“แต่ก็ต้องมาคิดตั้งต้นใหม่ เลือกที่จะเดินหน้าต่อ”

คนข่าวสาวช่อง 3 อดีตค่าย “ทีวีไทย”

“ต้อง”ธัญญธร สารสิทธิ์ เด็กชาวกรุง จบปานะพันธุ์วิทยาชั้น ม.3 ไปต่อโรงเรียนศรีอยุธยาจนจบ ม.6  เห็นบุคลิกนักข่าวจากในละคร ตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมปลาย ดูเท่ ได้ไปไหนมาไหน มองว่า น่าสนุกเพราะมีโอกาสเจออะไรใหม่ ๆทุกวัน

เป็นแรงจูงใจให้เธอมุ่งหน้าสู่อาชีพนักข่าว

เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นจังหวะที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกเปิดตัวฉบับแรกที่ตีพิมพ์ภาพนักเรียนช่างกลถูกจับนอนเรียงบนพื้นถนน พาดหัวข่าวว่า “กูมาแล้ว” เนื้อหาข้างในยังมีคอลัมน์ ตะลุยข่าว และฟื้นคดีดัง ทำให้ต้องประทับใจ และอยากทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์น้องใหม่ฉบับนี้

ฝันของต้องกลายเป็นจริง เมื่อมีโอกาสไปฝึกงานที่นั่น แม้จะใช้เวลาเดินทางนานไปกลับกว่า 3 ชั่วโมงจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปบางนาก็ไม่ทำให้ท้อแท้ เธอบอกว่า รู้สึกประทับใจมาก ยิ่งวันไหนได้สวมชุดไปรเวท ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองสวมบทนักข่าวตัวจริง ไม่ใช่นักศึกษาฝึกงานธรรมดา

ต้องเล่าว่า ประทับใจกับผลงานชิ้นแรกของตัวเองในชีวิตของนักศึกษาฝึกงาน เมื่อถูกส่งไปเจาะข่าวสืบสวนสอบสวนในขบวนการค้าเนื้อวัวเถื่อน หยิบประเด็นข่าวสั้นชิ้นเล็กมาขยายต่อยอดลงพื้นที่หาข้อมูลลำพังคนเดียวนานเดือนครึ่ง เริ่มจากกรมศุลกากรจับเนื้อวัวเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาไม่ผ่านการตรวจของศุลกากรสุดท้ายตามไปถึงการเชือดวัวแถวเมืองกาญจนบุรี นำมาลงตีแผ่ขบวนการในหน้าหนังสือพิมพ์

อีกข่าวที่เกิดจากไอเดียของเธอเอง คือ เปิดประเด็นปาร์ตี้ทอม-ดี้ ทำสื่อหลายสำนักเกาะตามข่าวชิ้นนั้น ต้องบอกว่า มีเพื่อนทอมดี้อยู่หลายคน พวกนั้นมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการรวมกลุ่มจัดปาร์ตี้เฉพาะเลยตัดสินใจเข้าไปร่วมวงปาร์ตี้นำบรรยากาศมาเขียนเป็นข่าว กลายเป็นกระแสใหญ่โตในสังคม

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอเดินตามความฝันสำเร็จ เมื่อได้บรรจุอยู่โต๊ะรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ทว่าอยู่แค่ 2 ปีเกิดปัญหาเศรษฐกิจ มีการปลดพนักงาน เธออยู่ในข่ายถูกเชิญออก “เขาโทรมาบอกไม่ต้องไปแล้ว ความรู้สึกวินาทีนั้น เสียใจมาก  ผิดหวังนะ มันเป็นงานที่เรารัก ร้องไห้ทุกวัน แต่ก็ต้องมาคิดตั้งต้นใหม่ เลือกที่จะเดินหน้าต่อ”

ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เปิดรับสมัครนักข่าวสายอาชญากรรม เธอลองไปสมัครทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องตำรวจเลยสักนิดเดียว ลุ้นอยู่ 2 สัปดาห์ได้เป็นนักข่าวทีวีเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนไอทีวีเป็นจอดำเปลี่ยนเป็นทีไอทีวี หรือทีวีไทยในปัจจุบัน “ช่วงนั้นก็คิดว่า ชะตากรรมเล่นตลกอะไรกับชีวิตอีก เครียดอยู่เหมือนกันจะโดนโละอีกหรือเปล่า หลายคนร้องไห้ ระส่ำระสายพอสมควร มีคนชวนไปอยู่หลายช่องนะ แต่เราคิดว่า แฮปปี้กับบรรยากาศการทำงานที่นี่ ไปแล้วใครจะทำงานล่ะเลยตัดสินใจอยู่”

ต้องยอมรับว่า การทำงานข่าวโทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์ต่างกันมาก ทีวีต้องทำงานเป็นทีม ต้องดูแลพวกเขาไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ หรือผู้ช่วย เพราะภาพถ่ายไปแล้วย้อนกลับมาใหม่ไม่ได้ มันต้องสื่อด้วยภาพ ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ที่จะเขียนบรรยายยังไงก็ได้ การทำงานเป็นทีมของนักข่าวทีวีจึงสำคัญที่สุด แต่มีข้อเสียเหมือนกัน คือทำให้เราไม่ละเอียด

วันนี้ “ต้อง” ธัญญธร สารสิทธิ์ ยังสนุกกับงานข่าวสายอาชญากรรม ได้ไปไหนที่หลายคนไม่ได้ไป มีโอกาสเห็นอะไรในสิ่งที่หลายคนไม่มีทางได้เห็น

แม้แวบหนึ่งในความคิดของเธอจะวางแผนในอนาคตไว้อยากทำนิตยสารท่องเที่ยวเป็นของตัวเองสักครั้งก็ตาม

RELATED ARTICLES