“สมองคนเรานี่แหละ สามารถเปรียบเทียบใบหน้าของคนได้ดีที่สุด”

ยืนอยู่หลังม่านเวทีความสำเร็จสารพัดคดีอาชญากรรมตลอดเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ย่างก้าวเข้ามาสวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เต็มไปด้วยมาดของศิลปินที่เก่งงานศิลปะ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร ผู้กลายเป็นอีก “จิ๊กซอว์” สำคัญในการปิดแฟ้มสืบสวนสอบสวน เมื่อโดดลงไปร่วม “สเกตช์ภาพคนร้าย” นำไปสู่การไขปริศนาล่าตะครุบตัวได้สำเร็จ

ทั้งหมดล้วนเกิดจากพรสวรรค์ที่กลั่นมาจากหัวสมองของเขา

เรื่องราวชีวิตนายตำรวจมือสเกตช์ภาพอันดับต้นของเมืองไทย นิตยสาร COP’S ถือโอกาสหยิบมานำเสนอหลายหลากแง่มุมของอารมณ์ “อาร์ต” ที่มีหัวใจต้องการจรรโลงสังคมเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง

 

ฉาวแววศิลปินตั้งแต่วัยประถมอครูชื่นชมในความสามารถ

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ” พ.ต.อ.ชัยวัฒน์เปิดฉากนาฏกรรมชีวิต แต่ต้องไปอยู่กับปู่ย่าที่จังหวัดเพชรบุรี ด้วยความที่พ่อแม่ไม่ได้รับราชการ จำเป็นต้องดิ้นรนหางาน สร้างเนื้อสร้างตัว ทำให้ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ถึงกระนั้น เริ่มวัยประถมที่โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย   เจ้าตัวเล่าว่า เลือกตั้งใจเรียนวิชาศิลปะเป็นพิเศษ เหมือนเป็นพรสวรรค์ ประกอบความชอบ ความสามารถที่เชื่อว่า แบ่งแยกด้วยระดับสมอง เขียนรูปโน้นรูปนี้ตามประสาเด็ก

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์เล่าต่อว่า กระทั่งวันหนึ่งครูเริ่มสนใจ และชื่นชม เห็นในความสามารถของเรา เลยส่งไปประกวดวาดภาพในงานกาชาดจังหวัดเพชรบุรี ตอนนั้นอยู่ชั้นประถม 4 แข่งขันเขียนภาพทั่วไป เด็กส่วนใหญ่เน้นวิวทิวทิศน์ ไม่ค่อยมีอะไรพลิกแพลงมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่การสื่อสารเข้าไปมากแล้ว นึกอะไรออกได้ก็เขียนออกมา มีแม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ภูเขา ต้นมะพร้าว เป็นเบสิกพื้นฐานเลย

“ผมบังเอิญว่า ตอนไปประกวดก็ฉีกแนวหน่อย จริง  ๆ  แล้ว ผมเองไม่ใช่เด็กกล้าแสดงออกนะ ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ตามแบบฉบับเด็กต่างจังหวัด เป็นปัจจัยที่ขัดขวางการแสดงออกของเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกโรงเรียน”

ประกวดวาดภาพยานอพอลโล่ คว้าโล่รางวัลงานกาชาด

“ ตอนที่ผมประกวด จำได้ว่า เรื่องของยานอพอลโล่กำลังฮิต ไอ้เราก็มองฟ้าทุกวัน คิดว่า อพอลโล่ นี่มันยังไง เราไม่มีข้อมูลข่าวสารอะไรด้วยความที่เราเป็นเด็ก เห็นอพอลโล่ มองดูท้องฟ้า จินตนาการไปเอง เห็นเมฆ ยังนึกว่านี่มันเป็นควันของอพอลโล่หรือเปล่า ด้วยความคิดของเด็ก เลยไปสื่อสารลงในภาพเขียน  มียานอพอลโล่ มีดวงจันทร์ มีอะไรต่างๆ มีถนน อะไรที่มันเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเป็นราว เรียกว่า เขียนไป อาจจะขัดกันด้วยเรื่องของความคิด อะไรที่มันฉีกแนว เป็นจินตนาการ มียาน รถที่มันเป็นรถเหมือนว่าจากดวงจันทร์มาโลก อะไรแบบนี้”

การประกวดภาพครั้งนั้น ทำให้ ด.ช.ชัยวัฒน์ บูรณะ นักเรียนชั้นประถม 4 โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เขาสารภาพว่า ความทรงจำวัยเด็ก ไม่ได้คิดอะไรกับรางวัลที่ได้ ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ไม่รู้สึกด้วยซ้ำ ความคิดยังไม่ไกลมาก ครูให้ไปรอรับรางวัลก็ไปรับ เป็นอะไรที่เหมือนถูกผู้ปกครองพาไป ไม่คิดจะไปถึงตรงจุดนั้น

กว่าจะเห็นคุณค่า พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บอกว่า ก็ตอนไปเห็นภาพถ่ายรับรางวัลอยู่ที่ร้านถ่ายรูป เริ่มสงสัยแล้วว่า เอามาติดทำไม เลยบอกอาไปติดต่อที่ร้านไปเอาภาพนี้มาให้ พอเราโตมาก็มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ มาเรียนชั้นประถม 5  เพราะพ่อแม่ มีอาชีพการงานที่ลงตัวแล้ว ภาพนั้นยังอยู่ที่เพชรบุรี โดยที่เราก็ยังไม่ได้คิดอะไร เวลาผ่านไปจนจบมัธยมออกมา ก็เริ่มนึกได้ แต่ไม่เห็นภาพนี้แล้ว กว่าจะได้มาอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเอง

 

กลายเป็นย่างก้าวสำคัญ พลิกผันไปเรียนต่อศิลปะ

นายพันตำรวจเอกย้อนภาพอดีตแห่งความภาคภูมิใจวัยเด็กต่อว่า จำไม่ได้ว่าบ้านหลังเดิมใครเก็บอะไรไว้ตรงไหน กระทั่งจะขายบ้าน เพราะต่างคนต่างย้ายภูมิลำเนาหมดแล้วถึงเกิดการรื้อบ้านครั้งใหญ่ เราไปช่วยขนของถึงเจอภาพรับรางวัลครั้งนั้น เป็นอะไรที่มาคิดได้ระยะหลัง “มันเป็นสิ่งที่มีค่าเหมือนกัน มันมีค่าทางจิตใจ ผมจำได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ไปประกวด ตั้งแต่ครูถามในห้อง ใครจะไปประกวด คัดนักเรียนไปประกวด ในใจ ผมยังคิดว่าจะไปประกวดอะไรกับเขา ความสามารถเราคงไม่ถึง วันนั้นเด็กเต็มไปหมด ทั่วทั้งจังหวัดมาแข่งขันกัน ผมก็สนุกสนานใส่ไปตามความคิดวาดไป อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งทำให้ผมก้าวมาสู่งานด้านศิลปะ”

ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาต่อประถม 5 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดประสาท ย่านตลิ่งชัน ความคิดของเด็กวัยรุ่นยุคนั้นมุ่งมั่นจะไปเรียนต่อสายวิชาชีพ ฮิตมากสุด คือ ช่างกล บางส่วนเลือกไปเรียนจ่าทหารเรือ ทว่าเขาตัดสินใจไปเรียนไทยวิจิตรศิลป์ มองว่า ถ้าเราเข้าไปเรียนจ่าแล้วจะไปถึง เรือตรี นาวาตรีหรือไม่ ถึงไม่เอา ตัดไปเลยเรื่องของระบบราชการ ออกจากบ้านมาคิดว่า มีอยู่ 2 ตัวเลือก ช่างกล กับศิลปะที่ตอนนั้นไม่ได้ฮิต ไม่บูม ไม่อะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ถ้าเรียนจบไปแล้วจะทำอะไร ถ้าเป็นช่างกลจะรู้ว่า จบไป ซ่อมรถ

มันเป็นตัวแปรของชีวิต เมื่อ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ เลือกไปสมัครโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ปรากฏว่า ต้องมีการเทสต์ ทดสอบการวาดภาพ “ตอนแรกก็ถอดใจเหมือนกันนะ ผทไม่ได้แบบสนใจถึงขนาดที่ว่า ทำเป็นประจำ มาฝึก มาติว เหมือนสมัยนี้ นึกในใจจะบอกแม่ว่า จะไปช่างกลดีไหม เพราะสมัยนั้นช่างกล คงไม่ต้องเทสต์อะไร แต่ก็โอเค นั่งเขียนปกติ มีกระดาษ ดินสอ กระดาน ซึ่งเป็นดินสอเข้ม ผมไม่เคยใช้ ถ้าน้ำหนักกดแรงมากจะทำให้เข้มมาก ด้วยความเป็นเด็ก สุดท้ายผ่านไปด้วยดี คงดูว่า มีแววไปได้เลยให้เข้าเรียน”

เริ่มงานอาร์ตบริษัทโฆษณา ทำไปทำมาเข้าเป็นตำรวจ

ใช้เวลาเรียน 3 ปี ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ เริ่มมีปัญหาอีกแล้วว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน แต่ด้วยความที่มั่นใจในความสามารถ เขาไปสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่าง แผนกจิตรกรรมสากล “ตอนแรกก็ถอดใจอีก ยังดีมีกำลังใจอยู่ตรงที่ว่า ไปนั่งเขียนเวลาสอบเขาจะมีตั้งหุ่นให้เขียนสีน้ำ อาจารย์มาดูแล้วบอกว่า โอเค ได้เข้าไปเรียน 2 ปี ต่อหลักสูตรปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ เอกศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คิดว่า ถ้าจบไปไม่ทำงานบริษัทเอกชน ก็เป็นครู”

ปราฏว่า พอเรียนจบ บัณฑิตหนุ่มแห่งรั้วประสานมิตรได้งานทำในตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง สะสมประสบการณ์ประมาณ 5 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ยอมทิ้งเงินเดือนกว่า 50,000 บาท ลาออกด้วยเหตุผล แค่ต้องการมองอนาคตกับงานที่อยากจะทำ ในจังหวะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกที่มีวุฒิเกี่ยวการงานด้านศิลปะ

“ไม่เคยคิดว่า จะเข้าไปได้ โดยเฉพาะตำรวจ แล้วเราจบศิลปะมา จะไปทำอะไร คิดต่ออีก หากเข้าไปได้ จะไปทำอะไร ไปสู้อะไรกับคนอื่น เพราะผมไม่ได้จบกฎหมาย ไม่ได้จบด้านของตำรวจ ไม่ได้ผ่านการฝึกมา แต่พอมารู้ว่า มันมีแผนกนี้ ผมก็น่าจะเข้ามาทำงานได้”

 

บรรจุงานสเกตช์ภาพคนร้าย งานท้าทายที่อาศัยพรสวรรค์

ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคล ที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่นที่ 16 บรรจุตำแหน่งรองสารวัตรงาน 4 กองกำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร นายตำรวจผู้มีพรสวรรค์ในงานด้านศิลปะบอกว่า ตอนแรกหนักใจ เราทำงานอาร์ตมาตลอดชีวิต ต้องมาเขียนใบหน้าคนในงานของตำรวจที่ไม่เห็นหน้าแบบ เขียนจากคำบอกเล่า ที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องใช้จินตนาการ คิดว่า ถ้าทำไม่ได้ จะโดนไล่ออกไหม แม้เรื่องความมั่นใจในการเขียนภาพเราอันดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่การที่จะมาเขียนภาพจากคำบอกเล่าของพยาน เราจะเขียนได้ยังไง ก็คิดไปต่างๆ นานา

ปรับตัวไม่นาน เขาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับงานสเกตช์ภาพที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังขอเข้าไปอบรบหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่น 76 ด้วยความที่อยากรู้อยากศึกษา เพราะเห็นว่า มีประโยชน์ต่อการทำงานสืบสวนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้  พร้อมสนับสนุนการสืบสวนคดีต่างๆ จากการได้อบรม

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์อธิบาย ได้ไปฝึกงานจริง เราก็จะรู้งานสืบสวน ต้องอะไรยังไง ไม่ใช่งานสเกตช์ภาพหน้าเดียว ก็จะรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ ผู้เสียหาย พยาน ก็ได้เอามาใช้ บางที มีปัญหาเรื่องอะไรในส่วนของพยาน บางทีกระบวนการสืบสวน เราอาจจะช่วยชี้แนวทาง แนะนำ หรือช่วยเหลือ ประสานให้อะไรต่างๆ ภาพรวมงานสืบสวนบางครั้งมีปัญหาที่เป็นเรื่องต่างๆ เราจะช่วยเขาได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสังคมตรงนี้ นำเรื่องราวที่เป็นความรู้ทำประโยชน์ได้ต่อไป

ร่วมไขคดีบึมแยกราชประสงค์ เมื่อธงจากวงจรปิดไม่ชัดพอ

สำหรับขั้นตอนการสเกตช์ภาพที่ต้องอาศัยศาสตร์ทางศิลปะเข้ามามีส่วนช่วยอยากมาก ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 ขยายความว่า เราจะมีเจ้าหน้าที่ซักถามภาพรวมลักษณะคนร้าย มีแบบบันทึกให้กรอก หรือลักษณะรูปพรรณ เชื้อชาติ เป็นคนผอม คนอ้วน หรือลักษณะอะไรต่างๆ พอซักตรงนี้ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่สเกตช์ก็จะถามรายละเอียดเชิงลึก เช่น คำว่าตา ตาโต หรือตาเล็ก พยานจะตอบได้ ชั้นเดียว หรือสองชั้น มีรายละอียดอีกว่า โตแบบไหน เล็กแบบไหน เพราะทุกคนมีเหมือนกันหมด ตา หู จมูก ใบหู แต่ที่ไม่เหมือนกันคือ ขนาด ชิ้นส่วน ความเล็ก ความใหญ่อะไรต่างๆ รูปทรง แต่ทุกอย่างจะใกล้เคียงกัน ตาคนมีแบบไหน อะไรที่มันเหมือนกัน คล้ายกัน แตกต่างกันนิดหน่อย ตรงนี้ก็ทำให้ใบหน้าคนไม่เหมือนกัน จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

อยู่แผนกสเกตช์ภาพเกือบ 20 ปีแล้ว เขายืนยันว่า ประทับใจ และให้ความสำคัญเท่ากันหมดทุกคดี หากกระบวนการสเกตช์ภาพนำไปสู่การรู้ตัวคนร้าย หลายคดีมีผลมาจากภาพสเกตช์ที่มีพลเมืองดีเห็นและแจ้งเบาะแสตำรวจ เช่นคดีระเบิดแยกราชประสงค์ เป็นคดีที่ทั่วโลกสนใจ เป็นคดีใหญ่พอสมควร เข้าข่ายก่อการร้ายข้ามชาติ พอเกิดเหตุแล้ว หลายคนคิดว่า คงไม่มีทางจับได้แน่นอน ทุกคนจะมองแบบนี้

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์เล่าว่า อาจจะเป็นความโชคดีของประเทศไทย เป็นจังหวะ เป็นโอกาส หรืออะไรหลายๆ อย่าง ทำให้เราทำคดีนี้สำเร็จ ในระดับถึงชั้นศาล ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว ในวันเกิดเหตุจริงๆ หลังเกิดเหตุ ในยุคโซเชียลจะมีรูปวงจรปิดเข้าไปในโซเชียลเยอะมาก เรามองว่า มันก็ดี ในใจคิดว่าจริงๆ ตรงนี้ การสเกตช์ภาพอาจไม่ต้องแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ชัด ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างของซีซีทีวี มุมกล้องของวงจรปิด บางทีอาจจะด้วยระยะที่สูง ยิ่งอยู่ริมถนน แสงไฟจะน้อย แสงไฟที่อยู่ใกล้กับวัตถุของคนร้ายจะทำให้ภาพโอเวอร์ รายละเอียดไม่มี อะไรหลายๆ อย่าง ภาพแตก อะไรเหล่านี้ พอเอาภาพมาขยายไม่สามารถมองอะไรได้เห็นจากภาพ

 

เข้าซักปากคำพยานเอก ช่วยเสกลิ้นชักความทรงจำ

“อีกอย่าง คนร้ายมีการพรางใบหน้า ต้องยอมรับว่า งานสเกตช์ภาพคนร้ายจึงมีผลในการจับกุมค่อนข้างเยอะ เพราะคนร้ายปัจจุบันมีการพรางใบหน้า มีการใส่หมวกกันน็อก หมวกไหมพรม ปิดปากอะไรเหล่านี้ หรือบางคนเดินผ่านกล้อง มีการสำรวจไว้ก่อนเลยว่า ถ้าจะก่อเหตุตรงนี้ มีกล้องวงจรปิดไหนที่จะต้องหลบ ใส่หมวกแก๊ป เวลาใส่หมวกแล้วเดินก้มๆ วงจรปิดจะถูกบังพอดี เห็นก็คางนิดหน่อย ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่การทำงานของตำรวจเราก็จะค่อนข้างยาก เพราะเราไปตั้งความหวังไว้กับกล้องวงจรปิด”

หลังเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ตำรวจหลายหน่วยถูกระดมมาร่วมประชุมคลี่คลายคดีอย่างเร่งด่วน เขาเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานเมื่อเห็นว่า ภาพวงจรปิดเป็นเบาะแสไม่ชัดเท่าที่ควร จำเป็นต้องเฟ้นหาพยานบุคคล เป็นจักรยานยนต์รับจ้างที่ไปรับส่งผู้ต้องสงสัยสวนลุมพินี

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ว่า ได้คุยพยานปากนี้ตอนดึก พยานบอกว่า ไม่ได้สังเกต คือ ปัญหาของภาพสเกตช์คนร้ายในปัจจุบัน คือ เวลาเกิดเหตุ พยานจะไม่รู้ว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ต้องสงสัย ในสภาพแวดล้อมก็จะใช้ชีวิตปกติ คนที่ก่อเหตุ พยานที่อยู่ตรงนั้นเป็นสิบๆ คน ไม่ได้สังเกตว่าคนร้าย หรือผู้ต้องสงสัยจะมีพิรุธ หรือคนร้ายที่ก่อเหตุ เขาแค่รู้ว่า รับส่งผู้โดยสารลักษณะสวมเสื้อเหลืองไปส่งสวนลุม แต่หน้าตา คนร้ายซ้อนท้าย เลยไม่เห็น นี่คือความยากของภาพสเกตช์

ได้ภาพสเกตช์ผู้ต้องสงสัย เป็นหัวใจพาไปสู่เบาะแส

“จากการซักถาม เราก็จะได้ข้อมูลแค่ว่า คนร้ายเป็นคนต่างชาติ แล้วชาติอะไรก็ดูไม่ออก มันคล้ายๆ แขกผสมคนจีน ณ วันนั้น ได้รับข้อมูลตรงนี้ ค่อนข้างหนักใจเหมือนกัน แต่ต้องเอาตามที่พยานถ่ายทอด ถามว่า มีหนวดเคราไหม พยานก็ว่าไม่มีหน้าตาใส ผมหยิก ใส่แว่นหนา ตาก็สังเกตไม่ชัดเจน ผมก็หยิก ประมาณนี้เบื้องต้น ผมเลยให้พักทานข้าวก่อน นั่งคุยต่อ ผมต้องอธิบายกับพยานว่า ไม่ใช่ว่าภาพสเกตช์จะได้มาแล้วคล้ายกันเป๊ะ เหมือนไม่ใช่ แต่ภาพสเกตช์จะเป็นการถ่ายทอดข้อมูลของพยาน หรือผู้เสียหายว่าอะไรที่คุณจำได้ อะไรที่มันผิดปกติ อะไรที่คิดว่าเราจำได้ ถ่ายทอดออกมา แล้วเดี๋ยวฝ่ายสืบสวนจะไปจัดการ”นายตำรวจหนุ่มเผยเคล็ดของการสเกตช์ภาพคนร้าย

“ผมได้รับข้อมูลเหมือนว่าคล้ายๆ เกาหลี คล้ายๆ แขก ผิวค่อนข้างขาวเหลือง แต่ว่า ตรงนั้นมันมีแสงไฟอีก แต่ก็ทำเป็นภาพขึ้นมาประมาณ ตี 2 ถึงได้ภาพสเกตช์ออกมา พยานยืนยันว่าได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ประมาณนี้ บอกอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ผมก็ต้องพยายามใช้จินตนาการผสมเข้าไป บวกกับข้อมูลของพยาน หรือผู้เสียหายก็ออกมาเป็นภาพ ผู้บังคับบัญชาก็หนักใจ เพราะข้อมูลจากพยานน้อยมาก”

ไม่น่าเชื่อว่า หลังจากมีการเผยแพร่ภาพสเกตช์ผู้ต้องสงสัยออกไปกระจายทั่วโลก เนื่องจากเป็นคดีใหญ่ที่ต่างประเทศสนใจ เจ้าตัวยังหวั่นว่า หากภาพไม่คล้ายคงไม่ดีแน่ แต่จำเป็นต้องรีบเผยแพร่ จะรอช้าไม่ได้ ไป ๆ มา ๆ มีการแจ้งเบาะแสจากเจ้าของอพาร์ตเมนต์ว่า มีคนลักษณะคล้ายภาพสเกตช์อาศัยอยู่ใน ภาพที่เอาออกมา คล้ายผู้ต้องสงสัยมากเลย แต่จะใช่หรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ ฝ่ายสืบสวนสอบก็ไม่ยอมรับ ก็ยังสงสัยว่า คล้าย ตอนหลังไปเจอภาพจากกล้องวงจรปิดที่สวนลุมพินี ถึงยอมรับสารภาพว่า คือชายเสื้อเหลือง “เป็นคดีที่ผมมองว่า ภาคภูมิใจเหมือนกัน เพราะเหมือนได้ช่วยสังคมในเบื้องต้น หากคดีนี้เรายังไม่สามารถจับกุม หรือแจ้งผู้ต้องสงสัยได้ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้นขนาดไหน มีความสูญเสียขนาดไหน”

 

ประกอบเค้าโครงหน้าศพนิรนาม ใช้จิตนาการตามประสบการณ์จัดได้

วิวัฒนาการของศิลปะการสเกตช์ภาพยุคปัจจุบัน พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่างเค้าโครงใบหน้าประกอบเปรียบเทียบเหยื่อที่กลายเป็นศพปริศนาลอยอืดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตอนแรกไม่มีหลักฐานระบุเป็นใครมากจากไหน “เคสแบบนี้ทั่วโลกมีน้อย ในประเทศไทยไม่เคยมี เป็นเคสที่ยากมาก ผมเพิ่งทำ มีแค่กะโหลกศีรษะ ไม่รู้เป็นใคร ท่าน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ บอกให้ดำเนินการ ผมกับทีมงานไปสถาบันนิติเวช ไปถ่ายรูปมา แล้วกลับมานั่งกันที่ห้องทำงาน”

“ก็มึนนะตอนนั้น ต้องมาคิดอีกว่า ไปเจอศพเมื่อไหร่ โดยประมาณแล้ว กี่วัน คำนวณเวลายาก เพราะศพอยู่ในน้ำด้วย มันอืด ปัจจัยอะไรต่างๆ มากมาย ผมเลยแกะตามภาพที่ได้ จริงๆ เป็นเคสแรกเลยในประเทศไทย ร่างเค้าโครงสเกตช์ออกมาได้ ปรากฏว่า รู้ตัวผู้เสียชีวิตวันรุ่งขึ้น ท่านพงศพัศยังชมว่า มีความใกล้เคียงกับภาพผู้เสียชีวิตมาก ถือเป็นกำลังใจในการทำงาน ถือว่าเป็นเคสที่ค่อนข้างยาก เป็นเคสที่ จินตนาการได้ยาก มันสลับซับซ้อน โครงสร้าง เนื้อหนัง บางครั้งโครงสร้างหลักๆ ของใบหน้าคน คือหัวกะโหลก แต่เนื้อหนัง อะไรต่างๆ ถ้ายังมีชีวิต เราจะเห็นชัดเจน แต่เสียชีวิตแล้ว และเสียชีวิตมาหลายวัน มันอืด มันยุบ จนฟีบอะไรต่างๆ เราก็ไม่สามารถวิเคราะห์โครงหน้าที่เป็นปัจจุบันของเขาได้”

ศิลปินนักสเกตช์ภาพของวงการตำรวจแนะเทคนิคว่า จริงๆ เรื่องนี้เราใช้ศิลปะ และเรื่องของกายวิภาค ที่นำมาวิเคราะห์จินตนาการ บวกประสบการณ์เข้าไป “ไม่มีอะไรที่นำมาใช้ได้เลย นอกจากสมองคนเรานี่แหละ สามารถเปรียบเทียบใบหน้าของคนได้ดีที่สุด ผมว่านะ ไม่มีเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์หรืออะไรต่างๆ ที่จะมาจับภาพ ใบหน้าที่คล้ายคลึงกัน แต่คนเราด้วยสมอง ที่เรามอง คนสองคน บางทีคนที่เป็นพ่อ แม่ เรายังรู้เลยว่า นี่เป็นพี่น้องกัน พ่อ แม่ ลูก มีลักษณะคล้ายกัน นี่แหละที่ว่าสมองเรามีลักษณะพิเศษ เหมือนบางทีเราเห็นเพื่อนไกลๆ เรารู้เลยว่านี่เพื่อนเรา นี่คือเรื่องของสมอง มันก็ต้องบวกกับจินตนาการ และประสบการณ์จากการทำงานของเรารวมกัน แล้วก็ทำตรงนี้ออกมา”

 

พัฒนาแนวคิดใหม่ให้ก้าวทันสมัย สร้างภาพเด็กหายเทียบเท่าอายุปัจจุบัน

อีกภารกิจสำคัญที่ผู้กำกับทะเบียนประวัติอาชญากรกำลังมุ่งมั่นพัฒนาคือ กระบวนการทำภาพสเกตช์ภาพของเด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน หรือ Age Progression พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ให้รายละเอียดว่า  เป็นกระบวนการที่ต่างประเทศใช้อยู่ แต่ประเทศไทย กองทะเบียนประวัติอาชญากร เพิ่งเริ่มทำในเคสของน้องจีจี้-ด.ญ.จีรภัทร ทองชุ่ม อายุ 9 ขวบที่หายตัวไปจากปั้มน้ำมันอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ปี 2553  เห็นว่า การสเกตช์ภาพน่าจะช่วยได้ ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา ทำขึ้นเปรียบเทียบปัจจุบันน้องอายุ 14 ปี น่าตาจะเป็นอย่างไร

“ผมคิดว่า อะไรก็ได้ ทำแล้วได้ประโยชน์กับสังคมก็ทำไป เพราะงานตรงนี้ เป็นงานที่นอกเหนือจากงานในหน้าที่หลักของเราจริงๆ เพราะงานเรา คือ สเกตช์ภาพคนร้าย แต่งานตรงนี้เหมือนกับว่า เป็นที่ต่างประเทศทำ เพราะให้ความสำคัญมาก เขายังตามกันอยู่ แม้ว่าจะหายไปเป็นปี จะมีทีมที่ติดตามทำงานตรงนี้ตลอด แต่ประเทศไทยยังไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำไป ถือว่า เป็นจุดเริ่มที่ดี ทำให้เพิ่มช่องทางในการติดตาม”

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์มีมุมมองว่า จริงๆ ตำรวจก็ทำหมดแล้ว หาแนวทาง หาร่องรอยของศพ อะไรต่างๆ ทุกอย่าง แต่ทีนี้ในการติดตามที่ทำครบแล้ว แล้วถ้าเด็กไม่ตาย แต่เวลาผ่านมา 4 ปีแล้ว จากอายุ 9 ปี ตอนนี้ก็ 13-14 แล้ว หน้าตาเขาเปลี่ยน แล้วใครจะติดตาม ใครจะรู้ว่าหน้าตาเขาเป็นยังไง เวลาผ่านไป บางคนลืมหมดแล้ว หรือเด็กรุ่นใหม่เพิ่งจะรับรู้ เพิ่งจะโตก็จะไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำไป เราก็หวังสองอย่าง คือ หนึ่งเป็นภาพที่ใช้คู่กับเด็กเขา ประกอบกันกับการประชาสัมพันธ์ แล้วก็สองคือ ก็ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่เข้ามาสนใจทำสกู๊ป แล้วเผยแพร่ภาพเหล่านี้ ทำให้จากคนที่รู้แค่ กลุ่มเล็กๆ กลับกลายเป็นว่า ทำให้คนหลายสิบล้านคนได้รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน การประชาสัมพันธ์ทำให้เราได้มีคนที่จะแจ้งเบาะแสมากขึ้น

 

ผุดโครงการเดินสายเตือนภัย ให้สังเกตจดจำระวังคนร้าย

ผู้กำกับหนุ่มอารมณ์ศิลปินยังทำโครงการเตือนภัย ให้สังเกต จดจำ เดินสายเป็นวิทยากรบรรยายตามโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เจ้าของไอเดียเผยวัตถุประสงค์ว่า เรามีหน้าที่สเกตช์ภาพคนร้ายแล้วปัญหาที่ได้รับคือ ได้รับข้อมูลจากพยานในวันเกิดเหตุ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้ว่า อยู่กับคนร้าย แต่ถ้าพยานรู้ว่า เป็นคนร้าย จะสามารถจดจำได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์ของเรา เริ่มทำกันมาตั้งแต่ต้นปี 2559

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์แสดงความเห็นว่า กลุ่มเสี่ยงในสังคมต่างๆ อาจจะเป็นเยาวชน คือ เด็กนักเรียนเริ่มโต สู่วัยรุ่น ยังไม่หลุดจากวัยรุ่น เป็นกลุ่มเป้าหมายที่อาชญากรรมอาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย รวมถึงการลักพาตัว เราเลยต้องให้ความสำคัญตรงนี้  ต้องออกไปเตือนเขา ให้เขารับรู้สถานการณ์ว่า เขาจะต้องมีไหวพริบ มีการสังเกต เพิ่มขึ้น ถ้ามีอะไรผิดปกติมา มีพฤติกรรมไม่ปกติ เขาก็จะเริ่มสังเกตคนร้าย แล้วจะสามารถแก้ไข หลบเลี่ยงออกจากสถานการณ์นั้นไปได้

“นอกจากนี้ ยังสามารถแนะนำวิธีจดจำ ทำให้เหตุการณ์จากหนักก็จะเป็นเบาขึ้น สามารถให้ข้อมูลกับตำรวจได้ นี่คือวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อให้รับรู้สถานการณ์ และให้จดจำ เด็กเราให้สองอย่างนี้ก็พอ แค่นี้ แต่เวลาเราไปบรรยาย ก็มีคลิป มีข้อมูลเชิงวิชาการ หลักการอะไรต่างๆ ไปให้กับเขา การทำงานของเรา และสิ่งที่สำคัญ คือ เราจะให้เยาวชนเห็นศักยภาพการทำงานของตำรวจไทยด้วยว่า การติดตามจับกุมคนร้าย เรามีการทำงานอย่างไรจึงสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ บางครั้ง จะมีภาพสเกตช์ของต่างประเทศให้ดูด้วย เทียบกับของเรา เพื่อจะได้รู้ว่า มีความใกล้เคียง ไม่แตกต่างกัน ทำให้เท่าที่ผ่านมา เด็กให้ความสนใจ ยอมรับ ส่วนหนึ่งก็ให้พวกเขายอมรับตำรวจด้วย”

ยังสนุกกับงานภาคสนาม ลุยลงมือแกะรอยตามหน้างานที่ถนัด

ตลอดระยะการทำงานเกือบ 20 ปี พันตำรวจเอกยอดมือสเกตช์ภาพรู้สึกยังสนุกกับการทำงาน แม้เป็นผู้กำกับแล้วยังลงไปทำงาน ไปนั่งสเกตช์ภาพเองอยู่ ทั้งที่เมื่อก่อนคิดว่า คงไม่ต้องมาทำแล้ว  “ผมมาถึงตรงนี้ จริงๆ ก็อดไมได้ ผมอาจมีความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่นเขา แม้จะโดยตำแหน่ง แต่ด้วยความสามารถของเรา การบริหารจัดการ อะไรได้ การที่ผมลงไปทำ ก็คงไม่มีผลเสีย คงมีแต่ผลดี อย่างน้อยก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาว่า อย่างน้อยเราก็ยังลงมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน

“ความประทับใจของผม คือการรับราชการในตำแหน่งงานสเกตช์ภาพคนร้าย ด้วยการยึดอุดมการณ์เพื่อประชาชน ผมคิดว่า ความสุขทางใจเป็นสิ่งสำคัญกว่าความสุขทางกาย เช่นคำโบราณที่ว่า ทุกข์กายอยู่ได้ ทุกข์ใจอยู่ยาก เมื่อตัวเราสามารถช่วยเหลือประชาชนให้คลายทุกข์และมีความสุขได้ ถือว่า ใจเราจะมีความสุขมากกว่า”

“ที่ผ่านมาถึงไม่ท้อถอยกับปัญหา ผมชอบความเป็นอิสระ มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ชอบขีดเส้นให้ตัวเอง เพราะเหมือนเป็นกำแพงให้เราหยุดแค่นั้น จำเป็นต้องข้ามกำแพงไปเดินนอกกำแพงบ้างจะได้เห็นมุมมองรับรู้เรื่องราวที่แตกต่าง” พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES