“ตำรวจต้องปราบโจร ไม่ใช่ไปรีดไถ หรือไปแสวงหาประโยชน์ ถึงน่านับถือ”

 ยึดความถูกต้องเป็นอุดมการณ์ทำงานตลอดชีวิตราชการ ทำให้ พล.ต.อ.เหมราช ธารีไทย อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีลูกศิษย์ลูกหานับถือมากมาย

เขาเป็นชาวกรุงเก่าจบมัธยมปลายโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วไปกวดวิชาโรงเรียนสตรีทัดสิงหเสนีเพื่อสอบเข้าเตรียมจุฬาลงกรณ์ ทว่าโชคชะตาถูกพัดพาไปสอบเตรียมทหารรุ่น 2 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 18

ตอนสอบติดไปเล่าให้พ่อฟัง ผู้พ่อถึงกับนั่งอึ้ง เพราะไม่ได้ปรึกษาหารือกันมาก่อน อยากให้เขาเรียนมหาวิทยาลัย ไปในทางสถาปนิก แต่ไม่อาจฝืนดวงได้ เจ้าตัวเพิ่งมารู้ตอนหลังว่า ตอนเกิดพ่อจดเวลาทำฟากไว้ไปให้หมอดูที่เป็นอาจารย์สนิทกันทายว่า เขาต้องเป็นคนในเครื่องแบบ ไม่ทหารก็ตำรวจ กำความลับไว้หลายปี กระทั่งลูกชายเป็นตำรวจจริง ๆ

ระหว่างเรียนอยู่ในรั้วสามพรานสวมบทหัวหน้าทีมนักกีฬารักบี้ และเป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชาได้รับรางวัลความประพฤติดี สมัยนั้น พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจริวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ ประกาศให้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในงานสวนสนามวันตำรวจ “ผู้บังคับบัญชาเรียกไป บอกเฮ้ย อีก 2 ปี เอ็งต้องกลับเข้ามาโรงเรียนนายร้อย มาเป็นแม่แบบให้รุ่นน้องนะ กลายเป็นความภูมิใจของผม ไม่คิดว่าชีวิตจะได้รับเกียรติอย่างนี้นะ” พล.ต.อ.เหมราชรำพันความหลัง

เริ่มต้นชีวิตราชการตำแหน่งรองสารวัตรประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลไม่กี่เดือนออกเป็นผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงราย ปีเดียวลงเป็นผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร โยกเป็นผู้บังคับหมวดกองร้อยที่ 3 โรงเรียนตำรวจภูธร 1 กลับเข้ามาเป็นผู้บังคับหมวดกองร้อยที่ 4 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วนเวียนอยู่กับการทำหน้าที่ครูอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจหลายปี จนขึ้นรองผู้กำกับการ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วโดนเด้งเป็นรองผู้กำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร 3 เพราะพิษมรสุมนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 ประท้วงหนีออกนอกโรงเรียน

พล.ต.อ.เหมราชเล่าว่า เป็นรองผู้กำกับฝ่ายปกครอง มีคนไปฟ้องผู้ใหญ่หาว่า เราเป็นคนยุให้พวกนั้นประท้วง ผู้บังคับบัญชาไม่ฟังให้เหตผุลย้ายให้ไปอยู่โรงเรียนจอหอ นครราชสีมาเลย อยู่แค่ 6 เดือนตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนภูธรภาค 6 ว่าง เพราะเจ้าของเก้าอี้จะวิ่งไปเป็นผู้กำกับฝ่ายปกครองโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วขาลอย ต้องสลับตัวให้ไปเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนภาค 6 แทน

ต่อมาผู้ใหญ่เห็นหน่วยก้านดีขยับให้ลงพื้นที่เป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ก่อนได้อาวุโสเลื่อนขึ้นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีไปเจอ “ประชา พรหมนอก” เพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้บังคับการเขต 6  รู้จักนิสัยใจคอกันอย่างดีช่วยสนับสนุนจนขึ้นรองผู้บังคับการทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี

ปี 2533 ได้กลับไปเป็นรองผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกครั้ง จากนั้นติดยศนายพลตำแหน่งผู้บังคับการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ ยุคที่ “ประชา พรหมนอก” นั่งผู้บัญชาการศึกษา ปีเดียวคืนถิ่นถนัดเป็นผู้บังคับการปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเป็นผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ขึ้นรองผู้บัญชาการศึกษา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

เลื่อนเป็นผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เพราะ “ประชา พรหมนอก” ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจต้องหาคนไว้วางใจมาทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งที่เริ่มเข้ามาสร้างความมัวหมองแก่องค์กรตำรวจ อยู่นาน 2 ปี “พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์” เพื่อนร่วมรุ่นอีกคนเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เขาขยับนั่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปแก้ปัญหาที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจนวุ่นวายกันไปหมด

เจ้าตัวเล่าถึงปัญหาตอนไปอยู่กำลังพลว่า ไม่พ้นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย สมัยนั้นก็มีเด็กฝาก ส่วนใหญ่ฝากจากนักการเมือง แต่ก็มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน หมายความว่า โควตาฝ่ายการเมืองประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะได้เยอะกว่า เพราะต้องแบบให้คนทำงาน หากไหนนักการเมืองดึงดันจะเอา แต่คนนั้นใช้ไม่ได้ เป็นไม่ได้ เป็นแล้วงานจะเสีย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องไปแจงเหตุผล

พล.ต.อ.เหมราชบอกว่า อยู่กำลังพล 2 ปีไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องเสียเงินจ่ายสตางค์ซื้อขายตำแหน่ง จะมีบางกองบัญชาการที่ได้รับการร้องเรียนถึงขั้นจะเอาผมไปแทน  แต่ประชาไม่ยอมบอกว่า ถ้าเอาผมไป แล้วใครจะมาดูที่กำลังพล ทำให้ผมอยู่ที่นั่น 2 ปี กระทั่งย้ายไปสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นหน่วยที่เต็มไปด้วยเด็กเส้นยันชั้นประทวน

“ไม่ใช่เรื่องยากเลยในการบริหาร เราแค่อย่าไปแตะต้องเขาเรื่องย้าย ผมมีนายเวรตามไปคนเดียว ประกาศในที่ประชุมเลย ท่านไม่ต้องกลัวว่าผมจะย้าย แต่อย่ามีเรื่อง ถ้ามีเรื่องผมเอาตาย นั่นก็คือ บุคลิกผม มันน่ากลัวนะ สมัยนั้นผมเสียงดัง สุดท้ายอยู่กันเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา แต่เอาตำรวจออกไปคนเดียวอยู่ด่านสะเดา มีเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมา เรียกมาเตือนเพราะให้ว่าเป็นลูกศิษย์เก่าก็ไม่ยอมเลิก ผมต้องส่งชาญเทพ เสสะเวช ตอนนั้นเป็นผู้กำกับสืบสวนตรวจคนเข้าเมืองไปหาหลักฐานเอาผิดจนได้”

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยอมรับ หากจะบริหารหน่วยนี้ต้องอย่าไปแตะ อย่าไปย้ายคนที่ไม่มีความผิด เว้นแต่มีหลักฐาน แบบนั้นเราเอาตาย นโยบายการทำงานของเราถึงไม่เอาคนของเราไปแทน คนที่เขาอยู่มาก่อน ถึงอยู่ได้ คือ เราไม่ไปพิจารณาเรื่องรายได้ เพราะถ้าพิจารณาเรื่องรายได้ก็ต้องเอาคนของเราไปอยู่ด่านสำคัญๆ อย่าง ด่านสะเดา ด่านปะดังเบซาร์ ด่านอรัญประเทศ ด่านแม่สอด ไม่เหมือนบางยุคเอาเด็กของตัวเองที่อยู่นอกหน่วยไปวางหมดแล้วย้ายคนเก่ากระจัดกระจาย ถึงกลายเป็นปัญหา

ประสบการณ์ทำงานมากมาย พล.ต.อ.เหมราชยังมององค์กรเก่าว่า มีความเปลี่ยนแปลงจนน่าเป็นห่วง อาจดีในเรื่องของงบประมาณ เพราะรัฐบาลทุ่มใหม่ แต่พอเข้าไปอยู่ในอำนาจของนักการเมืองก็ต้องยอมเขาทุกเรื่อง  โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล ตำรวจที่เขาเอางานเอาการแล้วไม่วิ่งเต้นกลับไม่เจริญก้าวหน้าก็ท้อถอย แถมปล่อยให้คนที่ไม่ควรมีอำนาจ มามีอำนาจในเรื่องการแต่งตั้งแล้วทำลายขวัญกำลังใจคนทำงาน ถ้าการเมืองไม่มายุ่งมาก การปกครองจะเหมือนพี่เหมือนน้อง มีอะไรยังคุยกันได้

“เมื่อการเมืองยื่นมือลงไปมาก ตำรวจต้องไปนั่งกินกาแฟให้นักการเมืองเห็นหน้าทุกเช้า ถึงจะยอมรับว่า ไอ้คนนี้เด็กกู ถามว่าเป็นคนนอกจะรู้จักตำรวจระดับผู้กำกับ ระดับสารวัตร หรือใครต่อใครได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากไอ้ที่ไปนั่งกินกาแฟ มันคือความล้มเหลวอย่างที่สุดในกระบวนการบริหารงานบุคคล ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายตลอดหลายปีที่ผ่านมา” นายพลวัยเกษียณชำแหละภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับองค์กรเก่าของตัวเอง

  “ องค์กรตำรวจถ้าได้รับการแต่งตั้งด้วยการที่ไม่ต้องไปวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งจะลดปัญหาเรื่องการแสวงหาประโยชน์ไปได้ไม่น้อย ผมเป็นหัวหน้าตำรวจอุดรธานี บ้านยังไม่มี สมัยก่อนอุดรธานีไม่ธรรมดานะ แต่ผมมีความรู้สึกว่า เราไปสอนนักเรียนไว้ เฮ้ยเอ็งต้องซื่อสัตย์สุจริตนะ อย่าไปเบียดเบียนราษฎรเขานะ พอผมไปเป็นหัวหน้าผมจะไปบอก เฮ้ย มึงเอาเงินมาให้กู มันทุเรศใช่ไหม ถึงกระนั้นบางเรื่องมันหนีไม่ได้ ตำรวจมันก็เหมือนพายเรือในน้ำ เรื่องที่จะไม่ให้น้ำกระเด็นเปียกเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ต้องอยู่ในเรือนะ พายไป คลื่นลมจะแรงยังไง กระเด็นมาเปียกก็ช่างมัน อย่ากระโจนลงไปในน้ำก็ละกัน แค่นั้นพอแล้ว เพราะอย่างนั้นมันจะเปียกทั้งตัว เผลอๆ เรือล่มด้วย”

เขายกตัวอย่าง “ราชศักดิ์ จันทรัตน์” ตำนานตำรวจมือปราบเอาไปสอนนักเรียนเสมอว่า นักการเมืองภาคใต้วิ่งเต้นของให้ย้ายออกนอกพื้นที่ เพราะฆ่าโจรไปเยอะ ในที่สุดย้ายไปอยู่กาญจนบุรี ราชศักดิ์เป็นตำรวจไม่เบียดเบียนชาวบ้าน ไม่รีดไถ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ ไปปราบโจรปล้นรถแทรกเตอร์เอาไปพวกนั้นตายหมด สมาคมชาวไร่อ้อยถึงกับจัดงานวันเกิดให้ ซื้อรถเบนซ์และปลูกบ้านให้ ทำกาญจนบุรีปลอดโจร แม้จะทำบาปมาเยอะ แต่ก็ทำบุญกุศลให้ชาวบ้าน เรื่องผลประโยชน์เป็นการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

อีกคนที่อาจารย์เก่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจยกเป็นตำราไปสอนคือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช รับราชการอยู่ภาคใต้ ปราบโจรจริง ๆ ชาวมุสลิมก็นับถือ ไม่เคยมีปัญหา ถึงกับตั้งฉายาเป็นภาษามลายูยกให้เป็นราชาองค์น้อย กิตติศัพท์ในการปราบโจรของขุนพันธ์ยังทำให้กรมตำรวจเลือกเอาไปปราบเสือแถวสุพรรณบุรีที่อาละวาดสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน

“พวกนี้ผมยกให้เป็นต้นแบบ ตำรวจต้องเป็นอย่างนั้น ตำรวจต้องปราบโจร ไม่ใช่ไปรีดไถ หรือไปแสวงหาประโยชน์ ถึงน่านับถือ ประชา บูรณธนิต ท่านเป็นมือปราบ ท่านเยื้อน ประภาวัตร ก็มือสอบสวน คนรุ่นเก่าๆ เรื่องผลประโยชน์ไม่ค่อยคิดถึง เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ผมศึกษาและพยายามถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่ ยอมรับว่า  ด้วยความอยู่ท้องที่น้อย ไม่มีประสบการณ์มาก แต่อ่านหนังสือเยอะ เดี๋ยวนี้ยังอ่านอยู่เลย ทุกคืนต้องอ่านหนังสือ มันช่วยเรื่องสมอง ช่วยให้มีข้อมูลในการพูดคุยได้

พล.ต.อ.เหมราชรำลึกความหลังอีกว่า ตอนไปอยู่อุดรธานีใหม่ ๆ โดนสบประมาท ไม่เคยเห็นตำรวจพูดคุยภาษาอังกฤษกับฝั่งต่างชาติ แม้กระทั่งพวกสหประชาชาติ ไปทีแรกผู้ว่าราชการจังหวัดมองอย่างหมิ่น ๆ เห็นเราเป็นตำรวจภูธร  คิดว่าไม่ค่อยรู้เรื่องภาษาอังกฤษ มีงานเลี้ยงพวกกงสุลตอนกลางคืน ยังไม่แนะนำให้รู้กับกงสุลอเมริกันเลย  คงไม่รู้ว่า เราพูดภาษาอังกฤษได้ กระทั่งกงสุลถามว่า คนที่นั่งอยู่ตรงนี้เป็นใคร เสร็จแล้วเก็หันมาคุยกับเรา ผู้ว่าถึงรู้ว่า พูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าแกอีก

เจ้าตัวอยากจะฝากตำรวจรุ่นใหม่ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ครูอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจมานานว่า การฝึกอบรมเหมือนรากฐานของตึก จำเป็นต้องปลูกฝังค่านิยมจริยธรรม การศึกษาต้องดี ต้องรอบรู้ และมีศีลธรรมอันดีให้เข้าไปอยู่ในจิตใจให้ได้ ไม่อย่างนั้นออกมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็คิดหาเงินกัน ออกมาเจอสภาพสังคม เจอรุ่นพี่ พาออกไป ยิ่งสังคมปัจจุบันยกย่องคนมีเงินกันทั้งนั้นจะอันตราย

“มันขึ้นอยู่กับเบ้าหลอม ผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนต้องคัดเอาที่เป็นต้นแบบได้ไปอยู่ ไม่รู้สมัยนี้คิดกันอย่างนี้หรือเปล่า ผมไม่คิดเลย ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ขอให้ได้ตำแหน่ง อยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมถือว่า ได้กุศลนะ  ไปไหนมีแต่ลูกศิษย์ทั้งนั้น ผมอาจจะเคี่ยวเข็ญแต่เพื่อประโยชน์ของลูกศิษย์จริง ๆ ผมยึดพรหมวิหาร 4 ต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าทำตัวไม่ดี บั้นปลายก็จบไม่สวย ผมเรียกว่าจบไม่ถึงจุดจบ” อดีตนายพลคนดังว่า

เหมราช ธารีไทย !!!

 

 

 

 

RELATED ARTICLES