“ปัญหาภาคใต้มันเป็นเรื่องของการบริหารความรู้สึก”

นุ่มไฟแรงที่โดนลงมาเล่นการเมืองท้องถิ่นบนสมรภูมิไฟใต้ที่กำลังลุกโชน และสามารถสอบผ่านพัฒนาเมืองยะลาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ถึงขั้นได้รับการเลือกตั้ง 3 สมัยซ้อนแบบไร้คู่แข่งมาลงเบียดชิงชัย

 

วันนี้ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ยังคงทำการบ้านหนักกว่าเก่าเพื่อรักษาภาพใจกลางเมืองชายแดนใต้ให้ปลอดจากความรุนแรง กำจัดความขัดแย้งที่จะเข้ามาทำลายความสงบสุขของคนในพื้นที่

เขาชิงความได้เปรียบในการนั่งบริหารเมืองท่ามกลางสถานการณ์ เพราะเกิด และโตยะลา พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนซีกตลาดเก่าฝั่งมุสลิม ตัวเองเป็นครอบครัวคนจีนไทยพุทธ แต่หลังบ้านเป็นชุมชนชาวมุสลิมหมด พงษ์ศักดิ์มองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ได้เปรียบในการทำงานปัจจุบัน เพราะพ่อแม่เขาทำโรงงานยาเส้นเป็นที่เคารพรัก และยอมรับในหมู่ชาวมุสลิม

นายกเทศมนตรีคนดังย้อนเรื่องราวว่า ที่บ้านทำยาเส้น คนงานเกือบทั้งหมดจะเป็นมุสลิม พ่อจะให้ความสำคัญตรงนี้มาก เริ่มตั้งแต่ ให้ทุนการศึกษาบุตรของลูกน้อง มีการทำวันเมาลิด จัดกิจกรรมประเพณีให้ชาวมุสลิมมาตลอด 40 ปี แบบสม่ำเสมอต่อเนื่อง คนตลาดเก่าเดือดร้อนก็ช่วยเหลือดูแล จากความที่อยู่ในพื้นที่ พอเข้ามาทำงานก็เลยคุ้นเคยเข้าใจวิถีและวัฒนธรรม อาจไม่ลึกซึ้งเหมือนคนมุสลิมด้วยกัน แต่เรารู้และให้ความเคารพในวัฒนธรรมของพวกเขา

วัยเด็ก พงษ์ศักดิ์ เรียนจบมัธยมต้นโรงเรียนผดุงประชา แล้วไปต่อมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เอ็นทรานซ์ติดคณะเกสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังจะเป็นหมอยา แต่ต้องกลับมาทำธุรกิจควบคุมกิจการค้าวัสดุก่อสร้างที่ผู้พ่อเทกโอเวอร์มาจากเพื่อน ไม่นานก็ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ ที่ประเทศออสเตรเลีย สำเร็จจบมาต้องไปทำร้านทองในปัตตานีที่แม่ซื้อต่อมาจากญาติทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องทองเลย

ห่างบ้านเกิดยะลาไปอยู่นานปัตตานี 6 ปี จุดประกายเริ่มต้นสู่สนามการเมืองท้องถิ่นของเขาก็เกิดขึ้นเมื่อนายกเทศมนตรีคนเก่าไปชวนให้ลงเป็นทีมงานสมาชิกสภาเทศบาล พงษ์ศักดิ์เล่าว่า มีความสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ก่อนหน้าก็เคยทำงานอยู่เบื้องหลังในการเขียนนโยบายเทศบาลนครยะลาให้นายกเทศมนตรี พอปี 2542 เกิดความขัดแย้งในท้องถิ่นสูง นายกฯคนก่อนหน้าก็ไปตามจากปัตตานีลงมา เราหายไปนานมาก ขึ้นเวทีปราศรัยอะไรต่าง ๆ ตอนนั้นยังเป็นระบบการเลือกทางอ้อม คนนึกว่า เราเสียงดี เอาเราไปปิดท้าย สมัยนั้นมี 2 ทีมๆ ละ 24 คน เราปิดท้ายเบอร์ 48 ทำให้การลงเล่นการเมืองครั้งแรกสอบตก แพ้ไป 100 กว่าคะแนน

กระทั่งปี 2545 มีสมาชิกเทศบาลคนหนึ่งลาออก พงษ์ศักดิ์ตัดสินใจลงเลือกตั้งซ่อม คราวนี้ผ่านเข้าไปเป็นสมาชิกสภาเทศบาล แค่ปีเดียวถูกผลักดันให้เป็นเทศมนตรี “ผมอยู่ไม่นาน นายกฯมาบอกว่า  จะให้ผมเป็นนายกฯ เพราะเขาจะวางมือ ก่อนให้เป็นต่อโดยใช้เสียงในสภา ขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีแบบทางอ้อม ที่นายกฯคนเก่ามาขอร้องผมตอนนั้น คงเพราะความที่พ่อแม่มีชื่อเสียงในพื้นที่ พอเป็นนายกฯ ผมก็จัดทีมคนหนุ่มการศึกษาดีเข้ามาช่วยพยายามบริหารอย่างจริงจัง

ย่างสู่ปี 2547 สถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ลุกลามปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันทหารพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ต่อเนื่องเหตุนองเลือดในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานีวันที่ 28 เมษายนปีเดียวกัน ทำเอาเมืองยะลาร้อนไม่แพ้กัน จังหวะนั้นมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางตรงพอดี พงษ์ศักดิ์ตัดสินใจสมัครต่อแข่งกับคู่แข่งเดิมของอดีตนายกฯ ก่อนชนะยกทีมได้เป็นนายกเทศมนตรีบริหารเมืองแบบคนหนุ่ม มีวิธีคิด มีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่าง ๆ มากมาย

เจ้าตัวบอกว่า เราเลือกตั้งเข้ามาเดือนพฤษภาคม เป็นนายกฯเต็มตัว เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากสิ่งที่เราสัมผัสตอนหาเสียงเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ต้องมาทบททวนว่า ทำอย่างไรให้ความรู้สึกของคนพุทธกับมุสลิมในพื้นที่อยู่กันให้ได้ ถ้าเมื่อไร 2 พวกนี้ทะเลาะกันเป็นไฟแน่ เมื่อในเมืองยะลาเป็นจุดยุทธศาสตร์จะทำอย่างไรต้องอยู่ให้ได้ และจะทำอย่างไรสำหรับเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความเกลียดชัง ความหวาดระแวงให้น้อยที่สุด

“ผมตัดสินใจทำเรื่องชุดปฏิบัติการหมู่บ้านที่ยะลา ทำอาสาสมัครนี้ขึ้นมาเต็มเมือง มีส่วนที่ทำให้ปี 2551 ลงเลือกตั้งนายกฯใหม่ ผมก็ไม่มีคู่แข่ง ได้มายกทีม เหมือนรอบนี้ปี 2555 ก็ยกทีมไม่มีคู่แข่ง 3 สมัยไม่มีฝ่ายค้าน แต่เราต้องทำงานแลกกับชาวบ้าน พยายามสร้างวิถีของการเมืองใหม่ เช่น การเมืองที่ไม่ใช้สตางค์ ทำงานแลกกัน พยายามให้ความรู้ประชาชนว่า สิทธิในเรื่องของการตรวจสอบ เราให้เต็มที่ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเต็มทุกพื้นที่ เพราะเมื่อใดก็ตาม การปกครองที่เป็นพหุวัฒนธรรมทีมันมีความหลากหลาย สิ่งที่สำคัญนอกจากตัวแทนของเขาแล้ว คือ ทำอย่างไรที่ทำให้เขาเข้าถึงเราเยอะที่สุด อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายกเล็กเมืองยะลาอธิบายนโยบายการทำงาน

เขายังตั้งสภาประชาชน เชิญคนทั้งเมืองให้มาเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์เทศบาลแบบเปิดอิสระ เอาโรงยิม 4 พันที่นั่ง ให้ชาวบ้านเสนอความเห็น และเชิญคนกลางมาเป็นประธาน ตั้งสภากาแฟ มีออกเทศบาลสัญจร จัดการประชุมประจำเดือน ลงไปทุกส่วนของสังคม เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึง ใช้การมีส่วนร่วม สร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกกลุ่ม เมื่อมีปัญหาก็สามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ “ผมไม่มีคู่แข่งในยะลา ใครก็รู้ว่า นายกฯเดินหาเสียงทุกบ้าน ผมเดินไปพบไปคุยไปถามทุกข์สุขเขาทุกบ้าน ถามลูกเขาเป็นอย่างไร บ้านไหนมีคนพิการเราก็จดไว้ บ้านไหนมีคนเก่งเราก็จดไว้ บ้านไหนลำบากเราก็จดไว้ แล้วเราก็ได้กลับไปช่วยเขา เพราะฉะนั้น คือ การสร้างการเข้าถึงเขา ลดความไม่เป็นธรรม”

“ผมได้มีโอกาสระบายพูดคุย นี่คือ สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่สำคัญ นอกเหนือจากที่เราต้องมีตัวแทน ผมทำมาโดยตลอด เหมือนเรื่องการสร้างความเข้าใจ กิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุดทีเค ปาร์ค ที่ยะลาทำแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2550 วันนี้มีคนเข้ามาใช้บริการปีละ 2 แสนกว่าคน เราก็ทำหนังสือเองปลูกฝังให้เขารักบ้านเกิด ผมคิดว่า ไอ้คนที่คิดไม่ดี เช่น โจร หรือคนในขบวนการ ผมเชื่อว่า มันก็ยังคิดถึงบ้านตัวเอง เหมือนกับพวกเราจบโรงเรียนไหน จบออกมาก็ยังคิดถึงโรงเรียนนั้น ผมใช้วิธีนี้ พยายามปลูกฝัง มันก็เป็นเป็นผลดี ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2548 ผมจะจัดงานถนนคนเดิม เขาก็เขียนจดหมายมา เตือนว่า อย่าจัด ให้เลื่อนไปก่อนจะมีการวางระเบิด เขาไม่อยากทำให้เสียเลือดเนื้อ ผมก็ปรึกษากับตำรวจตัดสินใจไม่เสี่ยงดีกว่า”

นายกฯ หนุ่มจำได้แม่นว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเขียนจดหมายมาในลักษณะอ้อนวอนไม่ได้ข่มขู่ ให้เชื่อเขา ระบายความอัดอั้นว่า เป็นมุสลิมที่ไม่ดีมากนัก แต่ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย เพราะตัวเขารักยะลา จะเกิดการสูญเสียเลือดเนื้อครั้งยิ่งใหญ่ ขอร้องให้นายกฯเชื่อเขา เพราะเขามีส่วนร่วมในการวางแผนและการทำงานในครั้งนี้ด้วย ทั้งฉบับมีแต่ย้ำคำว่า ขอร้อง ขอร้อง มันทำให้พงษ์ศักดิ์ต้องเลื่อนการจัดงานครั้งนั้นไป

เหตุผลตรงนี้เอง พงษ์ศักดิ์มองว่า อาจจะมีส่วนมาจากที่พยายามปลูกฝังให้เขารักบ้านเกิด ถึงจะ คิดไม่ดี ก็น่าจะมีความรัก และผูกพันถิ่นฐานบ้านเกิด เทศบาลนครยะลาถึงพยายามสร้างเรื่องของจิตสาธารณะให้ ด้วยการทำหนังสืออ่านนอกเวลา ทำกิจกรรม สร้างให้เขาอยู่ร่วมกันได้ “เหมือนกับวงดนตรีออร์เคสตร้าเยาวชนที่เทศบาลยะลาทำ   หลักผมคือ ต้องการให้เด็กพุทธกับมุสลิมหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง การเล่นดนตรีมันไม่ใช่สักแต่เล่น แต่มันเป็นการหลอมจิตวิญาณของเด็กทั้งหมดมารวมกันเป็นหนึ่งถึงเล่นดนตรีออกมาไพเพราะได้ เทศบาลผม มีเหตุการณ์ความไม่สงบ สิ่งที่เราต้องคิดมากกว่าคนอื่นก็คือ เราต้องทำงานเป็น 2 เท่าของปกติ เพราะเราต้องสร้างทุนทางสังคมตลอดเวลา เมื่อมันมีเชื้อแวดล้อมในความคิดแบ่งแยกดินแดน ถ้าเราไม่สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ไอ้โรคนี้มันจะเข้ามาหาเราได้ กิจกรรมของผมต้องทำตลอดเวลา เทศบาลยะลาได้รางวัลเยอะมาก”

“อย่างไรก็ตาม ผมให้ความเคารพพวกเขานะ ผมเคยให้สัมภาษณ์เสมอว่า ผมกับขบวนการเป้าหมายไม่ต่างกัน ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทำไมเขาถึงต้องการแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่า เขามี 2 อย่างที่เขาคิด คือ อัดอั้นตันใจ เพราะมีความรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรม อันที่สอง เขาต้องการคิดว่า เมื่อแบ่งแยกแล้ว คุณภาพชีวิตของพี่น้องเขาจะดีขึ้น เหมือนได้ประเทศใหม่ขึ้นมา คงจะดูแลกันดีขึ้น ผมในฐานะนายกฯ เรื่องคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องท้องถิ่นเทศบาลอยู่แล้ว เมื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป้าหมายของผมก็ไม่ต่างกัน คือ สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแล้วจะมารบกับผมทำไม เราต้องมาช่วยกันทำดีกว่า เพราะมันเป็นเป้าหมายเดียวกัน” นายกเทศมนตรีเมืองชายแดนใต้ย้ำหนักแน่น

นักการเมืองท้องถิ่นสะตอยืนยันว่า มาทำหน้าที่ตรงนี้ ถ้าช่วยอะไรได้จะช่วย เช่น เรื่องระบบกล้องวงจรปิด เทศบาลยะลา ถือว่า มีระบบวงจรปิดแห่งแรกที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ไม่ได้ต้องการมานั่งจับโจร สิ่งที่มันได้มากกว่านั้น บางครั้งมันเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ อย่างกรณีมีระเบิดหน้ามัสยิด ฝ่ายหนึ่งบอกทหารทำ ถ้าเรามีกล้องงจรปิดที่สามารถสร้างความชัดเจนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะพิสูจน์ได้ว่า มีกลุ่มบุคคลที่สามที่ไม่ปรารถนาดีหรือไม่ มันสร้างในเชิงความรู้สึกมหาศาล

“ปัญหาภาคใต้มันเป็นเรื่องของการบริหารความรู้สึก ต้องทำอย่างไรให้เขามีความรู้สึกว่า เขาได้รับการดูแลอย่าเสมอภาคและเป็นธรรม ส่วนเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ผมมองว่า มันตามหลังมา มันเริ่มมาจากขบวนการก่อนแล้วกลุ่มผลประโยชน์ก็มาอาศัยเหตุการณ์มาหาผลประโยชน์ต่อ ตอนหลังมันก็เลยพันกันไปพันกันมา ผมในฐานะท้องถิ่น หน้าที่ผม คือ การดูแลชาวบ้าน สร้างความเข้าใจ สร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชน เพราะเราเป็นคนที่เขาเลือกขึ้นมา เขาจะฟังเรา เชื่อเรามากกว่า เคยมีผู้ว่าฯบางคนถามว่า ทำไมทีกับผู้ว่าฯ เขาไม่บอก กับนายกฯเขาบอกหมด ผมอยากจะบอกว่า ก็ความไว้ใจกัน เชื่อใจกันมากกว่า”

บ่อยครั้ง นายกฯพงษ์ศักดิ์ลงไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับตำรวจทหาร เช่น บางเรื่องชาวบ้านไม่กล้าบอกตำรวจ ก็มาผ่านเขาเป็นคนกลางให้กับทุกหน่วยราชการ เพราะฉะนั้น เทศบาลนครยะลาจึงกลายเป็นหลักที่ประชาชนจะมาพึ่งหมด ชาวบ้านจะนึกถึงเทศบาลอันดับแรก เพราะทำให้เห็นว่า เป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ “เพราะเรามาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่ามุสลิมที่อัดอัดอะไรก็จะมาหาเรา บางครั้งเขาถูกหมายจับ ไม่รู้จะพูดกับใครก็มาหาเรา อันไหนเราแก้ได้ มั่นใจว่า เขาไม่ผิดเราก็ช่วยไปทำความเข้าใจให้ แต่เราไม่ได้ปกป้องคนผิด ว่ากันไปตามกระบวนการ ผมรู้ว่า ทุกวันนี้มันปกครองความแตกต่างยากมาก สิ่งเดียวที่จะทำได้คือ รับฟังให้มากที่สุด สร้างการมีส่วนร่วมให้เยอะที่สุด ผมเอาแม้กระทั่งนักเรียนมานั่งเป็นบอร์ดสภาเทศบาล เพื่อฝึกเขามาเป็นผู้นำในอนาคต ให้เขาเป็นมุมมองสะท้อนเยาวชนที่มันเป็นปัญหาเยอะมาก ที่ผ่านมาเยาวชนบางครั้งเขาไม่มีพื้นที่ให้เล่น เราก็เอามาให้เขาเล่นในเทศบาล ให้เป็นคณะกรรมการพัฒนาเทศบาล เป็นบอร์ดในทีเค ปาร์ก มีพื้นที่ให้เขาแสดงออก นี่ คือสิ่งที่ผมพยายามทำในเทศบาล” นักการเมืองไฟแรงเล่าถึงการทำงาน

ท่ามกลางความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มก่อความไม่สงบ พงษ์ศักดิ์มั่นใจว่า ตัวเองไม่ได้เป็นเป้าที่ถูกจ้องทำร้าย ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มแนวร่วมคงเห็นความตั้งใจในการทำงานของเขา ตรงนี้พงษ์ศักดิ์ขยายความว่า  เราเป็นเด็กยะลา เกิดยะลา มีความรู้สึกไม่ได้แตกต่างกับพวกเขา ทุกวันนี้ปัญหาภาคใต้มันเกิดขึ้นจากความด้อยโอกาส มันเก็บกด เช่น การศึกษาอยู่ในอันดับสุดท้าย ไอ้คิวก็อยู่ค่อนข้างสุดท้าย นั่นคือ ผลพวงในอดีตที่เกิดขึ้นมา เราอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นตรงที่ว่า มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีกว่า ทำให้เรามานั่งอยู่ตรงนี้ได้ แต่เราก็ต้องมองกลับไปว่า ทำไมมันเกิดขึ้น ก็เพราะโอกาส

ที่ผ่านมา พงษ์ศักดิ์บอกว่า โครงการพัฒนาอะไรหลายอย่างในพื้นที่เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ถูกโยกไปอยู่จังหวัดอื่นหมด ทำให้โอกาสของชาวยะลาน้อยลง พอเรามาที่นี่ สิ่งที่พูดตลอดเวลา คือ ต้องสร้างโอกาสให้เด็กยะลาได้ทัดเทียมกับเด็กในพื้นที่อื่น กรุงเทพฯ มีทีเค ปาร์ก ยะลาก็มี ทีเค ปาร์ก และยังมีวงออร์เคสตร้า เราจะทำโรงเรียนฟุตบอล จะทำโรงเรียนดนตรีการแสดง กรุงเทพฯ มีอาจารย์ดี ๆ ติว เราก็เอาอาจารย์ดี ๆ มาติวให้เด็กยะลา ต้องสร้างโอกาสให้เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด แต่เราไม่สามารถห้ามการอพยพของพวกเขาได้ แต่วันนี้สิ่งที่เราทำได้ คือ วันเวลาที่เขาอยู่ เราต้องสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา และหวังไว้ว่า วันข้างหน้า ถ้าเขาดี เขาจะได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง

“ผมคิดแค่นั้น ผมเดินหน้าอย่างเดียว ปัญหาในเมืองมีอีกหลายอย่าง โจทย์ใน 3 จังหวัดมีหลายเรื่องต้องคิด ต้องยอมรับสังคมวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกัน ยอมกันได้ มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องทำหน้าที่เคลียร์ ให้จบ ผมยังมีภาระหน้าที่อีกหลายอย่างที่อยากจะวางโครงสร้างให้พร้อม แต่ต้องใช้เวลา ถามอนาคตจะลงสนามการเมืองใหญ่หรือไม่ ก็มีทุกพรรคมาชวนนะ แต่ผมยังอยากจะทำอยู่ตรงนี้ ทำให้เรียบร้อย วางรากฐานเทศบาลนครยะลา ก่อนจะกลับไปเป็นประชาชนธรรมดา ถ้าวันนี้ผมวางไม่ดี วันที่ผมกลับไปเป็นประชาชน ผมก็จะไม่มีสิทธิด่าเทศบาล เพราะวันที่ผมมีอำนาจ มีทุกอย่าง แต่ผมไม่ทำ ผมถึงต้องคิดเรื่องแบบนี้หมดว่า จะทำอย่างไรให้เทศบาลเดินหน้าไปในทางที่ดี มีคนรุ่นใหม่รับช่วง มีข้าราชการที่สร้างขึ้นจากสิ่งที่เราหลอมมา”

“เหนื่อยไหม เหนื่อย การเมืองเหมือนคนเล่นตลก มุกมันหมดเหมือนกัน” นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาหยอดคำคมฝากเป็นแง่คิด

 

RELATED ARTICLES