งานสอบสวนไม่ใช่ลูกเมียน้อย

พลิกตำราแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนกันหลายตลบ

ล่าสุด พล.ต.อ.จักรทิพย์​ ชัยจินดา​ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง​ ข้าราชการตำรวจ​  รักษาราชการแทน ตำแหน่ง​ ผู้บังคับการกฎหมายและคดี​ ขึ้นตรงกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ​

เกลี่ยกำลังผู้บังคับการประจำแต่ละกองบัญชาการตำรวจภูธรไป “นั่งแก้ขัด” ก่อน

ไม่มีที่ว่างสำหรับตำแหน่งรองผู้บังคับการ แต่หยิบผู้กำกับการ(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน ที่ฝากแปะไว้ในกองบังคับการสืบสวนสอบสวนภูธรภาค ลงไปทำหน้าที่กลุ่มงานตรวจสอบคดีประจำแต่ละภาค เช่นเดียวกับ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน สารวัตร (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน และรองสารวัตร (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน ไปนั่งตำแหน่ง ฝ่ายกฎหมายคดีปกครองและคดีแพ่ง

มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาตรวจร่างกฎหมาย ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่สมาชิกรัฐสภาหรือส่วนราชการต่างๆ เสนอพิจารณาตรวจร่างสัญญาดำเนินการเกี่ยวกับงานคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจภูธรภาค พิจารณาหารือปัญหาข้อกฎหมายเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ว่ากันว่า การจัดตั้ง กองบังคับการกฎหมายและคดี เป็นส่วนหนึ่งของการดับปมร้อนพนักงานสอบสวนขาดแคลนและขาดขวัญกำลังใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ขยับเติบโตก้าวหน้าในสายงานตัวเอง

หลังจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ทุบแท่งพนักงานสอบสวน”ไปเมื่อหลายปีก่อน

ถูกต้อง โดนใจ ตรงจุดแค่ไหน ถามคำตอบได้พนักงานสอบสวนดีกว่า

เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานสอบสวนตามโรงพักยังมีหลายคนอยากกระโดดหนีเหตุ เพราะงานหนักล้นมือ ขาดประสบการณ์ บางรายไม่ต่าง “ปลาผิดน้ำ” คลำทางไม่ถูก

ยกตัวอย่างนโยบายการบริหารงานของโรงพักแห่งหนึ่ง

หัวหน้าโรงพักกำชับหนักแน่นว่า เวรอำนวยการของสถานีตำรวจ ฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายจราจรต้องเข้าเวร

ส่วนรองผู้กำกับการ (สอบสวน) ไม่ควรเข้า

ฝ่ายสอบสวนจะเข้าเวรอำนวยการคุมการสอบสวน คอยดูแลพนักงานสอบสวนเวรเท่านั้น จะไม่ไปดูท้องที่ด้วย เพราะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ

เอาแค่สำนวนตัวเองให้รอดก่อน

เวลาจัดกำลังตำรวจไปปฏิบัติงานที่ไม่ใช่งานสอบสวน พยายามเลือกงานสอบสวนเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” เลือกใช้ให้น้อยที่สุด ถ้ากำลังไม่พอก็ต้องช่วยกัน

งานสอบสวนไม่ใช่หน่วยกำลัง มีการบ้านต้องทำตลอดเวลากระทั่งออกเวรออกยามแล้ว

“หาคนมาทำงาน ตามกลับมา ขอกลับมา ออกคำสั่งให้กลับมา อย่าให้พนักงานสอบสวนขาด หรืออ่อนล้า คนที่อยู่ทำงานไม่เป็นเวลา มีภาระหน้าที่นอกตารางเวรอีกมากมาย สายอื่นเข้าเวรเหนื่อยเหมือนกัน ไม่เถียง แต่ออกเวรไม่มีใครเรียก ยกเว้นสถานการณ์ชุมนุม ระดมกวาดล้าง หรือถวายความปลอดภัย พนักงานสอบสวนต้องตามสอบพยาน ขึ้นศาล ผัดฟ้อง ฝากขัง ประสานงานคดี”

การดึงกำลังจากสายงานอื่น สร้างความไม่พอใจบ้าง แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาเข้าใจ เน้นย้ำให้ฝ่ายอื่นคล้อยตามจะเป็นการดี

ทุกคนต้องเข้าใจว่า งานสอบสวนเป็นหัวใจของสถานี “ไม่ใช่ลูกภรรยาน้อย” นโยบายสำคัญของการยกระดับสถานีตำรวจ คือ การพัฒนางานสอบสวน

งานคดี ต้องมีการกำหนดตำแหน่งให้ชัดเจน ควรมีตำแหน่งอะไรบ้าง  ใช้คนกี่คน ทำหน้าที่อะไร เช่นคนแรกทำหน้าที่เสมียนคดี คุมสารบบคดี คุมส่งสำนวน จำหน่ายสำนวน คุมการสอบสวนเพิ่มเติม

คนที่สอง คุมอายัด ถอนอายัด ผู้ต้องหาในเรือนจำ แจ้งย้ายทะเบียนคนตามหมาย คุมหมายจับ คุมหมายเรียกต่างท้องที่ รับส่งหมายศาล เบิกเงินค่าตอบแทนพยานและสำนวน

คนที่สาม ตรวจสอบผลคดี ตามผลคดี คุมของกลาง ยึดและจำหน่ายของกลาง คุมหนังสือร้องเรียน เก็บร่างสำนวน รวมเล่มประจำวัน เป็นต้น

“ถ้าเราเริ่มจัดกำลังให้เหมือนกัน เริ่มทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะหยุดการสะสมขยะข้อมูล ขยะที่กองทับถมกันแบบสืบค้นไม่ได้ ของเสียที่ไม่มีผู้รับผิดชอบและหมักหนมมากขึ้นทุกวันเดือนปี ถ้าไม่ทำวันนี้ เราจะถูกขยะที่กองสูงทับหัวตาย ใครถามอะไรก็จะตอบไม่ได้ เพราะการจัดเก็บที่ไม่มีระบบและเจ้าภาพ”

ต้องอบรมและฝึกสอนกันอย่างจริงจัง ให้เป็นรูปแบบเดียวกันทุกสถานี ไปที่ไหนก็ควรจะเรียกชื่อเดียวกัน หรือคล้ายกันก็ยังดี เสมียนคดีหน้าที่เดียวกันต้องรับผิดชอบเหมือนกัน ถามหาผู้มีหน้าที่ต้องได้คำตอบ อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่งรวบไว้เองจะเป็น “บ่อเกิดของการทุจริต”

อย่าให้มีคนเกียจคร้านไม่ยอมทำอะไร อ้างว่าไม่รู้บ้าง ไม่ถนัดบ้าง ทิ้งลมหายใจไปวันๆ ทั้งที่อีกคนแบกหน้าที่จนหลังแอ่น

กวาดบ้านถูบ้านตัวเองบ้าง อย่าให้คนอื่นมาชี้นิ้วเล็งว่าบ้านเราสกปรกตรงนั้นตรงนี้

สุดท้ายถ้ามี “พละกำลังวิ่งเต้น” ก็ขยับขยายไปอยู่สายอื่นเสียเถิด !!!

RELATED ARTICLES