“รางวัลมันก็แค่ผลพลอยได้ มันไม่ใช่เครื่องการันตีอะไรหรอก”

นข่าวมากประสบการณ์อัดล้นไปด้วยคุณภาพ

นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวสังคม “ไทยรัฐทีวี” ปัจจุบันไปทำรายการ Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS กับ อลงกรณ์ เหมือนดาว สุรชา บุญเปี่ยม  ธนานุช สงวนศักดิ์  ธนานุช สงวนศักดิ์ กลุ่มคนข่าวมากฝีมือ

สำหรับเขาเป็นหนุ่มชาวกรุง จบมัธยมปลายโรงเรียนเทพศิรินทร์ สอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักกิจกรรมตัวยง เมื่อไปอยู่ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ไม่มีเวลาเรียน ตัดสินใจออกไปเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“เหมือนเป็นชีวิตของเด็กชาวกรุง พอไปออกค่ายต่างจังหวัดเลยชอบ” นิพนธ์ว่า ทำไปทำมาตอนเรียนอยู่ชั้นปี 4 ตั้งกลุ่มกรีนเนท ออกรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษที่จังหวัดเชียงใหม่ และสุพรรณบุรี ก่อนนำมาขายโรงแรมรีเจนท์ ราชดำริ ทำอยู่ปีกว่ายังไม่ทันจบปริญญาตรี รุ่นพี่ชวนมาทำงานอยู่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น กลายเป็นจุดเริ่มต้นลงสู่สนามข่าวทั้งที่ตัวเองไม่เคยวาดฝันมาก่อน

เจ้าตัวเล่าว่า ตอนนั้นไม่เคยสนใจข่าว ไม่ได้อ่านข่าว ไม่รู้อะไรเลย ถูกส่งไปกระทรวงมหาดไทย อีกวันไปประจำทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ตอนแรกยอมรับว่า ค้านความรู้สึก รับไม่ได้กับนักการเมือง ไม่ชอบนักการเมือง พูดนั่นพูดนี่ พอทำๆ ไป ไม่มีเวลามานั่งคิดแล้ว เป็นงานประจำทุกวัน ต้องส่งข่าวทุกเบรก

คลุกคลีอยู่ 2 ปี นิพนธ์บอกว่า เริ่มรู้วงการนี้มันเป็นยังไง รู้สึกไม่อยากทำข่าวรายวัน ไม่อยากทำข่าวการเมือง อยากทำข่าวเจาะ แม้ไม่เข้าใจเรื่องข่าวเจาะ แต่รู้ว่าอยากทำข่าวชาวบ้าน เลยขอย้ายไปโต๊ะเฉพาะกิจ ไปทำข่าวชุมนุมประท้วง ถูกส่งไปอยู่เขื่อนปากมูล อุบลราชธานีนานเป็นเดือน ถึงรู้ว่า เป็นสไตล์เรา ชอบข่าวแนวนี้ ก่อนย้ายไปอยู่โครงการวิทยุของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่เอารูปแบบสถานีวิทยุบีบีซีมาทำในคลื่น 97.5 ลงทำข่าวสายสังคมและสิ่งแวดล้อม

เวลาผ่านไปปีเศษ นักข่าวหนุ่มย้ายค่ายอีกครั้ง คราวนี้สังกัดวิทยุ อสมท ไม่นานขยับไปฝั่งโทรทัศน์ เริ่มต้นทำผลงานสร้างเกียรติประวัติมากมาย อาทิ ได้เกียรติบัตรจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน 19 องค์กรที่นำเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานานถึง 99 วัน ได้รับประกาศเกียรติคุณสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์เรื่องขบวนการค้าสุนัขข้ามชาติจากมูลนิธิช่วยเหลือสุนัขจรจัด ได้รางวัลชมเชยผู้สร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชน “สมชายอวอร์ด” รางวัลสมชาย นีละไพจิตร จากสารคดีเชิงข่าวเรื่อง “การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดภาคใต้”

รับโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลชมเชย สารคดีเชิงข่าววิทยุเรื่อง “สึนามิ…ยังไม่สิ้น” ของมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ รางวัลชมเชย สารคดีเชิงข่าววิทยุส่งเสริมสิทธิเด็กเรื่อง “เหยื่อ…จรรยาบรรณ” จากสถาบันอิศราและองค์การยูนิเซฟ รางวัลยอดเยี่ยม สารคดีเชิงข่าววิทยุเรื่อง “เสียงจากมอแกน …ชายแดนที่เกาะเหลา” ของมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และรางวัลนักวิทยุและโทรทัศน์ดีเด่น รางวัลเทพทอง สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

คนข่าวมากรางวัลเผยความรู้สึกในเกียรติประวัติครั้งแรกว่า เป็นเรื่องราวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ชื่อเรื่อง สึนามิ…ยังไม่สิ้น เมื่อเหตุการณ์คลื่นยักษ์มรณะผ่านไปได้เดือนสองเดือน มีนายทุนโผล่อ้างเอกสารสิทธิมาเอาที่ดินไปจากชาวบ้าน ขับไล่ชาวบ้านออก ไปทำข่าวเพราะมีชาวบ้านร้องเรียนมา ตอนนั้นอยู่ในพื้นที่นาน 3 เดือน ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนจังหวัดนราธิวาส พอไปเห็นเรื่องนี้ ก็ไปทำสกู๊ปข่าว ไม่คิดว่าได้รางวัล ทำตามหน้าที่อยู่แล้ว เหมือนสึนามิลูกที่ 2 ที่ 3 กระทบชีวิตชาวบ้าน เป็นความยากลำบากว่า โดนสึนามิแล้วยังมาโดนไล่ที่ซ้ำ นำเสนอข่าวไป และได้เป็นรางวัลแรกในชีวิต

“รู้สึกดีใจว่า ได้รางวัล แต่พอมาสักพัก มีรุ่นพี่ที่ทำข่าวแล้วได้รางวัล มาบอกผมว่า รางวัลมันก็แค่ผลพลอยได้ มันไม่ใช่เครื่องการันตีอะไรหรอก แค่เราทำสิ่งที่ถูกแล้ว ทำตามหน้าที่” นิพนธ์ให้แง่คิด ทว่าเหตุการณ์ทำงานที่ตัวเองประทับใจมากกว่ารางวัลที่ได้ เป็นการไปทำข่าวชาวกะเหรี่ยงบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี เจ้าตัวเคยไม่ลืมภาพเหตุระทึกตื่นเต้นครั้งนั้นว่า  ปีนรั้วโรงพยาบาลเข้าไปข้างในพร้อมกับอลงกรณ์ เหมือนดาว ขณะนั้นอยู่ไอทีวี แค่ต้องการอยากเข้าไปคุยกับแกนนำกะเหรี่ยง ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ เห็นว่า กินเวลานานข้ามคืนใกล้รุ่งสางแล้ว

อดีตคนข่าว อสมท เล่านาทีวิกฤติตัวประกันว่า อยากเข้าไปคุยให้รู้คำตอบ ว่าพวกนั้นอยากได้อะไร ต้องการอะไร ปรากฏว่าเข้าไปแล้ว ไปโผล่ตรงห้องเก็บปั๊มน้ำ มีโทรศัพท์ภายในเลยโทรเข้าไปคุย พวกกะเหรี่ยงไม่ยอมคุยด้วย บอกจะคุยกับช่อง 7 ช่องเดียว  ถามว่า ตอนนั้นกลัวตายไหม กลัวนะ พอเห็นว่า พวกกะเหรี่ยงไม่คุยเลยปีนกลับออกมา ความที่อยากได้ข่าว เลยเข้าไปดู เผื่อจะได้อะไรมา เพราะคิดว่า ชาวบ้านคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันอาการไม่ดีแล้ว รีบเคลียร์ได้ก็จะดี ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นหน้าที่เราที่อยากให้พวกกะเหรี่ยงสื่อสารอะไรออกมา

ผ่านเหตุการณ์ระทึกครั้งนั้น นิพนธ์ยังมีโอกาสเข้าไปอยู่ในนาทีวิกฤตินักโทษพม่าจี้ผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาคร ช่อง 9 อสมท เป็นช่องเดียวที่ได้ภาพข่าวชุดอรินทราชจู่โจมจับตายกลุ่มนักโทษคารถที่จังหวัดกาญจนบุรี “เป็นอีกความภูมิใจ แต่ต้องยกความดีให้ผู้ช่วยช่างภาพ แกรู้เส้นทาง ขณะที่ช่องอื่นหลงหมดแล้ว ไปจ๊ะเอ๋ตรงแยกที่คนร้ายโดนตะปูเรือใบยางแตกไปต่อไม่ได้ ห่างกันไม่ถึง 100 เมตร ถึงต้องยกความดีความชอบให้ผู้ช่วย มันคือ การทำงานเป็นทีม ถ้าไม่ได้แก คนอื่นก็เข้าไม่ถูก ยิ่งผมก็ไม่รู้เส้นทางขนาดนั้น”

ประสบการณ์ทำข่าวมากมาย นิพนธ์ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการทำข่าวสืบสวนสอบสวนให้กับสถาบันอิศรา กระนั้นก็ตาม เขาถ่อมตัวว่า การที่ได้มายืนเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นมาจากที่เราได้โอกาสไปเรียนรู้กับฝรั่งที่มีความรู้เรื่องการทำข่าวสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะมาสอนหลักวิธีการทำงานให้ จากเดิมที่เราใช้วิธีครูพักลักจำ ตอนหลังเราก็เรียนรู้ระบบมากขึ้น ผ่านหลักสูตรการทำข่าวผู้ลี้ภัยสงครามของ UNHCR หลักสูตรบรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนโดย SEAPA ประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง กระทรวงยุติธรรม

กว่า 19 ปีใน อสมท เคยรับประกาศเกียรติคุณจากต้นสังกัดในฐานะผู้ทำชื่อเสียงให้องค์กรจากการทำข่าวได้รับรางวัลประจำปี 2549 ไต่เต้าจากผู้สื่อข่าวสังคม-เฉพาะกิจ ขึ้นเป็นนักจัดรายการวิทยุ ผู้ประกาศข่าววิทยุ ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ลงสนามเป็นผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ เป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาคอันดามัน และภาคกลาง-ตะวันออก สุดท้ายถึงทางแยก

“มันรู้สึกอิ่มตัว” นิพนธ์ให้เหตุผล  “อยากหาจุดเปลี่ยนในชีวิต ตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาเอกนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กะว่าจะออกมาไปรับจ้างสอนหนังสือเฉย ๆ ไม่ได้คิดจะทำงานเป็นนักข่าวต่อแล้ว หลังการสอนเด็กรุ่นหลังๆ พบว่า มีอีโก้ เยอะ ไม่ได้เหมือนรุ่นเรา ทำให้เริ่มสงสัยว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาบ้างเลยหรือ”

เขามองว่า เด็กรุ่นใหม่ สายที่จะมาเป็นนักข่าวจริง ๆ ไม่มีแล้ว  ส่วนใหญ่จะหันไปทางทำทีวี โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไม่สนใจเรื่องการมาเป็นนักข่าว ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนรุ่นเราเอง หรือนักข่าวใหญ่ที่ทำตัวเป็นผู้ประกาศข่าวมากกว่าจะเป็นนักข่าว พอไปสร้างภาพตรงนั้นให้เห็น  เด็กรุ่นใหม่ ถ้าจะมาตรงนี้ มีอย่างเดียว คือ อยากเป็นผู้ประกาศข่าว ไม่อยากเป็นนักข่าว ไม่อยากลงสนาม สะท้อนให้เห็นได้จากที่เห็นทุกวันนี้ คนที่เป็นนักข่าวเองดิ้นรนอยากออกจอ อยากเป็นผู้ประกาศ ไม่ได้สนใจว่าวิชาชีพนี้ทำอะไร ถึงอยากเข้าไปดูว่ามหาวิทยาลัย สอนอะไร

ปรากฏว่า เขาถูกทาบทามให้มาอยู่ไทยรัฐทีวี ที่กำลังหาทีมมาดูแลงานข่าวด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม นิพนธถึงทิ้งกลิ่นสาบในวงการข่าวไปไม่ได้ แม้เป้าหมายสุดท้ายอยากออกไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ กลายเป็นงานที่ท้าทายกับโลกทีวีดิจิตอลซึ่งกำลังแข่งขันชิงตลาดในจอโทรทัศน์กันสูง

ไม่ง่าย แต่ก็น่าลอง

ก่อนอำลาเดินไปตามวิถีชีวิตของตัวเองอีกครั้ง

 

 

RELATED ARTICLES