คนแบบนายสมคิดในสังคมปัจจุบันยังมีอีกไม่น้อย

“การไล่ล่าจับกุมนายสมคิด พุ่มพวง มาดำเนินคดีว่ายากแล้ว แต่การหาคนลักษณะแบบนายสมคิด พุ่มพวงในสังคมปัจจุบันนั้นยากยิ่งกว่า….”

พ.ต.ต.ธนธัส  กังรวมบุตร สารวัตรฝ่ายวิชาการ สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกรุงเทพมหานคร (ILEA Bangkok )เคยเข้ารับการอบรมจากหน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 1 เดือน และเคยช่วยทำคดีลักษณะดังกล่าวมาก่อนมีมุมมองฝากเป็นแง่คิด

   เขาบอกเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเพราะคนที่มีความผิดปกติทางจิตแบบนายสมคิด ยังมีอีกมาก และที่สำคัญคือ ยังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติแบบพวกเรา จะรู้อีกทีคือ ผู้กระทำผิดได้ลงมือก่อเหตุสำเร็จไปแล้ว ถึงค่อยทำการสืบสวนหลังจากเกิดเหตุ

การจะทำคดีประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ “องค์ความรู้ตำรวจสมัยใหม่” อาทิเช่น ภูมิศาสตร์ตำรวจ (Geographic Profiling) มีเรื่องของหลักการวิเคราะห์พฤติกรรม (Behavioral Analysis) การจัดทำข้อมูลคนร้าย (Criminal Profiling) เข้ามาใช้ในการสืบสวนวิเคราะห์ว่าหากเจอคนร้ายประเภทนี้ในอนาคตให้ทำอย่างไรเพื่อให้การสืบสวนรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำข้อมูลทั้งหมดมาทำ Assessment เพื่อหาปัจจัยในการป้องกัน (Preventive Factors) ระงับยับยั้งบุคคลผู้ที่อาจมีแนวโน้มจะกระทำความผิดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อเหตุซ้ำ และจะมีวิธีเข้าไปดำเนินการตรวจสอบผู้ต้องสงสัย

ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและยุโรปได้มีการวิเคราะห์เรื่องสภาวะทางอารมณ์ แรงกระตุ้น แรงจูงใจ ต้องมีกฎหมายพิเศษใช้บังคับกับคนกลุ่มนี้ เช่น การห้ามเข้าใกล้เด็กในระยะที่กำหนด ห้ามเข้าใกล้บริเวณโรงเรียน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือ การดำเนินป้องกันการก่อนเกิดเหตุ และจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการเข้าที่เกิดเหตุ กระบวนการซักถามผู้กระทำผิด แม้แต่การตั้งฉายาผู้กระทำผิดซึ่งอาจส่งผลกระทบคือทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง ดังนั้นทุกเรื่องจึงถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เชื่อมโยงกันหลายมิติโดยไม่สามารถใช้ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อนำมาสรุปได้

นอกจากคดีของ นายสมคิด พุ่มพวง ตามความเป็นจริงแล้วในประเทศไทยยังมีอีกหลายคดีที่มีลักษณะคล้ายๆกัน เช่น คดีของผู้ช่วยพยาบาลที่วางแผนฆาตกรรมสามีตัวเองถึง 2 คน โดยใช้วิธีการวางยาพิษทีละน้อย จัดฉากอำพรางคดีเพื่อให้มองว่าเป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากต้องการได้รับเงินประกันวงเงินรวมประมาณ 40 ล้านบาท

คดีฆ่าเปลือยสาวนิรนามใช้ขวดน้ำอัดลมยัดเข้าไปในอวัยวะเพศที่จังหวัดระยอง ผู้กระทำผิดให้การรับสารภาพว่าโกรธแค้นผู้เสียชีวิต มีการลงมือด้วยวิธีการรัดคอ มัดมือไพล่หลัง ถลกเสื้อชั้นในขึ้น ถอดกางเกงชั้นในออกและใช้ขวดน้ำอัดลมที่เตรียมมายัดเข้าไปในอวัยวะเพศอย่างแรง คดีนี้คนร้ายถูกจับกุมได้เพราะคนร้ายได้ย้อนกลับมาดูผลงานตัวเองในที่เกิดเหตุ

อีกคดีที่สำคัญและถือว่าสะเทือนขวัญ คือ คดีของ นายหนุ่ย หรือ ติ๊งต่าง ผู้ต้องหาคดีฆ่า น้องการ์ตูนเป็นฆาตกรเด็กต่อเนื่อง มีการก่อเหตุกับเหยื่อที่เป็นเด็กหลายรายในหลายพื้นที่

คดีนี้มีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอ ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการค้นบ้านของนายหนุ่ยพบว่า มีตุ๊กตาและของเล่นเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการหลอกล่อเหยื่อแล้วนั้น ในทางวิชาการคนร้ายจะสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นถ้วยรางวัล (Trophies of The Kills) แสดงถึงชัยชนะในการแสดงอำนาจเหนือเหยื่อ หรือเป็นของที่ระลึก (Souvenirs) ที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ ความรู้สึกดื่มด่ำขณะที่ลงมือกระทำผิด  พยานหลักฐานเหล่านี้อาจถูกมองข้ามไปทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญในการใช้เชื่อมโยงคดีเป็นต้น

คดีเหล่านี้ถ้าทำคดีแบบปกติ คือ จับได้แล้วก็ถือว่า สิ้นสุดเพราะผู้กระทำผิดได้ถูกลงโทษ แต่ในความเป็นจริงหากวิเคราะห์ตามหลักวิชาการจะพบว่าคนร้ายเหล่านี้มีความผิดปกติทางจิต การลงโทษโดยการคุมขัง หรือแม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถจะยับยั้งคนเหล่านี้ให้ตัดสินใจไม่ลงมือก่อเหตุได้

ที่สำคัญ คือ ทุกครั้งที่ฆาตกรต่อเนื่องลงมือกระทำสำเร็จก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น วางแผนละเอียดมากขึ้นและมีความผิดพลาดน้อยลง ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษา ทำความเข้าใจถึงคนร้ายประเภทนี้ให้ถ่องแท้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีกในอนาคต

หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของเอฟบีไอ (Behavioral Analysis Unit) มีหน้าที่ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนร้ายช่วยในการสืบสวนคดีกล่าวถึง “ฆาตกรต่อเนื่อง” หรือ Serial Killer ไว้ว่า “ไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องทุกคนที่จะเกิดมาเพื่อเป็นคนชั่วร้าย หรือมีความแปลกประหลาด หลายคนมีครอบครัว มีบ้าน มีงานทำ ใช้ชีวิตธรรมดาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างปกติ ฆาตกรต่อเนื่องอาจมีแรงจูงใจเรื่องเพศเป็นส่วนใหญ่ (81 เปอร์เซ็นต์) แต่มีแรงจูงใจจากเรื่องส่วนตัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความผิดปกติอื่น ๆ อีกด้วย”

นอกจากนี้กลุ่มฆาตกรต่อเนื่องยังมีปัญหาความผิดปกติของบุคลิกภาพหลายประเภท เช่น ความผิดปกติทางจิต 32 เปอร์เซ็นต์   ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ Anti Social 42 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น และผู้ที่มีประวัติการใช้ความรุนแรงในอดีตจะมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ส่วนสาเหตุของ ฆาตกรต่อเนื่องหรือ Serial Killer  เกิดจากกระบวนการที่ซับซ้อนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเกี่ยวข้องกัน คือ ปัจจัยทางด้านสังคม (Social Factors) ปัจจัยทางชีววิทยา (Biological Factors) และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Factors) ส่วนใหญ่ฆาตกรต่อเนื่องที่มีแรงจูงใจทางด้านเพศนั้นส่วนใหญ่ตัวผู้ต้องหาจะประสบความรุนแรงทางเพศในช่วงวัยเจริญเติบโต

ขณะเดียวกัน ฆาตกรต่อเนื่องมีลักษณะบุคลิกที่คล้ายกันคือ การค้นหาความตื่นเต้น (Sensation Seeking)   ไม่มีความรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนเอง (Lack Of Remorse)  การควบคุมตัวเองไม่ได้ (Impulsivity)  การต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น (Need to control) และมีพฤติกรรมล่าเหยื่อ (Predator Behavior)

การเลือกเหยื่อ (Victim Selection) มีด้วยกัน 3 หลักคือ เลือกตามความพอใจ (Desirability) เลือกจากความอ่อนแอ (Vulnerability) และ เลือกตามโอกาส (Opportunity) ดังนั้นเมื่อเข้าใจถึงสาเหตุก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์ในการสืบสวน จับกุมดำเนินคดีคนร้ายประเภทนี้อย่างแม่นยำและไม่ผิดตัว โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการสูญเสียในอนาคตที่หากเกิดขึ้นแม้แต่รายเดียวถือว่า เสียหายมากแล้ว

เพราะมันจะสร้างรอยแผลและความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

 

RELATED ARTICLES