กุญแจที่ต้องค้นหา

มีโอกาสอ่านบทความของ พ.ต.ต.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรฝ่ายวิชาการ สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กรุงเทพมหานคร ILEA Bangkok วิเคราะห์ แรงจูงใจของคนร้าย คดีสำคัญไว้น่าสนใจ

ขออนุญาตนำมาเผยแพร่เผื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง

เจ้าตัวว่า  ในโซเชียลมีเดียช่วงที่ผ่านมาหลายคนมีความเห็นเชิงพร่ำบ่นเกี่ยวกับเดือนมกราคมที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าปกติ  สำหรับตำรวจเองก็คงรู้สึกไม่แตกต่างกัน ทั้งคดีสมคิด พุ่มพวง คดีไอซ์ หีบเหล็ก ล่าสุดคดีชิงทรัพย์ร้านทองที่ลพบุรี    แต่ละคดีไม่มีอะไรง่ายประกอบกับทุกคดีสังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตำรวจเองก็ได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถสมกับเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม การทำงานสืบสวนนอกจากต้องแสวงหาพยานหลักฐานจนกระทั่งนำไปสู่การจับกุมคนร้ายแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือการค้นหาแรงจูงใจ ค้นหาสาเหตุที่คนร้ายตัดสินใจกระทำผิดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการจับกุมคนร้าย โดยแรงจูงใจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1.ปัญหากลุ่ม (Group Cause) เช่น ผู้ก่อการร้าย นักเรียนตีกัน แข่งรถบนท้องถนน

2.ปัญหาส่วนตัว (Personal Cause) เช่น ฆาตกรต่อเนื่อง คนร้ายที่มีปัญหาทางจิต การใช้ยาเสพติด

3.เรื่องผลประโยชน์ (Criminal Enterprise) เช่น คนร้ายที่จี้ปล้น  การค้าของเถื่อน

4.เจตนาทางเพศ (Sex Intent) เช่น คดีข่มขืน  คดีอนาจาร

ในทางวิชาการปัจจุบันพบว่า แทบจะไม่มีคดีไหนเลยที่คนร้ายมีแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว เกือบทุกคดีจะเกิดจากแรงจูงใจผสมกัน (Hybrid Motivation)

ยกตัวอย่างกรณีของ “ไอซ์ หีบเหล็ก” แรงจูงใจของคนร้ายน่าจะมาจาก ปัญหาส่วนตัว (Personal Cause) ผสมกับ เจตนาทางเพศ (Sex Intent) ถ้าเจาะลึกลงไปอีกก็ต้องบอกว่า เป็นการฆาตกรรมประเภทคลั่งไคล้เหยื่อ ขณะก่อเหตุผู้กระทำผิดจะหลงใหล คลั่งไคล้ เต็มไปด้วยจินตนาการต่อเหยื่อ

สุดท้ายนำมาสู่ความตายของเหยื่อ 

คดีนี้ถือว่าเป็น ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer)  มีแผนประทุษกรรม (Modus Operandi หรือ M.O.)  คือการใส่หีบ ส่วนลายเซ็นอาชญากร (ลายเซ็นอาชญากรรม (Crime Signature) อาจจะเป็นคำพูดที่คนร้ายพูดต่อเหยื่อระหว่างมีกิจกรรมทางเพศก็สามารถเป็นไปได้

นอกจากนั้นต้องค้นหาความจริงว่า ทำไมคนร้ายถึงบังคับให้เหยื่อเข้าไปอยู่ในหีบ   หากมองในมุมของจิตวิทยาอาจเป็นเพราะภายหลังจากที่คนร้ายเกิดความหลงใหล คลั่งไคล้ในตัวเหยื่อก็กลัวเหยื่อจะหนีไป เหมือนสมัยวัยเด็กที่แม่กับน้องสาวของคนร้ายหนีไปต่างประเทศ  คดีนี้กับคดีของ สมคิด พุ่มพวง จะคล้ายกันเกิดจากปัญหาส่วนตัว ผสมกับเจตนาทางเพศ อาจแตกต่างกันในเรื่องของแผนประทุษกรรม อาทิเช่น วิธีการที่คนร้ายใช้ในการลงมือกระทำความผิด หรือคนร้ายอาจมีการพัฒนารูปแบบการลงมือกระทำความผิดเรียกว่า แผนประทุษกรรมที่ฉลาด (Clever Modus Operandi)

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเรื่องแรงจูงใจผสมอีกคดีคือ คดีชิงทรัพย์ร้านทองที่ลพบุรี แรงจูงใจของคนร้ายมาจาก ปัญหาส่วนตัว (Personal Cause) ผสมกับเรื่องผลประโยชน์ (Criminal Enterprise) หากวิเคราะห์ตามหลักวิชาการคนร้ายในคดีนี้มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือ รักตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)  คิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญ (Grandiosity)  หยิ่งยโส (Haughtiness)  ถือสิทธิว่าตนเองควรได้รับสิทธิพิเศษ  (Sense of Entitlement)  อิจฉาริษยา (Envy) และมีอารมณ์โกรธที่รุนแรง (Intense Anger) เป็นต้น

ส่วนแรงจูงใจเรื่องผลประโยชน์ชัดเจนอยู่แล้วคือ ต้องการทรัพย์สิน  

การสืบสวนคดีลักษณะนี้ต้องใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และหลักฐานทางพฤติกรรมศาสตร์ ควบคู่กันไป แต่ที่ผ่านมาคดีดังๆ หลายคดี อาจพบได้ว่าผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมีความเห็นที่แตกต่างกัน นำมาสู่การหามาตรฐานในการดำเนินคดี

Dr.Michael Welner นักนิติจิตเวชชาวอเมริกัน พยายามรวบรวมผลการตัดสินคดีที่มีความรุนแรงเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินคดีอื่น ๆ ตามรูปแบบคดีที่คล้ายคลึงกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินที่มีอคติต่อตัวบุคคล หรือการมีอคติต่อการกระทำที่โหดร้ายทารุณของผู้ต้องหา เป็นที่มาของมาตรฐานการตัดสินคดีที่เรียกว่า “Depravity Standard” แบ่งออกเป็น 4 ข้อ

1.เจตนา (Intent) อย่างคดีไอซ์ หีบเหล็ก ต้องวิเคราะห์ในประเด็น การบังคับให้ลงไปอยู่ในหีบล็อกกุญแจ  การใช้เครื่องพันธนาการ เป็นเจตนาฆ่าหรือไม่เจตนาฆ่า การปล่อยปละละเลยทำให้ขาดอากาศหายใจหรือว่าประมาท

2.เหยื่อ (Victimology) จะแสดงถึงความชอบส่วนตัวของคนร้าย เช่น เหยื่อเป็นผู้หญิงหรือเด็ก เหยื่อประกอบอาชีพอะไร สาเหตุที่ทำไมคนร้ายถึงเลือกเหยื่อรายนี้

3.ทัศนคติ (Attitude) แสดงถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจของคนร้าย กรณีไอซ์ หีบเหล็ก คนร้ายเป็น Psychopathy มีความผิดปกติทางจิต มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง สามารถใช้อาวุธปืนไล่ยิงชาวบ้านที่ทำให้ตนเองรู้สึกไม่พอใจได้

4.การกระทำ (Action) คดีไอซ์ หีบเหล็ก คนร้ายใช้วิธีกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้เหยื่อเสียชีวิต

เมื่อนำมาตรฐานนี้มาใช้ในการวิเคราะห์คดีจะเข้าหลักเกณฑ์ถึง 3 ใน 4 แม้คนร้ายจะปฏิเสธว่า ไม่ได้ตั้งใจฆ่า ประกอบกับมีพยานให้การว่าภายหลังว่าภายหลังจากที่คนร้ายรู้ว่าเหยื่อเสียชีวิต ก็แสดงอาการเสียใจร้องไห้ฟูมฟาย แต่ก็เข้าในเรื่องของการปล่อยปละละเลย

ดังนั้นสามารถนำพยานหลักฐานการวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่ออัยการและศาลเพื่อลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้

สำคัญสุดต้องรู้เหตุผล รู้แรงจูงใจถึงจะสามารถแก้ไข ป้องกันได้ คดีทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงจูงใจแบบผสม Hybrid Motivation หากเข้าใจเหตุผลก็จะทำให้ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ลดลงได้มาก การกระทำความผิดหลายๆ คดีนั้น ความรู้วิทยาการสมัยใหม่จะช่วยให้มองได้ชัดเจนขึ้น สามารถแก้ปัญหาความสลับซับซ้อนของคดี มีวิธีการวิเคราะห์เป็นหลักการ บางอย่างคล้ายกับวิธีการของนักจิตวิทยาแต่ตำรวจเอามาใช้เพื่อวิเคราะห์ จับกุมคนร้าย รวมถึงวางแนวทางป้องกัน

อนาคตน่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นเพราะจะมีคดีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกแน่นอน

จำเป็นต้องพยายามค้นหา “กุญแจสำคัญ” สำหรับไขเข้าสู่ห้วงความคิดของอาชญากร ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคตอีกต่อไป

 

RELATED ARTICLES