“ผมไม่เคยคิดทะเยอทะยาน หรือหลงอยู่กับยศ ตำแหน่ง”

 

นับเป็นนายพลตำรวจตรีหนุ่มนำรุ่นอนาคตไกล พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ผ่านเรื่องราวมามากมาย มีทั้งร้ายและดีกว่าจะมายืนตรงจุดนี้ยังไม่วายถูก “ข้อครหา” สารพัด ทั้งจิกกัด ติฉิน นินทา แต่ตัวเองกลับรู้สึกชินชา เนื่องจากบางข้อหา ไม่ได้เป็นจริงอย่างที่ถูกโจมตี

เส้นทางชีวิตของเขา มีที่มาที่ไปอย่างไร

นิตยสาร COP’S ถือโอกาสเจาะลึกถอดใจหมดเปลือก  โดยเฉพาะประเด็นร้อนที่ว่าเพราะเหตุใดถึงถูกมองภาพมีอำนาจเหนือ “ผู้นำองค์กร” สนองคุณการเมืองหลากหลายเรื่องในยุทธจักรสีกากี

 

ลูกชายนายดาบตำรวจ อยากอวดความภูมิใจให้พ่อ

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล เกิดอำเภอเมืองสงขลา ลูกชาย ด.ต.ไสว หักพาล อดีตผู้บังคับหมู่งานพลาธิการ ตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนแม่เป็นครูโรงเรียนอนุบาล จบชั้นมัธยมโรงเรียนมหาวชิราวุธ ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 47

“ผมซึมซับจากคุณพ่อ สมัยเด็กแรกๆ ยังไม่ได้คิดจะเป็น ยังไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรมากมาย เพราะยังเด็กอยู่ ไม่ทันได้คิดว่าจะได้ทำอะไรให้กับบ้านเมืองตามประสาเด็ก เดิมมีความคิดจะไปสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพราะผมก็อยู่ห้องคิงส์มาตลอด เรียนก็อยู่ในเกณฑ์ต้นๆ ยังมีความคิดว่าเดี๋ยวไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีกว่า ตั้งใจอยากจะเป็นหมอฟัน ถ้าสอบไม่ได้ก็เป็นวิศวกร คิดว่าอาชีพเหล่านี้หางานทำไม่ยาก แล้วอีกอย่างก็ตั้งใจเรียนหนังสืออยู่แล้ว ไม่ใช่คนเกเร” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์เริ่มต้นฉากชีวิต

“แต่ที่มาเปลี่ยนใจ เพราะเห็นคุณพ่อลำบากให้เรา ตั้งแต่เราเด็กๆ ผมมีพี่น้อง 2 คน ผมเป็นคนโต แล้วก็มีน้องอีกคน ก็เลยอยากให้คุณพ่อมีความภาคภูมิใจในตัวเรา คุณพ่อเองเป็นตำรวจชั้นประทวน อย่างน้อยให้มีลูกสักคนเป็นนายตำรวจ คุณพ่อก็ทุ่มเทให้ผมเยอะ ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ที่ทำให้ผมเปลี่ยนแปลงชีวิตมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร”

 

ถูกบ่มเพาะระเบียบวินัย สมความตั้งใจได้เป็นตำรวจ

ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยวบอกว่า ตอนนั้นคิดว่าถ้าสอบไม่ได้ก็จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตามความตั้งใจเดิม บอกกับแม่ไว้ คิดแค่นั้น ตั้งใจจะทำให้พ่อมีความสุข เสร็จแล้วพอมาสอบได้ ไม่ได้เรียนกวดวิชาดด้วยซ้ำ ด้วยความที่ตั้งใจอ่านหนังสือสอบเอง ตามประสาเป็นเด็กบ้านนอก สอบครั้งเดียวได้เลย มาเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร สมัยนั้นอยู่ที่ถนนพระราม 4 เป็นนักเรียนไป-กลับ ไม่อยากจะอยู่ประจำ เลยไปเช่าหอพักอยู่กับเพื่อนข้างนอก

เจ้าตัวสารภาพว่า มาเรียนแรกๆ  รู้สึกว่าอยู่ไม่ไหว เหนื่อยมาก รู้สึกหนักมาก แต่พออยู่ไปๆ ก็มีความรู้สึกว่า เรามีความอดทน เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้สึกว่า ตัวเราเองเมื่อก่อนอยู่บ้าน เป็นนักเรียน ปกติไม่มีระเบียบวินัย พอมาอยู่แล้วทำให้มีระเบียบวินัย รู้สึกถึงความเป็นทหาร ตำรวจมากขึ้น คิดว่าตรงนี้ ทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ตามความตั้งใจอยากรับราชการตำรวจ มองแล้วว่า เป็นอาชีพที่ถึงแม้ไม่ได้มีเงินเดือนสูง แต่เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

“การเป็นตำรวจนั้น สัมผัสกับชีวิตประชาชนตลอด ได้ใกล้ชิด เป็นอาชีพที่มีทั้งกฎหมายในมือ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ สามารถปราบปรามคนร้ายได้” เขารำลึกความหลังระหว่างใช้ชีวิตนักเรียนเตรียมทหาร 2 ปี ก่อนแยกเหล่ามาเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก 4 ปี

 

เล่นเทนนิสจนติดทีมชาติ ผงาดเป็นนักเรียนเตรียมทหารดีเด่น

ระหว่างเป็นนักเรียนเหล่ายังได้รับการคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทนนิส เขาเล่าว่า เล่นเทนนิสมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ พ่อส่งเสริมสนับสนุนกระทั่งติดทีมชาติ เป็นแชมป์ประเทศไทย ก่อนหน้าภราดร ศรีชาพันธุ์ ได้ไปเล่นกีฬาเหล่าทัพ มีส่วนทำให้ได้เป็นนักเรียนเตรียมทหารดีเด่น มีแผ่นป้ายทองคำติดไว้หน้าโรงเรียน รุ่นหนึ่งจะมีคนเดียวเท่านั้น

“พอมาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ด้วยความที่เป็นคนชอบเล่นกีฬา ทำให้ไม่ไปเสเพล ไม่ไปกินเหล้าเมายา ทำให้เราอยู่ในวินัย ประกอบกับการที่ผมได้รับการฝึกฝนแบบนี้ สร้างให้ผมเป็นคนที่มีระเบียบวินัย มีความอดทนอดกลั้น กระทั่งจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจปี 2537 ผมก็มีความรู้สึกว่า เมื่อเรียนจบแล้ว น่าจะลองหาความรู้ต่อ ถึงสมัครสอบเข้าเรียนปริญญาโทคณะสังคมศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม”

นักเรียนนายร้อยตำรวจสุรเชษฐ์สอบได้เป็นที่ 1 เปิดโอกาสให้รับทุนเรียนฟรี 1 ปี ซึ่งสมัยนั้นการจะเรียนปริญญาโท ต้องสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ถึงจะเข้าเรียนปริญญาโทได้ และต้องมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ทว่าเขามีความตั้งใจและสอบได้เป็นอันดับ 1 อธิการบดีเลยรับเข้าไปเรียน ใช้เวลาศึกษาปริญญาโทนาน 2 ปีกว่า

 

มุมานะจบปริญญาโท ประเดิมเติบโตสายนายเวร

พ้นรั้วสามพราน บรรจุลงเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ก่อนสมัครใจย้ายเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม เพื่อจะมีเวลาเดินทางไปเรียนปริญญาโท “สมัยนั้นท่านวรรณรัตน์ คชรัตน์ เป็นผู้การขยันมาก มาตรวจงานตลอด ถ้าร้อยเวรไม่อยู่แย่แน่ ผมจะแว่บมาเรียนหนังสือก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันจะเละ งานก็เสีย ผู้ใหญ่ก็ขาดความเชื่อถือ ผมไม่อยากให้ภาพพจน์ของเราที่ผู้ใหญ่มองเป็นคนเกเร เลยตัดสินใจไปอยู่หนองแขม เพราะใกล้กับมหาวิทยาลัยมหิดล”

หลังจากมีดีกรีปริญญาโทแล้ว นายตำรวจหนุ่มย้ายเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร โรงพักอันดับ 1 ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เริ่มทำงานเต็มตัว เป็นร้อยเวรสอบสวนอยู่ 2 ปี กรมตำรวจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ยกระดับกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด  พล.ต.ต.วรพจน์ ประชาเดชะ นั่งผู้บังคับการคนแรกเห็นแววเด็กหนุ่มเลยเรียกเขาเป็นนายเวร

นับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายขาวของเขา เพราะหลังจาก พล.ต.ต.วรพจน์ เกษียณอายุราชการ เขาโดนดึงไปเป็นนายเวร พล.ต.ท.บุญชัย ชื่นสุชน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ขยับตำแหน่งขึ้นสารวัตร ปีเดียวลงเป็นสารวัตรหัวหน้าสถานีทางหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เทียบเท่าตำแหน่งสารวัตรใหญ่ รับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นย้างเป็น สารวัตรทางหลวงชลบุรี รับผิดชอบพื้นที่กว้าง มีกำลังพลมากขึ้น

 

สะสมประสบการณ์พัฒนาหน่วย ช่วยผลักดันความเจริญก้าวหน้า

“ มันทำให้ผมมีประสบการณ์การทำงาน ได้สะสมความรู้เรื่อยมา ในแต่ละที่ที่อยู่ ผมอาจคิดไม่เหมือนคนอื่น ผมจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาหน่วย สมัยก่อนมีโครงการโรงพักเพื่อประชาชน จัดให้มีการประกวดแข่งขันสถานีตำรวจ สมัยก่อนผู้ที่ได้รับเลือก จะได้รับโล่ข้าราชการตำรวจดีเด่นจากอธิบดีกรมตำรวจ ผมได้รับรางวัลสถานีตำรวจดีเด่นตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ และชลบุรี เพราะผมพัฒนาหน่วย” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์เล่าความภาคภูมิใจ

“ผมอยู่ไหนก็ทำแบบนี้ ด้วยหลักคิดที่ผมเคยได้อยู่กับผู้ใหญ่มาก่อน สมัยเป็นนายเวรส่งผลดี ผมเห็นตามโรงพัก ห้องที่ดีที่สุดจะเป็นห้องผู้กำกับ ห้องที่แย่ที่สุด คือ ห้องน้ำ และห้องที่ประชาชนมาแจ้งความ ผมมองกลับกันเลย พอมาอยู่ ห้องทำงานผมอะไรก็ได้ แต่ห้องที่ดีที่สุด คือ ห้องน้ำ และห้องร้อยเวรที่รับแจ้งความ ผมใช้หลักตรงนี้มาตลอด ผมคิดว่า การเป็นอยู่ในบางตำแหน่ง เวลามันสั้น เวลามันน้อย ต้องรีบทำ เป็นสารวัตรหลายที่ ต้องใช้งบหลวงบ้าง ไม่ใช้บ้าง เพราะมันไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ทำมาเรื่อยๆ ตรงนี้ก็เป็นอานิสงส์”

ย้ายจากทางหลวงชลบุรี ขึ้นเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.วิเชียรพจน์ โพธิ์ศรี สมัยเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วขยับก้าวเป็นผู้กำกับการประจำสำนักงาน พล.ต.ท.ปรัชญา สุทธปรีดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงลงนั่งเก้าอี้ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

คลี่คลายคดีค้ากามสาวลาว เจอเรื่องฉาวมีเจ้าหน้าที่พัวพัน

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ไปอยู่ที่ไหน มีความตั้งใจทำหน้าที่ ตอนนั้นได้รับคำสั่งให้ไปดูคดีค้ากามหญิงชาวลาวในคาราโอเกะจังหวัดลพบุรีแล้วถูกฆ่าตาย เมื่อไปตรวจสอบพบมีมูลความจริงจึงนำกำลัง   บูรณาการร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเอ็นจีโอ ขอหมายค้นศาลอาญาเข้าไปตรวจค้นช่วงบ่ายสอง ปรากฏว่า เงียบหมดแล้ว ข่าวรั่ว มีการเคลื่อนย้ายเด็กทั้งหมด 50 คนไปที่อื่น

“ผมก็ทำอะไรไม่ได้ หาอะไรไม่เจอ อยู่จนกระทั่ง 5 ทุ่ม เที่ยงคืน หาจนไปตรวจพบว่า มีการนำเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไปกักขังไว้ที่โรงแรมในจังหวัด เราก็ช่วยเหลือเหยื่อออกมา 20 กว่าคน แต่ก็มีเหยื่อคนหนึ่งที่เสียชีวิต เพราะถูกทำร้ายร่างกาย เสียชีวิตคาสถานบริการแล้วเอาศพไปเผา ตอนนั้นผมรู้สึกสะเทือนใจ มันหนักมาก เด็กผู้หญิงคนนี้ถูกทำร้าย เจ้าของซ่องเอามารับแขก เด็กรับไม่ไหวก็ถูกตบจนสลบเอาไปไว้ในห้อง จนเด็กชัก พอถูกส่งไปโรงพยาบาลก็ตายแล้วเลยเอาศพไปเผา”

“ด้วยจิตวิญญาณ ผมตัดสินใจตามขยายผลเรื่องนี้ บูรณาการกับเอ็นจีโอที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อถือตำรวจ เราทำจนเขาเชื่อใจ ผมไล่ล่าจับกุมผู้ต้องหา 10 กว่าคน พอช่วยเด็กออกมาซ่องแล้ว ตามกฎหมายการค้ามนุษย์ เด็กถือว่าเป็นเหยื่อ ต้องส่งไปไว้ที่บ้านนักสังคมสงเคราะห์ สอบตามกระบวนการสหวิชาชีพ เด็กให้การว่า ก่อนนำไปค้าบริการในซ่องจะถูกส่งตัวไปให้ตำรวจร่วมประเวณีก่อน เอาเด็กมาสอบที่อัยการมีการชี้รูปตำรวจคนไหนบ้าง ผู้กำกับท่านนี้ รองผู้กำกับท่านนี้ ก็มีการดำเนินคดี” อดีตผู้กำกับการปราบปรามการกระทำผิดการค้ามนุษย์เล่า

 

โดนประณามไม่เอาพี่เอาน้อง ก่อนถูกร้องรับส่วยทำซวยเจอเด้ง

สุดท้ายนายตำรวจหนุ่มถูกรุมประณาม “ผมโดนหนักมาก พี่ ๆ น้อง ๆ มองว่า  ผมไม่เอาพี่เอาน้องตำรวจด้วยกัน จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องที่เด็กชี้ นี่คือ สิ่งที่ตำรวจปัจจุบันนี้ยังไม่เข้าใจกระบวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ตำรวจต้องสอบร่วมแบบสหวิชาชีพ แล้วต้องยอมรับว่า เอ็นจีโอ เขาไม่ค่อยเชื่อถือตำรวจเท่าไหร่ ผมดำเนินคดีเจ้าของซ่อง อะไรต่ออะไร ผมก็จับหมด ตำรวจก็ถูกดำเนินคดีด้วย แต่ผมก็ถูกฟ้องกลับ กล่าวหาว่ากลั่นแกล้งบ้างอะไรบ้าง แต่ผมก็รอดหมด ด้วยอานิสงส์ที่ผมทำคดีนี้”

สู้คดีในชั้นศาลแจ้งข้อหาผู้ต้องหาบางคน 19 กระทง ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 130 ปี พร้อมให้ชดใช้เยียวยาเหยื่อเด็กทั้งหมด และถูกส่งกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ระบายความรู้สึกว่า กว่าสังคมจะเข้าใจเล่นเอาเหนื่อย ตอนนั้นถูกย้ายเป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บังคับบัญชาบางคนกล่าวหาว่า เรารับส่วยคาราโอเกะ ที่จังหวัดนครพนม แต่เราก็ใม่ท้อ

นายพลหนุ่มนำรุ่นมีอุดมการณ์ว่า อยู่อำนวยการพยายามทำงานติดโครงการอบรมตำรวจสอบสวนกลาง ทำเรื่องของบประมาณธนาคารแห่งประเทศไทย จัดฝึกอบรมตำรวจผู้มีหน้าที่ปราบปรามเงินกู้นอกระบบ ที่มีการตัดแขน ตัดมือ ตัดขา มีการทวงหนี้อย่างรุนแรง รัฐบาลสมัยนั้นให้มีการปราบปรามเงินนอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ทำโครงการไปบรรยายทั่วประเทศ คิดแค่ว่า อยู่ที่ไหน ก็มีงานทำตลอด

 

ได้รับโอกาสกลับมาโชว์ฝีมือ สร้างชื่อตะเข็บแดนด้ามขวาน

ต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ย้ายเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เห็นฝีมือการทำงานของเขาจึงชวนไปเป็นหัวหน้าสำนักงานก่อนลงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พัฒนาโรงพักรองรับนักท่องเที่ยวจนได้รับเลือกเป็นสถานีตำรวจดีเด่นอีกครั้ง

“ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ทุกที่ที่ผมได้มีโอกาสไปทำงาน ผมจะพยายามตั้งใจมุ่งมั่นพัฒนา เรื่องรางวัลเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องการปฏิบัติตรงนี้จะเป็นอานิสสงส์ ผมมองว่าอย่างนั้น แล้วพอมีเหตุเภทภัยต่างๆ ผมก็รอดมาตลอด ผมเชื่อเรื่องเหล่านี้นะ”

รับรางวัลสถานีตำรวจดีเด่น ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งนั้น มีส่วนให้ได้รับการพิจาณาแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ไปตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าคุม 4 อำเภอคาบเกี่ยวสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาคนแรก

“อย่างที่ผมบอกเสมอ ทุกจุดที่ผมไปก็พยายามสร้าง ไปพัฒนาหน่วย พัฒนาคน เพื่อให้ทุกอย่างเข้มแข็ง เมื่อมีความเข้มแข็งแล้ว ประชาชนก็ได้ประโยชน์” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ย้ำหลักการทำงาน

 

ก้าวตำแหน่งนายพลนำรุ่น ชีวิตคลุกฝุ่นถูกกระแสโจมตี

ได้สิทธิทวีคูณขึ้นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรี ติดนายพลนำเพื่อนร่วมรุ่น และมีโอกาสทำงานเคียงข้าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “ถือว่าเป็นโชควาสนาของผมที่ได้เคยทำงานให้ท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ จึงได้เข้ามารู้จักและรับใช้ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นพี่ชาย เป็นบุญที่เราได้สะสมความดีมา ทำให้ได้มาทำงานให้กับผู้ใหญ่ที่ดี ที่เป็นเสาหลักให้แก่บ้านเมือง”

ปีถัดมาขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยังมีภาระงาน 2 ส่วน คือ งานในส่วนของตำรวจท่องเที่ยว อีกส่วน คือ เป็นฝ่ายเสนาธิการ บทนายเวรติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่ามกลางกระแสโจมตีต่าง  ๆ นานา “ผมนี่โดนมาตลอด โดนมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่รู้จากไหน แต่ต้องเรียนอย่างนี้ เวลาผมพูดอาจจะพูดไม่เหมือนคนอื่นเขา ผมโชคดีที่ผมเล่นกีฬา การเล่นกีฬาแล้วเล่นจนถึงที่สุด คนที่จะมาเป็นทีมชาติได้ เป็นแชมป์ประเทศไทยได้ ต้องมีการฝึกฝน ต้องทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ต้องมีวินัย ฝึกซ้อมร่างกาย สิ่งสำคัญคือมีสปิริต ในส่วนของผมก็จะทำงานให้เหมือนกันเล่นกีฬา”

“เมื่อก่อนผมเล่นกีฬา ถ้าแพ้ตั้งแต่รอบแรก ผมจะกลับไปทบทวน ไปฝึกซ้อมใหม่ แล้วกลับไปแข่งใหม่ แล้วก็ชนะได้ ผมจะไม่แบบว่า แพ้แล้วไปนั่งคิดว่า คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ช่วย ไม่ใช่ผม เหมือนกันกับการรับราชการ ผมจะทำอย่างนี้ตลอด เมื่อถึงเวลาแต่งตั้งโยกย้ายแล้ว ไม่ได้รับการพิจารณา ผมก็จะกลับมาพิจารณาและทำการบ้านใหม่ ดูว่ามีจุดอ่อนตรงไหน หรือว่าผู้บังคับบัญชายังไม่รู้จักเรา ต้องเข้าไปหาหรือไม่ ผมจะไม่มานั่งนินทา ตรงนี้มันเป็นเรื่องสปิริต”

ยืนกรานตั้งมั่นในความดี ไม่เคยมีรับเงินวิ่งเต้นซื้อขายเก้าอี้

“มันไม่ใช่แค่ตัวผม รุ่นพี่ๆ ก็มี ที่ขึ้นเร็วด้วย มีคนหมั่นไส้ ผมอยากจะบอกว่า ผมเป็นคนที่มีวินัย ต่อให้รุ่นน้อง ถ้าขึ้นมาเป็นนาย ผมก็ต้องเคารพ การรับราชการ ทุกก้าวส่วน ไม่เฉพาะตำรวจ จะต้องใจกว้าง แล้วต้องยอมรับ และแก้ไขปัญหา ต้องคิดบวก เพราะฉะนั้นคนเรา ไม่มีใครดีทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งตัวผมด้วย แต่ดีต้องมีมากกว่าไม่ดี ผมเชื่อมั่นว่าผู้บังคับบัญชา ทั้งยศ พล.ต.อ. พล.ต.ท. หรือ พล.ต.ต.เขาย่อมต้องมีความดี ถ้าไม่มีความดี คงมาอยู่ตรงนั้นไม่ได้” นายพลตำรวจตรีคนดังแววตาจริงจัง

“เหมือนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ทำไมมาลงที่ผมคนเดียว ผมอยากจะนำเรียนย้ำว่า ผมเองโดนมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว แต่ที่โดนแล้วไม่เป็นอะไร เพราะเราทำดี ไม่ได้ทำชั่ว ในการคิดของผม อยู่โรงพักก็มีคนมาให้โน่นให้นี่บ้าง แต่ว่า สิ่งหนึ่งในชีวิตรับราชการที่ไม่เคยทำเลย แล้วก็ไม่คิดจะทำตลอดทั้งชีวิตราชการที่เหลือ คือ การซื้อขายตำแหน่ง การรับผลประโยชน์จากการแต่งตั้ง การวิ่งเต้น ผมต้องบอกเลยว่า ตั้งแต่ผมรับราชการมาจนได้เป็นนายพล ผมไม่เคยเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว มีแต่ไปกราบขอบคุณหลังจากแต่งตั้งเสร็จแล้ว”

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์อธิบายว่า มีโอกาสได้เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายมาตั้งแต่เป็นนายเวรผู้บังคับบัญชา เห็นเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ไปทำเรื่องแต่งตั้ง อย่างที่ใครเขาว่า เพียงแต่ได้อยู่กับท่านประวิตร บางทีท่านสั่งเป็นนโยบายอะไรไป เราก็มีหน้าที่แค่ประสานไป คนอาจไม่เข้าใจ ไปลือว่า เราขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาบ้าง ไปลือว่า อยู่เบื้องหลังทำโผแต่งตั้ง ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ เป็นเพียงแค่ผู้ประสานงาน คือ ในตำแหน่งก่อนหน้าเป็นผู้การประจำ มีหน้าที่ประสานงานกับสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานงานทุกเรื่อง ต้องรายงานผ่านท่านทุกเรื่องอยู่แล้ว

 

วอนขอความเป็นธรรม กระแสกระหน่ำมาเกือบทั้งชีวิต

 เฉกเช่นคำสั่งให้ทุกโรงพักรายงานคดีอุกฉกรรจ์ผ่านเขา พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ชี้แจงว่า คำสั่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยท่านสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการแล้ว ข้อความเหมือนกัน แต่สมัยนั้นทำไมไม่มาตี มาถึงท่านจักรทิพย์ ชัยจินดา ก็ล้อคำสั่งเก่า เปลี่ยนแค่ชื่อคนลงนามเท่านั้น  กลับมาต่อว่า หาว่า ยิ่งใหญ่อย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เป็นภาระด้วย ต้องรับโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืน บางคนไม่เข้าใจคิดว่า เราใหญ่มาก นี่คือเรื่องจริง แล้วเรื่องที่รายงาน คือ เรื่องคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น หมายจับต่างๆ

“คงต้องขอช่วยให้ความเป็นธรรมกับผมบ้าง เพราะผมโดนมาเรื่อย โดนมาตลอดชีวิตราชการ แต่สิ่งที่ผมไม่เคยทำ คือ ไม่เคยรังแกลูกน้อง ผมไม่เคยทำกับผู้ใต้บังคับบัญชา วันนี้ผมเป็นผู้การท่องเที่ยว มีสารวัตรท่องเที่ยวทั่วประเทศ ไม่เคยมีใครต้องเอาสตางค์มาให้ผม แล้วผมก็ไม่เบียดเบียนลูกน้อง ผมจะดูแลลูกน้องอย่างดี อย่างใกล้ชิด แม้ว่าอาจจะมีเวลาไม่มาก แต่ก็จะพยายามทำให้ดี”

การดำรงตำแหน่งอยู่แต่ละที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ รับว่า มีเวลามานาน จำเป็นต้องพัฒนาให้มากที่สุด ปัจจุบันตำรวจท่องเที่ยว 35 สถานี มีที่ดินเป็นของตัวเองแค่ 6 สถานี นอกนั้นเช่าหมด เมื่อมาเป็นผู้บังคับการจึงพยายามหาที่ดินสร้างสถานีตำรวจท่องเที่ยวให้จนครบหมดแล้ว ไม่ต้องเช่า เมื่อมีที่ดินของตัวเองอยากจะพัฒนาอะไรก็ทำได้ ยกตัวอย่างเรื่องแบบนี้กลับไม่มีใครพูดถึง สิ่งที่ทำด้วยความมุ่งมั่น ไม่มีใครรู้ แต่ว่าลูกน้องที่ทำงานด้วยกัน จะรู้  ใครมารับตำแหน่งต่อจะได้ไม่ต้องกังวล

เชื่ออนาคตไม่มีอะไรแน่นอน สะท้อนให้ต้องอยู่กับความจริง

ถามถึงเส้นทางชีวิตราชการในอนาคตวาดหวังไว้ว่าอย่างไร นายพลหนุ่มสารภาพว่า แม้จะเร็วกว่าทุกคนในรุ่น บอกได้เลยว่าไม่มีอะไรแน่นอน ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะ บางคนเป็นสารวัตรคนแรกของรุ่น แต่ก็เป็นสารวัตร 10 กว่าปี กลายเป็นช้าที่สุดไปเลย ตรงนี้มีคนไปบอกว่า เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแน่ เราแค่นึกในใจว่า ที่พูดกัน พูดเรื่อยเปื่อยทั้งนั้น คือ เราต้องอยู่กับความเป็นจริง การเป็นผู้บังคับการเร็ว ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะได้ไปเป็นผู้บัญชาการเร็ว อาจจะอยู่จน 20 ปี เกษียณเลยก็ได้

“เรียนตามตรงว่า ตั้งแต่เด็กจนโต ผมเร็วของผมมาตลอด แต่ว่า ผมไม่เคยคิดทะเยอทะยาน หรือหลงอยู่กับยศ ตำแหน่ง ยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ยิ่งสูงขึ้น อายุมากขึ้น ยิ่งต้องคิดให้มากขึ้น ทำงานให้มากขึ้น ตอนที่เราอายุน้อย อยู่ในตำแหน่งสูง ยิ่งต้องทำงานให้หนักกว่าเขาอีกเป็น 3-4 เท่า วันนี้ในการที่เป็นผู้บังคับการ ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องโตเร็ว ต้องไปเร็ว แต่ว่า ทุกคนก็อยากเป็นหมด รวมถึงผม แต่สิ่งที่ต้องคิดก่อน คือ ต้องทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

เขายังมีมุมมองว่า ปัญหาของสังคมตำรวจวันนี้ ไม่มีปัญหาอื่นเลย ปัญหา คือ ผู้ปฏิบัติในแต่ละระดับ ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี พนักงานสอบสวนไม่รับสำนวน หมกสำนวน ไม่รับคดี พนักงานสอบสวนไม่สรุปสำนวน ไม่สั่งฟ้อง ต้องไปบอกให้ทำหน้าที่ของตัวเอง ถึงจะเดินหน้าได้

 

มรสุมมลทินสารพัดข้อครหา อยากให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ส่วนเรื่องมลทินฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลห้วงเวลาที่ผ่านมาในอดีต พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เผยว่า จบไปแล้ว เราจะไม่ตำหนิว่า ใครไม่ดี ใครเลวร้าย แต่การเป็นตำรวจ เป็นข้าราชการทุกหน่วย ไม่มีใครที่กล้าฟ้องผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่ถูกรังแก ไม่ถูกกลั่นแกล้งจริงๆ ก็คงไม่ฟ้องผู้บังคับบัญชา ทุกคนมีวินัย ถ้าไม่จนตรอกจริงๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างในสังคม ถ้าสังคมยอมรับได้ ผู้ที่ถูกตัดสินยอมรับ ถ้ามีความเป็นธรรมจะไม่โทษใคร ไม่ตำหนิใคร

“สิ่งที่ผมถูกกระทำก็ยกไปหมดแล้ว แม้ว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ลงข่าวว่า พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รับส่วย ผมเสียชื่อมาก เสียหายมากมายมหาศาล พอมาปีที่แล้ว ผมสู้คดี กระทั่งคนที่กล่าวร้ายผม แจ้งความผมไปกรรโชกทรัพย์ ไปเรียกเก็บเงินร้านคาราโอเกะ สุดท้ายเขายอมรับกลางศาลว่า มีคนเอาไปให้เขาเอาหนังสือร้องเรียนไปเขียนเอกสารแจ้งความผม เขาบอกว่า ไม่เอาแล้ว เสียเวลา 5 ปี  ไม่มีใครมาดูแลเขาเลย ต้องเดินทางจากนครพนมมากรุงเทพฯ”

“มันเป็นธรรมกับผมหรือเปล่า ผมจะเอาคำพิพากษาไปให้นักข่าวลง แต่มีผู้ใหญ่เตือนว่า อย่าไปทำ ถามว่า เวลาลงหน้า 1 ผมรับส่วย เสียหายหมด แต่พออย่างนี้ ไม่มีใครรู้เรื่องเลย แต่ผมก็ไม่เป็นไร ในเมื่อผู้บังคับบัญชาที่ผมเคารพรักบอก ผมยังต้องอยู่ในราชการอีกหลายปี อย่าไปทำเลย โดนคำลือ คำครหาเยอะมาก แต่ผมไม่แก้อะไร เพราะคิดว่ากาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ โดนสารพัด โดนทั้งเรื่องซื้อขายตำแหน่ง แต่ไม่มีใครทำอะไรผมได้ เพราะผมไม่ได้ทำ ผมมองว่า ถ้าผมทำ ผมจะมายืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ที่สำคัญต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES