ตำรวจใต้ร่มบรมโพธิสมภาร ตามรอยพระราชปณิธาน “ในหลวง”

 

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 กลายวันวิปโยคของพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งแผ่นดิน สำนักพระราชวังออกประกาศ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุชยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อเวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ท่ามกลางน้ำตาความเศร้าโศกอของคนไทยที่ต้องสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมากมายอย่างหาที่สุดมิได้ พระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติตลอดระยะเวลา 70 ปี ส่วนหนึ่งมี “พระราชปณิธาน” ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงห่วงใย และสนพระทัยในกิจการตำรวจ ไม่ต่างจากการเสด็จพระราชดำเนินไปถิ่นทุรกันดารเพื่อสดับรับฟังทุกข์สุขของราษฎร

นิตยสาร COP’S จึงขอน้อมนำ “พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในการบริหารงานตำรวจ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 บางส่วนจากงานวิจัยของ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมัยเป็นรองจเรตำรวจ ไว้เป็นเครื่องเตือนสติเหล่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ภายใต้ร่มบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ให้ดำรงตนตามพระราชปณิธานที่พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยไว้

 

สำนึกใส่เกล้าใส่กระหม่อม พร้อมนำมาเป็นหลักในการทำงาน

เบื้องแรก พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ระบุไว้ในคำนำสรุปใจความว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2512 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ก้มลงกราบแทบฝ่าพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานเครื่องกำลังแผ่นดิน และพระบรมราโชวาทใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นหลักในการรับราชการและประพฤติปฏิบัติตน

นับแต่วันนั้น ได้ให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะรับราชการสนองพระเดชพระคุณให้ตรงตามพระบรมราโชวาททุกประการ เมื่อมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในปีการศึกษา 2539 อันเป็นปีมหามงคลกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่นายตำรวจ มาประมวลสารัตถะตัดตอน เป็นงานวิจัยเรื่องพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในการบริหารงานตำรวจเสนอต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน ประจำปีการศึกษา 2539-2540

งานวิจัยนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ คณะเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสำนักพระราชวังที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการค้นหาเอกสารต้นฉบับพระบรมราโชวาท พ.ต.ท.หญิง ณษมา สุวรรณานนท์ และคณะที่ช่วยตรวจแก้ต้นฉบับ การจัดรูปเล่ม บุคคลสุดท้ายที่ทำให้งานวิจัยสำเร็จสมบูรณ์ คือ ส.ต.ต.หญิง นงลักษณ์ แสนอ้วน ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์ต้นฉบับตั้งแต่ต้นจนจบ

อยากให้เป็นเครื่องกำกับสติปัญญา ยึดเป็นตำราตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ระบุส่วนหนี่งว่า ด้วยประจักษ์ความอัศจรรย์แห่งพระบรมราโชวาท เป็นมูลเหตุสำคัญในการศึกษาวิจัยเรื่อง พระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในการบริหารงานตำรวจ เพื่อน้อมนำมาเป็นเครื่องกำกับสติปัญญา และเป็นแนวทางปฏิบัติ พัฒนากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของข้าราชการตำรวจให้ได้ชื่อว่า เป็นตำรวจที่ประพฤติ ปฏิบัติตนตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

“…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว ตำรวจแต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลังที่จะเสริมสร้างและสั่งสมรักษาความดีให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และสำคัญที่สุด จะต้องกระทำดังนี้ ให้พร้อมทั่วกันทุกฝ่ายทุกคนด้วยจึงจะบังเกิดประสิทธิผล ช่วยให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยและปรกติสุขมั่นคงได้ ตรงข้ามถ้าปฏิบัติไม่พร้อมเพรียงกัน หรือพากันละเลยไม่รักษาความดีแล้ว ความยุ่งยากระส่ำระสายก็จะมีตามมา จึงใคร่ขอให้นายตำรวจทุกคนนำไปคิดพิจารณาให้เห็นถ่องแท้ เพื่อจักได้ประพฤติปฏิบัติตน ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูก ให้สมควร และให้เป็นกำลังสร้างสรรค์สันติราษฎร์อย่างแท้จริงได้ตลอดไป…” (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ ร.ต.ต.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วันที่ 10 มีนาคม 2529)

ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้พยายามรวบรวมพระราชกรณียกิจที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับตำรวจ นับแต่การเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่แก่นายร้อยตำรวจ การพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจ การเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และที่สุดมิได้ คือ พระบรมราโชวาท พระบรมราโชบาย และพระราชดำรัสที่มีต่องานตำรวจ ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติตนของตำรวจที่มีจริยธรรม อุดมการณ์ และอุดมคติ

 

พระมหากรุณาธิคุณสูงส่ง ทรงพระราชทานกระบี่นายร้อยตำรวจ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีเนื้อหายืนยันว่า ตำรวจเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า เพียง 2 สัปดาห์ ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2493 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้สำเร็จการศึกษาออกรับราชการเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร นับว่าเป็นรุ่นแรก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2493 และพระราชทานพระบรมราโชวาทมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“….ขอให้สำนึกถึงความรับผิดชอบของตำรวจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจย่อมมีหน้าที่เป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาชนอย่างใกล้ชิด ในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายและรักษาสันติสุขนั้น นอกจากความรู้ความสามารถในหน้าที่แล้ว ย่อมต้องวางตนให้เป็นแบบอย่างอันดี เพราะความนิยมเคารพเลื่อมใส ยังความอบอุ่นร่มเย็นแก่บรรดาประชาราษฎร์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรมและความกรุณาปราณีประกอบไปด้วย คราวใดที่ควรให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ได้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือคำตักเตือนเช่นว่านั้นด้วยความเมตตาปราณี …”

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจก็ดี โรงเรียนนายทหารเหล่าอื่น ๆ ก็ดี หรือพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ เป็นพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติมาโดยมิได้ทรงว่างเว้น เพื่อผ่อนปรนพระราชภาระที่ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อการนี้ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้พระราชทานเฉพาะปริญญาโทขึ้นไป

พระองค์กลับทรงรับสั่งว่า “…เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตคนละ 6-7 วินาที แต่ผู้ได้รับนั้นมีความสุขไปเป็นปี ๆ เปรียบกันไม่ได้เลย ข้าพเจ้าจะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีจนกว่าจะไม่มีแรง …”

มอบธงชัยประจำหน่วย เป็นสัญลักษณ์แทนตัวพระองค์

ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงชัยประจำหน่วยของกรมตำรวจเนื่องในพิธีสวนสนามวันตำรวจ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2495 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในงานพิธีสวนสนามของตำรวจในวันนี้ และที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือ ได้มามอบธงชัยประจำหน่วยต่าง ๆ ในกรมตำรวจด้วยตนเองอีกด่วย ควรนับได้ว่า เป็นวาระสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของตำรวจไทย สำหรับตัวข้าพเจ้าก็จะระลึกอยู่เช่นกัน ….”

“ธงนี้นับว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเอาใจใส่ตัวท่านทั้งหลายตลอดเวลา เพราะเป็นที่หมายที่เคารพในเวลาที่กองตำรวจได้เข้าเป็นหมวดหมู่อยู่ประจำ และเมื่อถึงวาระจำเป็น เข้าที่คับขัน เมื่อท่านได้ระลึกถึงธงชัยนี้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องชักนำให้องอาจ กล้าหาญ และร่าเริงใจที่ประกอบหน้าที่บำเพ็ญตนให้สมเป็นตำรวจของชาติไทย อย่าให้ผู้ใดติเตียนว่า เราเกิดมาเสียชาติได้ …”

 

เสด็จฯเปิดโรงเรียนนายร้อยสามพราน พระราชประสงค์ให้ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่

เมื่อปี 2495 เช่นกัน รัฐบาลในสมัยนั้นได้อนุมัติให้กรมตำรวจ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ให้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งใหม่ขึ้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภายหลังจากที่มีเหตุการณ์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อนหน้านั้นถึง 6-7 ครั้ง และการก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณเมื่อปี 2499 กรมตำรวจจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2499 และได้พระราชทานกระแสพระราช

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดีที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ ตำบลสามพราน จังหวัดนครปฐม ในวาระอันเป็นวันตำรวจนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลำดับความเป็นมาแห่งการศึกษาของนักเรียนนายร้อยตำรวจแต่เดิมมา ก็แสดงให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรได้จัดสถาบันการศึกษาแขนงนี้ให้เป็นหลักแหล่งถาวรต่อไป

ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักอยู่แล้วว่า ประเทศชาติจักมีความสงบสุขและอาณาประชาราษฎรจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเพียงไร ย่อมอาศัยอยู่กับการตำรวจด้วยเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราสามารถผลิตนายตำรวจที่ดีที่สามารถ ก็ยอมมีหวังว่า กิจการตำรวจจักเจริญวัฒนาเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ เป็นบริการที่ดีแก่อาณาประชาราษฎรสืบไป ฉะนั้น ดำริของกระทรวงมหาดไทยที่จะจัดการศึกษาอบรมในสถาบันแห่งนี้ให้เป็นปึกแผ่น มีมาตรฐานทัดเทียมกับที่เป็นอยู่ในอารยประเทศ เพื่อความสงบสุขแก่บ้านเมืองจึงเป็นข้อที่น่าอนุโมทนา ยิ่งการอันใดที่เป็นไปเพื่อความเจริญของบ้านเมืองและประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎรแล้ว การนั้นข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนทุกประการ แต่การที่จะดำเนินงานให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้บรรลุผลสมความมุ่งหมายได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความเอาใจใส่ ความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ขอจงช่วยกันบริหารงานให้เป็นไปด้วยดี มีความสมัครสมานกันตลอดจนนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาอยู่ ขอให้ต่างฝ่ายต่างจงทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วน มีความตั้งใจดีในหน้าที่นั้น ๆ ละเว้นในสิ่งที่ควรเว้น และประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ พยายามรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบันแห่งนี้ รวมความว่า จงปฏิบัติให้สมกับเป็นผู้ที่ได้รับมอบสถาบันแห่งนี้ ซึ่งนับได้ว่า ได้สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของอาณาประชาราษฎรเถิด

บัดนี้ได้เวลาเป็นอุดมฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าจะได้กระทำพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขอให้สถาบันการศึกษาวิชาตำรวจแห่งนี้ จงสถิตสถาพรและวิวัฒนาการไปด้วยดี อำนวยประโยชน์เพื่อความเจริญแก่ชาติและบ้านเมืองไปชั่วกาลนาน ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งปวง

พระราชดำรัสครั้งประวัติศาสตร์ ยามเมื่อขาด “สมเด็จย่า”

หน่วยงานกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยตำรวจที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมัญญานาม “สมเด็จย่า” ก็เกิดจากการเรียกขานที่เปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีของตำรวจตระเวนชายแดน

มีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายหลังสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2538 ความว่า “สมเด็จย่าสิ้นแล้วอย่างสงบที่สุด สมเด็จย่ารักตำรวจมาก ช่วยดูแลงานต่าง ๆ ของตำรวจอย่างดี เป็นการสมควรที่ตำรวจทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเข้มแข็งอย่างสุดความสามารถเพื่อประเทศชาติ เพื่อจะได้เป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จย่าต่อไป”

ข้าราชการตำรวจทุกนายไม่ว่าจะสังกัดหน่วยงานใด ซาบซึ้งและตระหนักดีว่า ตำรวจที่สมเด็จย่ารักมาก ในความหมายก็คือ ตำรวจตระเวนชายแดน

 

รับสั่งถึงครูตำรวจชายแดน เป็นตัวแทนสอนอาชีพประชาชน

พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อกิจการตำรวจตระเวนชายแดนมากล้นเกินกว่าจะพรรณาได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดน ผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 นั้น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้น้อมรับพระบรมราโชวาทดังกล่าว เป็นแม่บทในยุทธศาสตร์การพัฒนาของตำรวจตระเวนชายแดน ดังที่จะได้อัญเชิญมาแสดงตอนหนึ่งว่า

“…การรักษาบ้านเมืองนั้น มีแบ่งได้เป็นภารกิจหลายอย่าง ภารกิจอย่างหนึ่งก็คือ การต่อสู้เชิงรบ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญ และวิชาที่ครบถ้วนในตัวเป็นหน้าที่เต็มเวลาอยู่แล้ว แต่ว่า คนไทยเราจะต้องทำหน้าที่ครบถ้วนยิ่งกว่านี้อีกคือจะต้องเป็นผู้ที่เป็นคนไทย คนไทยนั้นคือ คนที่จะป้องกันอธิปไตยของตัว และจะต้องส่งเสริมให้ทุกคนร่วมกันในการป้องกันอธิปไตย จะต้องเป็นผู้ส่งเสริมให้คนในชาติมีความอยู่ดี กินดี และจะต้องพยายามถ่ายทอดวิชาการ วิธีความคิดให้แก่ทุกคนที่มีหน้าที่ที่จะสร้างความอยู่ดีกินดี ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายได้ผ่านการฝึกเพิ่มเติมก็เป็นการดี”

“ในด้านที่สองที่ได้กล่าว คือ ความมั่นคงของประชาชน ก็คือ จะต้องสามารถที่จะอุ้มชูประชาชนด้วยหลักวิชาการ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้สามารถที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ฉะนั้นครูฝึกต้องไปถ่ายทอดวิชานี้แก่ผู้ที่จะเป็นลูกศิษย์ว่า นอกจากเชิงรบแล้วก็ต้องมีความรู้ในทางช่วยทางอาชีพแก่ประชาชน เพื่อการนี้จะต้องฝึกฝนและต้องรักษาความฝึกฝนของตนให้ดีด้วย ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ความเพียรและวินัย ความเพียรนั้น คือ ไม่ท้อถอยในการฝึกตนเอง ไม่ท้อถอยในการแผ่ความรู้ ไม่ท้อถอยในการช่วยผู้อื่น วินัยก็คือ ระเบียบที่มีอยู่ในใจของตัวเอง เพื่อที่จะเลือกเฟ้นวิชาการมาใช้ในที่ ๆ เหมาะสมที่ถูกต้อง และวินัย คือ ควบคุมตัวเองให้อยู่ในร่องในรอย ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง ซึ่งจะนำพาสู่ความเสียหายของตนเอง และเป็นตัวอย่างที่เลวแก่ผู้ได้รับการฝึกซึ่งเป็นลูกศิษย์และตลอดจนประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดความสงสัย ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ ฉะนั้นก็ต้องมีทั้งวิชาการและทั้งวินัย…”

 

จัดตั้งโครงการจราจรพระราชดำริ แก้ปมวิกฤติจราจรกลางเมืองหลวง 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตระหนักถึงปัญหาการจราจร และได้ทรงแสดงความคิดเห็นด้วยความห่วงใยทั้งในฐานะพระมหากษัตริย์ และฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งต่อการแก้ไขปัญหาจราจร อีกทั้งได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขตลอดจนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญการจราจรที่สำคัญ คือ

มีกระแสรับสั่งผ่านพล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2536 ถึง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทราบถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองฺค์รวมกับพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระศรีนรินทราบรมราชชนนีจำนวน 8 ล้านบาท เพื่อให้กรมตำรวจซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วทำหน้าที่สายตรวจจราจร รวมถึงการจัดซื้อวิทยุสื่อสาร และค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจ พร้อมกับได้พระราชทานแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร 5 ประการคือ

1.ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมีระเบียบวินัย เคารพกฎจราจรและกฎหมาย

2.ให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำรถจักรยานยนต์จะต้องเดินทางไปถึงจุดที่จราจรติดขัดอย่างเร่งด่วน พร้อมกับการแก้ไขการจราจรในช่วงนั้นให้สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนน้ำไหล

3.ให้เจ้าหน้าที่ดูแลรถบนถนนให้เคลื่อนตัวไปด้วยความเร็วตามเหมาะสม อย่าให้มีติดขัด

4.ให้พื้นที่ที่การจราจรติดขัดแบบคอขวด เจ้าหน้าที่ต้องพยายามแก้ไขให้ได้จนสามารถเคลื่อนตัวไปได้เหมือนน้ำที่เทออกจากขวด

5.พยายามหาทางให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ให้ได้

หลากหลายพระบรมราโชวาท ทรงย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของตำรวจ

กล่าวโดยสรุปในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราโชวาทความว่า “ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบสุขและความถูกต้องเป็นธรรมในบ้านเมือง การปฏิบัติหน้าที่ทั้งนี้ บางทีก็ต้องใช้ความเมตตาอารีและเสียสละอย่างสูง ในการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนโดยเสมอหน้า แต่บางทีก็ต้องใช้ความเข้มงวดเด็ดขาดในการควบคุมกำราบทุจริตชน และการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะทำหน้าที่โดยทางเมตตาเกื้อกูล หรือเข้มงวดกวดขันก็ตาม ตำรวจะต้องระมัดระวัง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลตรงตามเป้าหมาย คือให้เป็นการรักษาความสงบสุข และเป็นการผดุงความถูกต้องเป็นธรรมอยู่เสมอ อย่าให้ถูกมองว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์เบียดเบียนประชาชน หรือลบล้างทำลายความเป็นธรรมเสียเองเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาภาพพจน์คุณค่า และเกียรติศักดิ์ของตำรวจได้ …” (พระบรมราโชวาทในงานพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจปี 2531)

“…อีกประการหนึ่ง ใครจะเตือนว่า อุปสรรคสำคัญในการทำงานก็คือความท้อถอย และความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความฉลาด ความสามารถในตนเองกับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่อย่างร้ายกาจ ในเรื่องนี้ ขอให้แต่ละคนระลึกว่า ตำรวจนั้นเป็นฝ่ายที่ตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรมย่อมอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าผู้ทำผิด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้สมบูรณ์ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่มีทุจริตชนคนใดจะเอาชนะความดี และความสามารถของตำรวจได้..” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจปี 2537)

“…และจงระลึกไว้เสมอว่า ตำรวจผู้ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือย่อหย่อนในหน้าที่นั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้บ่อนทำลายโดยมิได้ตั้งใจ …” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ปี 2510)

ดำรัสหลังประดับยศชั้นนายพล ครองตนให้สมบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ทิ้งท้ายบทด้วยข้อเสนอแนะการศึกษาวิจัยเรื่องพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในการบริหารงานตำรวจจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่ผลงานวิจัยนี้ได้มีโอกาสถ่ายทอดเผยแพร่ในหมู่ข้าราชการตำรวจ และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บังคับบัญชาตำรวจในแต่ละดับควรน้อมนำพระบรมราโชวาทใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นหลักชัยในการทำงาน และดำรงชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2519 ความว่า

“…พิทักษ์สันติราษฎร์นี้ หมายถึงให้ประชาชนมีความสันติ สันติก็คือ ความสุขความสงบ เป็นงานที่กว้างขวางเหลือเกิน เพราะว่า ประกอบด้วยกิจการมากและหนัก กิจการที่แตกต่างกันหลายอย่าง งานหนัก งานรักษาความปลอดภัยก็เป็นงานในหน้าที่ของตำรวจที่จะดูแลให้ประชาชนอยู่ด้วยความสงบในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ก็ต้องรับหน้าที่รักษาความสงบสุขของบ้านเมือง คือ ท่านเป็นผู้ที่จะรักษาประเทศชาติให้คงไว้ซึ่งอธิปไตย ซึ่งความมั่นคง ซึ่งเอกราช อันนี้ก็เป็นงานที่สำคัญ นอกจากงานนี้ก็มีงานในด้านที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของประเทศชาติ และประชาชนอีกส่วนหนึ่ง งานทุกด้านย่อมมีความสำคัญ เมื่อสำคัญแล้วก็มีความลำบาก ความลำบากนี้ก็มีมากพอแล้วในงานในด้านที่เรียกว่าวิชาการ หรือระเบียบการ ฉะนั้นก็ขอให้แต่ละคนมุ่งให้งานนั้นสำเร็จเรียบร้อย อย่าให้สิ่งที่มาขัดขวางเป็นสิ่งที่ทำให้งานไม่สำเร็จหรือล่าช้าได้”

“ความเพียรที่จะปฏิบัติงานต้องขจัดความเกียจคร้าน ความสุจริตก็กำจัดความทุจริต และยังมีคุณธรรมอีกหลายอย่างที่จะกำจัดเหตุขัดข้องขัดขวาง ความจริงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะตำรวจก็เห็นเหตุขัดข้องอยู่เสมอ บ่นกันว่า งานมันไม่เดิน คนโน้นไม่ดีบ้าง คนนี้ไม่ดีบ้าง อันนี้เป็นเหตุธรรรมดา แต่ทว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมีหน้าที่สำคัญบังคับบัญชา และที่ว่าตำรวจสมัยนี้ต้องปฏิบัติงานหลายด้าน มีความรับผิดชอบมาก ก็ขอให้กำจัดความขัดข้องต่าง ๆ ด้วยการปฏิบัติของตน ฉะนั้นก็เคยกล่าวอยู่เสมอ ทั้งแก่ตำรวจ ทั้งแก่ทหารและพลเรือนว่า ขอให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความแข็งแรงขยันหมั่นเพียร ก็ขอให้ท่านไปพิจารณาในแนวนี้เพื่อว่า ท่านทั้งหลายจะได้นับความเจริญในหน้าที่ หมายความว่า ให้ได้รับความสำเร็จ และจะได้รับการยกย่องจากผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนทั่วไป ทั้งจากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า ก็จะยกย่องว่า ปฏิบัติดีด้วยความขยันหมั่นเพียร อันเป็นสุขที่เราจะได้ ถ้าทำงานก็ได้รับการชมเชย ได้รับการรับรู้ทำงานดีก็ปลื้มใจ ความปลื้มใจยิ่งใหญ่ ก็คือรู้ว่า ตนได้ปฏิบัติดีชอบ ไม่มีอะไรที่จะอายได้ ทั้งหมดนี้ ถ้าแต่ละคนทำ ไม่ต้องอายตัวเอง ไม่ต้องอายผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ต้องอายประชาชน ข้อนี้ที่จะทำให้งานของส่วนรวม กล่าวโดยเฉพาะคือ กรมตำรวจจะรุ่งเรือง จะสำเร็จตามเป้าหมาย สำคัญคือพิทักษ์สันติราษฎร์ ในทุกความหมายของคำว่า พิทักษ์สันติราษฎร์…”

RELATED ARTICLES