องทำงานแข่งกับเวลา ร่วม 3 ชั่วโมงกว่าจะเก็บกู้ได้ ทุกคนโล่งใจและดีใจมาก

 

ย้อนวิกฤติคาร์บอบม์เขย่าขวัญ วันที่ทีมอีโอดีทุกคนไม่เคยลืม

เหตุการณ์ระทึกในวันนั้นไม่มีใครเคยลืม เริ่มต้นเมื่อสายวันที่ 5เมษายน 2559 มีชายคนหนึ่งขับรถปิกอัพโตโยต้า สีน้ำตาลอ่อน ทะเบียน บต 1845 ยะลา มาจอดที่มุมถนนคชเสนีย์ ใกล้สี่แยกไฟแดงปั๊มน้ำเชลล์ เขตเทศบาลนครยะลา คิดกับศูนย์บริการโตโยต้า แล้วเปิดประตูรถวิ่งออกมาบอกชาวบ้านว่า ภายในรถมีระเบิดวางอยู่ ตำรวจรับแจ้งเหตุเบื้องต้นเข้าตรวจสอบสังเกตเห็นถังแก๊สสีเขียวขนาด 15 กิโลกรัม 2 ถังวางคู่กัน มีสายไฟเชื่อมต่อกับวิทยุสื่อสาร มั่นใจว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องขนาดมโหฬารน้ำหนักกว่า 160 กิโลกรัม จึงประสานชุดปฏิบัติการศรชัยนำกำลังไปเก็บกู้

นายสุนันท์ ทองเนตร อายุ 52 ปี ชาวบันนังสตา จังหวัดยะลา เจ้าของรถให้การว่า ประมาณตี 5 ได้ขับรถมาพร้อมนางเรณู จิตรบาล อายุ 60 ปี ภรรยาไปจ่ายตลาดแล้วมุ่งหน้ากลับบ้านในนิคมกือลอง ระหว่างมาถึงโค้งอันตรายเขตลอยต่อบ้านลือกอง หมู่ 2  กับตลาดนิคมกือลอง หมู่ 6 ตำบลตลิ่งชัน ได้มีชายฉกรรจ์ร่วม 10 คน แต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหาร ทุกคนมีอาวุธปืนยาวครบโบกให้หยุด จี้บังคับให้ลงจากรถแล้วนำถังแก๊สบรรจุระเบิดแสวงเครื่อง 2 ถังขึ้นวางไว้บนกระบะท้ายรถ จัดแจงให้เขาสวมเสื้อกั๊กสีเหลืองข่มขู่ว่ามีระเบิดแสวงเครื่องติดไว้

ชาวบ้านอำเภอบันนังสตาเล่านาทีชีวิตอีกว่า คนร้ายสั่งให้ขับรถซุกถังแก๊สคาร์บอมบ์ไปจอดป็มน้ำมันเซลล์ ถนนพิพิธภักดี ตำบลสะเตง เมืองยะลา หากขัดขืนไม่ทำตามจะจุดชนวนระเบิด และสังหารภรรยาที่โดนจับไว้เป็นตัวประกันอีกแห่ง เขาจำใจทำตามคำสั่งขับรถบรรทุกระเบิดน้ำหนักมหึมาเข้าเขตเทศบาลเมืองยะลา มีกลุ่มคนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ตามมาห่าง ๆ

 

ได้รับประกาศเกียรติคุณ เป็นทุนต่อขวัญกำลังใจในหน้าที่

ตลอดเส้นทางความเป็นความตาย เหยื่อผู้ก่อความไม่สงบคิดอยู่นานว่าจะทำอย่างไร ก่อนตัดสินใจเด็ดขาดว่า ตายเป็นตาย ตัวตายคนเดียว หรือตายพร้อมเมียดีกว่าให้คนบริสุทธิ์ในเมืองต้องมาพลอยรับกรรม จากนั้นถอดเสื้อกั๊กโยนทิ้งริมถนนสุขยางค์หน้าสวนทดลองการยาง เขตเทศบาลนครยะลา แล้วขับรถไปจอดบริเวณแยกไฟแดงข้างปั้มน้ำมันเชลล์ เปิดประตูวิ่งมาขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านให้รีบแจ้งตำรวจทันที

แผนปล้นรถปิกอัพชาวบ้านซุกระเบิดบังคับขับมาหลังใช้คาร์บอมบ์ถล่มเมืองยะลาของผู้ก่อความไม่สงบครั้งนั้น พ.ต.ท.พีระศักดิ์ หัวหน้าทีมเก็บกู้ยอมรับว่า เราไม่รู้ว่าข้างในมีระบบวงจรอะไรบ้าง แต่เราก็ต้องดำเนินงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท เป็นหัวใจหลักทุกครั้งในการทำงานของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นตามมา ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงถึงสำเร็จ

พวกเขาเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อช่วยอีกหลายชีวิตผู้บริสุทธิ์นับร้อยได้อย่างปลอดภัย ครั้งนั้น พล.ต.ท.เฉลิมพันธ์ อจลบุญ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดภาคใต้ มอบประกาศเกียรติคุณแก่ทีมผู้ปฏิบัติงานทำลายวัตถุระเบิดของตำรวจภูธรจังหวัดยะลาที่กู้วิกฤติคาร์บอมบ์ในประวัติศาสตร์ แถมพิจารณาเลื่อนยศในเวลาต่อมา นอกจาก พ.ต.ท.พีระศักดิ์ หลอดแก้ว หัวหน้าทีมแล้ว ยังมี ร.ต.อ.ทิพย์ชัย ชลสินธุ์ ร.ต.อ.สนั่น สวนจันทร์ ร.ต.อ.บรรพจน์ ยางทอง ร.ต.ต.มนูญ แสงสุวรรณ ด.ต.สถาพร เสือชาวนา ด.ต.นิพล ชูมณี ด.ต.อนันต์ วัฒนะ ด.ต.วีระศักดิ์ สองแก้ว ด.ต.อุทัย เหรียญทอง ด.ต.ซุ้ลกิฟลี่ หมาดปูเต๊ะ ด.ต.พงศกร สุวรรณ ด.ต.ราชศักดิ์ บริพันธ์ ด.ต.อภิทักษ์ ปราบกรี ด.ต.สราวุธ รัตนพรหม จ.ส.ต.สมพงษ์ สุวรรณ และจ.ส.ต.โกสินทร์ พัดมี

 

ผ่านประสบการณ์ระทึกมากมาย เพื่อนร่วมทีมตาย แต่ถอดใจไม่ได้

“ความไม่ประมาท เป็นหัวใจหลักของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด” พ.ต.ท.พีระศักดิ์ย้ำอีกครั้ง พวกเขาเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นมาไม่น้อย เฉียดตายมาก็หลายหน แม้กระทั่งทีมปฏิบัติการศรชัยก็เคยเสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ฝีมือดี อย่าง ด.ต.สุบิน พฤทธิมงคล เมื่อครั้งไปร่วมเก็บกู้จักรยานยนต์บอมบ์หน้าร้านยะลาบุญศรี ตรงข้ามสถานีรถไฟยะลา เขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550

นายตำรวจนักเก็บกู้วัตถุระเบิดสมรภูมิชายแดนใต้เล่าว่า เป็นระเบิดเคสแรกที่ใช้ระบบรีโมตคอนโทรล ติดตั้งจักรยานยนต์บอมบ์ ที่หลายคนคาดการณ์ไม่ถึง เพราะก่อนหน้าผู้ก่อความไม่สงบจะใช้ระบบตั้งเวลาจากนาฬิกาพัฒนาไปเป็นโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย 3310 ก่อนจะกลายเป็นรีโมตคอนโทรลจนถึงทุกวันนี้ยังพัฒนามาเป็นระบบวิทยุสื่อสาร ดังนั้นเราต้องพัฒนาตามผู้ก่อเหตุให้ทัน

“เมื่อก่อนเราจะตามหลังผู้ก่อเหตุตลอด เหมือนว่า ออกไปทุกครั้ง วัดดวงทุกครั้ง รู้สึกเสียใจเมื่อสูญเสียเพื่อนร่วมงาน แม้บางเหตุการณ์ไม่ใช่หน่วยเรา พอเจอเข้ากับหน่วยตัวเอง เมื่อเพื่อนร่วมทีมบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตก็จะรู้สึกเสียกำลังใจ แต่ด้วยหน้าที่ของเรา จะพะวงจุดนี้ไม่ได้ เราต้องมองในมุมกลับว่า จำเป็นต้องเอาจุดดังกล่าวมาปรับแก้ เพื่อที่เราจะพัฒนาเทคนิค หรือวิธีการต่างๆ ในการเข้าปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัยในครั้งต่อไป” พ.ต.ท.พีระศักดิ์ว่า

 

 เผชิญความสูญเสียหลายครั้ง จำเป็นต้องลงพื้นที่ระวังเพิ่มขึ้น

เขาอธิบายวิธีการพัฒนาหน่วยในมุมกว้างว่า ต้องนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกน้องตลอด นำแต่ละเคส แต่ละงานที่ออกปฏิบัติหน้าที่มาศึกษาว่า มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง รวมถึงพูดคุยให้กำลังใจกัน บอกทุกคนพยายามมีสมาธิในการทำงาน แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เสี่ยงมาแล้วหลายครั้ง   แต่เมื่อเป็นหน้าที่ เราต้องทำ และหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทีมของเขาเฉียดระเบิดหนัก ๆ มาแล้ว 4-5 ครั้ง ตั้งแต่ในสวนยางพารา บ้านผ่านศึก หมู่ 2 ตำบลคีรีเขต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 คนร้ายล่อให้ไปตรวจเหตุนางแดง มณีโชติ ชาวบ้านเสียชีวิต พอชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้าเคลียร์พื้นที่ก็พลาดไปเหยียบระเบิดจนสูญเสีย ส.ต.ท.พิภพ ศรีกันยา และที่หนักล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา บาดเจ็บเกือบยกชุด และมี ด.ต.อนิรุทธ จันทะวงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิดของทีมวินิจ สังกัดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เวลามีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพที่ต้องสูญเสีย ไม่ว่าของทั้งตำรวจ หรือทหาร ช่วงนั้นในชุดก็ขวัญเสียไปเยอะ กว่าจะกลับมารวมทีมกันได้ต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่งถึงกลับมาทำงานกันได้ตามปกติ ส่วนตัวผมจะพยายามกระตุ้นให้ลูกทีมกลับมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด ให้เร็วที่สุด เพราะเราถือเป็นหน่วยหลักที่จะออกไปช่วยหน่วยข้างเคียง แม้ปัจจุบันเหตุการณ์น้อยลง แต่ฝ่ายตรงข้ามมุ่งหมายจะทำร้ายเรา รุนแรงขึ้น สังเกตจากจะมีลูกที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามมาตลอด”

 

บทเรียนภาคสนามที่สะสมมา คือ ตำราประเมินแผนปฏิบัติการ

สารวัตรงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดของจังหวัดยะลาขยายความสำคัญของทีมด้วยว่า เพราะหน่วยข้างเคียงทุกหน่วยหวังพึ่งชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ในแต่ละเหตุ หน่วยที่จะเข้าพื้นที่เป็นหน่วยแรก คือหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดที่จะเข้าไปเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัย ก่อนที่จะเปิดให้หน่วยอื่นเข้าพื้นที่ เช่น พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และผู้เกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนที่ปฏิบัติกันมา

เหตุการณ์ที่กดดันสุด พ.ต.ท.พีระศักดิ์มองว่า เป็นเคสกู้คาร์บอมบ์ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คนร้ายจอดรถไว้ใกล้หัวจ่ายน้ำมันภายในปั๊ม หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดความเสียหายรุนแรงพอสมควร  กระบวนการตอนนั้น คือตัดวงจรสายไฟ เป็นวิธีสุดท้ายที่เราจะเลือกปฏิบัติ เพราะเสี่ยงที่สุดในการปฏิบัติ ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น นายตำรวจนักกู้ระเบิดบอกว่า เราต้องประเมินสถานการณ์ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่มากน้อยขนาดไหน ต้องมีความรอบคอบในการที่จะเข้าไปปฏิบัติงานตรงนั้น ทำตามหลักที่ฝึกอบรมมา มีผู้บัญชาการเหตุการณ์คือคนที่มียศสูงสุดขณะนั้นสามารถออกคำสั่งและตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ “แต่ในทางเทคนิค การตัดสินใจการเลือกปฏิบัติ คือ ตัวผมเองที่ตัดสินใจร่วมกับชุดปฏิบัติเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด ตัวผม จะตัดสินใจเองคนเดียวไม่ได้ เพราะเราต้องทำงานเป็นทีม เลือกปรึกษาในทีมจากประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา”

 

เคลื่อนทัพออกจากที่ตั้งเมื่อใด เหมือนตายไปแล้วครึ่งตัว

หลายเหตุการณ์พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลาที่บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนร้ายตั้งเวลาไว้เท่าไหร่ หรือจ้องกดรีโมตบึมอยู่ละแวกที่เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้กำลังปฏิบัติหน้าที่ในนาทีวิกฤติตรงนั้น นายตำรวจหนุ่มมากประสบการณ์งานเสี่ยงระเบิดถึงบอกลูกทีมแต่ละครั้งที่เผชิญเหตุการณ์ หากคนแต่งบอมบ์สูทยังตัดสินใจหน้างานตรงนั้นไม่ได้ให้ถอยออกมาก่อนเพื่อปรึกษาหารือในชุดปฏิบัติการว่า จะเลือกแนวทางที่จะปฏิบัติในวิธีต่อไปอย่างไร

“ในชุดอีโอดีของเรา ผมจะบอกกับลูกทีมตลอดว่า รถเคลื่อนออกจากที่ตั้งเมื่อไหร่ เหมือนว่าเราได้ก้าวขาที่จะไปเยือนความเสี่ยงแล้วครึ่งตัว และเราจะกลับมาร่างกายครบ 32 ประการ ต่อเมื่อเรากลับมาถึงที่ตั้ง ถือว่าเราปลอดภัย ภารกิจลุล่วง” พ.ต.ท.พีระศักดิ์สีหน้าจริงจัง

ส่วนใครที่อยากจะเข้ามาเป็นทีมตำรวจนักเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เจ้าตัวฝากทิ้งท้ายว่า ปัจจัยแรก ต้องมีความมุ่งมั่น มีใจรักในงาน เสียสละทั้งกายและจิตใจ เพราะบางทีเราทำงานต่อเนื่อง ข้ามวันข้ามคืน อาจจะไม่ได้ดูแลครอบครัวเท่าที่ควร จำเป็นต้องมีความเสียสละ แล้วยังต้องมีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ มุ่งมั่นในจุดๆ นี้ เพราะเหมือนตายไปครึ่งตัวแล้ว

……………………………..

“แม้ว่าเป็นงานที่เสี่ยง แต่ผมคิดว่าเป็นหน้าที่”

ระสบการณ์ทำงานยาวนานกว่า 24 ปีแล้ว ด.ต.นิพล ชูมณี ชาวจังหวัดยะลา รับราชการครั้งแรกสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ประจำบ้านหลักเขตตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา นานประมาณ 10 ปี ย้ายทำหน้าที่ชุดติดตามรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเป็นพลขับรถกวาดตะปูเรือใบ หลังมีเหตุการณ์ยิงถล่มโรงพักอัยเยอร์เวง ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้ไปช่วยสนับสนุน

ทำงานคลุกคลีร่วมกับหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เจ้าตัวเลยซึมซับขอเข้าไปอบรมหลักสูตรนักเก็บกู้วัตถุระเบิดเพื่อนำความรู้เอาใช้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม กระทั่งบรรจุลงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เมื่อราวปี 2553

“ผมเลือกจะเก็บกู้วัตถุระเบิดเอง แม้ว่าเป็นงานที่เสี่ยง แต่ผมคิดว่าเป็นหน้าที่  จริงๆ เสี่ยงทุกคนอยู่แล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานของนักเก็บกู้ระเบิดอาจมองว่า เสี่ยงกว่า เพราะเป็นแนวหน้า  สำหรับผมคิดว่า งานสายตรวจอาจเสี่ยงกว่าผมด้วยซ้ำ เพราะไม่สามารถรู้ล่วงหน้า  ต่างจากหน้างานของผมที่รู้ว่ามีเหตุ ถึงเดินทางไปใช้ความรู้ที่เรียนมาบวกกับประสบการณ์การทำงาน”

ครั้งแรกที่เผชิญวิกฤติระเบิดต้องลงมือกู้เอง ด.ต.นิพล รับว่า จำไม่ได้ เนื่องจากนานมากแล้ว แต่รู้สึกตื่นเต้น ยิ่งในฐานะที่เราเป็นตำรวจรุ่นพี่ เมื่อต้องออกไปทำหน้าที่ก็ต้องลงมือเอง ส่วนตัวไม่ชอบนั่งดูเพื่อนทำด้วย จะเข้าเก็บกู้เองตลอด ว่าไปแล้วตื่นเต้นทุกเคส ไม่มีเคสไหนไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะถ้าเราพลาดนิดเดียว อาจถึงตายได้ แต่ต้องคิดว่า เราต้องไม่ตายด้วยความประมาทเท่านั้นเอง

เขาเคยโดนระเบิดครั้งเก็บกู้ในพื้นที่บ้านทุ่งขมิ้น อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ระหว่างไปตรวจที่เกิดเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิตแล้วฝังระเบิดไว้ตามป่ายางดักรอเจ้าหน้าที่ บาดเจ็บเล็กน้อยนอนโรงพยาบาลอยู่ 3 คืน ด.ต.นิพลบอกว่า ไม่ได้ถอดใจ ขอสู้ต่อ ให้ไปทำหน้าที่อื่น เราไม่ถนัด ตรงนี้เราชำนาญกว่า บางที่รู้แล้วว่า ต้องทำอะไร หลับตาก็นึกออกแล้ว อาศัยจากประสบการณ์ เรียนรู้จากการทำงาน บางทีถ้าคนที่ยังไม่ได้ทำ ก็อาจจะไม่รู้ เพราะยังไม่มีประสบการณ์ แต่เรามีประสบการณ์มากกว่า

นายดาบตำรวจชุดปฏิบัติการศรชัยเป็นคนแรกที่อาสาเข้าไปดูรถกระบะซุกคาร์บอมบ์น้ำหนักมหึมาหมายถล่มเมืองยะลาให้ราบคาบ เขาเล่านาทีระทึกว่า คนขับเพิ่งวิ่งออกไปแจ้งข้อมูล ประตูรถไม่ล็อก เราก็เกี่ยวประตูให้ค่อยเปิดออก ตามสายตาเห็นว่า เป็นถังแก๊สแน่นอนที่เอาผ้าคลุมไว้ มีน้ำมัน แล้วเอาพวกของชำร่วย โค้ก ไข่ไก่ มาม่า บังไว้ ให้ดูเหมือนรถขายของชำ พอเห็นถังแก๊ส น่าจะมีระเบิด ก่อนถอยออกมา

“ผมเป็นคนแรกที่ต้องไปหาข้อมูลมาบอกทีมงานเพื่อปรึกษาวางแผนขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไร ขณะนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า น้ำหนักระเบิดเท่าไหร่ ก่อนติดตั้งระเบิดน้ำเพื่อตัดขั้ววงจรแยกดูสภาพระเบิด แล้วเดินเข้าไปดูอีกรอบ เห็นสายไฟ คิดว่า ไม่ง่ายแล้ว สลับกับรุ่นน้องอีกคนเข้าไปตรวจสอบ เช็กรายละเอียดเพื่อให้แน่ใจต้องทำอย่างไรต่ออีก”

ชุดปฏิบัติการศรชัยใช้ระเบิดน้ำ หรือวอเตอร์บอมบ์ติดตั้งเพื่อทำลายวงจรอีกครั้งว่า สายไฟหลุดขาดจากวงจรจุดชนวนระเบิดหรือไม่ ด.ต.นิพลว่า เข้าไปเก็บกู้กันอีกรอบ หลังจากตรวจสอบแน่ชัดแล้วไม่ระเบิดอีกแน่นอน เพราะดึงสายไฟออกแล้ว หากจะระเบิดคงบึมตั้งแต่ไปตั้งวอเตอร์บอมบ์ หรือตอนที่เราเปิดประตูรถแล้ว คงไม่ปล่อยให้เราได้เข้าไปเก็บกู้ เชื่อว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคงไม่คิดว่า คนขับรถจะกระโดดทิ้งรถต้องให้เครดิตที่ใจถึง ทั้งที่เมียโดนจับเป็นตัวประกันด้วย “ความรู้สึกหลังจากวินาทีนั้น โล่งเลย ตอนทำก็ตื่นเต้น มันเป็นความภูมิใจของพวกเราที่ได้ช่วยคนในพื้นที่ ทำหน้าที่เสี่ยงเพื่อช่วยคนได้เยอะแยะมาก” ดาบตำรวจนักกู้ระเบิดช่วยเมืองยะลาพ้นความเสียหายครั้งใหญ่ทิ้งท้าย

 

………………..

“อย่าไปคิดอะไรมาก ชีวิตคนเรามันสั้น ทำทุกวันให้มันดีที่สุด”

อีกตำรวจหนุ่มนักกู้ระเบิดเกิดมาเพื่อรับใช้ชาติบนสมรภูมิชายแดนใต้ ด.ต.อภิทักษ์ ปราบกรี ชาวอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ดีกรีปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนสมัครเป็นทหารเกณฑ์อยู่เมืองกาญจนบุรี เพราะไม่ได้เรียนรักษาดินแดน แต่มีแรงจูงใจอยากเป็นทหารเนื่องจากทางบ้านโดนปล้น ลูกพี่ลูกน้องถูกฆ่าตาย

ผ่านการฝึกหนักทดสอบความอดทนจนปลดประจำการเมื่อปี 2546 เปลี่ยนใจหันไปสมัครสอบเป็นตำรวจที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ลงหน่วยปฏิบัติการพิเศษของจังหวัดยะลา ทั้งรุ่น 700 อัตรา เพราะเป็นช่วงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้กำลังร้อนระอุ

ไม่นานขอไปอบรมหลักสูตรนักเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เพราะอยากมีความรู้เพิ่มเติม เหมือนอีกหลายหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลายเป็นจุดพลิกผันให้มาอยู่ร่วมทีมปฏิบัติการศรชัยที่เจ้าตัวสารภาพว่า ลงกู้ระเบิดในสนามจริงไม่เหมือนที่อบรมมา ตื่นเต้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเก็บกู้มาหลายเคสก็ยังตื่นเต้นอยู่  “มันบอกไม่ถูก แต่ละครั้งต้องลุ้นทุกครั้งว่า อย่าระเบิดนะ แต่ก็ไปด้วยใจทุกครั้ง  ทำเต็มที่ที่สุดทุกครั้ง เช่นเดียวกับเคสซุกคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลาครั้งประวัติศาสตร์”

ดาบตำรวจหนุ่มรับอาสาเข้าไปสังเกตการณ์คนที่สองสลับกับ ด.ต.นิพล ชูมณี นักกู้ระเบิดรุ่นพี่ และเป็นคนเคลียร์คนสุดท้าย เขาจำแม่นว่า สายไฟยังติดพะรุงพะรังกับชุดวงจรตัวจุดระเบิดที่ยังสมบูรณ์ วันนั้นใช้เวลาเยอะมาก เพราะระเบิดมีการขนของเข้ามาวางทับ เข้ายาก แม้ประตูรถเปิดแล้ว เราอยู่ในชุดบอมบ์สูท แต่เข้าไม่ได้ มันติดชุด ติดหมวก กว่าจะเปิดประตูเข้าไปได้ถึงใช้เวลาพอสมควร

“ถึงไม่มีชุดก็ต้องเข้า ชุดบอมบ์สูทมันก็กันระเบิดมาตรฐาน แต่ผมก็ทำใจไว้หากจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนทุกครั้งเวลาลงทำงานเก็บกู้วัตถุระเบิด ผมมายืนตรงจุดนี้ ผมคิดว่าผมทำใจได้ ผมคุยกับแฟนตลอด ผมทำใจนะ ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดน้อยๆ เข้าไว้ อย่าไปคิดอะไรมาก ชีวิตคนเรามันสั้น ทำทุกวันให้มันดีที่สุด ทำทุกวันให้มันมีความสุข ผลจากการกู้ระเบิดเคสนี้ ถามว่าภูมิใจไหม มันไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจเท่าไหร่นะ แต่ก็โอเค ถ้าเราทำให้มันสำเร็จได้  ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ทุกครั้งที่เข้าไป แล้วชาวบ้านปลอดภัย ไม่เกิดความสูญเสีย” ด.ต.อภิทักษ์ระบายความรู้สึก

เจ้าตัวผ่านเสียงระเบิดสนั่นหูมาหลายครั้ง อาทิในพื้นที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต แต่หนักสุดเป็นเหตุลอบวางบึมจงใจดักถล่มเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดบนเส้นทางถนนสาย 4070 (ยะหา-กาบัง) อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 จนต้องสูญเสีย ด.ต.อนิรุทธ จันทะวงษ์ รุ่นพี่ทีมเก็บกู้ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนเขาและเพื่อนบาดเจ็บกันระนาว

ด.ต.อภิทักษ์ย้อนลำดับเหตุการณ์ว่า สติของเราต้องมาเร็วเวลาเกิดเหตุ ระเบิดลูกแรกโดนรถทหารพรานที่อยู่คันหน้า พอรถหยุด เราจับตามกันมาก็ต้องหยุดตาม คนที่ไม่เคยโดน ไม่เคยมีประสบการณ์จะอื้อ ทำอะไรไม่ถูก เพราะสติจะยังไม่มา สำหรับเราฝึกมาเยอะต้องรีบลงไปเคลียร์พื้นที่ก่อน ลงไปยิงคุ้มกัน ยิ่งใส่รอบขู่ไว้ก่อน ป้องกันไม่ให้โดนซุ่มโจมตีข้างทาง ไม่ใช่แบบสะเปะสะปะ ต้องยิงตามยุทธวิธี โอกาสรอดสูง

“ปรากฏว่า โดนระเบิดลูกที่สอง พอถูกปั๊บ ผมก็รีบสำรวจตัวเอง เห็นว่า ไม่ได้เป็นอะไรมากจึงไปหาเพื่อนคนที่เจ็บหนักสุดนอนครวญครางอยู่ข้าง ๆ แบกมันไปขึ้นรถ แล้ววิ่งกลับมาแบกคนที่เหลือเท่าที่จะทำได้ไปเรื่อย ๆ ถามว่า เสียใจไหมกับความสูญเสียครั้งนั้น ผมก็รู้อยู่ว่า  ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งต้องเจอแบบนี้ แต่เสียใจนะที่เพื่อนร่วมงานเสียชีวิต เสียใจมาก  คิดว่าสักวันอาจจะเป็นเราก็ได้ มันเสี่ยงทุกวัน”

ถึงอย่างไรเขายืนยันว่า ด้วยหน้าที่ของเขาตรงนี้ ต้องทำให้ดีที่สุด หลังสถานการณ์คลี่คลายเรายังต้องไปนอนดูอาการอยู่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล “ไม่มีคนไหนที่ไม่ร้อง มันเจ็บ เหมือนหนังสงคราม ร้องโอดโอย นอนสลบอยู่ก็มี ผมก็นอนเจ็บครวญคราง โอดโอย หมอดูไม่ทัน นอนเป็นสิบในนั้น เพื่อนผมอีกคนมารู้ว่าสะเก็ดระเบิดทะลุปอดตอนมาโรงพยาบาล  ก็เพราะเริ่มหายใจไม่ออก แต่ผมไม่เคยถอดใจนะ ปัจจุบันยอมรับว่า ยังผวานิดหน่อย มันก็แหยง แหยงทุกรอบ”

นายดาบตำรวจทีมปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดในชุดศรชัยมองว่า ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจิตใจ มีลูกกับเมียคอยเป็นกำลังใจ ใช้วันเวลาผ่านไป ทำให้เราลุกขึ้นสู้ได้อีก ในเมื่อคนอื่นเจอหนักกว่าเรายังไม่ถอดใจ สุดท้ายคิดว่าช่างมัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คิดไว้ในใจ ทำดีไว้ แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองเอง

 

 

RELATED ARTICLES