ผ่าน 22 ปีรอเวลาผลัดเก้าอี้ผู้นำใหม่

เส้นทางในเครื่องแบบของทุกคนกว่าจะได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ “พล.ต.อ.”ต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย

ดังนั้นทุกคนย่อมเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถ ตลอดจนคุณธรรม คุณงามความดี

แต่คุณสมบัติอาจไม่มากพอจะก้าวขึ้นนั่ง “เก้าอี้สูงสุด” ที่มีเพียงตัวเดียว

 ตลอดหลายยุค นายตำรวจมือปราบ “สายบู๊” มักตกขบวนเปิดโอกาส “สายบุ๋น” ด้วยเพราะมัวแต่วุ่นเรื่องคดีจนไม่มีเวลาใส่ใจตัวเอง

หลงลืมและละเลยอะไรบางอย่างที่อาจเป็น “แสงสว่าง”นำพาอนาคตในบั้นปลายชีวิตราชการ

บรรยากาศครบรอบวันคล้ายวันเกิดอายุ 59 ปี ของ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ถึงเริ่มมีเพื่อนฝูงและผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมแสดงความยินดีกันล่วงหน้าบ้างแล้ว

สัญญาณความแรงแผ่รัศมีส่องถึง “นายพลสายบุ๋น” คนเมืองเพชรบุรี ศิษย์เก่าพรหมานุสรณ์ สะท้อนให้เห็นเงาว่าที่ “พิทักษ์ 1” คนใหม่ ต่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

ทำไมต้องเป็น “มนู เมฆหมอก” ไม่ใช่ “สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” หรือ “สุชาติ ธีระสวัสดิ์-ชนสิษฏ์ วัฒนวรางกูร”

อาจเป็นเรื่องของ “ฟ้าลิขิต”

ทุก “เก้าอี้อำนาจ” มักมากับวาสนา บารมี และแรงผลักดันหนุนหลัง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2541 เริ่มต้น “ปฐมบท” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ปลดแอก” จากกระทรวงมหาดไทยไปขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่ยังหนีไม่พ้น “อุ้งมือนักการเมือง”

เปลี่ยนผู้นำไปแล้วถึง 11 คนในระยะเวลา 22 ปี

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้สิทธิบันทึกประวัติศาสตร์เป็น “อธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย” ที่ได้นั่ง “ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนแรก”

คุมทัพไม่ครบเทอมต้อง “ถอดหัวโขน” โยนให้เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่น 18 อย่าง พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เสียบตำแหน่งปีเดียวก่อนเกษียณอายุราชการ

พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 20 ทำหน้าที่เป็นคนที่ 3 ท่ามกลางอำนาจการเมืองที่พลิกผันส่งให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เพื่อนร่วมรุ่นนั่งขัดตาทัพ

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 22 ครองบัลลังก์คนต่อมา กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เจ้าตัวรักษาระยะสนิทแนบแน่นกองทัพได้ไม่กี่เดือน

สุดท้ายโดนคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีอีกราย

ห้วงเวลานั้นความผันแปรของขั้วอำนาจการเมืองบริหารประเทศเริ่มคุกรุ่นฝุ่นตลบกระแทบ “แม่ทัพสีกากี” เก้าอี้สั่นคลอนกันเป็นว่าเล่น

จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส  นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 24 เป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 25

มีหน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ด้วยกันว่าระหว่างปีงบประมาณ 2552 ตลอดทั้งปีไม่มี “พิทักษ์ 1” นั่งคุมทัพตัวจริง

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 25 ถอนสายบัวรอเก้อ เมื่อ “อำนาจนอกรั้ว” ไม่ลงตัว

สู่ยุค พล.ต.อ.วิเชียรพจน์ โพธิ์ศรี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 28 ไม่อาจหลีกพ้น “อาถรรพณ์ทุ่งปทุมวัน” ในวันที่ต้องถอยให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ นักเรียนนายร้อยตำรวจอบรมเพียงคนเดียวนับถึงปัจจุบันที่ได้เป็น “ผู้นำสูงสุด”

ตัดกลับสู่ไลน์สามพรานเหมือนเดิม เมื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 29 ก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพ จากนั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

อำนาจเปลี่ยนมือพา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มีอันต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างรุ่นพี่อีกหลายคน

พอ “ขั้วการเมือง” เริ่มนิ่ง ทุกอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในรั้วค่ายกองทัพใหญ่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 31 ขึ้นเป็น “ผู้นำ” ก่อนเกษียณปีเดียว

 ผลัดไม้ให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 ครองเก้าอี้ยาวเป็นประวัติศาสตร์นาน 5 ปี

แม้จะมี “คลื่นมรสุม” กระแทกถึง 3 ระลอกทว่ายังประคับประคองนาวาไม่ให้ล่มกลางทะเล

อยู่จบครบเทอม

รอการเริ่มแผ่นดินใหม่ในยุคนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 บริหารกองทัพ !!!

RELATED ARTICLES