“คนหนังสือพิมพ์ต้องมีศักดิ์ศรี มันไม่ใช่ให้ใครมาชี้นิ้วสั่ง”

“นักข่าวยิ่งอาวุโส ก็ยิ่งมากด้วยประสบการณ์”  เป็นนิยามที่สะท้อนถึงตัวตนของ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์  หรือ “เป๊ปซี่”  บรรณาธิการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ นิว ทีวี

จากบทบาทของการเป็นผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงที่สะสมประสบการณ์งานข่าวมามากกว่า 40 ปี  จนเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในแวดวงสื่อสารมวลชน รวมถึงแหล่งข่าวทั้งนักการเมืองและนายทหาร

เขาเริ่มต้นเล่าถึงพื้นเพว่า เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ หลังเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์  แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง  จึงย้ายไปเรียนรามคำแหง วิชาเอกภาษาอังกฤษ โทประวัติศาสตร์ โดยไม่เคยมีความฝันที่อยากจะเป็นนักข่าวเลยแม้แต่น้อย

          “การเป็นนักข่าวไม่อยู่ในหัวผมเลย ไม่มีอะไรใกล้เคียงเลยก็ว่าได้  ไม่เคยคิดว่าอยากจะเรียนวารสาร และไม่มีพื้นฐานมาด้านนี้เลย เพียงแต่เป็นคนสนใจอ่านข่าวสารบ้านเมือง ทำให้อินกับสถานการณ์และเป็นคนชอบทำกิจกรรม” เจ้าตัวว่า

           กระทั่งเขาเข้าไปทำงานพิสูจน์อักษรหนังสือพิมพ์เนชั่น เจอ สุทธิชัย หยุ่น  ด้วยความสนใจข่าวสาร ทำให้มักจะถามนู่นถามนี่ และช่วงนั้นมีการต่อสู้ทางการเมือง อินกับเหตุการณ์ 14  ตุลาคม 6 ตุลา  มีนักศึกษาเข้าป่า คนทำกิจกรรมช่วงนั้นจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เห็นคอมมิวนิสต์มาเข้ามาใกล้บ้าน มีเหตุการณ์ที่เวียดนามบุกเขมร สุทธิชัยมองเห็นว่า เขามีความสนใจตรงนี้ก็พูดชวนว่า ออกไปทำข่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพเขา

“จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นจุดพลิกชีวิตเลย เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาทำตรงนี้” เสริมสุขว่า

ทำงาน The Nation ประมาณปี 2522  มี สุทธิชัย หยุ่น เป็นแรงกระตุ้น เพราะเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เขาเห็นมาตลอด ข่าวที่ได้ทำคือ ด้านความมั่นคง เขาเล่าว่าเป็นการทำงานที่สนุกมาก และถือเป็นต้นทุนในการทำงานข่าวมาจนถึงทุกวันนี้ ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ชายแดนช่วงที่เขมรแตก ชาวบ้านอพยพเข้ามาในพื้นที่ชายแดนมาก เพราะมีเวียดนามบุก ได้ไปอยู่ที่อรัญประเทศ ปราจีนบุรี สถานการณ์เขมรเป็นสถานการณ์ที่เกาะติดกับเหตุการณ์มาตลอด ตั้งแต่เขมรแตก จนถูกเวียดนามบุกเข้ามา เวียดนามเข้ามายึด จนเกิดรัฐบาลฮุนเซนที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มงานมาจากตรงนั้น  ข่าวสถานการณ์ชายแดน ถือเป็นต้นทุนข่าวความมั่นคงทำให้รู้จักทหารเยอะ  และยังมีการก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นคอมมิวนิสต์มีทั่วประเทศ มีฐานทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ใต้

พอปี 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย 66/23 ออกมาเป็นนโยบายที่รัฐบาลออกมาต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ดึงนักศึกษาที่ไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ให้กลับเข้าเมือง ให้กลับบ้าน เพราะช่วงนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ขัดแย้งกันรุนแรง มีพรรคคอมมิวนิสต์สายจีน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม คนข่าวมากประสบการณ์บอกว่า เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะไม่มีหลังพิง การได้ลงไปอยู่ในพื้นที่ ทำให้เรามีความเข้าใจสถานการณ์ นายทหารที่เป็นใหญ่เป็นโตในทุกวันนี้ก็มาจากนายทหารที่มีบทบาทในช่วงนั้น

“การสร้างแหล่งข่าวเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักข่าว ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะเกิดขึ้นมาได้เอง  มันต้องไปสร้าง ต้องไปคลุก ทำความรู้จัก สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ  โดยเฉพาะทหาร แต่ขณะเดียวกัน จะต้องไม่อาศัยความเป็นนักข่าวไปหาผลประโยชน์  หารายได้พิเศษ มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ที่นักข่าวต้องมี อย่างคุณยุวดี ธัญญศิริ  เป็นนักข่าวรุ่นพี่ที่ผมชื่นชมมาก  ถ้าคนไม่มีศักดิ์ศรี  ก็แปลว่าพร้อมที่จะเขียนเชียร์ใครก็ได้ ถ้ามีเงินเข้ามา   “

ทำงานอยู่ที่เนชั่น ประมาณ 6 ปี มีเหตุการณ์ภายในองค์กร ทำให้เขาตัดสินใจ ย้ายจากเนชั่นมาทำงานที่หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษคู่แข่ง โดยยังคงทำข่าวสายความมั่นคงเช่นเดิม มีข่าวหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทายมากเขาเป็นคนเปิดประเด็นกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คือข่าวของ “คอมมิวนิสต์มลายา”

          เจ้าตัวย้อนความหลังว่า พื้นที่ชายแดนไทยกับมาเลเซีย ยังมีกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาอยู่ที่มีหลังพิงในชายแดนของไทย อ.สะเดา จ.สงขลา และที่ จ.นราธิวาส มีความพยายามจากฝ่ายไทยเป็นตัวกลางประสานให้กับรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อให้วางอาวุธ ในที่สุดก็มีการวางอาวุธมาอยู่ในไทยส่วนหนึ่ง บางส่วนกลับไปอยู่ในมาเลเซีย แต่ตอนนั้นมีทหารญี่ปุ่น 3 คน ที่ยังร่วมรบอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด บางกอกโพสต์ได้มีโอกาสรายงานข่าวชิ้นนี้ออกไปกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก สื่อญี่ปุ่นบินมาทำข่าวทหารญี่ปุ่นที่มีข่าวว่า ยังร่วมรบอยู่ เพราะไม่มีใครคิดว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีทหารญี่ปุ่นไปร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา  ตอนนั้นทหารญี่ปุ่น 3 คน  อายุ 70 กว่าแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่กับ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา

หลังจากนั้นเขาทำงานในเชิงตรวจสอบ งานข่าวเจาะลึกอยู่ทั้งสายความมั่นคง การเมือง รัฐสภา ที่ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มา 20 กว่าปี จนมาปี 2548 งานข่าวที่เป็นรอยจารึกของคนข่าวอย่างเขา และทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตการทำงาน คือ ข่าว “ รอยร้าวสนามบินสุวรรณภูมิ” ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร  บางคนมองว่า ชื่อของเขาถูกหมายตาจากขั้วอำนาจมานานแล้ว เนื่องจากการทำงานข่าวตรวจสอบเจาะลึก และยังมีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแบบดุเดือดเข้มข้น

“สิงหาคมปี 2548 เราได้จุดเริ่มข่าวรันเวย์มาจากแหล่งข่าว เราก็ตรวจสอบ รายงานอ้างแหล่งข่าวนำเสนอข้อมูลข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ มันก็เป็นปกติ ที่จะนำเสนอข่าวด้านหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็ออกมาชี้แจง คนอ่านก็ไปตัดสินเอาว่า ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แต่ข่าวชิ้นนั้น ทำให้คุณทักษิณ ไม่พอใจมากว่า เราไปทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล  วันรุ่งขึ้นคุณทักษิณตอบโต้กลับมารุนแรง หาว่าเรามีเจตนาขายชาติ นำเสนอให้เกิดความแตกแยก มีการกดดันมาที่หนังสือพิมพ์ ผมและคุณชฎิล เทพวัลย์ บรรณาธิการข่าว ถูกกดดันให้ออกปลายเดือนนั้นเอง”

บางกอกโพสต์เสนอเงิน 3 ล้านบาทให้เขาระบุว่า จะเอาเงินชดเชยเท่าไรแล้วก็จบกันไป เสริมสุขบอกว่า กลับไปนั่งคุยกับภรรยา คิดว่า เงินมันสำคัญในชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เราไม่ได้ต้องการเงิน  เราต้องการเรียกศักดิ์ศรีคืนมามากกว่า ตัดสินใจสู้  เพราะการทำข่าวหนังสือพิมพ์ การที่จะเอาข่าวลงหน้า1  ไม่ใช่การตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง  ในการต่อสู้คดีในศาล เราชี้ให้ศาลเห็นว่า การพิจารณาเอาข่าวลงหน้า 1 เป็นการทำงานของกองบรรณาธิการ มีหัวหน้ากองบรรณาธิการ มีหัวหน้าข่าวทุกส่วนประชุมร่วมกัน  เรานำเสนอข่าวนี้ว่า มีข่าวน่าสนใจอย่างไร คนส่วนใหญ่เห็นว่า น่าสนใจก็เอาขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง  เราไม่ได้สู้เลยว่าข่าวนี้ผิดหรือถูก

อดีตคนข่าวบางกอกโพสต์ยืนยันว่า ไม่ใช่ว่า ลงข่าวผิด ต้องออกเราต่อสู้ในชั้นศาล ให้เห็นว่า การพิจารณาเอาข่าวลงเป็นดุลยพินิจของใคร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการไล่ออกโดยที่ไม่เป็นธรรม ต่อสู้นานถึง 10 ปี ศาลพิพากษาว่า การตัดสินไล่เราออกในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในกองบรรณาธิการ จุดนี้เป็นบรรทัดฐานที่สร้างในวงการสื่อมวลชน หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก  ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในข่าวที่นำเสนอ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง เหตุการณ์นี้ถือเป็นภาพสะท้อนการแทรกแซงสื่อจากนักการเมือง หากมีปัญหาเกิดขึ้นองค์กร หรือนายทุนต้องปกป้องคนในองค์กรของตัวเอง

“ทุกวันนี้เมื่อมองกลับไป มันก็ยังอยู่ในความนึกคิดเรา การต่อสู้ของคนหนังสือพิมพ์ในอดีตที่ผ่านมา สมัยก่อนเราก็ได้เห็นสิ่งที่เขาทำสิ่งที่เขาวางไว้ คนหนังสือพิมพ์ต้องมีศักดิ์ศรี มันไม่ใช่ให้ใครมาชี้นิ้วสั่ง   หรือไปเป็นเครื่องมือของใคร รับเงินของใครมาเขียนว่า ใคร มันต้องไม่เป็นอะไรแบบนั้น สิ่งที่ผมทำ ผมก็หวังว่า คนรุ่นหลังจะเห็นอะไรแบบนั้นเช่นกัน”

เสริมสุขระบายอีกว่า เคยมีคนบอกชนะคดี เพราะไปวิ่งเต้น ยืนยันได้ว่า คดีนี้ไม่เคยวิ่งเต้นหาใคร  เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำ ถูกต้อง ศาลต้องเห็น เมื่อคดีผ่านมาเป็นสิบปี ศาลตัดสินให้ชนะ เป็นสิ่งที่เรียกคืนศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์ เงินเยียวยาคดีนี้ได้มา 3 ล้านกว่าบาท ไม่ได้มากไปกว่าครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์เสนอให้ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ศักดิ์ศรี ทำให้สังคมเห็นว่า เรายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง  ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นพื้นฐานที่อยู่กับเรามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เห็นได้ว่าตัวตนเรา เป็นคนแบบไหน อย่างไร

  หลังออกจากบางกอกโพสต์ ตกงาน 1 ปีเต็ม ก่อนจะกลับมาทำงานข่าวสายตรวจสอบที่ สำนักข่าวอิศรา ที่เพิ่งเปิดศูนย์ข่าวภาคใต้ นำเสนอข่าวชายแดนภาคใต้ ในแง่มุมที่ไม่ใช่มิติของเหตุความรุนแรง  ก่อนย้ายไปเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงของ Thai PBS โดยยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่การทำข่าวภาคใต้ ทำสารคดีภาคใต้จนได้รางวัล อิศรา อมันตกุล  และไปรายงานข่าวการตัดสินคดีเขาพระวิหารก่อนจะย้ายมาอยู่ สถานีโทรทัศน์ นิว ทีวี  ในตำแหน่งบรรณาธิการอาวุโส เป็นช่องสารคดีและข่าวสาร

ถึงกระนั้น เขายังคงลงพื้นที่ไปทำข่าว วิเคราะห์ข่าว ด้วยตัวเอง แม้จะอยู่ในวัย 63 ปี เพราะมองว่าการได้ลงพื้นที่ไปเจอแหล่งข่าว เจอเหตุการณ์จริง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อีกทั้งการเปิดโอกาสของผู้บริหารสถานี ที่มองถึงคุณค่าจากประสบการณ์ของนักข่าวอาวุโสมากกว่าจะมองที่อายุ

เขาทิ้งท้ายว่า มาทำทีวี สิ่งที่ยากแค่เราจะย่อยยังไงให้มันกระชับลง เราเห็นหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้แล้วก็ตกใจ ทำไมเหมือนกันหมด ไม่เข้าใจว่า ทำไมนักข่าวถึงทำร้ายตัวเองด้วยการทำแบบนี้  ทำไมไม่เรียนรู้ที่จะทำข่าวเดี่ยว อย่างน้อยจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองว่าไม่ได้ลอกใครมา การเช็กข่าวเพิ่ม โทรหาแหล่งข่าวเอง  คือความใส่ใจของนักข่าวที่จะต้องมีพื้นฐานความใฝ่รู้ อยากมีข้อมูล

ผมอยากบอกว่าแหล่งข่าวในการทำงานข่าวยุคปัจจุบันมีความสำคัญ มันเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบต่อสังคมในการนำเสนอออกไปของสื่อเอง มีการตรวจสอบก่อนนำเสนอ ไม่ไปกระพือข่าวลือ  เพราะทุกวันนี้ข่าวลือเยอะแยะ ไม่อย่างนั้นเราจะอยู่กันด้วยข่าวลือ คนทำงานข่าว ไม่ว่าคุณจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน ถ้าคุณมีความน่าเชื่อถือ รับผิดชอบต่อสิ่งที่คุณรายงานออกไป คนก็จะติดตามข่าวสารจากคุณ  ความน่าเชื่อถือจะทำให้คุณได้รับการยอมรับ  ผมมองว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในยุคข้อมูลข่าวสารในโลกยุคใหม่ สื่อเองจะต้องปรับตัวและตระหนักสิ่งนี้” เสริมสุขให้ความเห็น

RELATED ARTICLES