เก้าอี้ตัวเดียว

รอยร้าวใจกลางสำนักปทุมวันเสมือนภาพอาถรรพณ์ที่ล้างไม่ออก

บรรยากาศมะรุมมะตุ้มเปิดศึกชิงเก้าอี้ “แม่ทัพสีกากี” มีมาหลายยุคหลายสมัย เหตุเพราะองค์กรตำรวจไม่สามารถสลัดหลุดออกจากอำนาจทางการเมือง

ผู้นำองค์กรจำนวนไม่น้อยถูกสอยหล่นจากตำแหน่ง “พิทักษ์ 1 เพราะดื้อดึงไม่สนองนโยบายนอกรั้วของอำนาจทางการเมือง

สุดท้ายกลายเป็นตำนานเพื่อนรักหักเหลี่ยมกันเอง

เพราะหวังเก้าอี้สูงสุดที่มีอยู่เพียงตัวเดียว

ภาพชัดเจนสุดเมื่อครั้งนักเรียนนายร้อยตำรวจเข้ามามีบทบาทผงาดสู่ปลายยอดเหล่าทัพปทุมวัน ในวันที่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 13 นั่งอธิบดีกรมตำรวจคนแรกที่จบจากรั้วสามพราน

เพื่อนร่วมรุ่น 13 ต่างยกแผงยึดตำแหน่งสำคัญ

กระทั่งเกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำของอำนาจทางการเมือง เบื้องหลังผลักดัน พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจขึ้นบัลลังก์แทน หลังจากให้ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ขัดตาทัพไปก่อน

ผ่านสู่ยุค พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 18 เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก การบริหารสั่งการเบ็ดเสร็จอยู่กับเพื่อนในรุ่นที่ยึดหัวหาดกินตำแหน่งสำคัญกันคึกคัก

ทว่าไม่วายโดนเร่งเร้าปิดเกมเปิดทางให้ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เพื่อนร่วมรุ่นขยับคุมทัพแทน โดยมีผลพวงของ “อำนาจการเมือง” ที่อยู่เบื้องหลังอีกเช่นกัน

ถึงคิว พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ มีเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่น 20 หยิบเก้าอี้ใหญ่หลายหน่วย ก่อนเผชิญมรสุมพิษ “อำนาจการเมือง” พัดพ้นวงโคจร มี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 20 ทำหน้าที่รักษาการ แต่ไม่มีวาสนาเป็นตัวจริง

ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 25 เรืองอำนาจในตำแหน่งแม่ทัพ ขยับปรับเพื่อนเข้ามาช่วยบริหารหน่วยสำคัญเต็มแผง ก่อนอ่อนแรงพ่าย “อำนาจการเมือง” ที่มีความพยายามจัดให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ได้คุมบังเหียน กลับกลายต้องนั่ง “ตัวสำรอง” ยาวนานสุดในประวัติศาสตร์สำนักปทุมวัน

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 29 ก้าวขึ้นผู้นำอย่างสง่างามตามแบบฉบับนักบริหารอาชีพ จนโดน “อำนาจการเมือง” ในยุค “เผด็จการทหาร” ถวายพานให้   พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เพื่อนร่วมรุ่นไปทำหน้าที่แทน “ชั่วคราว” ก่อนเกษียณอายุราชการ

ดังนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 ไม่ใช่แม่ทัพคนแรกที่อยู่ท่ามกลางขุมกำลังเพื่อนร่วมรุ่น เผชิญมรสุมร้าวระหว่างเพื่อนในบั้นปลายชีวิตราชการปีสุดท้าย ก่อนอำลาเครื่องแบบและถอดหัวโขน

จะว่าแล้วเขาไม่ต่างจากผู้นำรุ่นพี่หลายคนที่ต้องอดทนเสี่ยง “วิบากกรรม” กับการเดิมพัน “เก้าอี้เพียงตัวเดียว”

ขับเคี่ยวชิงชัยกันในหมู่เพื่อนรักร่วมรุ่นสถาบัน

มีอำนาจการเมืองคอย “ปั่นเกม” อยู่เบื้องหลัง

 

RELATED ARTICLES