“งานแม่บ้านตำรวจไม่ได้ทำกับข้าว แต่สามารถเป็นกองหนุนให้พ่อบ้านตำรวจได้”

รับภารกิจสำคัญและออกทำกิจกรรมอยู่เบื้องหลังสามีตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 คุณเป้-สุขุมาล ชิงดวง ภริยา พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นอกจากสวมบท ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจตระเวนชายแดนแล้ว ยังควบตำแหน่งเลขานุการสมาคมแม่บ้านตำรวจอีกด้วย

ความที่เกิดในครอบครับรับราชการ ยิ่งทำให้เธอเข้าใจหัวอกครอบครัวตำรวจไม่น้อย

สิ่งที่เธอ และสมาคมแม่บ้านตำรวจพยายามจะช่วยมากที่สุด นั่นคือ แบ่งเบาภาระผู้เป็นสามีของภรรยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “บ้านแตก” เหมือนที่หลายคนเผชิญ ด้วยการเสนอแนะกิจกรรมนำรายได้ส่วนหนึ่งมาบรรเทาความแร้นแค้นของชั้นผู้น้อย

แม้จะไม่ง่าย แต่เธอไม่เสียดายเวลาที่เสียสละแรงกายแรงใจในฐานะเป็นผู้นำชมรมแม่บ้านตำรวจประจำหน่วย

 

ไม่รู้สึกเหนื่อยที่มีโอกาสได้ทำ เพราะเป็นกิจกรรมสนับสนุนสามี

เจ้าตัวเริ่มเข้ามามีส่วนช่วยในสมาคมแม่บ้านตำรวจอย่างจริงเมื่อครั้งสามีย้ายกลับไปนั่งผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หลังจาก ดร.บุษบา ชัยจินดา ภริยา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำหนังสือเชิญมาร่วมทำงานในชมรมแม่บ้านตำรวจนครบาล เธอเล่าว่า ภารกิจแม่บ้านตำรวจที่ผ่านมาสัมผัสอยู่บ้าง ตั้งแต่สามีย้ายจากนราธิวาสไปขึ้นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เริ่มร่วมกิจกรรมบ้างแล้ว

“นโยบายของสมาคมแม่บ้านตำรวจก็เหมือนกับชมรมแม่บ้านตามกองบัญชาการต่าง ๆ  อันดับแรก คือ เน้นกิจกรรมถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนจะมาดูแลเรื่องสวัสดิการแม่บ้านตำรวจ ครอบครัวตำรวจ สนับสนุนพ่อบ้าน ช่วงแรกที่เข้ามาทำกิจกรรมไม่รู้สึกเหนื่อยนะ ทุกครั้งที่ทำ เราจะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์ งานแม่บ้านตำรวจไม่ได้ทำกับข้าว แต่สามารถเป็นกองหนุนให้พ่อบ้านตำรวจได้ ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์”

คุณสุขุมาลอธิบายว่า  มีหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะของ ดร.บุษบา ชัยจินดา จะเล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติ และของตำรวจเป็นหลัก ตรงไหนที่พวกเราจะเข้าไปทำประโยชน์อะไรแล้วช่วยเหลือได้ ท่านจะไม่ลังเลที่จะเข้าไป อย่างโครงการที่ไปเยี่ยมเยียนบำรุงขวัญเกี่ยวกับตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ โครงการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือโครงการเพื่อการศึกษา ท่านก็ทำ เราเป็นเลขานุการ เราก็จะต้องทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย ไปทุกที่

 

ยอมรับเจอผู้หญิงเก่งหลายคน แต่ต้องผจญปัญหาแต่งตั้งโยกย้าย

“ในฐานะแม่บ้านนตำรวจ เมื่อได้เห็นครอบครัวตำรวจแล้ว เราจะเห็นความแตกต่าง ถ้าเป็นตำรวจในเมืองจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ในเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องการศึกษาของบุตร แต่ถ้าออกมารอบๆ นอกอย่างภูธร เริ่มจะมีปัญหาว่า จริงๆ แล้ว ตำรวจมีความยากแค้นหลายๆ แห่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือ บางคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า ครอบครัวตำรวจจะมีสภาพความเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็มีส่วนที่ช่วยเหลือได้ ถึงกระนั้นตัวแม่บ้านเองต้องปรับปรุงตัวด้วย” เลขานุการสมาคมแม่บ้านตำรวจแสดงความเห็น

เธอมองว่า ไม่ใช่เป็นแม่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร ทั้งที่เราสามารถจะหางานที่เข้ามาช่วยเสริมสามีได้ ต้องปรับตัวช่วยสามีอีกแรงหนึ่ง ยอมรับว่า แม่บ้านหลายครอบครัวจะทำงานประจำกันอยู่แล้ว ด้วยสภาพเศรษฐกิจ หรือด้วยแม่บ้านที่มีการศึกษาระดับด็อกเตอร์มีเยอะมาก แสดงว่า ผู้หญิงเราสมัยนี้ สนใจด้านการศึกษา ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้ “แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบของแม่บ้านตำรวจก็จะเป็นด้วยการที่รับราชการ มันต้องมีการโยกย้ายบ่อย พอโยกย้ายบ่อย ความอบอุ่นในครอบครัว หรือความใกล้ชิดผูกพัน มักห่างหายไป ไม่ว่าจะครอบครัว หรือกับลูก”

“เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีวิธีที่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ตรงนี้เอาไว้  ต้องพยายามสร้างความใกล้ชิดไว้ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยี สื่อก็มีมากขึ้น เราสามารถที่จะใกล้ชิดกับครอบครัวได้ แต่ฝ่ายชายต้องไม่ละเลยที่จะดูแล ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจ เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานของฝ่ายชายก่อน แล้วต่างคนไม่ทำปัญหาให้กันและกัน ฝ่ายชายก็ไม่ทำปัญหา ฝ่ายหญิงก็ไม่ทำปัญหา ตรงนี้มันก็จะช่วยให้ครอบครัวเราประคองกันไปได้” คุณสุขุมาลพยายามจะสอดแทรกความรู้สึกตรงนี้กับแม่บ้านทุกคนที่ได้ไปสัมผัส

 

บางทีผู้เป็นนายไปหาไม่ถึง จำเป็นต้องดึงจุดนี้มาแก้ปัญหา

ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจตระเวนชายแดนบอกอีกว่า เราในฐานะมีประสบการณ์ เราก็เป็นครอบครัวข้าราชการ พบเห็นการโยกย้ายเหมือนกัน ทุกครั้งที่พูด หลายคนก็ฟัง และพยายามทำ แต่ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างแม่บ้านตำรวจนครบาล กับแม่บ้านของตำรวจตระเวนชายแดนที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นอยู่ ในนครบาล แม่บ้านจะอยู่กับบ้านเป็นหลังๆ แต่ของตำรวจตระเวนชายแดนจะอยู่ในหน่วย บ้านพักในหน่วย อยู่ด้วยกันเป็นสังคม มีความผูกพัน รักใคร่กัน แล้วบางทีมีการทำกิจกรรมร่วมกัน

เธอย้ำว่า ตรงนี้เราจึงต้องดึงศักยภาพของแม่บ้านมาใช้ได้ เอาประสบการณ์มาใช้ได้ ส่วนดีจะมีเรื่องความอบอุ่นของแม่บ้าตำรวจตระเวนชายแดนที่น่ารักในเรื่องความใกล้ชิดของพวกเขา แต่ด้วยความที่อยู่ห่างไกลจะมีความลำบาก บางทีผู้บังคับบัญชาไปไม่ถึง ดังนั้น ชมรมแม่บ้านตำรวจตระเวนชายแดนจะพยายามไปเติมภารกิจช่วยสามีตรงนี้

ช่วงเวลาไม่ถึงปีที่สามีได้ย้ายมาเป็นผู้นำนักรบป่า คุณสุขุมาลลงพื้นที่ทำกิจกรรมแม่บ้านตำรวจในฐานะผู้นำแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะเวลารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามถิ่นทุรกันดาร เธอยังได้มีโอกาสเห็นโครงการพระราชดำริที่สามารถนำไปปรับใช้ฝึกอาชีพแก่แม่บ้านตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

 

พยายามแนะวิธีประครองชีวิตคู่ อยู่แบบไหนไม่ให้ครอบครัวเครียด

เป้าหมายในอนาคต คุณสุขุมาลวาดหวังไว้ด้วยว่า อยากจะเข้าไปดูแลเรื่องการศึกษาของบุตรหลานตำรวจ หลังจากเห็นเด็กบางคนบางครอบครัวต้องอยู่กับพ่อบ้าง แม่บ้าน หรือญาติบ้าง เนื่องจากไม่ได้ย้ายตามพ่อไปตลอดอาจเสียโอกาสด้านการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมแม่บ้านตำรวจต้องเข้าไปช่วยเหลือตามศักยภาพที่เรามี เพราะแม่บ้านตำรวจหลายคนล้วนมีศักยภาพทั้งนั้น เพียงแต่เราจะดึงพวกเขามาใช้หรือเปล่า

“แต่ที่ได้ไปเห็น เราอาจมองว่า ครอบครัวตำรวจตระเวนชายแดนลำบากตามสภาพพื้นที่ แต่เขาไม่อยากย้ายไปไหน เขามีความสุขกับความที่อยู่อย่างพอเพียง ต่างกับหลายที่ที่อยากอยู่กับความเจริญ แต่กลับไม่มีความสุข”

เธอถึงพยายามบอกกับแม่บ้านตำรวจทุกครอบครัวว่า หลักการประคองชีวิตคู่ให้มีความสุข คือ พอเพียง เรียบง่าย เพราะอาชีพตำรวจ เรารู้อยู่แล้วว่า งานหนัก เป็นอะไรที่มีความเครียดสูง มีอะไรเข้ามากระทบกระเทือนสูง มีความคาดหวังจากประชาชนทั่วไปว่า จะต้องทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่า ตำรวจก็เป็นคนเหมือนกัน เครียดมา บางทีเข้าบ้านมา ไม่อยากต้องมาเครียดอีก เราก็น่าจะช่วยผ่อนคลาย ประคองกันไป  ถึงอยากให้ทุกคนคิดแบบนี้

“บางทีความเข้าใจ อาจจะไม่พอ เพราะเราอาจจะไม่เข้าใจงานของเขา แต่การยอมรับในงาน และสิ่งที่เขาเป็น สำคัญสุด” คุณสุขุมาลทิ้งท้าย

 

ย้อนนิยายรักที่ยังเบ่งบาน ของ “สุขุมาล ชิงดวง”

สำหรับประวัติและเรื่องราวความรักของ คุณเป้-สุขุมาล ชิงดวง ภรรยาสาวแสนดีสมเป็นหลังบ้านของนายพลตำรวจคนดัง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เกิดกรุงเทพมหานคร เป็นลูกสาวอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จบมัธยมโรงเรียนสตรีวิทยา 2 แล้วบินไปเรียนต่อวิชาการโรงแรม ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่า ห้วงเวลานั้นธุรกิจการโรงแรมในเมืองไทยกำลังบูมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว เริ่มมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นเยอะ แต่คนที่รู้เรื่องการโรงแรมจริงกลับมีน้อยต้องเอาฝรั่งมาคุม

ลูกสาวพ่อเมืองถึงเลือกเรียนตรงสายงานในแดนผู้ดีใช้เวลา 2 ปีครึ่งเก็บเอาวิชาความรู้มาทำงานเป็นพนักงานขายฝ่ายจัดเลี้ยงและห้องพักโรงแรมบางกะปิ รอยัลโรส กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความรักกับสารวัตรหนุ่มกองปราบปราม

เธอลำดับความทรงจำให้สัมภาษณ์นิตยสาร COP’S ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่า ฝ่ายชายกำลังเรียนปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ต้องมาติดต่อจัดเลี้ยงและที่พักกับโรงแรมอยู่ประจำ ทำให้ได้พูดคุยกัน ตอนแรกเราก็เฉย ๆ ไม่คิดอะไร ไม่ชอบตำรวจ ไม่ชอบคนในเครื่องแบบ รู้แค่ว่า เขาเป็นสารวัตรสายตรวจวิทยุกองปราบปราม เรายังลำดับยศตำแหน่งไม่ถูกเลย

ยอมแหกกฎตัวเอง บรรเลงดนตรีวิวาห์

“จีบกันตอนไหนหรือ ตั้งแต่แรกเลยมั้ง”คุณเป้ยิ้มอารมณ์ดีก่อนบอกด้วยน้ำเสียงเข้มว่า จริง ๆแล้วเราไม่ค่อยอะไร ไม่คิดจะแต่งงานด้วยซ้ำ เหมือนกับเราอยู่ได้ การงานก็โอเค ไม่ชอบชีวิตแต่งงาน มันเป็นแนวคิดของผู้หญิงสมัยใหม่ รู้ว่า มันเป็นภาระ บางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเราอยู่ได้ เราก็อยู่ด้วยตัวของเราเอง เราค่อนข้างชอบชีวิตอิสระมากกว่า

ผลสุดท้ายเธอก็ต้องแหกกฎตัวเอง สาวผู้มาดมั่นเล่าการตัดสินใจครั้งนั้นว่า หลังคบหาดูใจได้เกือบปี เรียนรู้นิสัยกันรู้ว่า เขาโอเค ตอนแรกก็ยอมรับว่า กล้า ๆ กลัว ๆ ก่อนยอมแหกกฎ เพราะดูเหมือนเขาจริงใจดี ชอบช่วยเหลือ เวลามีอะไรก็คอยดูแล ส่วนดีของเขา คือเรื่องงานก็ขยัน เขาทุ่มเทกับงานมาก ส่วนเราก็ทุ่มไปกับงานเหมือนกัน เราคุยกันด้วยความเข้าใจมากกว่า เหมือนผู้ใหญ่คบกัน ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว เขามีส่วนตัวของเขา เราก็มีส่วนตัวของเรา ก็อยู่กันได้ มันก็ลงตัวดี

“ชีวิตหลังแต่งงาน แทบไม่เปลี่ยนเลย เพราะเราใช้ชีวิตแบบเดิม เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้มาเฟคกัน เหมือนกับเขายอมรับในสิ่งที่เราเป็น เราก็ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เราแค่ลาออกจากโรงแรมมาทำร้านอาหารบ้านสวนอยู่สุขุมวิท 20 ด้วยความที่อยากลอง เพราะอยู่ด้านโรงแรม จัดเลี้ยง มีประสบการณ์มาตลอด ทำเพื่ออยากสร้างตัวเราขึ้นมา อย่างเขาก็เป็นตำรวจที่สร้างตัวเองขึ้นมาเหมือนกัน”

 

เผชิญมรสุมชีวิตสามี ถูกส่งไปทำหน้าที่สมรภูมิใต้

ถามว่า เหนื่อยไหม เธอว่า สามีจะเหนื่อยมากกว่า เพราะเราจะพยายามไม่เข้าไปตรงชีวิตงานเขา แต่เราจะอาศัยการยอมรับมากกว่า ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ยอมรับสังคมของเขา แต่ถามว่าเข้าใจไหม ไม่เข้าใจหรอก เพราะเรายังไม่เข้าใจตัวเราเองเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็รับได้ ถ้ารับไม่ได้มันก็จะมีปัญหา จะใช้การยอมรับมากกว่า ประคองชีวิตครอบครัวกันไป

ห้วงเวลาสาหัสสุดของบ้านชิงดวงเห็นจะเป็นตอนฝ่ายชายโดนคำสั่งย้ายด่วนเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรยี่งอ จังหวัดนราธิวาส  คุณเป้รับว่า ครอบครัวรู้สึกหนักมาก ลูกยังเล็กอยู่ ลูกคนเล็กเพิ่ง 2 ขวบ แต่เราต้องอยู่ได้ ก็บอกเขาว่า อยู่ได้ ไม่เป็นไร ถ้าเราเครียด เขาก็จะเครียดตาม เขาก็โอเค ไปตามสบาย เราจะพยายามไม่ให้เขาห่วง มันจะถ่วง ครอบครัวคนอื่นก็ไปเหมือนกัน ไม่ใช่ครอบครัวเราคนเดียว ข้าราชการหน่วยอื่นก็ไปเหมือนกัน หัวใจเดียวกันทั้งนั้น

ภรรยาสาวคนแกร่งมองว่า เรื่องการโยกย้ายหน้าที่การงานของข้าราชการนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ในชีวิตคู่ที่ผ่านมา เราสองคนเคยเจอสถานการณ์แบบนี้บ่อยครั้งจนไม่รู้สึกกลัวอะไร สิ่งที่อยากบอกกับสามีคือ ขอให้ไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ย้ำเสมอว่า ไม่ว่าจะไปทำงานในที่แห่งไหน ที่นั่นก็คือประเทศไทยเหมือนกัน กับลูกทั้งสองคนจะทราบดีว่า พ่อต้องทำหน้าที่จับโจรผู้ร้าย ทำงานเสียสละเพื่อประเทศ

ต้องบอกลูกว่าพ่อไปจับผู้ร้าย ลดกระวนกระวายภายใต้ความเสี่ยง

“เราบอกลูกอยู่เสมอว่า คุณพ่อไปจับผู้ร้ายนะ เขาทั้งสองก็จะรับทราบเป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าลูก ๆ คงยังไม่รู้หรอกว่า 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมีความรุนแรงยังไง เราก็ไม่ไปย้ำให้ลูกรู้สึกว่าที่ที่พ่อต้องไปทำงานนั้นมีความเสี่ยง กลัวว่าลูกจะเกิดความสับสน” คู่ทุกข์นายตำรวจคนกล้าเผยความรู้สึกในยามที่สามีต้องลงพื้นที่ปกป้องประเทศตอนนั้น

“ห่วงนะ ทุกวันก็ตามข่าวว่า มีระเบิดที่ไหน มีลอบยิงในพื้นที่หรือเปล่า ก่อนหน้าเขาเคยลงไปอยู่แล้ว เราก็ชิน ยอมรับได้บ้าง ยิ่งถ้าเรามีอะไรทำ มันก็จะรู้สึกว่า มันไม่นาน จริง ๆ ถามว่า งานในกรุงเทพฯ ถ้าเป็นคนที่ทำงานแบบนี้ก็เสี่ยงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจับยาบ้า หรือจับโจร เขาเสี่ยงทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่ตรงนั้น สถานการณ์มันดูเหมือนอันตรายทั้งจังหวัด อาศัยคุยกันประจำ แม้งานของเขาไม่เป็นเวลา ว่างตอนไหนโทรได้เขาก็โทร พยายามถามสารทุกข์สุขดิบ ถามเรื่องลูกมากกว่า”

ถึงกระนั้นก็ตาม เธอยังหาเวลาว่างหอบลูกลงใต้ไปเยี่ยมส่งกำลังใจแก่สามีบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้เข้าพื้นที่ เนื่องจากฝ่ายชายขอร้องให้เจอกันแค่หาดใหญ่ สงขลา ครอบครัวชิงดวงถึงอบอุ่นไร้ปัญหาอมทุกข์ยามเสาหลักเสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติ กระทั่งผ่านวิกฤติความห่างเหินกลับมาทำงานอยู่ในเมืองหลวง

บางครั้งต้องปล่อยวาง เลือกทางให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง

แม้จะรู้สึกสบายใจขึ้น ความห่วงน้อยลง แต่เหมือนว่า สามีเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเป็นคนหัวเราะง่าย คุยง่าย กลายเป็นคนเครียด ระวังตัวมากขึ้น เธอว่า ต้องใช้วิธีตั้งรับ ตอนแต่งงานเขาก็เป็นตำรวจอยู่แล้ว การยอมรับของเรา ต้องมีอยู่แล้ว นี่คือหน้าที่ของเขา ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่จะให้มานั่งลุ้นอะไร เราไม่ยุ่งเลย เราทำงาน มีหน้าที่ของเรา ทำภาระตรงนี้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการเลี้ยงลูก เขาก็ทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด

“พอเข้ามาเป็นครอบครัวตำรวจ เราก็เข้าใจ จากที่เราไม่ชอบ เริ่มเข้าใจชีวิตตำรวจมากขึ้น บางคนน่าสงสาร บางครอบครัวแตกแยกไปเลย เราก็ต้องหนักแน่น อดทน ตำรวจมีอะไรเข้ามาหลายอย่าง ทั้งดีและไม่ดี เราก็เลือกแต่สิ่งที่ดี ๆ เอาไว้ ไม่ได้ไปยึดติด ปล่อยวาง เราเป็นแม่บ้าน หน้าที่ของเราก็คือ อยู่หลังบ้าน ทำข้างหลังให้ดีที่สุด ตรงข้างหน้าอย่าไปลุ้นกับเขามากนัก ไม่อย่างนั้นจะคอยกังวล เราไม่เคยสนใจด้วยซ้ำเวลามีการแต่งตั้งโยกย้าย จะว่าอย่างไรก็ว่าไป”

“ เขามีฝันของเขา ถ้าเขาทำอะไรให้ได้ถึงฝันก็ดีไม่ใช่หรือ แต่ฝันของเรา พอเป็นแม่บ้าน เรามีฝันที่ต้องเทไปทางลูกแล้ว เราต้องสร้างอนาคตของลูกดีกว่าให้เขาเติบโตไปในทางที่ดี ส่วนสามีก็ปล่อยเขาเต็มที่ไปไม่ต้องห่วง เราเป็นแค่กำลังใจ แรงเขายังเยอะอยู่ก็เต็มที่”แม่บ้านตระกูลชิงดวงให้แง่คิด

สุขทุกข์เหมือนทุกครอบครัว แค่อย่ามัวตามกระแสสังคม

   ส่วนปัญหาทะเลาะเบาะแว้งไม่เข้าใจกัน เธอว่า มักเป็นการเถียงเรื่องลูกมากกว่า เขาจะค่อนข้างเข้มงวด เน้นระเบียบวินัย พอมาถึงเรา เราก็จะปล่อยหย่อนลง จะทะเลาะกันตรงนี้ เราแก้ปัญหาด้วยการบอกเขาว่า หน้าที่แม่บ้านเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนเขานอกบ้านนะ ในบ้านต้องของเรา คนละครึ่งดีไหม ถ้าพ่อสอนเราไม่ยุ่ง เราจะเดินหนี แต่พอถึงเวลาของเรา เราก็จะแอบหย่อนให้ ดูให้สมดุลกัน ไม่ให้เครียดในบ้าน

“ตลอดหลายสิบปีที่อยู่กันมา สุขทุกข์คงเหมือนกันทุกครอบครัว เพียงแต่เราจะเลือกอะไร เลือกเอาทุกข์ไว้ หรือเอาสุขไว้ ประคองมันได้ ถ้าเราอดทน เราหนักแน่น มันก็ไปได้เรื่อย ๆ ต้องทั้งอด ทั้งทน ทั้งหนักแน่น จริงๆ แล้ว ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียง เราไม่มองสังคมรอบด้านมากนัก เราอยู่ได้อย่างสบาย และมีเกียรติ แต่ถ้าไปตามสังคม ไปตามกระแส หรืออะไรมากมายมันก็อยู่ไม่ได้ ตำรวจมีอะไรเข้ามาให้ลองใจเยอะมาก อยู่ที่ชีวิตจะเลือกทางไหน”

คุณสุขุมาลบอกด้วยว่า ตอนตัดสินใจแต่งงาน ที่บ้านก็ถามว่าแน่ใจหรือ พอบอกว่าเป็นตำรวจ แม่ยังเกาหัวเลย เหมือนกับเราหักมุม เราไม่ชอบ ชีวิตราชการเห็นจากพ่อ ต้องอยู่ต่างจังหวัด ย้ายบ่อย แม่ก็ต้องเลี้ยงลูก เหมือนที่เราเป็นตอนนี้ ทำให้เราเข้าใจ ครั้งหนึ่งเราไม่อยากเป็นแบบนั้น พอมาเป็นแล้วก็ต้องทำให้เรารับได้ คล้ายมีประสบการณ์มาก่อนว่าอยู่อย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไร

 

“คิดว่า ได้ทำในสิ่งที่หวังได้ แล้วก็ทำสำเร็จ”

อีกทีมนักรบป่าที่ทำงานปิดทองหลังพระของเหล่าตำรวจตระเวนชายแดน

เสมือนนางฟ้าสวมชุดฟาติกสีเขียว ปลอกแขนกาชาด รองเท้าคอมแบต ใส่หมวกเบเร่ต์ดำ ทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์แก่กำลังพลในหน่วย และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงานของนักรบป่า

ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของตำรวจตระเวนชายแดนที่กระจายอยู่พื้นที่ชายแดนทั่วประเทศไทยตามภารกิจส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสนับสนุนภารกิจของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

 พ.ต.ท.หญิง ลดาวัลย์ ชาติไทย รองผู้กากับการฝ่ายสนับสนุน 5 กองบังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตารวจตระเวนชายแดน หนึ่งในทีมหญิงเหล็กหัวใจนางพยาบาลเล่าว่า หลังจากจบมัธยมที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลตารวจ รุ่น 19 เป็นรุ่นแรกที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนฝากเรียน 5 ตาแหน่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกออกมาเป็นพยาบาลของตำรวจตระเวนชายแดนตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน

ระหว่างนั้นได้มีโอกาสลาศึกษาต่อปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประชากรศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอก สาขาประชากรและการพัฒนาจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  เธอเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง ขี้เล่น พูดจาตรงไปตรงมา แต่เมื่อใดที่อยู่ในขณะทำงานจะดูเคร่งขรึม เอาจริงเอาจังกับการทำงานมาก

  ทำงานฝ่ายอำนวยการด้านการบริหารจัดการศึกษาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมามากกว่า 20 ปี ถึงได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหารของหน่วยงานสายการแพทย์ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ด้วยความรู้ และประสบการณ์ที่ผ่านมา สามารถปรับการบริหารงานสายการแพทย์ด้วยการเขียนโครงสร้างหน่วยให้ชัดเจน แตกงานออกไปให้ครอบคลุม ใช้สถิติข้อมูลสารสนเทศ การเขียนโครงการต่างๆ เพื่อรองรับแผนปฏิบัติราชการของหน่วย

พ.ต.ท.หญิง ลดาวัลย์ ได้ดึงผลงานสายการแพทย์ที่เคยถูกมองว่า เป็นแค่เพียงการให้บริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กลายเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่มีความจาเป็น ประกอบกาลังเพื่อเข้าแผนปฏิบัติงานทุกๆ แผนของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ผลงานที่สำคัญคือ การเขียน “โครงการสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตารวจตระเวนชายแดน” ได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ (Thailand Public Service Awards) ประจาปี 2555 ของสานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ประเภท บูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ระดับ ดีเด่น และ ได้รับการพิจารณาให้ได้รับ รางวัลพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งรางวัล ในปี 2558

“การออกมาเป็นตำรวจตระเวนชายแดน คิดว่า ได้ทำในสิ่งที่หวังได้ แล้วก็ทำสำเร็จ จนถึงปัจจุบันไม่คิดจะไปไหน อีกงานที่ประทับใจคือได้ทำงานกับครู ตชด.ซึ่งได้สัมผัสกับครู และเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสตามแนวชายแดน รู้สึกว่ามีความผูกพันมาก รักเขา เหมือนกับว่าเราทิ้งเขาไปไม่ได้ ชีวิตก็จะอยู่กับครูและนักเรียน ตชด.จนกระทั่งปี 2539 ได้ปรับตำแหน่งให้มาดูแลเกี่ยวกับสายการแพทย์ ซึ่งก็ยังไม่ได้ตัดขาดไปจากครูและนักเรียน ตชด.แต่เรามาดูแลด้านสายการแพทย์ ดูแลสุขภาพให้กับนักเรียน ก็ยังมีความผูกพันดูแลกันตลอด

รองผู้กำกับการฝ่ายสนับสนุน 5 กองบังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตารวจตระเวนชายแดนบอกว่า หน่วยงานสายการแพทย์เข้าไปอยู่ในทุกแผนของหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เพียงการปฐมพยาบาล แต่เป็นงานต้องสอดแทรกความรู้ทางการแพทย์เข้าไปกับชุดมวลชนสัมพันธ์ถึงชาวบ้าน หน้าที่ของเราจึงดูแลทั้งข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดน และเผื่อแผ่ไปถึงประชาชน

“เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นปัจจุบันทันด่วน จะสังเกตว่า ชุดสายการแพทย์ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจะเข้าไปถึงที่ก่อนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ สัมผัสได้ลเยว่า ประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว พอไปถึงได้เห็นหน้าชาวบ้านที่รู้สึกมีความสุข พวกเขารู้สึกว่า มีคนมาหาเขา เป็นข้าราชการด้วย เขายิ่งมีความรู้สึกว่า เขารักตำรวจ อย่างน้อยรู้สึกว่า ไม่ได้ถูกทิ้ง บางคนจะมีน้ำตาคลอ เราก็มีความสุขไปด้วย” พ.ต.ท.หญิง ลดาวัลย์ระบายความรู้สึก

 

“นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา”

.ต.อ.หญิง สุธาสินี มีอาษา รองสารวัตรฝ่ายสนับสนุน 5 กองบังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตารวจตระเวนชายแดน ชาวจังหวัดสกลนคร จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเชิงชุมราษฎร์นุกูล ต่อระดับมัธยมโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ รุ่น 33 เริ่มเส้นทางการรับราชการครั้งแรกตำแหน่งพยาบาล สบ1 แผนกอายุรกรรมหญิง โรงพยาบาลตารวจ ระหว่างนั้นได้ศึกษาต่อปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต่อมาปี 2558 ได้เลือกออกมาเป็นพยาบาลของตำรวจตระเวนชายแดนจนถึงปัจจุบัน นิสัยส่วนตัวเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง ขี้เล่น เข้ากับคนง่าย ปัจจุบันดูแลงานฝ่ายอานวยการด้านการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในส่วนโครงการสุขศาลาพระราชทาน มีหน้าที่สรุปผลการปฏิบัติโครงการสุขศาลาพระราชทาน จัดทาแผนจัดหายา/เวชภัณฑ์สุขศาลาพระราชทาน สำรวจและติดตามกองทุนสุขศาลาพระราชทาน จัดทำเนียบครูพยาบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และเป็นผู้ประสานงานเรื่องสุขศาลาพระราชทานกับกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงงานในโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดาริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เธอมีแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเข้ามาศึกษาต่อ เพื่อจะมาเป็นพยาบาล ก็เนื่องจากว่าแม่เป็นพยาบาล สัมผัสอาชีพนางฟ้าชุดขาวมาตั้งแต่เด็ก เห็นแม่คอยช่วยเหลือคนไข้ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลกับผู้บังเกิดเกล้า เป็นแรงบรรดาลใจให้อยากมีโอกาสได้ดูแลคนอื่นแบบนั้นบ้าง “ภูมิใจที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องของแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร”

“มีส่วนช่วยประสานเอาข้อมูล หรือสิ่งที่เด็กนักเรียนประสบปัญหา ได้เป็นตัวกลางนำข้อมูลตรงนี้ไปแจ้งกับผู้บังคับบัญชาเพื่อจะนำมาแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา เป็นผู้ประสานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามโครงการพระราชดำริ ที่สำคัญได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา” ร.ต.อ.หญิง สุธาสินีว่า

 

 “พวกเราพร้อมจะทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ”

.ต.อ.หญิง นันท์นภัส  เอื้อธนวัฒน์  ผู้บังคับหมวด กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชาวจังหวัดอุดรธานี จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์เมรี่ ก่อนศึกษาต่อระดับมัธยมโรงเรียนสตรีราชินูทิศ หลังจากนั้นสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ รุ่นที่ 33 จบมาได้บรรจุรับราชการในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ  โรงพยาบาลตำรวจ

ทำหน้าที่เป็นพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมชาย เป็นระยะเวลา 2 ปี มีการสอบถามความสมัครใจในการย้ายมาสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกที่จะมาเป็นพยาบาลสังกัดนักรบป่าตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้สำเร็จปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อุปนิสัยส่วนตัวเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน และพร้อมที่จะเรียนรู้ในการทำงานใหม่ๆ เฉกเช่นเส้นทางการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนของเธอ ตั้งแต่บรรจุตำแหน่ง ผู้บังคับหมวด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จังหวัดกาญจนบุรี รับผิดชอบหมวดแพทย์ ทำหน้าที่ ดูแลรักษาสุขภาพ การให้คำปรึกษา การส่งกลับทางการแพทย์ให้กับข้าราชการตำรวจ และประชาชน ก่อนขอย้ายกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อดูแลครอบครัว เป็นผู้บังคับหมวดแพทย์ กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทำหน้าที่ในการดูแลและให้คำแนะนำด้านแก่ตำรวจและชาวบ้านละแวกพื้นที่ อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการเป็นครูฝึกวิชาการพยาบาลให้กับหลักสูตรต่างๆด้วย

การเดินบนเส้นทางของตำรวจตระเวนชายแดนที่เจ้าตัวรับว่า เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจและเกิดการประทับใจทุกครั้ง ทั้งในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนได้ลงพื้นที่จริงในการปฏิบัติงาน ทุกครั้งที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่จะมีรอยยิ้มจากประชาชน ชาวบ้านมาเป็นกำลังใจเสมอ ตามความตั้งใจเดิมที่อยากมาเป็นพยาบาลเพื่อใช้ความรู้ทางด้านพยาบาลในการดูแลครอบครัว

“ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการดูแลประชาชน โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนกลับมา พวกเราพร้อมจะทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ คิดว่า มาถูกทางแล้ว รู้สึกภูมิใจ ตั้งแต่ได้กลับบ้านมาดูแลครอบครัว  ได้ดูแลประชาชน และได้สอนนักเรียนนายสิบตำรวจ ปลูกฝังความคิดเริ่มต้นที่ดีในการเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ เมื่อจบกลายเป็นตำรวจเต็มตัว พวกเขาจะเป็นตำรวจที่ดีได้ในอนาคต” ร.ต.อ.หญิง นันท์นภัสยิ้มในความภาคภูมิใจ

 

 “ขอตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะมุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่นี้ต่อไปอย่างเต็มความสามารถ”

.ต.อ.หญิง ดวงเดือน ขุนทอง  ผู้บังคับหมวด กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชาวจังหวัดพัทลุง จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนหารเทา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนพัทลุง แล้วสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รับวุฒิพยาบาลศาสตรบัณฑิตเข้าทำงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ตึกอุบัติเหตุและแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

กระทั่งปี 2556 สอบโอนย้ายบรรจุมาเป็นข้าราชการตำรวจ และเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 36 เลือกเป็นพยาบาลของตำรวจตระเวนชายแดน ตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดแพทย์ กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อยู่ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช  และได้ศึกษาต่อปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เคยสูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ทว่าเธอยังคงเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม สนุกสนาน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคนที่ทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มความสามารถ นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลด้านสุขภาพ และการรักษาการเจ็บป่วยของข้าราชการตำรวจในหน่วยแล้ว ยังออกหน่วยให้บริการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และทำหน้าที่อื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย เช่น ครูผู้สอนวิชาการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ของหน่วย  “ทำให้รู้สึกประทับใจและภูมิใจมากที่ได้มาทำหน้าที่พยาบาลของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน” เจ้าตัวว่า

นอกจากนี้ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่มีความภาคภูมิใจมาก คือ การได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเข้ารับการฝึกอบรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ 1/61 “เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์” ณ กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หลังจากจบออกมาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรจิตอาสา 904 ในการถ่ายทอดให้ความรู้ โครงการเผยแพร่ขยายผลความรู้ตามโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ให้กับกำลังพลในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับประประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สำนึกรัก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ไทย ที่ทำให้แผ่นดินไทยของเราดำรงอยู่ได้ตราบจนถึงทุกวันนี้

เธอร่วมทำหน้าที่เป็นแกนนำให้ประชาชนจิตอาสาในการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น สังคมและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ สืบสาน รักษา และต่อยอด ไว้ซึ่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ปวงชนชาวไทย และนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป “เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสได้สนองงานพระองค์ท่าน ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุด และขอตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะมุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่นี้ต่อไปอย่างเต็มความสามารถ”

ส่วนงานด้านพยาบาลเป็นแรงบันดาลใจที่ได้สัมผัสมาตั้งแต่เห็นการทำงานของพี่ ๆ ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ภายหลังการสูญเสียของพี่ชายยิ่งได้มีโอกาสเข้ามารับราชการเป็นตำรวจแทนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เข้าทำหน้าที่พยาบาลของหน่วยนักรบตำรวจตระเวนชายแดนตามความฝันที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านในวัยเด็ก

 

“หน่วยงานบริการทางการแพทย์ของเราขอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่”

.ต.อ.หญิงสินีนาถ คงพุทธ ผู้บังคับหมวดแพทย์ กองกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดปัตตานี สำเร็จการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนฮั่วหนำมูลนิธิ ไปต่อมัธยมศึกษาโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนราธิวาส รุ่น 17  สำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2544 ใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพพยาบาลเข้าทำงานโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

เพียงปีเดียวครอบครัวต้องสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ ด.ต.สถาพร คงพุทธ ผู้บังคับหมู่ป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานี ผู้เป็นบิดา ถูกผู้ก่อความไม่สงบลอบยิงเสียชีวิตพร้อม ด.ช.พัชรพล คงพุทธ น้องชายของเธอในวัยเพียง 14 ปี ระหว่างเดินทางไปโรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล  เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555

กลายเป็นเหตุผลให้เลือกเข้ารับราชการตำรวจแทนพ่อ บรรจุตามหลักสูตรข้าราชการตารวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่นที่ 35 ลงตำแหน่งผู้บังคับหมวดกองกำกับการตำรวจตระวเนชายแดนที่ 42 จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่ามกลางความภาคภูมิใจในการเป็นตำรวจติดอาร์ม “นักรบป่า” ที่เธอบอกเสมอว่า จะมีสักกี่หน่วยงานที่มีพระมหากษัตริย์ยอดนักรบอย่าง “พระองค์ดำ”ทรงสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ออกทำการรบอย่างกล้าหาญ เป็นอาร์มติดตัวไปด้วยทุกที่ ทุกสภาพการทำงาน

วันที่ 14 ตุลาคม 2560 เธอได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ชุดเฉพาะกิจกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา นำคณะพยาบาลลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อดูแลช่วยเหลือรักษาสุขภาพชาวบ้าน กระทั่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ ทว่าหัวใจยังไม่ยอมแพ้กับงานพยาบาลที่รักกลับมาทำหน้าที่เก่า

แรกเริ่มที่เลือกบรรจุเป็นพยาบาลตำรวจตระเวนชายแดน ผู้กองหญิงกระดูกเหล็กมองว่า มีที่ตั้งสถานที่ทำงานอยู่ในภูมิภาค เพราะส่วนตัวแล้วไม่ประสงค์สังคมเมือง อยากทำงานใกล้บ้านใช้ความรู้ความสามารถให้กับคนในชุมชนห่างไกล ถึงแม้จะไม่ก้าวหน้าก็ยังดีกว่า และเพื่อความสะดวกในการดูแลแม่ไปด้วย

การปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหมวดแพทย์ขอบเขตของการเป็นพยาบาลวิชาชีพ เธอเล่าว่า เป็นให้บริการทางการแพทย์ ดูแลส่งเสริมสุขภาพให้แก่กำลังพลในหน่วย รวมถึงประชาชนในพื้นที่ และเมื่อลงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ หน่วยเฉพาะกิจสงขลา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่อยู่ในความดูแลของ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 โดย กองรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงระดับ 3 เป็นอีกบทบาทของงานพยาบาลสนามที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้น

เจ้าตัวไม่ปฏิเสธเนื่องจากด้วยภาวะของการขาดแคลนกำลังพลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่สายงานการแพทย์จึงเต็มใจและสมัครใจลงมาช่วยใช้ความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลส่งเสริมสุขภาพให้แก่กำลังพลในหน่วย และประชาชนภายใต้ความรุ่นแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตแก่กำลังพลและประชาชนให้ดีขึ้น ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนด้วยโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชนและโครงการหมอเดินเท้า

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานบริการทางการแพทย์ของเราขอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ สามารถลดความขัดแย้งและความรุนแรงภายในพื้นที่ให้กลับมาสงบสุขได้ในสักวันข้างหน้า” ร.ต.อ.หญิง สิรินาถมีความคาดหวัง แม้เคยโดนระเบิด แต่เธอเลือกจะไม่ถอย “มัน คือ ความภูมิใจ เราต้องดีใจกับตัวเองที่ยังมีชีวิตมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ สิ่งที่เราทำ ความดีที่เราทำ ช่วยส่งเสริมหนุนนำให้เราต้องทำหน้าที่พยาบาลนี้ต่อไป”

 

    “เราถือว่า ได้ทดแทนคุณของแผ่นดิน ได้รับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อ”

.ต.อ.หญิง ศิริมาศ ตันบุญต่อ ผู้บังคับหมวดฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ชาวจังหวัดน่าน อุปนิสัยเป็นคนร่าเริง อัธยาศัยดี มุ่งมั่นและตั้งใจต่องานที่รับได้มอบหมาย มีความรับผิดชอบ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมโรงเรียนไตรมิตรวิทยา อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน มัธยมโรงเรียนปัว ไปต่อปริญญาตรีวิทยาลัยพยาบาลตำรวจรุ่น 33 ลงปฏิบัติหน้าที่ในตาแหน่งพยาบาล (สบ1) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตารวจ หอผู้ป่วยพิเศษออโธปิดิกส์

ได้เรียนรู้การปฏิบัติงานในอาชีพนางฟ้าชุดขาวเป็นเวลา 2 ปี ขณะนั้นบิดาได้ป่วยด้วยโรคกระดูกทับเส้นประสาทได้ผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจ ทำให้มีโอกาสใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาดูแลบิดาตลอดการรักษา เมื่อหายจากอาการป่วยและแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาล กอปรกับขณะนั้นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีความต้องการกำลังพลด้านพยาบาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในโครงการสุขศาลาพระราชทาน จึงได้สมัครใจโดยไม่ลังเล ด้วยเพราะเราก็เป็นลูกตำรวจตระเวนชายแดนอยู่แล้ว

ไม่นานได้รับโอกาสย้ายสังกัดมาอยู่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาเกือบ 7 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำงานในด้านสายการแพทย์ของหน่วยในด้านต่างๆ ทั้งการให้บริการแก่ข้าราชการตารวจ ประชาชน รวมถึงได้มีโอกาสได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นพื้นที่ทุรกันดารในความรับผิดชอบของกองบังคับการตารวจตระเวนชายแดนภาค 3 ทั้ง 76 แห่ง

“จากการปฏิบัติหน้าที่ผ่านมา รู้สึกมีความสุขใจทุกครั้งที่นึกถึง และจะยังคง มุ่งมั่น ตั้งใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป” ผู้กองสาวชาวเหนือระบายคววามเห็น เจ้าตัวเลือกมาเป็นพยาบาลเพราะพ่อแม่อยากให้มาสวมชุดขาว กระทั่งเปลี่ยนของชีวิตที่เดินปฏิบัติหน้าที่อยู่บนวอร์ดผู้ป่วยไปเป็นพยาบาลชุดฟาติกเขียว ย้ายจากโรงพยาบาลตำรวจ เข้าสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เรียนรู้ประสบการณ์ที่เป็นมิติใหม่

“คุณพ่อก็เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้เราซึมซับและมีความรู้สึกคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก เคยตั้งคำถามแก่ตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงใส่ชุดสีเขียว ทำไมถึงใส่รองเท้าคู่ใหญ่ จนตัวเองได้มาอยู่ ถึงได้รู้ว่าชุดสีเขียวที่คุณพ่อใส่ รองเท้าคู่ใหญ่ๆ ที่คุณพ่อใส่ นั่นคือ ชุดของตำรวจตระเวนชายแดน แม้ปัจจุบันคุณพ่อเกษียณอายุราชการแล้ว เราถือว่า ได้ทดแทนคุณของแผ่นดิน ได้รับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อ”

เธอบอกด้วยว่า หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยที่ทำคุณประโยชน์มาก เหมือนเป็นหน่วยที่เป็นผู้ปิดทองหลังพระของจริง ทำในเรื่องของเบื้องหลัง ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นตำรวจที่เดินลาดตระเวนตามแนวชายแดนอยู่ตามฐานปฏิบัติการสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนรอบนอก เป็นหน้าด่านแรกในการป้องกันประเทศที่ตำรวจตระแวนชายแดนทุกคนต้องภูมิใจ

 

 

RELATED ARTICLES