อย่าหวดให้ดูเป็นตัวเหี้ย

งานนี้ไม่เกี่ยวกับ “ตัวเหี้ย” แต่อาจมีความพยายามลาก “ตัวเหี้ย” มาเป็น “แพะรับบาป”

ขอเท้าความถึง “ตัวเหี้ย” ไว้ก่อน ตามข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ที่ใช้ย่อโลกในยุคปัจจุบัน ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของ “เหี้ย” คือ  Varanus salvator เป็นสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ

ข้อมูลบอกว่า “เหี้ย” มักใช้เป็นคำด่าและเป็นคำหยาบคาย ภาษาที่ไม่สุภาพสำหรับสามัญชนทั่วไปในภาษาไทย

บางครั้งเลี่ยงไปใช้คำว่า ตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวกินไก่ หรือ น้องจระเข้

หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า “ตะกวด” ทว่าในเชิงอนุกรมวิธานแล้ว “ตะกวด” เป็นสัตว์คนละชนิดกับ “ตัวเหี้ย”

ว่ากันว่า “เหี้ย” เริ่มกลายมาเป็นคำหยาบ คำด่าทอในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า “ตั่วเฮีย” หมายถึง พี่ชายคนโต หรือพี่ใหญ่

สมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่น ทำชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามขณะนั้นเสียผลประโยชน์จนเกิดการออกล้างแค้นโดยฆ่าฟันชาวสยามล้มตายเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นชาวสยามในเวลานั้นได้ใช้คำว่า “ตั่วเฮีย” เป็นคำด่าทอ ก่อนเพี้ยนมาเป็น “ตัวเหี้ย” หรือ “เหี้ย” ในที่สุด

แต่เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับ “ตัวเหี้ย” แล้วอย่าเอาเรื่อง “ตัวเหี้ย” เข้ามาเกี่ยวข้อง

เป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับ “คลิปวีดีโอ” โชว์ภาพเฮฮาตามประสาตำรวจภูธรไล่จับ “ตะกวด” เหมือนแข่งประกวดเสียงหัวเราะในโลกโซเชียล

“ตะกวด” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Varanus bengalensis  มีรูปร่างคล้าย “ตัวเหี้ย” เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกัน

อย่าจำสับสนกับ “ตัวเหี้ย” หรือเรียกสลับกัน

ข้อสังเกตคือ “ตะกวด” มีขนาดเล็กกว่า “ตัวเหี้ย” ไม่ค่อยอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ดุร้ายเท่า มักอาศัยบนต้นไม้ ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนผึ่งแดดตามกิ่งไม้

อาศัยอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ

 ภาพในคลิปที่ปรากฏถึงตอกย้ำว่ามันคือ “ตะกวด” ไม่ใช่ “ตัวเหี้ย”

ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องราวไม่ได้ลงเอยเรียกเสียงฮา เมื่อ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแห่งนั้นมีคำสั่งร่ายยาว

อ้างตามที่ปรากฏคลิปวีดีโอเป็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย “ไล่จับตะกวด” ที่ภายหลังได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและส่งเข้ากลุ่มไลน์

เฉพาะภาพคลิปวีดีโอที่มีการไล่จับ

ไม่ปรากฏภาพคลิปวีดีโอที่มีการปล่อยสัตว์ป่าไป

เนื่องจาก “ตะกวด” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

หลังจากมีการแชร์เผยแพร่ภาพคลิปวีดีโอในช่องทางโซเชียลมิเดีย เมื่อภาพคลิปวีดีโอดังกล่าวเผยแพร่ออกไปในวงกว้างอาจทำให้ประชาชนผู้เห็นคลิปวีดีโอเข้าใจผิด

ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำผิดกฎหมาย เพราะมีการแชร์ภาพคลิปวีดีโอขณะไล่จับสัตว์ป่า

ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่จันจึงมีคำสั่งว่า เพื่อให้การรายงานข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ชุดปฏิบัติการที่ 4 ทุกนาย และนายร้อยตำรวจเวรประจำวัน (20) เขียนรายงานข้อเท็จจริงเสนอ

ทั้งหมด 7 นายโดนพิษ “ไล่จับตะกวด” ฟัดเป็นใครบ้าง ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม

เอาเป็นว่าขอจบเรื่องสั้นวงการสีกากีที่ดูเหมือนฮา แต่ไม่ฮาเพียงเท่านี้

เรื่องที่ขอย้ำอีกทีว่า ไม่มี “ตัวเหี้ย” มาเกี่ยวข้อง

RELATED ARTICLES