“ผมมั่นใจได้ว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนไม่มีวันตาย”

นข่าวมากประสบการณ์ฝีมือไม่ธรรมดาของช่อง 3

“บ๊อบ”อลงกรณ์ เหมือนดาว เริ่มต้นเล่าถึงเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็กว่า เป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน พ่อมีอาชีพขับรถเมล์ ขับรถแท็กซี่ เป็นรายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัว เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก บ้านอยู่ในชุมชนแออัดย่านเตาปูน

ชีวิตผมเห็นทั้งการตีรันฟันแทง เห็นการเสพ การค้ายาเสพติด มีเพื่อนเข้าออกเรือนจำ แบบเดือนเว้นเดือน ปีเว้นปี แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะพ่อแม่จะสอนเข้มงวด ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ตั้งแต่เด็กเอาเเต่เรียนหนังสือและทำงานหารายได้พิเศษ ทั้งเดินเก็บเศษเหล็ก พลาสติกตามกองขยะไปขาย เร่ขายเรียงเบอร์  เรียกว่าอุปนิสัยของตัวเองไม่ได้มาทางสายบู๊เลย จนเคยถูกล้อเลียนว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่า”

ในตอนเด็กต้องเดินทางและเรียนรู้การปรับตัวมาตลอด เพราะต้องย้ายโรงเรียนแทบทุกปี เนื่องจากพ่อเปลี่ยนงาน และย้ายที่อยู่ จากขับรถเมล์ ย้ายไปทำไร่ที่นครปฐมจึงย้ายไปเรียนต่อที่นั่น พอขึ้นชั้น ป.2 ก็ย้ายไปเรียนที่สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เรียนร่วมกับเด็กกะเหรี่ยง บนเทือกเขาตะนาวศรี ไม่เคยรู้เลยว่าวิถีชีวิต หรือความเป็นอยู่ของคนกะเหรี่ยงที่ชายแดนเป็นอย่างไร  ใช้เวลากว่าครึ่งปีกว่าจะปรับตัวได้ พอขึ้นป.3 พ่อพาลงจากเขาย้ายไปเรียนที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ก่อนที่ย้ายกลับไปเรียนในกรุงเทพฯ

ด้วยความที่พ่อเคยขับรถแท็กซี่ไปส่งนักเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์บ่อยๆ  ทำให้พ่อรู้สึกชอบความเป็นเทพศิรินทร์ และอยากให้ลูกได้เรียนที่โรงเรียนนี้  ทำให้ เด็กชายอลงกรณ์ เข้าไปสวมเสื้อนักเรียนปัก ท.ศ.ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 ตามความฝันของพ่อ เจ้าตัวเล่าว่า  ที่เทพศิรินทร์จะมีความผูกพันระหว่างเพื่อน พี่ และน้อง ในสถาบันสูง เพราะทุกคนคือ ลูกแม่รำเพย  ถูกสอนให้มีความติดดิน ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร มาจากไหน แต่เมื่อมาอยู่ที่เดียวกัน ก็จะเป็นหนึ่งเดียว

ช่วงที่เริ่มเรียนชั้น ม. 1 แม่เขาเข้าไปทำงานรับจ้างในบ้านของ ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่อมา ครอบครัวนี้ ได้รับอุปการะเขา ส่งเสียให้เรียนจนจบ  ได้ประสบการณ์พบเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้พูดคุย-สัมผัสบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ  จากเด็กชายคนหนึ่งเติบโตอยู่ในชุมชนแออัดได้มาเข้าใจวิถี  เข้าใจความจริงของสังคมในทุกระดับ โดยที่ไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้  จะกลายเป็นประโยชน์กับการทำงาน

นักเรียนหนุ่มลูกแม่รำเพยฝันอยากเป็นนักข่าวตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นคนชอบเล่า ชอบอ่านหนังสือพิมพ์  เวลาเห็นเหตุการณ์อะไร จะมาถ่ายทอดเป็นข่าว เช่น เห็นรถชน ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะเล่าแค่ว่า เมื่อกี้เห็นรถชน มีคนตาย สำหรับเขาไม่ใช่แค่นั้น จะขยายความว่า กำลังยืนอยู่ ได้ยินเสียงรถเบรกดังเอี๊ยด!  มีเสียงโครมตามมา ดังมาก  รีบวิ่งไปดู พอไปถึงก็เห็นคนนอนจมกองเลือดอยู่กลางถนน  มีกระดาษหนังสือพิมพ์คลุมร่างไว้ เพราะเสียชีวิตแล้ว

การเป็นคนชอบถ่ายทอดเรื่องราว เล่าให้คนฟังเห็นภาพ และช่างเก็บรายละเอียด ถือเป็นจุดเริ่มของการอยากเป็นนักข่าวจนเรียนถึงชั้น ม.3  ภาพความฝันยิ่งคมชัดมากขึ้น เขาเลือกเรียนสายศิลป์-คำนวณ ในชั้น ม.ปลาย เพื่อที่จะเอ็นทรานซ์เข้าคณะด้านสื่อสารมวลชน ตามเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ แต่หลังจบชั้นม. 6 เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ไม่ติด ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพิ่งเปลี่ยนจากวิทยาลัยครู เป็นสหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ มีเปิดสอนด้านสื่อสารมวลชน จึงเลือกเรียนคณะวิทยาการจัดการ เอกวารสารศาสตร์

ช่วงที่เรียน มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์ของคณะได้เรียนรู้ ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ ได้ บัญชา อ่อนวิมล นักพากย์มวยชื่อดัง ขณะนั้นยังเป็นอาจารย์ที่เทพศิรินทร์แนะนำให้ไปฝึกงาน “ช่างภาพ” ที่ บริษัทแปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มี สมเกียรติ อ่อนวิมล พี่ชาย เป็นผู้บริหาร เพราะเห็นว่าสนใจงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพโทรทัศน์  สมัยนั้นอุปกรณ์เครื่องมือการทำข่าว ยังไม่ได้ทันสมัย ช่วงแรกต้องทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วยช่างภาพไปก่อน สะพายเครื่องบันทึกภาพที่หนักมาก คอยเดินตามหลัง มีศัพท์ที่รู้กันว่า “ไหล่ไหม้เมื่อไหร่ ถึงจะได้ฝึกถ่ายภาพ”

ความผูกพันกับพี่ๆในแปซิฟิกที่สอนงานให้ทั้งวิชาและมิตรภาพ แม้จะฝึกเสร็จแล้วยังแวะเวียนเข้าไปหา และกลับไปขอฝึกงานอีก จากช่างภาพก็ฝึกเป็นนักข่าว ได้ทำข่าวเรื่อง ‘แมว’ เป็นข่าวชิ้นแรกในชีวิต “อาจารย์สมเกียรติ ให้ไปสัมภาษณ์คุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นคนรักแมว ถือเป็นข่าวชิ้นแรกในชีวิตที่ได้ทำ  คุณสมัคร ซึ่งเป็นทั้งนักการเมือง และเป็นนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง ก็ถามกลับมาว่ามีประเด็นอะไรจะถาม เมื่อตอบไป ท่านก็บอกกลับมาว่า ถามอย่างนี้ไม่ได้ และได้สอนการตั้งคำถาม จากที่ผมจะไปสัมภาษณ์  กลับกลายเป็นการไปเรียนรู้  สำหรับผม ถือว่าคุณสมัคร เป็นครูคนหนึ่ง”

หลังจากเรียนจบ เขาได้ก้าวเข้าสู่อาชีพนักข่าวอย่างเต็มตัวที่ หนังสือพิมพ์วงจรธุรกิจ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ แนวเศรษฐกิจ ได้ทำข่าวหลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจ และอาชญากรรม และตั้งเป้าไว้กับตัวเองว่า จะทำงานที่ละ 2 ปีเท่านั้น เพื่อเรียนรู้งานสื่อสารมวลชนให้ได้ทุกแขนง จนปี 2533 ย้ายผู้สื่อข่าวการเมืองประจำกระทรวงมหาดไทย ของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ในเครือเนชั่น เรียนรู้งานหนังสือพิมพ์ถึงจุดหนึ่งย้ายไปทำข่าววิทยุ ที่ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เป็น บก.โต๊ะข่าวอาชญากรรม นอกจากการดูแลทีมข่าวอาชญากรรมแล้ว ยังได้มีโอกาสไปทำข่าวคดีสำคัญระหว่างประเทศด้วย หลังคดีใหญ่ที่ 9 คนไทยถูกกล่าวหาร่วมกับชาวกัมพูชาปฏิวัติรัฐบาลฮุนเซ็น ต้องขึ้นศาลที่กัมพูชา เขาได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวถ่ายทอดสดทางวิทยุ

“ถือว่า มีความท้าทายมาก  ต้องใช้ไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และคิดรูปแบบการนำเสนอ เพื่อแข่งกับสำนักข่าวอื่นๆที่เดินทางไปรายงานที่นั่นเช่นกัน โดยเฉพาะศูนย์ข่าวแปซิฟิก เขามีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรมากกว่า  ขณะที่ผมเดินทางไปคนเดียว  ไม่มีแม้อุปกรณ์ในการรายงานสดไป  ต้องประสานออฟฟิศส่งหนังสือรับรอง ขอใช้มือถือและโทรศัพท์ข้ามประเทศ” นักข่าวคนดังเล่าประสบการณ์

กัมพูชาใช้สนามกีฬาเป็นสถานที่ในการพิจารณาคดี รายงานออกอากาศสดผ่านสถานีวิทยุ พ่วงด้วยสัมภาษณ์ความรู้สึกกับครอบครัวที่รออยู่ปลายสายเมืองไทย การรายงานสดครั้งนั้น ผ่านไปด้วยดี เป็นความภูมิใจของเขา และสถานี ที่แม้จะไปเพียงคนเดียว ก็ทำงานได้ออกมาไม่แพ้ใคร

ปี 2538 อลงกรณ์ เปลี่ยนไปทำงาน สถานีโทรทัศน์ไอทีวี  รุ่นบุกเบิกที่เกิดจากการฟอร์มทีมก่อตั้งของผู้บริหารสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ก่อนเปลี่ยนมือเป็นของเครือเนชั่น โดย สุทธิชัย หยุ่น  ถึงกระนั้นอลงกรณ์ยังได้เป็น บก.ข่าวอาชญากรรม สร้างรูปแบบใหม่ในการนำเสนอข่าวอาชญากรรมให้แตกต่างจากช่องอื่น ใช้เวลาคิด ฝึก และทดลองทำเป็นปี กว่าจะปั้นข่าวไอทีวีให้มีเอกลักษณ์ที่มองข่าวอาชญากรรมในมิติเชิงสังคม หาต้นตอของปัญหามากกว่าการประณาม มุ่งเน้นการเล่าเรื่องจริง บทและภาพต้องไปด้วยกัน เป็นจุดเด่นของเขาตั้งแต่ตอนเด็กที่ชอบไปดูอุบัติเหตุแล้วนำมาเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง

เมื่อเริ่มออกอากาศ ความแตกต่างนี้ทำให้ไอทีวีเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ ก่อนมาสร้างชื่อเป็นสื่อที่อยู่ข้างประชาชนจากข่าวการเปิดโปง “ส่วยรถบรรทุก” สั่นสะเทือนวงการสีกากี กลายเป็นต้นแบบข่าวสืบสวนสอบสวนแนวใหม่ ไม่ได้ยึดเอาความสะใจที่แอบถ่ายคนทำผิดสำเร็จ แต่ยึดหลักว่า ทำข่าวนั้นแล้ว สังคมได้อะไร

แม้เราจะมุ่งเน้นทำข่าวที่เป็นประโยชน์แบบเสี่ยงชีวิต แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทีมด้วย การทำงานทุกขั้นตอน ต้องวางแผนให้รัดกุม ถ้าแผนหลักล้มเหลว ต้องมีแผนสำรอง 2 , 3   และเราคือหัวหน้าทีม จะต้องพร้อมจู่โจมเข้าไปแก้สถานการณ์ หากทีมงานอยู่ในอันตราย เป็นเทคนิคในชีวิตประจำวัน ที่ผมจะฝึกนักข่าวสืบสวนสอบสวนเสมอ ตั้งแต่การนอน คือ ต้องนอนไม่เป็นที่   เข้าที่ทำงานต้องไม่เป็นเวลา การแต่งตัวไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะนอกหรือในงาน ต้องไม่เด่นจนคนรู้ว่าเป็นนักข่าว นอกจากนี้ ชื่อต้องไม่อยู่ในทะเบียนบ้านที่นอน รถที่ขับต้องเป็นชื่อคนอื่น เพื่อป้องกันการตรวจสอบแกะรอย เพราะหลายครั้งเราต้องตรวจสอบการทุจริตภาครัฐ   ขณะที่ในรถ ไฟต้องตั้งไว้ที่ OFF เสมอ ป้องการเผลอไปเปิดประตูตอนซุ่มถ่ายงาน จะทำให้ไฟในรถสว่างขึ้น หรือแม้แต่การตั้งโทรศัพท์มือถือ ต้องตั้งไว้ที่สั่นตลอดชีวิต ป้องกันลืมปิดเสียงมือถือ ขณะไปซุ่มถ่ายข่าว”

          เขารู้สึกสนุกกับการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน เช่น คดีทุจริตลำไย ที่ว่าเป็นการทำข่าวคลาสสิกมากข่าวหนึ่ง  เมื่อมีคนพยายามอธิบายว่า นักการเมืองทุจริตใช้เงินรัฐไปซื้อลังเปล่า ไม่มีลำไยอยู่จริง นำตัวเลขมาเบิกเงินปีละหลายพันล้าน  การคิดวิธีนำเสนอให้เข้าใจง่ายเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อลงกรณ์บอกว่า เลือกนำเสนอแบบง่ายๆ คือให้เห็นว่า บ้านหลายหลัง มีลำไยเพียงบ้านละ 1 ต้น ที่เกิดจากการบ้วนเม็ดลำไยทิ้งไว้กลับถูกนำชื่อไปแจ้งรัฐว่า มีลำไยนับร้อยไร่ ไปเบิกเงินจากรัฐหลายล้านบาท เพียงเท่านี้ คนดูก็จะเข้าใจกลโกงได้ชัดเจน

ทุกข่าว คือความภูมิใจ แต่ข่าวที่เป็นภาพจำไม่ลืม คงเป็นข่าวมาเฟียชาวต่างชาติคนหนึ่ง ถ้าเอ่ยชื่อเชื่อว่า หลายคนต้องรู้จัก เราลงไปเก็บภาพและข้อมูลในเชิงลึกจนถูกจับได้  คิดว่าคงไม่รอด เพราะมาเฟียคนนั้นมีอิทธิพล  ผมบอกกับลูกน้องของมาเฟีย ที่ตอนนั้นเอามีดจ่อคอผมกับช่างภาพว่า อย่าทำพวกผมเลย เราเป็นคนไทยด้วยกัน ผมทำหน้าที่ของผมก็เพื่อประเทศเรา จบคำพูดนั้น ผมและช่างภาพถูกเหวี่ยงไปกระแทกกำแพง ในใจรู้แล้วว่า เขาไม่ทำอะไรเราแล้ว เพราะมองไปที่สายตาเขา คำว่า เราคนไทยด้วยกัน คงไปสะกิดใจ ว่านี่เขากำลังทำงานให้กับต่างชาติที่เข้ามาหาผลประโยชน์ สุดท้ายเขาก็ปล่อยผมและทีมงาน ไม่มีการยึดเทป แต่ให้รับปากว่า ต้องออกไปจากพื้นที่ และหยุดทำข่าวนี้”

เวลาผ่านมากว่าสองปี มาเฟียคนนั้นถูกนักการเมืองนำมาอภิปรายในสภา และถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เขาจึงตัดสินใจนำเทปนั้นมาประมวลเป็นสกู๊ปข่าวในวันนั้น ในขณะที่ช่องอื่นนำเสนอเป็นแค่ข่าวในสภา  เป็นที่มาของสกู๊ปข่าวชิ้นสำคัญของไอทีวี

ปัจจุบัน อลงกรณ์ ทำหน้าที่ในตำแหน่ง บรรณาธิการข่าวช่อง 3 SD  บรรณาธิการรายการข่าว 3 มิติ และ รายการคนเฝ้าข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  ยังคงเน้นการทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่กลายเป็นลายเซ็นของเขาไปแล้ว  แม้จะอยู่ในยุคที่หลายคนมองว่า ใครๆก็เป็นนักข่าวได้ โซเชียลมีเดียทำให้การทำงานของสื่อเปลี่ยนไป แต่สำหรับเขามองว่า โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนถังข้อมูลให้เรา สามารถนำประเด็นไปค้นหา ตรวจสอบและขยายเรื่องราวให้ครบถ้วน น่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่เราต้องไม่ทำคือ นำเรื่องราวจากโซเชียลมีเดียทั้งดุ้นมาออกอากาศ เพราะนักข่าวอย่างเรา ต้องทำหน้าที่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์  การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียถือเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับสื่อสารมวลชน ไม่ใช่คู่แข่ง

นอกเหนือจากการทำงาน เขายังแบ่งเวลา ศึกษาต่อปริญญาเอก ในสาขา “อาชญาวิทยา” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เขาบอกว่า เรียนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงาน เพราะทำให้ได้รู้และเข้าใจทั้งแก่นของการก่ออาชญากรรม การป้องกัน และพฤติกรรมของอาชญากร

เกือบ 30 ปี บนเส้นทางคนข่าว เขายังคงความตั้งใจว่า จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ถ่ายทอดความจริงของสังคมต่อไป  ผมจะมีความสุขมาก เมื่อไปร่วมงานประกาศรางวัลด้านข่าวสืบสวนสอบสวน แล้วเห็น นักข่าวที่เราเคยสอน ขึ้นรับรางวัลบนเวที ปีแรกๆ อาจแพ้งานของเรา แต่ไม่กี่ปีต่อมา นักข่าวเหล่านั้น ก็สร้างผลงานเอาชนะเราได้ คือความภูมิใจ เมื่อเห็นเขาขึ้นรับรางวัล ทำให้ ผมมั่นใจได้ว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนไม่มีวันตาย มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป ถ้าถามว่าจะทำข่าวไปถึงเมื่อไหร่ ผมบอกได้แค่ว่าจะทำงานข่าวอยู่ในอาชีพนี้ ไปจนกว่าจะไม่ไหว เพราะนักข่าว ไม่มีวันหมดอายุ” เจ้าตัวทิ้งคำคม

 

 

RELATED ARTICLES