ไม่มีตำรวจคนไหนอยากเป็นฮีโร่ในเรือนจำ

หลังเหตุโศกนาฏกรรมประวัติศาสตร์กลางเมืองนครราชสีมา

เสียงชื่นชมตำรวจมีมากกว่าก่นด่า แม้จะมีอารมณ์กระแนะกระแหนกันอยู่บ้างตามวิสัย “ดัดจริต” ด้วยพิษสังคมโซเชียลยุคปัจจุบัน

ถึงกระนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ฝากข้อความผ่านวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ และตำแหน่งเทียบเท่า

ขอบคุณข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทุกนายทุกระดับชั้น ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ อุทิศตน ไม่หวั่นเกรงต่อภยันตราย

แม้ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องประชาชนและสังคม

การกระทำดังกล่าวสมกับการได้ทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ยังขอขอบคุณ หน่วยที่ร่วมปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยในพื้นที่ หรือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มาจากพื้นที่อื่นจนสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างลุล่วง

รวมทั้งกำชับผู้บังคับบัญชา ช่วยเหลือ ดูแลสวัสดิการ ของผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม มีอีกเสียงชื่นชมมาจาก พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“อาจารย์ป๋อม” ของ “บิ๊กแป๊ะ” ระบายความรู้สึกในฐานะเป็นตำรวจและครูตำรวจ

ระบุความเห็นของจ๊อบนั้นถูกต้อง ในแง่มุมของมนุษยธรรม

หลักวิชาของตำรวจทั่วโลก สอนกันมากในเรื่อง ความสำคัญของความเป็นมนุษย์

ชั่วโมงแรกใน FBI ถึงได้เน้นเรื่อง Human being ว่า ควรจะปฏิบัติด้วย Common sense คือ สามัญสำนึกธรรมชาติ

ส่วนธรรมชาติของมนุษย์มีอะไรบ้างคงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเรื่อง ของความต้องการต่าง ๆ แต่พอพิจารณาลึกลงไปในเรื่องจิตวิทยาจะมีเรื่องของความกลัวและความกล้าเป็นที่สุด

ที่ทำให้มนุษย์พัฒนามาจนทุกวันนี้

ตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องตระหนักเรื่องของความกลัวและความกล้า

เราถูกสอนให้ต้องแบกรับความทุกข์ของประชาชนไว้เสมือนเป็นความทุกข์ของตนเอง ส่วนจะทำได้ดีเลวมากน้อยระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับศีลาจาวัตรของความเป็นตำรวจในแต่ละบุคคล

หลักปฏิบัติและหลักกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจจับกุมคุมขังใครนั้นกำหนดขั้นตอนไว้ละเอียด สรุปรวมไว้ในเรื่องการกระทำต่อคนร้ายและผู้ต้องหามิได้ส่งเสริมให้ใช้วิธีปราบปรามแบบฟันต่อฟันอย่างรุนแรง

หรือเรียกกันสั้นๆว่า “ฆ่า”

มีข้อห้ามทางกฎหมายไว้ชัดเจนว่าเมื่อใดที่ตำรวจต้อ “ฆ่า” ตำรวจต้องถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเช่นเดียวกัน จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า เป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุหรือปกป้องผู้อื่นให้รอดพ้นภยันตรายถึงแก่ชีวิต

มีตำรวจมากมายที่ต้องเดินเข้าคุกจากการกระทำหน้าที่ของตนเองในคดีที่เรียกกันว่า “วิสามัญฆาตกรรม”

ไม่มีตำรวจคนไหนอยากเป็นฮีโร่ในเรือนจำหรอกครับ

เรื่องสุดท้ายที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ การจะวางแผนปฏิบัติการใด ๆกับคนร้ายที่มีอาวุธสงครามร้ายแรงหลายกระบอกและเครื่องกระสุนร่วมพันนัด

รวมทั้งมีสภาพจิตรุนแรงถึงขนาด “สติแตก”  ยิงผู้คนไม่เลือกหน้าว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ตลอดเส้นทางจนตายเจ็บมากมาย และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งการกระทำ มิหนำซ้ำยังถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางโซเชียลเฟซบุ๊กอยู่เกือบตลอดเวลาก่อนที่จะถูกปิดไป

คนร้ายประเภทนี้ ไม่มีตำราเล่มไหนในโลกให้ต้องมานั่งเจรจาต่อรองหรอกครับ

ประเภทนี้เรียกว่า “สุดวิสัยจะแก้ไข” เพราะจิตใจเขาไม่ใช่มนุษย์แล้วครับ

         

 

 

RELATED ARTICLES