ย่างก้าวของนักสืบเมืองหลวง

ย้อนกลับมาปัดฝุ่นเอกสารการศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม สำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรม [ Command and Control Operations Center (CCOC)] เมื่อครั้ง พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการหัวหน้าศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล 14 ปีก่อน

เจ้าตัวเท้าความเป็นมาของการพัฒนาระบบงานสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลนับตั้งแต่ช่วงปี 2520-2530 ที่เขาเพิ่งก้าวพ้นรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่า การสืบสวนทุกหน่วยงานเน้นความสามารถเฉพาะตัวบุคคลเป็นหลักขาดการประสานงานระหว่างฝ่ายสืบสวนด้วยกัน

ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน

เน้นผลการจับกุมในความผิดต่อรัฐและคดีสำคัญเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงว่าผลคดีในชั้นศาลจะเป็นอย่างไร ขอให้ได้เป็นแต่เพียงแถลงข่าวสู่ประชาชนเท่านั้น

สร้างความเกรงกลัวให้แก่ผู้กระทำผิดด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด เช่น การวิสามัญฆาตกรรม

มีการฝึกอบรมพัฒนางานสืบสวนน้อย ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับและพิจารณาอย่างเป็นธรรมในความก้าวหน้าของอาชีพสืบสวน การร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องของตำรวจมักจะไม่ได้รับการตอบสนองที่ไม่สมบูรณ์นัก

ถึงกระนั้น ผู้บังคับบัญชามีภาวะเป็นผู้นำสูง สามารถให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ทว่าการแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลและฝ่ายการมืองต่อคดีสำคัญมีมาก

มีการใช้นิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อย มักจะเน้นเรื่องการใช้สายลับเป็นหลักจึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฝ่ายสืบสวนด้วยกันยังไม่มีประสิทธิภาพ ต่างฝ่ายต่างปกป้องสายลับของตัวเอง โดยเฉพาะจากผู้ร่วมกระทำความผิด

ช่วงระหว่างปี 2531-2538 กองบัญชาการตำรวจนครบาลเริ่มมีการฝึกอบรมทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวบระดับสถานีตำรวจมาปฏิบัติงานร่วมกับกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ-ใต้ และธนบุรี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการร่วมปฏิบัติงาน จัดการฝึกอบรมเป็นครั้งคราวแต่ไม่มากนัก

คัดเลือกผู้ปฏิบัติที่มีความรู้ความสามารถเข้าช่วยคลี่คลายคดีสำคัญ ประชุมร่วมกันมากขึ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการลดสถานภาพอาชญากรรมได้ผลดีขึ้น ระบบอุปถัมภ์ของผู้ด้อยความสามารถเริ่มมีมากขึ้น

การข้ามอาวุโสของตำแหน่งฝ่ายสืบสวนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงาน แต่สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จได้รับการพิจารณาในตำแหน่งอันเหมาะสม

การวิสามัญฆาตกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของสังคมเมืองเริ่มขยายออกชายเมืองทำให้ผู้กระทำความผิดคดีสำคัญเกิดความเกรงกลัว

ระบบการทำงานเป็นทีมมีมากขึ้น การฝึกอบรมโดยใช้วิทยากรจากผู้ปฏิบัติดีเด่นประกอบกับจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและนิติวิทยาศาสตร์ร่วมสัมมนาด้วยกัน ตำรวจฝ่ายอื่นรักที่จะเข้ามาทำงานด้านสืบสวน การพัฒนาฝ่ายสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเริ่มเป็นแบบอย่างให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอื่นทั่วประเทศ

ระหว่างปี 2539-2540 เริ่มมีนักสืบจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลเข้ารับการฝึกอบรม หลักสูตรต่อต้านการก่อการร้าย (Anti Terrorism Assistance Program หรือ ATAP) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลักสูตรการสืบสวนหลังเหตุระเบิด เป็นการฝึกอบรมแบบ Learning by Doing ทำให้ผู้รับการฝึกสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง

ต่อมา พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ขยายผลเป็น “หลักสูตรการสืบสวนคดีอาญาขั้นพิเศษ” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ของหน่วยเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 คัดเลือกพนักงานสอบสวนตามโรงพักที่ผ่านงานสอบสวนมาอย่างน้อย 2 ปี สมัครใจมาสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญจนเหลือ 30 นาย

พวกเขาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 100 วัน ไม่มีวันหยุด ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาความผิดพลาดของการปฏิบัติงานในอดีต ดูงานหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 20 หน่วย

ยึดรูปแบบ Learning by Doing ตามโครงการ ATAP ของสหรัฐอเมริกา ให้เกิดทักษะการจำจดไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง เข้าทำนองว่า “คุณสอนผมให้เรียนในห้องออกไปผมก็ลืม แต่ถ้าคุณให้ผมทำด้วยมือ ผมจะไม่ลืมจนชั่วชีวิต”

กลายเป็นจุดเริ่มต้นรากฐานของ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและสั่งการตอบโต้วิกฤตการณ์และสืบสวนคดีอาญา [ Command and Control Operations Center (CCOC) for Critical Incidents and Criminal Investigation]

กระทั่งระหว่างปี 2540-2549 ได้พัฒนาบุคลากรของฝ่ายสืบสวนเข้ารับการฝึกอบรมจากโครงการ ATAP ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมากขึ้นในหลายหลักสูตร รวมทั้งขยายผลหลักสูตรให้ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายอื่น ๆ พัฒนาระบบ CCOC ในการสืบสวนจับกุมคนร้ายดีขึ้น ท่ามกลางองค์กรอาชญากรรมที่มีความแยบยล ซับซ้อน ยากต่อการจับกุมและโหดเหี้ยม

เวลาเดียวกัน ระบบอุปถัมภ์เข้ามามีบทบาทกับการบริหารงานบุคคลของฝ่ายสืบสวน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอกเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการสืบสวนคดี ทำให้นักสืบจำนวนมากขาดความก้าวหน้า ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีตำรวจสนใจทำงานด้านสืบสวนน้อยลง

เกิดทัศนคติที่เปลี่ยนเมื่อนักสืบหันมาคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนตลอดจนหลักกฎหมาย เลือกใช้หลักวิทยาศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบงานเป็นทีมเข้ามาปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ มีสื่อมวลชนตรวจสอบการทำงานอย่างละเอียด

จากวันนั้นถึงปัจจุบันจึงไม่ง่ายที่ใครสักคนจะก้าวขึ้นมาเป็น “นักสืบพันธุ์แท้”

ไม่ใช่เพียงแค่ดูแลเอาใจ “ผู้เป็นนาย” ที่ไม่เคยมีหัวใจนักสืบ

 

 

RELATED ARTICLES