“ผมมันสิงห์เฒ่า นักรบน้ำหมึก 17 สมรภูมิ”

 

จ้าของนามปากกา “ต้อย ต้นโพธิ์” อดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรม และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่ผ่านประสบการณ์ในสนามข่าวมาอย่างโชกโชนตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี

ทุกวันนี้ อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ ยังไม่ทิ้งงานเขียนที่ตัวเองรัก ใช้เวลาสะบัดปากกาอยู่ในโลกไซเบอร์ และเป็นคอลัมนิสต์รับเชิญให้นิตยสาร VOTE ตอกลิ่มทิ่มตำคนวงการสีกากีบนหน้ากระดาษอยู่เป็นประจำ

“ผมมันสิงห์เฒ่า นักรบน้ำหมึก 17 สมรภูมิ” คนข่าวระดับตำนานให้นิยามตัวเองหลังวนเวียนใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือพิมพ์ 17 ฉบับ

เขาเกิดตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จบมัธยมปลายโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แล้วเข้ากรุงมาเรียนต่อไพศาลศิลป์ ตามด้วยโรงเรียนบพิตรพิมุข แผนกเสมียนพนักงาน และโรงเรียนยานเกราะ บางกระบือ ติดยศสิบโท สังกัดทหารบก หวังเจริญก้าวหน้าเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง

ทนฝึกหนักอยู่ 4 ปี อัมพรว่า นายร้อยสำรองยุบ หมดสิทธิ์สอยดาว มองอนาคตแล้วริบหรี่เต็มทน ทู่ซี้ไปไม่ได้เรื่องแน่ ตัดสินใจลาออกกลับบ้านลพบุรี เริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำข่าวมาก่อน อาศัยน้าชายเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ดึงไปเป็นนักข่าวตระเวนโรงพักประจำบ้านเกิด ก่อนเปลี่ยนสังกัดเป็นเดลินิวส์ที่ไพฑูรย์ สุนทร รับบทหัวหน้าข่าวต่างจังหวัด

สิงห์เฒ่าชาวละโว้เล่าประสบการณ์ว่า สมัยก่อนมีแต่โทรเลข ส่งข่าวยาว ๆ ไม่ได้ ต้องใช้วิธีเขียนใส่ซองแล้วให้ม้าเร็วไปส่งที่สี่พระยา เขียนบรรยายได้เต็มเหนี่ยว ส่วนใหญ่จะอยู่โรงพักเมืองลพบุรี ยุค พ.ต.อ.ประจันต์ พราหมณ์พันธุ์ เป็นผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัด เรียกได้ว่า นั่งดื่มเหล้ากันเกือบทุกวัน ต่อด้วยยุค พ.ต.อ.ม.ร.ว.รังษี ภาณีมาศ พ.ต.อ.สันติ มลิทอง

สนิทสนมกับนายตำรวจใหญ่จนกลายเป็นปีเกลียวกับ พล.ต.ต.สามารถ วายวานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดถึงขั้นถูกพ่อเมืองลิงขึ้นบัญชีดำจ้างมือปืนจะมาเด็ดหัว

“ผู้ว่าฯ แกไม่ถูกกับผู้กำกับ พาลมาเกลียดเรา หาว่าจ้องจะเขียนตีแก ต้องยอมรับว่า ผู้ว่าฯสามารถเป็นนักเลงจริง ถึงขนาดจ้างมือปืนจะมายิงผม แต่ไอ้มือปืนมันดันเป็นเพื่อนสมัยเรียนกับผม มันเลยมาแฉหมด กว่าจะเคลียร์กันได้ ผมก็เขียนด่าไปหลายยก” อัมพรหัวเราะวีรกรรมวัยหนุ่ม

นอกจากถูกจ้างยิงกบาลแล้ว สมัยนั้นเขายังโดนทำรายงานถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหาว่า มีพฤติการณ์เข้าค่ายคอมมิวนิสต์ถูกทหารมาสอบสวนอีนุงตุงนัง เหตุเพราะดันไปเปิดข่าวใหญ่หมอโรงพยาบาลลพบุรีลืมคีมผ่าตัดไว้ในท้องคนไข้ที่ตายแล้ว

เจ้าตัวเล่าว่า รู้จักกับสัปเหร่อวัดเสาธงทอง มีอยู่วันสัปเหร่อ มาเล่าให้ฟังว่า เผาศพผู้หญิงแล้วเจอคีมอยู่กองกระดูก ปรากฏว่า หมอลืม ผ่าเสร็จ คนไข้ตายเอามาเผาญาติก็ไม่รู้ เราไปดูก็จริงเป็นคีมที่ใช้ผ่าตัดของหมอ เราก็บอกให้สัปเหร่อต้องแจ้งตำรวจนะ ส่วนเราก็เอาเรื่องมาเล่นเป็นข่าวใหญ่เดลินิวส์ฉบับเดียว นายแพทย์กิตติ ตยัคนนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนิทกับผู้ว่าฯ สามารถ ถึงสบโอกาสรายงานหาว่า เราเป็นคอมมิวนิสต์ พล.ต.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ ผู้กำกับประจันต์ และนายเฉลียว เกิดภู่ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ต้องมาช่วยยืนยันว่า เราไม่มีพฤติการณ์อย่างที่กล่าวหา

อยู่ลพบุรีจนอิ่มตัว อัมพรขยับย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์สระบุรี ได้สักพัก กองบรรณาธิการเดลินิวส์แตกไปเปิดหัวเดลิไทม์ เขาเลยถูกชักชวนเข้ากรุงไปเสริมทัพเดลินิวส์ชุดใหม่เป็นรีไรเตอร์ ควบตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 แล้วลาออก เพราะสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ยกอีกทีมไปเสียบแทน กลับบ้านเมืองลิงว่างงานไม่นาน เทพ ชาญณรงค์ หัวหน้าข่าวต่างจังหวัดเดลินิวส์ตามกลับรังสี่พระยาอีกครั้งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวต่างจังหวัด ไต่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 เป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 ควบตำแหน่งหัวหน้าข่าวอาชญากรรม

“คราวนี้สนุกเลย คุมอาชญากรรม รถตระเวน ช่างภาพ นักข่าว สู้กับไทยรัฐ สร้างเดลินิวส์ขึ้นมาแข็งในตลาดหนังสือพิมพ์ สุดท้ายก็มีปัญหาต้องลาออกเป็นคำรบสอง” อดีตแม่ทัพหัวสีบานเย็นทอดอารมณ์ เขาบอกว่า ชนวนมาจากระหว่างเข้าเวรหัวหน้าข่าวหน้า 1 มีข่าวสกายแล็บตกบนโลก สมัยก่อนเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตไม่มี ต้องเปิดวิทยุฟังคลื่นสั้น เงี่ยหูฟังภาษาอังกฤษแล้วเอามาแปลอีกที หัวหน้าข่าวก็มาช่วยกัน เป็นข่าวใหญ่มาก ข่าวปิดข่าวหมดเหลือข่าวนี้ข่าวเดียว ถ้าปกติเที่ยงคืนต้องพิมพ์แล้ว

อัมพรจำแม่นว่า แสง เหตระกูล โทรมาถามใครเข้าหัวหน้าข่าว เราก็บอกไป และอธิบายว่า กำลังรอข่าวสกายแล็บอยู่ หนังสือยังพิมพ์ไม่ได้ สักพักก็โทรมาถามอีกว่า เมื่อไหร่หนังสือจะออก เราก็ให้เหตุผลเหมือนเดิมว่า จำเป็นต้องรอ ถามไปถามมารอบที่ 4 เราฟิวส์ขาดเลย คิดว่า อะไรกันนักกันหนา อธิบาย 3 ครั้งแล้วยังไม่รู้เรื่องเลยให้หัวหน้าอีกคนปิดหน้าแทนแล้วกลับบ้าน

 

“รุ่งเช้ามาถึงโรงพิมพ์ เทพ ชาญณรงค์ทักคนแรกว่า อัมพร เขาไปติดประกาศว่า มึงลาออก โรงพิมพ์อนุมัติด้วย ผมก็ว่า ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ผมยังไม่ได้เขียนใบลา ตอนนั้นแค่โมโหอาจพูดพลั้งปากไป เขาก็ประชุมกัน ประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการ มีการพูดกันว่า ให้ออกก็ต้องออก เพราะทะเลาะกับเตี่ย ผมก็เลยบอกโอเค ผมออก บริษัทให้ชดเชยมา 6 เดือน ผมก็โอเค กลับมาบ้านยังไม่รู้จะทำอะไร กินเหล้าหนักเลย คิดว่า เงินมี แดกแม่งอย่างเดียว ไม่กลัว ไม่คิดอะไร กินถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล ไปให้น้ำเกลือ”คนข่าววัยดึกรำลึกวัยระห่ำ

กระทั่ง กำแพง ภริตานนท์ โทรไปชวนให้ไปเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เสียงปวงชน ของกำพล พิริยะเลิศ เพื่อนสนิท หัวหกก้นขวิดลำบากตรากตรำกันอยู่หลังวัดตรีทศเทพ อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์ก็มาชี้ทางสว่างทาบทามให้เข้าชายคาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นผู้ช่วยเฉลิมชัย ทรงสุข หัวหน้าข่าวภูมิภาค คอยประสานงานข่าวภูมิภาคกับโต๊ะข่าวหน้า 1 ก่อนโบกมือลาสำนักข่าวหัวเขียวด้วยความที่ไม่พอใจเรื่องต้องเข้าเวรดึก แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงให้

กลับมานอนอยู่บ้านวันเดียว โกวิท สีตลายัน กับโรจน์ งามแม้น ไปหาถึงบ้านถามเหตุผลที่ยื่นใบลาออกแล้วจะไปทำอะไรต่อ “ผมก็บอกว่า ลาออกทุกครั้งไม่เคยมีเป้าหมาย ถ้ามีเงินก็แดกเหล้า ไม่มีก็อยู่เฉย ๆ เขาเลยเสนอให้เลือกระหว่างหนังสือพิมพ์ตะวันสยาม กับดาวสยาม ผมคิดว่าดาวสยามมีเพื่อนอยู่แล้ว ไม่อยากไป ตัดสินใจไปตะวันสยาม เพราะรู้กับเฮียโส ธนวิสุทธิ์ เจ้าของดี เข้าไปทำหน้าที่บริหารคล้ายหัวหน้ากองบรรณาธิการ ไป ๆ มา ๆ โสต้องหนีไปเมืองนอก เพราะถูกคดีจ้างวานฆ่า ตะวันสยามเลยปั่นป่วน”

ประจวบเหมาะมีคนติดต่อให้อัมพรขึ้นเหนือไปทำหนังสือพิมพ์ลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่พร้อมทุกอย่างเหมือนหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯเลย มีนายทุนใหญ่ แต่ทำได้เดือนเดียวนายทุนถูกจับอีก หนังสือพิมพ์ปิดกิจกรรม เขาก็ต้องกลับกรุงเทพฯ พอดี สมชาย ฤกษ์ดี เปิดหนังสือพิมพ์มหาชัย เขาเลยถูกตามไปช่วยแล้วย้ายคืนถิ่นเกิดนั่งผู้บริหารไทยนิมิต หนังสือพิมพ์รายวันของจังหวัดลพบุรี

หนังสือพิมพ์วัฏจักร กำลังขยายจากราย 5 วันเป็นราย 3 วันเพื่อรองรับรายวันในอนาคต หัวหน้าข่าวบันเทิงสมัยเสียงปวงชนจึงไปตามอัมพรลงสู่เมืองหลวงเป็นแม่ทัพอีกระลอก แต่เที่ยวนี้อยู่ในสังกัดสั้นมาก แม้เจ้าตัวจะพยายามอดทนตั้งใจทุ่มเทเอาประสบการณ์หัวหน้าข่าวหลายสำนักไปลงเต็มที่ เขาบอกว่าทำต้องโหนรถเมล์จากบ้านมาสี่พระยาเพื่อนั่งเรือข้ามเจ้าพระยาแล้วต่อรถเมล์อีกทอดเพื่อมาคลองสานลำบากยังไงก็เอา ลองดู ไปถึงไม่เตรียมอะไรเลย เราเข้าเวรหน้า 1 ทุ่มกว่าแล้วยังไม่มีข่าวมาอยู่บนโต๊ะ ก็สงสัยมันทำอะไรกันอยู่ หนักเข้าสองทุ่มก็ไม่มีมา มันต้องปิดข่าว ตัดสินใจหยิบข่าวจากสำนักข่าวไทยมาอ่าน เจอข่าวไฟไหม้ห้องเก็บของกระทรวงศึกษาธิการ เราก็หยิบมาพาดหัวไฟไหม้กระทรวงศึกษา

“ตอนเช้าพวกนักข่าวเด็ก ๆ ไปฟ้องเจ้าของ ด่าว่า ผมเฮงซวยข่าวนิดเดียวเอามาขึ้นพาดหัว ผมมาจากสายข่าวอาชญากรรม มองอะไรทะลุอยู่แล้ว ผมก็เลยถามจะให้ทำอย่างไร เมื่อไม่มีข่าวปิด ถึงรู้ว่า ต่างคนต่างปิดหน้าตัวเองแล้วก็กลับบ้าน แต่ไม่ส่งข่าวมาหน้า 1 เลย ปรับแก้อยู่ได้ครึ่งเดือน ฟางเส้นสุดท้ายก็ขาด เมื่อปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก คว้านางงามจักรวาลกลับเมืองไทย แต่เจ้าของไม่ยอมเล่นข่าวบอกว่า เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน เพื่อนที่ชวนผมมาเลยแตกคอกันกับเจ้าของ ก่อนพากันยกทีมออก ผมตกงานเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่แคร์ ไม่กลัว พร้อมสู้กับมัน” อัมพรว่า

ผ่านสนามวัฏจักร เขาขยับเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวันสยาม และกลับไปช่วยกำพล พิริยะเลิศ ปล้ำกับเสียงปวงชนอีกยก เสร็จสรรพถูกทาบทามมาบุกเบิกหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ทำหน้าที่หัวหน้าข่าวหน้า 1 หัวหน้าข่าวอาชญากรรม หัวหน้าข่าวต่างจังหวัด พร้อมกัน 3 ตำแหน่ง “วันไหนเข้าเวรหน้า 1 กว่าจะปิดข่าวเที่ยงคืนต้องนั่งรถบริการออกมาต่อรถเมล์ไปลงอนุสาวรีย์กว่าจะถึงบ้านเกือบตีสอง บางวันต้องปิดหน้าภูมิภาคอีก แต่ผมมองว่า การเป็นนักรบน้ำหมึกต้องสู้กับมันทุกอย่าง สู้ทั้งคู่แข่ง สู้ทั้งข่าว ไม่เคยท้อ มันถูกใจ เป็นงานที่สนุก ตื่นเต้น”

จากที่เคยคิดว่าสยามโพสต์อาจเป็นเรือนสุดท้าย ไม่วายต้องมีอันเป็นไปซ้ำรอยเก่าอีก หลังนายทุนเจ้าใหม่ที่มีนักการเมืองหนุนซื้อกิจการทำทีมงานนักข่าวเลือดใหม่ผสมคนข่าวอาวุโสแตกกระเจิง ในที่สุดก็ปิดตัวลงอย่างน่าเศร้า ถึงกระนั้นก็ตาม กลุ่มผู้บุกเบิกสยามโพสต์อย่างโรจน์ งามแม้น กรรณิการ์ วิริยะกุล อ้วน อรชร สามารถต่อสายป่านเส้นใหม่เปิดหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ภายใต้สโลแกนอิสรภาพทางความคิด และจัดแจงลากอัมพร พิมพ์พิพัฒน์ กลับมาร่วมอุดมการณ์อีกครั้ง

รับบทหัวหน้าข่าวหน้า 1 เป็นคอลัมนิสต์สังคมหน้า 4 และเป็นบรรณาธิการอาวุโสละเลงหมึกสู้อำนาจมืดทางการเมืองจนถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการหอกเงินตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน โดนขึ้นบัญชีเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติ ทั้งที่ตัวเองโหนรถเมล์ไปทำงานต๊อกต๊อก มีเงินในบัญชีธนาคารไม่ถึงหมื่นบาท

แต่ที่สุดก็ถึงจุดอิ่มตัวในการทำงานหนังสือพิมพ์ เมื่ออดีตบรรณาธิการมากประสบการณ์ตัดใจยื่นใบลาออกด้วยเหตุผลว่า เบื่อนักข่าวรุ่นใหม่ ไทยโพสต์มีอาหารกลางวันเลี้ยง พวก ข้าวหม้อ แกงหม้อ ผัดหม้อ แต่ดันมาวางไว้ในห้องเรา เราก็เห็นพวกนักข่าวเด็ก ๆ เข้ามา มีทั้งการเมือง บันเทิง เข้ามาตักกับข้าวแบบไม่มีมารยาททางสังคมเลย เล่นควานหาเอาแต่เนื้อ เราก็นั่งดู เรื่องแค่นี้ยังไม่มีความรับผิดชอบเลย แล้วคนข้างหลังเขาจะแดกอะไร เห็นหนักเข้าก็เริ่มทนไม่ไหว ยิ่งเราไปดูวิธีการทำงานของแต่ละคน สำเร็จมหาวิทยาลัยทั้งนั้น เหมือนลูกนก ขนยังไม่ขึ้นอะไร มีแต่ขนอุย กลับนึกว่าเป็นเหยี่ยว ที่จะบินได้สูง เราเห็นหมด ไม่ว่า สายเศรษฐกิจ บันเทิง การเมือง มันน่าเบื่อ เข้าทำเทียบรัฐบาล กลับเข้าโรงพิมพ์มานึกว่าตัวเองใหญ่มาก

บรมครูข่าวระบายด้วยว่า อีกเหตุผลไม่เคยบอกใคร ตอนออกมาแล้วมีเสียงสะท้อนเข้าหูหาว่า เราออกไปเฉย ๆ ไม่บอกล่วงหน้า ทั้งที่เรายื่นใบลาก่อนหน้า 15 วันตามระเบียบ “ถ้าแบบนี้ต้องพูดความจริงแล้วว่า กูออกด้วยเรื่องอะไร เรื่องของเรื่อง มีอยู่วัน ผู้ใหญ่คนหนึ่งในไทยโพสต์เดินมาหาบอกว่า พรต่อไปนี้อย่าเขียนถึงเสรีนะ เขาเพื่อนเรา ผมกึกเลย ไหนบอก ไทยโพสต์มีอิสรภาพทางความคิด ห้ามกูเขียน แล้วไอ้นั่นมันคือ ใคร ผมก็อยากจะพูดย้อนกลับไปว่า คนอย่างคุณมีเพื่อนหรือ ตอนหลังมาคิดว่าอายุมากแล้ว ไม่เอาดีกว่า คิดว่า มึงกล้าพูดกับกูแบบนี้ กูก็กล้าออกได้วะ ไม่เห็นแปลกอะไรเลย ผมจะอยู่ทำไม นิสัยผมเป็นแบบนี้”

บทเรียนในการเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย อัมพรย้ำว่า ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้องจะลาออกเอง ยอมรับว่าสมัยอยู่เดลินิวส์ ไทยรัฐ เรายังหนุ่ม ความผิดพลาด ก็คือ หลงตัวเองว่า กูเก่ง เดลินิวส์เวลาเข้าเวร เราเป็นใหญ่ที่สุดในโรงพิมพ์  ประสิทธิ์ เหตระกูล ไม่มีความหมาย ประพันธ์ เหตระกูล ไม่มีความหาย แสง เหตระกูลก็ไม่มีความหมาย เพราะเราถือว่า เราเป็นหัวหน้าข่าว คุมหน้า 1 ตอนนั้นถึงคิดว่า ตัวเราเก่ง อยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยตระเวนข่าวเลย แต่มาเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมได้ มีข้อต่อรองกับนายทุนเยอะแยะ

“ความจริงแล้ว ผมไม่ชอบเปิดตัวเองเลยไม่กว้างในแวดวงสื่อมวลชน พอใจที่เป็นใหญ่แค่ในสำนักงานเมื่อเข้าเวรหัวหน้าข่าวหน้า 1  และเมื่อออกเวรก็โหนรถเมล์กลับถึงบ้านก็เป็นแค่หัวหน้าครอบครัว มีความสุขสงบตามอัตภาพมาถึงทุกวันนี้”

นี่แหละชีวิตนักรบน้ำหมึกของสิงห์วัยดึกที่หลายคนอาจไม่เคยได้สัมผัส

 

 

 

RELATED ARTICLES