กองร้อยน้ำหวานภูธรภาค 4 ปรับภารกิจเสริมทัพดูแลคัดกรองช่วงโควิด-19 

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผลักดันให้คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด และตำรวจภูธรภาค จัดตั้งอาสาสมัครจราจรหญิงที่เรียกกันว่า “กองร้อยน้ำหวาน” มีภารกิจในการช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน โดยเฉพาะภารกิจเรื่องการดูแลการใช้รถใช้ถนนของคนในชุมชนให้ปลอดภัย แต่ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกพื้นที่ต้องเข้มงวดตรวจตราตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเดือนมีนาคม 2563 กองร้อยน้ำหวานจึงปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นแนวหน้าตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกในชุมชน ช่วยผ่อนงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจรักษาการไม่ให้มีประชาชนออกนอกเคหะสถานในช่วงประกาศใช้เคอร์ฟิว

 นอกจากกองร้อยน้ำหวานจะช่วยตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คัดกรองผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังช่วยสกัดยับยั้งการกระทำความผิดในรูปแบบอื่นๆ ได้ อาทิ เมาแล้วขับ การใช้ยาเสพติด ไม่สวมหมวกนิรภัย และอื่นๆ และคนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและเชื่อฟังคำตักเตือนกองร้อยน้ำหวาน เนื่องจากเป็นบุคคลที่คนในชุมชนนับถือ จึงมีความคุ้นเคยเกรงใจกัน และเนื่องจากกองร้อยน้ำหวานเป็นผู้หญิง เป็นกลุ่มแม่บ้าน-คุณป้า ที่สามารถตรวจเตือนคนในชุมชนที่เป็นผู้ชายได้ ซึ่งช่วยลดการกระทบทั่งจากกรณีไม่ยอมให้ตรวจค้นได้ น..รุ่งอรุณ กล่าว

 พล.ต.ต.อานนท์ นามประเสริฐ หัวหน้าสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่ ตำรวจภูธรภาค 4 ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างเครือข่ายเป็นกองกำลังเข้ามาแก้ปัญหาชุมชน ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “ปัญหาที่เกิดในชุมชน ต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” จึงเกิดการคัดเลือกอาสาสมัครหญิงอายุไม่เกิน 60 ปี เข้ามาฝึกอบรมด้านการจัดการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและยุทธวิธีตำรวจ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในชุมชน โดยมีตำรวจชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ กองร้อยน้ำหวานจะเป็นกองกำลังของชุมชน ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจราจรจากปัญหาเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ปัจจุบันกองร้อยน้ำหวานในภาคอีสานตอนบนมีสมาชิก 2,000 กว่าคน กระจายอยู่ใน 12 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย

แม้สัญญาณการระบาดจะเริ่มดีขึ้น แต่กองร้อยน้ำหวานจะยังไม่หยุดทำหน้าที่ โดยในอนาคตตำรวจภูธรภาค และพื้นที่อื่นๆ จะหารือร่วมกับ สสสเพื่อดึงเอาภาคีเครือข่ายภาครัฐมาร่วมสนับสนุนการอบรมเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะทักษะการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างละเอียด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สร้างระบบดูแลความปลอดภัยในชุมชนให้ดีขึ้น และเพิ่มความรู้ให้กองรอยน้ำหวานสามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำมาวางแผนป้องกันได้ต่อไปด้วย พร้อมกับจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานให้เข้มข้นมากขึ้น” พล...อานนท์ กล่าว

RELATED ARTICLES