“ตัดสินใจไปก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดไกล คิดแค่เพื่อโรงพยาบาลตำรวจ”

โรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์” หมายถึง โรงพยาบาลที่เป็นสถานที่รักษาพยาบาลอันยอดเยี่ยมและเป็นมงคลแห่งจังหวัดยะลา

พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร สุโฆสิต นายแพทย์ (สบ 5) กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ หนึ่งในคณะทำงานริเริ่มโครงการตั้งแต่ต้น ถึงตัดสินใจสานต่อรับหน้าที่หัวหน้าดูแลโรงพยาบาล หลังจากการก่อสร่างเสร็จสมบูรณ์เปิดใช้ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ด้ามขวานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่สงบเกือบตลอด 24 ชั่วโมง แต่บรรดาแพทย์และพยาบาลต่างอาสาเสียสละลงไปทำหน้าที่ดูแลรักษาคนไข้ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร พลเรือน และครอบครัว ตามวัตถุประสงค์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไว้แต่แรก

นิตยสาร COP’S ขอนำเรื่องราวหน่วยแพทย์พยาบาลแห่งใหม่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บนความภาคภูมิใจของบรรดาผู้พิทักษ์สวม “เสื้อกาวน์” ในสมรภูมิเดือดใต้สุดของประเทศ

 

ปฐมบทของโรงพยาบาลชายแดนใต้ ได้อาสาสมัครลงพื้นที่ 17 คน

จุดเริ่มต้นโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากแนวคิดของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนก่อน มีนโยบายที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ตำรวจที่ปฏิบัติราชการในความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ขาดการดูแลรักษาที่ใกล้ชิด หากมีหน่วยแพทย์ที่ให้การดูแลเองเป็นการเฉพาะน่าจะทำให้ขวัญกำลังใจของทุกคนดีขึ้น จึงจัดตั้งมูลนิธิ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เพื่อระดมทุนมาใช้ในดำเนินการก่อสร้างตัวอาคารโรงพยาบาล ก่อสร้างขึ้นในเขตพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีประกาศจัดตั้งโรงพยาบาลตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2558 ข้อ 6 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี   เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558

การก่อสร้างใช้เวลาเพียง 9 เดือน มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้นเป็นประธาน   ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และอื่นๆ พล.ต.ท.สมบูรณ์ ตันตระกูล แพทย์ใหญ่ รพ.ตร. จึงสั่งการ พล.ต.ต.วิฑูรย์ นิติวรางกูร รองแพทย์ใหญ่ รพ.ตร. เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งโรงพยาบาล ที่ประกอบไปด้วยหัวหน้ากลุ่มงานที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มงานของโรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งเจ้าที่อำนวยการต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านงบประมาณ ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และมอบหมายให้ พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร สุโฆสิต นายแพทย์ (สบ5) กลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ตร.ทำหน้าที่หัวหน้าโรงพยาบาล และ พ.ต.ท.หญิง นวรัตน์ ศรีรัญเพชร พยาบาล (สบ3) กลุ่มงานพยาบาล ร่วมกับพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และเจ้าหน้าที่ธุรการ ที่อาสาสมัครลงไปปฏิบัติหน้าที่จัดตั้งโรงพยาบาล รวม 17 นาย

พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร อธิบายว่า ความจริงมีแผนให้เริ่มเปิดให้บริการภายในปี 2558 แต่เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างที่จำกัด การตกแต่งภายใน การจัดวางเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การดำเนินการด้านธุรการ เอกสาร การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขอเลขทะเบียนสถานพยาบาล การขอเลขผู้เสียภาษี การวางระบบคอมพิวเตอร์ภายใน และภายนอกเพื่อทำการตรวจสอบสิทธิ และเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิก (E-claim) กับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสุขภาพ เขต 12 สงขลา ต้องใช้เวลามาก กำหนดการเปิดให้บริการของโรงพยาบาลจึงล่าช้าออกไป ก่อนเริ่มเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกได้ เมื่อวันที่ 1มีนาคม 2559 เปิดบริการผู้ป่วยในเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559

มุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจชายแดน ตอนแทนนักรบบนสมรภูมร้อน

ลักษณะสำคัญของโรงพยาบาล พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นหน่วยแพทย์ตำรวจที่มุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจในการปฏิบัติงานของตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอาคารคอนกรีตเอนกประสงค์ 1 หลัง 2 ชั้น บนเนื้อที่ปลูกสร้าง 3,600 ตารางเมตร มีอาคารสนับสนุนขนาดเล็กที่ปีกซ้ายขวา สร้างด้วยเงินบริจาคของมูลนิธิ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จำนวน 84 ล้านบาท หน้าอาคารมีพื้นที่จอดรถพยาบาล และรถฉุกเฉินได้ 9 คัน มีที่จอดรถรอบโรงพยาบาลได้อีกประมาณ 30 คัน ด้านหลังสามารถจอดจักรยานยนต์ได้ประมาณ 30 คัน  มีห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก 2 ห้อง พื้นที่ห้องฉุกเฉินรับผู้ป่วยได้ 7 เตียง รวมถึงห้องผ่าตัด ห้องบริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู ห้องทันตกรรม ห้องตรวจด้านสุขภาพจิต และห้องนิติเวชศาสตร์ 2 ห้อง  จำนวนเตียงผู้ป่วยใน 30 เตียง แบ่งเป็นเตียงสามัญ 24 เตียง ห้องผู้ป่วยพิเศษ 6 เตียง

หัวหน้าโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ บอกว่า ให้บริการหลัก คือ ทางการแพทย์ทั่วไปทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ คลินิกฉุกเฉิน อุบัติเหตุ คลินิกโรคพื้นฐานทั่วไป (อายุรกรรม ศัลยกรรม ศัลยกรรมกระดูก เป็นหลัก) คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกจิตวิทยา  คลินิกทันตกรรม

“แต่เรามีข้อจำกัดในการดูแลผู้ป่วยได้เฉพาะผู้ป่วยมีอาการไม่หนักมากนัก เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้มีการให้บริการผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และยังไม่มีการให้บริการในด้านการผ่าตัด แต่มีโครงการเตรียมไว้ในอนาคต ทั้งนี้เรายังเป็นหน่วยแพทย์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น งานนิติเวชศาสตร์  งานด้านวิชาการด้านการแพทย์ทุกประเภท เป็นหน่วยรับดูแล ฟื้นฟู ส่งกลับ และรักษาสิทธิสวัสดิการให้แก่ตำรวจในพื้นที่อีกด้วย”

อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย บริการด้วยใจได้มาตรฐาน

โรงพยาบาลแห่งนี้ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ ดังเช่น เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์แบบหมุนรอบผู้ป่วย (Spiral CT 16 slides) เครื่องเอกซ์เรย์แบบเคลื่อนที่ได้ (Mobile Digital X ray) เครื่องเอกซ์เรย์แบบติดตั้งเพดาน  เตียงผ่าตัด และอุปกรณ์ส่องสว่างในห้องผ่าตัด เก้าอี้ทำฟันพร้อมระบบครบชุด เครื่องเอกซ์เรย์ฟันระบดิจิตัลแบบเคลื่อนที่ได้ อุปกรณ์ และเครื่องมือการทำกายภาพบำบัดที่ทันสมัย เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์สำหรับบำบัดอาการปวดเรื้อรัง เครื่องช็อตเวฟสำหรับบำบัดอาการปวดเรื้อรัง  เครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องตรวจอัลตร้าซาวด์ประจำห้องฉุกเฉิน  อุปกรณ์การตรวจห้องปฏิบัติการระบบพื้นฐาน  ตู้เย็นเก็บร่างกายผู้เสียชีวิตชนิดปลอดกลิ่น เตียงผ่าชันสูตรผู้เสียชีวิตชนิดปลอดกลิ่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง

พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร เล่าว่า ระยะแรกมีบุคลากรอาสาสมัครลงมาปฏิบัติหน้าที่จำนวน 26 คน พวกเราร่วมกันวิเคราะห์ศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ในเชิงโอกาส หรือภัยอุปสรรคที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อม และสังคมภายนอก ตลอดจนศึกษาถึงองค์กรภายในที่รวมถึงแนวคิด และระบบการทำงานของบุคลากรในการปฏิบัติว่ามี จุดแข็ง หรือจุดอ่อนอย่างไร แล้วนำผลการวิเคราะห์ไปประเมินสถานภาพปัจจุบันขององค์กรเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ไปกำหนดทิศทางในอนาคต

“วิสัยทัศน์ คือ เป็นโรงพยาบาลที่ดี มีมาตรฐานเพื่อสุขภาพของตำรวจ และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามด้วยพันธกิจ มุ่งเน้นรักษาพยาบาลตำรวจ ทหาร พลเรือน ประชาชน ตลอดจนลูกจ้าง และครอบครัว ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ และงานสาธารณสุข พร้อมให้คำปรึกษาด้านการแพทย์แก่ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้  ยึดค่านิยมในการทำงานให้สอดคล้องแนวคิดโรงพยาบาลตำรวจ คือ ทำงานเป็นทีม บริการด้วยใจ ได้มาตรฐานสากล บนพื้นฐานธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ๔ G คือ  Good Team  Good Heart  Good Standard Good Governance” พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธรว่า

รับการตอนรับอย่างอบอุ่น มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม

นายตำรวจหัวหน้าหน่วยแพทย์โรงพยาบาลแห่งใหม่ชายแดนด้ามขวานเล่าอีกว่า  เมื่อแรกเริ่มลงไปจัดเตรียมการเปิดโรงพยาบาล คณะบุคลากรรุ่นบุกเบิกได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และดียิ่งจากตำรวจทุกระดับ โดยเฉพาะจากผู้บริหารระดับสูงของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของขวัญกำลังใจที่ได้จากการลงมาปฏิบัติหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรอื่นๆ ของโรงพยาบาลตำรวจ จากนั้นเริ่มมีผู้มาใช้บริการกันมากขึ้น โดยเฉพาะตำรวจที่อยู่ภายในหน่วย นอกจากนี้ ได้พยายามอำนวยความสะดวก และลดภาระการจ่ายเงินของตำรววจด้วยการออกบริการสแกนนิ้วเปิดสิทธิจ่ายตรงนอกสถานที่ให้กับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะเข้ามาดำเนินการในโรงพยาบาล เช่น ตำรวจที่อำเภอเบตง และรอบๆ ของพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

โรงพยาบาลยังได้รับความกรุณาจาก พล.ต.ต.กิตติพงษ์ สุวัธนเดชา นายแพทย์ (สบ6 ) รพ.ตร. ได้ให้ความกรุณาลงมาช่วยให้บริการตรวจรักษา ร่วมกับว่าที่ พ.ต.ต.นพพล ชัยเจริญสุขเกษม จนเป็นที่ประทับใจในการให้บริการแก่ข้าราชการตำรวจ ครอบครัว และประชาชน ที่มาใช้บริการกันเป็นอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้มาใช้บริการวันละ 20-30 ราย บางวันมากถึง 40 กว่าราย และมียอดคงให้บริการผู้ป่วยในอยู่ที่ เฉลี่ยประมาณ 5-10 นาย ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาส่วนมากจะเป็นตำรวจที่บาดเจ็บในขณะปฏิบัติหน้าที่

ขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มมีการจัดตั้งโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชนามเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่โรงพยาบาล พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาล โดยมีหนังสือ นร 0508/ท 697 ลงวันที่ 26 มกราคม 2559 พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ หมายถึง โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่รักษาพยาบาลอันยอดเยี่ยม และเป็นมงคลแห่งจังหวัดยะลา และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลด้วย

 

ประเดิมฉากความภาคภูมิใจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยรอดชีวิต

ผลงานภาคภูมิใจของแพทย์และพยาบาลที่เสียสละมาทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร เผยว่า เมื่อเริ่มเปิดให้บริการได้บางส่วน สามารถรับผู้ป่วยจากเหตุระเบิดที่จังหวัดปัตตานีหลายจุดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหนักได้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลปัตตานี บางคนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนผู้บาดเจ็บเล็กน้อยส่งมารักษาตัวโรงพยาบาลเราจำนวน 11 นาย เป็นผู้ป่วยชุดแรกที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล และเป็นผู้ป่วยที่ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลมาแต่แรก

“นอกจากจะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ได้การบาดเจ็บมาแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวก ประหยัดทรัพยากร และเวลาให้แก่ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ต้องเสียไปกับการตรวจเยี่ยมในจุดต่างหลายจุดที่บางครั้งอยู่ห่างกัน ต้องเดินทางทางเฮลิคอปเตอร์ ที่สำคัญคือ ความปลอดภัยของผู้ที่เข้ารับการรักษาตัว เนื่องจาก สถานที่ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ไม่ต้องกังวลจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยเหมือนในโรงพยาบาลท้องที่ ที่บางครั้งต้องไหว้วานเพื่อนพ้องที่ไม่ได้เข้าเวรมาช่วยรักษาความปลอดภัย

เจ้าตัวบอกอีกว่า ทีมแพทย์และพยาบาลยังร่วมตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำจนช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย หลังจากโรงพยาบาลได้รับโทรศัพท์ปรึกษาถึงอาการผู้ป่วยจากเจ้าหน้าที่การศึกษานอกโรงเรียนยะลาว่า มีอดีตผู้บริหารระดับสูงขอมารักษาต่อที่โรงพยาบาล เมื่อไปตรวจรักษามาจากโรงพยาบาลเอกชน และแนะนำให้ตรวจรักษาเพิ่มเติม พอผู้ป่วยมาถึงทีมแพทย์วินิจฉัยว่า น่าจะเป็นการอักเสบที่รุนแรงของเนื้อเยื่อที่ลึกเข้าไปในช่องคอ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ในโรงพยาบาล  พล.ต.ต.กิตติพงษ์ สุวัธเดชา จึงติดต่อขอย้ายผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เข้าผ่าตัดทันที

เดินหน้าช่วยหาสิทธิเหล่านายสิบ งานถี่ยิบออกตรวจรักษาพระสงฆ์

เขายกตัวอย่างผลงานความภูมิใจต่อว่า เมื่อโรงพยาบาลเปิดให้บริการแล้ว พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกา เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทำให้ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง ระยะแรกผู้ป่วยยังไม่มากนัก ทุกคนได้รับการอนุเคราะห์จาก พล.ต.ต.กิตติพงษ์ สุวัธเดชา รับออกค่ารักษาพยาบาลให้ แต่คงไม่สามารถให้การอนุเคราะห์ในระยะยาวต่อไปได้ จึงมอบหมายให้ศึกษา ก่อนยื่นขอสมัครเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การประเมินเป็นหน่วยบริการที่มีการรับส่งต่อ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริการประจำ หากผ่านการตรวจประเมินจะสามารถให้บริการนักเรียนนายสิบของศูนย์ฝึกอบรมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนได้ ได้ใช้สิทธิเบิกค่าจ่ายดังกล่าวได้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลยังมีโครงการตรวจรักษาพระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนใต้ตามแนวคิดของพล.ต.ต.กิตติพงษ์ สุวัธเดชา ที่ได้รับการปรับทุกข์จากพระผู้ใหญ่ของวัดในจังหวัดยะลา เรื่องความยากลำบากของพระเมื่อต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาล ทั้งในแง่ด้านเวลาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดความลำบากในเรื่องการฉันอาหารของสงฆ์ การนั่งคอยในกลุ่มผู้ใช้บริการจนเกิดความไม่สะดวกสบายในบางประการ โรงพยาบาลจึงจัดโครงการให้บริการการตรวจรักษาพระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจากวัดที่มีที่ตั้งอยู่ในรัศมีที่ไม่ห่างออกไปจากโรงพยาบาลมากนัก

หลังจากได้ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธรยืนยันว่า ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ทราบเรื่องจำนวนมาก ทำให้โครงได้รับการตอบรับที่ดี เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป มีการชมเชยไปที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ มีการกล่าวถึง และชมเชยโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงพยาบาลตำรวจ กลางห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าว่า ได้ทำชื่อเสียง และสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่หน่วย

 

ลุยป่าหานักบินเฮลิคอปเตอร์ เจอแล้วรีบปฐมพยาบาลทันท่วงที

ล่าสุดประสบความสำเร็จช่วยเหลืออุบัติเหตุเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยบินยะลาลงจอดฉุกเฉิน ในป่าเหนือเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดสงขลา ให้นักบินและผู้โดยสาร 8 นายได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 ราย  บาดเจ็บหนักปานกลาง 3 ราย  บาดเจ็บไม่มาก 2 ราย นายแพทย์กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ที่ลงทำหน้าที่หัวหน้าโรงพยาบาลปลายแดนด้ามขวานจำไม่ลืมว่า ได้รับคำสั่งด่วนให้เข้าประกอบกำลังเป็นหน่วยกู้ภัยจึงร่วมกับพยาบาลของห้องงานการแพทย์ และผู้ช่วยพยาบาลจากตำรวจตระเวนชายแดนรวม 6 นาย เดินทางไปช่วยผู้ประสบเหตุท่ามกลางมีสภาวะอากาศปิด ไม่สามารถเข้าสู่จุดเกิดเหตุได้ทางอากาศ ผู้บาดเจ็บอาจจะเสียชีวิตได้หากการช่วยเหลือไม่สามารถไปถึงได้ทันเวลา

“คณะกู้ภัยออกเดินทางโดยรถยนต์จากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ประมาณ 4 ทุ่มเศษถึงหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 9 เพื่อลงเรือไปยังฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนในเขื่อนบางลาง และเดินเข้าสู่จุดที่เครื่องบินลงจอดฉุกเฉินที่ป่าเหนือเขื่อนบางลางใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง ปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บเบื้องต้นจนสามารถลำเลียงไปสู่พื้นที่ที่ใช้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกทางอากาศ เมื่อเวลาประมาณ 11 โมงของวันรุ่งขึ้น”

ภารกิจสำคัญการเดินเท้าเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในครั้งนี้ เขาขอยกยอดความดีความชอบให้แก่ผู้บังคับบัญชา นำโดย พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการอำนวยการสนับสนุนจาก พล.ต.ท.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึง พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร ผู้บังคับการกองบินตำรวจ และหน่วยบินของทุกเหล่าทัพเข้าในการปฏิบัติการกู้ภัยทั้งหมด

 

lสำหรับประวัติ พ.ต.อ.นพ.พงศ์ธร สุโฆสิต นายแพทย์หนุ่มของโรงพยาบาลตำรวจ เป็นชาวฉะเชิงเทรา จบมัธยมต้นโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา มัธยมปลายโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยความที่พ่อแม่อยากให้เป็นหมอเลยบินไปศึกษาต่อแพทย์มหาวิทยาลัย Lyceum Northwestern Medical ประเทศฟิลิปปินส์ กลับมาฝึกงานโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อหาเบิกทางสอบใบประกอบโรคศิลป์ ได้ พล.ต.ต.ทรงชัย สิมะโรจน์ ชักชวนให้เรียนด้านศัลยกรรมที่กำลังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

เขาเรียนด้านศัลยกรรมเด็ก เพราะสมัยนั้นทั่วประเทศ มีแค่ 60 กว่าคน โรงพยาบาลตำรวจขาดแคลนหมอผ่าตัด หมอเฉพาะทางเกี่ยวกับการรักษาเด็กกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแพทย์ตำรวจมาตั้งแต่ปี 2535 ได้วุฒิบัตรศัลยกรรม แพทยสภา โรงพยาบาลตำรวจ วุฒิบัตรกุมารศัลยกรรม แพทยสภา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ครอบครัว แพทยสภา “ชีวิตไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นตำรวจเลย แค่ว่าจะเป็นหมอ ผมคงมีอะไรให้อาจารย์เห็น จึงชวนให้มาเป็นสตาฟฟ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ และอยู่ในสายงานมาตลอด ทำศัลยกรรมเด็ก ศัลยกรรมทั่วไป ไปอยู่ที่วิสัญญีแพทย์พักหนึ่งแล้วกลับมาแผนกศัลยกรรม”

ย้ายคุมโรงพยาบาลนวุติสมเด็จย่า ดูแลคนไข้ในหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนประมาณ 4-5 เดือน โครงการโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิด เขาเลยถูกดึงมาร่วมประชุมวางแผนงบประมาณ ดูถึงความเป็นไปได้กระทั่งสำเร็จเป็นรูปธรรม “วันหนึ่งผมไปหาแพทย์ใหญ่ด้วยเรื่องอื่น พอรู้ว่า ยังไม่มีใครมาดูแลโรงพยาบาลที่ใต้ ผมก็ขออาสาไป ทั้งที่รู้ว่า ยกเลิกสิทธิทวีคูณแล้ว คิดแค่ว่า ถ้าไม่ไป มันก็ไม่มีคน ที่สำคัญ อาจเพราะผมช่วยกันเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่แรก ถ้าไม่ไปดู การบริหารจัดการจะมีปัญหาพอสมควร ตอนที่ตัดสินใจไปก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดไกล คิดแค่เพื่อโรงพยาบาลตำรวจ” นายแพทย์หนุ่มระบายความในใจ

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ คณะผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.สมบูรณ์ ตันตระกูล นายแพทย์ใหญ่ และพล.ต.ต.วิฑูรย์ นิติวรางกูร รองนายแพทย์ใหญ่ กลุ่มงานพยาบาล กลุ่มงานศัลยกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม กลุ่มงานรังสีวิทยา กลุ่มงานชีวเคมี กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู กลุ่มงานทันตกรรม กลุ่มงานผู้ป่วยนอก กลุ่มงานศูนย์ส่งกลับ สถาบันนิติเวชวิทยา ฝ่ายต่าง ๆ ของกองบังคับการอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ  (เวชระเบียน งบประมาณ การเงิน กำลังพล ซ่อมบำรุง จัดซื้อจัดจ้าง) CTC ห้องผ่าตัดเล็ก TQM และอีกหลายหน่วยงานของโรงพยาบาลตำรวจ

ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ พล.ต.ต.กิตติพงษ์ สุวัธเดชา นายแพทย์ (สบ6) โรงพยาบาลตำรวจ ที่กรุณาเสียสละทั้งแรงกาย ลงมาช่วยปฏิบัติงานด้านการตรวจรักษาในช่วงแรกเปิดโรงพยาบาลจนเป็นที่กล่าวขวัญของตำรวจกันทั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้  รวมทั้งเสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัวให้การสนับสนุนแก่โรงพยาบาล นายสิบตำรวจ และโครงการตรวจรักษาพระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขอขอบคุณคณะแพทย์ และพยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าธุรการทุกท่านที่อาสาสมัครลงมาปฏิบติหน้าที่ร่วมกันที่โรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะเจ้าหน้าของงานการแพทย์ ศูนย์ฝึกอบรม ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และให้ความช่วยเหลือในระยะแรกที่ลงมาปฏิบัติงานอย่างมาก

ขอขอบคุณคณะบุคคลจำนวนมากทั้งครอบครัว เพื่อนๆ (เซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา, เซนต์คาเบรียล และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาจากผม คณะผู้รับการอบรมการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 30 ที่สนับสนุนทั้งในด้านการให้กำลังใจ สนับสนุนทุนทรัพย์ในกิจกรรมหลายประการของโรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

และท้ายที่สุด คือ มูลนิธิ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และประธานมูลนิธิ  โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ พล.ต.ต.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ และข้าราชการตำรวจในสังกัดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลอีกหลายท่านที่ให้การสนับสนุน ทุ่มเทช่วยเหลือจนสามารถทำให้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายภาคใต้ได้สมเจตนารมณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES