นักสืบที่สมบูรณ์แบบ

ว่ากันอีกตอนถึง “ตำรานักสืบชั้นครู” ผู้นำคนแรกของศูนย์สืบสวนตำรวจนครบาล

พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ระบุไว้ในเอกสารการศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม สำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรม [ Command and Control Operations Center (CCOC)] เมื่อปี 2549

เขาบอกถึงหัวข้อ อะไรทำให้คดีคลี่คลายว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าทำในสิ่งที่เป็นได้ในทันทีได้

“สิ่งที่ถือว่าเป็นไปไม่ได้ก็ใช้เวลาและความพยายามมากขึ้น อย่ายอมแพ้เป็นอันขาด การสืบสวนเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการแสวงหาความจริง”

เริ่มตั้งแต่ต้นไปตามข้อเท็จจริงและหลักฐานอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ตามข้อสันนิษฐาน หรือการคาดเดา ต้องทำตามหลักฐานที่เวลาได้พิสูจน์แล้ว คือ เริ่มจากอาชญากรรมไปหาอาชญากร ณ สถานที่เกิดเหตุ วัตถุพยาน กับพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์ อย่าตัดข้อมูลใดทิ้ง

ทำให้สาธารณชนและสื่อมวลชนเชื่อถือ หากทุกคนพูดกับสื่อก็จะมีข้อมูลผิด ๆ ออกไปทำให้การสืบสวนทั้งหมดเสียความน่าเชื่อถือ เมื่อสาธารณชนไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือแล้ว ตำรวจจะไม่ประสบความสำเร็จในการสืบสวนจับกุม หรือดำเนินคดีต่ออาชญากรรมใด ๆ ได้

เพราะฉะนั้น การทำงานเป็นทีมสืบสวนดำเนินคดี อย่าได้หันเหไปจากเส้นทางความจริง ดำเนินไปตามข้อเท็จจริงและหลักฐานอย่างแน่วแน่ อย่าไปแตะต้องใคร แม้คนข้างถนนโดยไม่มีหลักฐาน อย่าไว้หน้าใคร ถ้าจิตสำนึกบอกว่า ใช่บนพื้นฐานของหลักฐานที่มีอยู่

อย่าใช้วิธีซ้อมหรือทรมาน ข้อมูลที่ได้จากวิธีนี้มักทำให้หลงทาง แม้ว่า งานอาจสำเร็จด้วยวิธีลัด แต่ไม่คุ้มกัน

พล.ต.ต.ปรีชาระบุไว้ด้วยว่า แทนที่จะโทษอยู่ตลอดเวลาว่า กฎเกณฑ์และกฎหมายในระบบมีช่องโหว่ ให้ทำดีที่สุดภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่มี สิ่งเดียวที่อยู่กับเราตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย คือ “จิตสำนึก”

ดังนั้นให้ปาราวนาตัวเลยว่า จะไม่ทำอะไรที่ขัดต่อจิตสำนึก หากทำได้เช่นนี้จะเป็นนักสืบที่สมบูรณ์แบบ

ส่วนลักษณะของทีมนักสืบที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีคุณสมบัติ 12   ประการ

เริ่มตั้งแต่ มีจุดประสงค์ที่เด่นชัด เราเป็นอะไร เป็นใคร เป็นทีมเมื่อใด มีฐานอยู่ไหน รวมกันทำไม

ขัดแย้งกันอย่างอารยะ ขัดแย้งในเนื้อหาไม่ใช่ทางบุคลิกภาพจนนำมาเป็นเรื่องส่วนตัว

ตั้งใจฟังและติดตาม เปิดกว้างการสื่อสาร สนใจผู้อื่นกล่าว ดำเนินการกับสิ่งที่กล่าวไว้ ตอบสนองด้วยคำพูดและท่าทาง

ตัดสินใจโดยมติร่วม ขอความคิดเห็นให้ได้มติร่วม พบกันครึ่งทาง ถึงที่สุดต้องกล้าตัดสินใจ

แบ่งปันภาวะผู้นำ ทีมต้องมีส่วนร่วมในทิศทางผู้นำ เพราะถ้าเผด็จการจะมีแต่ผู้ตาม  พยายามในภารกิจร่วม

มีเครือข่ายภายนอก สมาชิกทีมต้องมีคนนอกติดต่อด้วย ยอมให้บุคคลเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน ทำให้สมาชิกทีมได้รักษาสัมพันธภาพกับบุคคลที่คุ้นเคย

มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความสนใจ พร้อมแบ่งปัน ให้ความร่วมมือ ทำให้ตัวเป็นที่ปรากฏ

มีการสื่อสารที่เปิดกว้าง อย่าให้ความขัดแย้งเป็นการบาดหมาง ให้รางวัลเมื่อสื่อสารดี จัดประชุมตั้งระบบส่งเสริมการสื่อสาร ฟังและเปลี่ยนตามเมื่อข้อความที่สื่อกันชัดเจน

บรรยากาศเป็นกันเอง ไม่มีพิธีการ รักษาวินัยโดยการกระทำ มีลำดับยศ แต่ไม่เข้มงวด เพื่อเปิดกว้างทางความคิด ไม่ใช่ตำแหน่ง

บทบาทและหน้าที่ชัดเจน งานเขา งานเรา หรือของพวกเรา คืออะไร จะทำงานกลมกลืนกันได้อย่างไร

หลากหลายรูปแบบ พื้นฐานประสบการณ์มาจากหลากหลายและจะไปคนละทาง

สุดท้าย ประเมินตัวเอง เราทำงาน ทีมทำงาน เรามีส่วนช่วยทีมเป็นอย่างไรบ้าง จะช่วยให้ได้มากกว่านี้ได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดต้องไว้ใจกัน

อดีตหัวหน้าศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลย้ำด้วยว่า วัฒนธรรมองค์กรหมายถึงระบบพฤติกรรมที่ปฏิบัติกันมาเป็นปกติวิสัย และความเข้าใจของบุคลากรในองค์กรที่มีร่วมกัน ทำให้เกิดความแตกต่างจากหน่วยอื่นที่คล้ายคลึงกัน ครอบครัว คณะทำงาน องค์กร และประเทศชาติทั้งประเทศที่เป็นของตน

ผู้บริหารจะพัฒนาบุคลากรได้ด้วยวิธีการฝึกอบรม กำหนดเป้าหมาย ให้รางวัลเมื่อทำดี สมาชิกองค์กรทุกคนที่รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ร่วมกัน ในการบรรลุภารกิจขององค์กร รูปแบบที่ไม่เหมือนใคร

ในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมีเอกลักษณ์ที่แต่ละคนจะส่งผ่านความรู้อันมีคุณค่าไปยังนักสืบรุ่นใหม่

เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของนักสืบ

ถึงกระนั้น การพัฒนาบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรต้องเริ่มจาก การสร้างความบรรยากาศความสามัคคี ฝึกอบรมร่วมกันทุกคน ทุกระดับ ทั้งภาคสนามและการออกกำลังกาย ก่อให้เกิดความผูกพัน ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

ใช้แรงงานบุคลากรในหน่วยงานในการปรับปรุง ก่อสร้าง ทำความสะอาดหน่วย ปลูกสำนึกให้บุคลากรมีความรักและผูกพันความเป็นเจ้าของหน่วยของตนร่วมกัน

ขณะที่ หัวใจหลักของหน่วย คือ การสร้างความยุติธรรมในองค์กร ต้องมีความโปร่งใสในการบริหารงาน มีการสอบถามความคิดเห็นและลงมติในเรื่องสำคัญของหน่วยงานร่วมกัน เช่นกันพิจารณาความดีความชอบ

“ยอมรับความสำเร็จการทำคดีมากกว่าปริมาณงานที่ได้รับ ทุกคนในหน่วยงานมีสิทธิออกคะแนนเสียงให้บุคคลที่สมควรได้รับการพิจารณาความดีความชอบในผลงานที่ปฏิบัติมา”

มีการจัดประชุมพูดคุยและถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ให้บุคลากรในหน่วยงานรับทราบอย่างสม่ำเสมอเพื่อมิให้เกิดบรรยากาศของการแบ่งแยกและมีความรู้สึกว่า เป็นเพียงผู้ได้รับคำสั่งเท่านั้น

เมื่อมีภารกิจต้องรับผิดชอบจะต้องประชุมเพื่อรับฟังว่า ข้อมูลเป็นอย่างไร รายละเอียดต้องปฏิบัติเป็นอย่างไร ทำให้เกิดความชัดเจน และไม่เกิดข้อบกพร่อง

สรุปแล้วปัจจัยการพัฒนานักสืบ “ไม่ให้สูญพันธุ์” และ “สมบูรณ์แบบ” ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของแม่ทัพหน่วย

เพราะความสำเร็จของงานมักจะได้มาจากผู้นำที่ใกล้ชิดกับผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่าจากตัวผู้นำเอง

RELATED ARTICLES