สร้างความสุข รอยยิ้ม อิ่มใจ ใส่จิตสำนึกดี ด้วย “ดนตรีการกุศล”

 

การรวมตัวของนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ที่หลงในเสียงดนตรี ทำให้เกิดกิจกรรมการแสดง “ดนตรีการกุศล” ตามตลาดนัดขนาดใหญ่ในวันหยุด หาเงินบริจาคนำไปมอบให้มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลต่างๆ ในนามวง Sampran Charity”

สร้างความสุข รอยยิ้ม และความอิ่มใจผ่าน “เสียงเพลง”

ได้แรงสนับสนุนจาก พล.ต.ท ศักดา เตชะเกรียงไกร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ต.ถนอม มะลิทอง ผู้บังคับการปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ต.อ.นที ไชยานุพงศ์ ผู้กำกับการฝ่ายปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมถึง ผศ.พ.ต.อ.มีชัย สีเจริญ ผศ.(สบ3) สำนักงานคณบดี คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ   เพราะเห็นว่า พวกเขาสร้าง “จิตสำนึกที่ดีงาม” เข้าไปรับรู้ความทุกย์ยากของประชาชน ตอบแทนคุณของแผ่นดิน

รวมกลุ่มเพื่อนรักดนตรี ทำกิจกรรมดีเปิดหมวก

โก้-นรต.สุเมธัส บวรนันทกุล มือเปียโนประจำวง ผู้ริเริ่ม “Sampran Charity” หนุ่มชาวกรุง ชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เล่นเปียโนมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม 4 จบมัธยมโรงเรียนโยธินบูรณะ ก่อนมาสอบเข้าเตรียมทหาร เลือกเหล่านายร้อยตำรวจ จึงหันเข้าร่วมชมรมดนตรีสากล

เจ้าตัวเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากกีฬาประเพณีโรงเรียนเตรียมทหารกับเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นมี นนอ.ศุภณัฐ เกตุแก้ว ปัจจุบันได้รับทุนไปศึกษา ณ โรงเรียนนายเรืออากาศสเปน ชักชวน วิว-สริตา เจนการ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาและกลุ่มเพื่อนร่วมไปแสดงดนตรีตามโอกาส และสถานที่ต่าง ๆ เช่น การกล่อมบรรเลงให้ผู้ป่วย และบุคลากรด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลภูมิพล งานวันเด็ก ที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน   มีผู้ใหญ่ใจดีรวมถึงผู้ชมหลายคนนำเงินมามอบให้เป็นกำลังใจ

เขาบอกว่า พวกเราเห็นพ้องกันว่าจะนำเงินทั้งหมดไปมอบเพื่อการกุศลจึงจัดกิจกรรมสัมพันธ์พร้อมมอบเงินที่ได้รับให้แก่ มูลนิธิบ้านคนตาบอด องค์การทหารผ่านศึก องค์การยูนิเซฟ  กระทั่งเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีความรักในดนตรีหาเวลาว่างไปเล่นดนตรีตามสถานที่ต่าง ๆ

 

ตอนแรกแค่เล่นขำ ทำไปทำมาพามีคนนำเงินบริจาค

“ผมชอบเล่นเปียโน เพราะที่บ้านชอบ พากันไปเรียนในหมู่ญาติ แล้วรู้สึกสนุก อยากเล่นตาม ได้ลุง คือ ท่านปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นแรงบันดาลใจให้เล่นดนตรี และชักนำเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มว่า

นรต.สุเมธัส ยอมรับว่า ตอนแรกทำกันขำๆ ไปเล่น ๆ ยังไม่ได้จริงจัง แค่รับบริจาคเงินตามโรงพยาบาล ตอนแรกแค่ 2-3 คน ตอนหลังก็เปลี่ยนกลุ่มไปบ้าง มาถึงที่โรงเรียนนายร้อยก็ชวนไปเล่นเพื่อรับเงินบริจาค มีหลายคนเขาให้เงินมา และคิดว่าเราควรเอาไปบริจาคการกุศล เป็นจุดเริ่มต้นที่มองว่า ถ้าเราไปเล่นแบบเปิดหมวก รับเงินบริจาคเลยก็น่าจะโอเค

พวกเขาเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการการที่ห้างใหญ่เมืองอุดรธานีที่เพื่อนของ นรต.สุมานัส เป็นทายาทอยู่ ทันทีที่เริ่มบรรเลงดนตรีก็มีคนสนใจ มีประชาสัมพันธ์ในกลุ่มสมาคมผู้ปกครอง แล้วทางห้างก็ช่วยประกาศให้ว่า มีกลุ่มนักเรียนนายร้อยตำรวจมาเล่นดนตรี ได้เงินบริจาคมาประมาณ 15,000 บาท ตอนนั้นพวกเขาไปบริจาคที่มูลนิธิคนตาบอด

เห็นรอยยิ้มแล้วมีความสุข ปลุกให้เกิดภาพที่ดีของนายร้อยตำรวจ

“เริ่มทำครั้งแรกก็รู้สึกดี ได้เอาเงินไปบริจาคก็รู้ว่า มันเป็นกิจกรรมที่ได้เห็นรอยยิ้มของน้องๆ คนตาบอด มันมีความสุข ตอนหลังหากมีเวลาว่างก็จะชวนเพื่อนที่สนใจ เพื่อนที่ชอบดนตรีไปร่วมกลุ่มกันเล่น ส่วนใหญ่ที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์  เพื่อนหลายคนสนใจเพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี อยากร่วมทำบุญด้วย บางคนไม่ได้เล่นก็ไปถือกล่องบริจาค ก่อนมีการขออนุญาตอาจารย์เป็นเรื่องเป็นราว”

เขาให้เหตุผลว่า พยายามทำกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ขออนุญาต แต่เวลาออกไปก็จะไม่เหมือนเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะเหมือนเป็นคนนอก ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ถ้าเวลาคนถามก็จะบอก พวกเรากลัวว่า บางทีเพราะที่ออกไปอาจจะไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเลยไม่อยากใส่เครื่องแบบ ถึงกระนั้นก็ได้รับการสนับสนุน ได้รับการตอบรับที่ดี

หัวหน้าวง Sampran Charity บอกด้วยว่า การเลือกคนที่มาเล่น จะเลือกจากเพื่อนที่ชอบเล่นดนตรีก่อน โดยเฉพาะดนตรีสากล ตอนแรกมีอยู่ 4 คน อาจมีบางคนที่อยู่คนละชมรม แต่ชอบดนตรีเหมือนกัน ส่วนอนาคตหากจบไปแล้ว ตอนนี้ยังไม่มองถึงตรงนั้น เรื่องจะมีทายาทต่อหรือไม่ ก็ยังไม่ได้หาใคร คิดว่ายังมีเวลาทำอยู่ แต่ช่วงปีหน้า อาจจะมองหาคนที่ชอบทำกิจกรรมจิตอาสา อย่างน้อยก็เป็นการโปรโมตโรงเรียนไปในตัว คิดว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตำรวจ เพราะตำรวจเราต้องใกล้ชิดกับประชาชน ก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

 

 

 

ฟรุ๊ต-นรต.ธนพล มโนษร

นักร้องนำ นำรอยยิ้ม เด็กหนุ่มที่เกิดมากับเครื่องดนตรีสากล ด้วยความที่พ่อเป็นนักดนตรีประจำวงของกรมศิลปากร  เขาเล่าว่า พ่อเล่นไวโอลีน ตอนเด็กเลยเรียนไวโอลีนตามแบบพ่อ แต่พอเริ่มตั้งใจจะสอบเข้าเตรียมทหารเลยต้องเลิก และทิ้งไปเลย

“พอมาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ยิ่งหาโอกาสยาก แต่มาค้นพบตัวเองตอนหลังว่า ผมชอบร้องเพลง เมื่อเพื่อนชวน เพราะเคยเล่นดนตรีด้วยกันในห้องอยู่แล้ว ประกอบกับชีวิตมีดนตรีในสายเลือดจึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ทำกันเต็มที่ ไปด้วยกันตลอด”

 

 

ดรีม-นรต.หญิง ณัฐชา เครือแตง

นักร้องสาวสวยประจำวง เด็กๆ เล่นดนตรีหลายอย่าง ชอลเล่นพิณ แต่ส่วนมากจะร้องเพลง รำไทย ที่มาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะพ่อแม่มีอาชีพค้าขาย เธอถึงอยากทำให้พ่อแม่รู้สึกภาคภูมิใจ ไม่ต้องเป็นห่วงลูกสาว เพราะน่าจะดูแลตัวเองได้

ก่อนจะมาเป็นนักร้องดาวเด่นประจำ Sampran Charity เธอเล่าว่า ปกติจะมีแต่เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจผู้ชายเล่นอยู่ ต่อมาเขาหานักร้องหญิงเพื่อเป็นสีสัน จึงสนใจอาสาเข้าร่วมกิจกรรม “ ได้ไปมาหลายที่ ตั้งแต่เริ่มทำเป็นวงอย่างเป็นทางการ ด้วยความรู้สึกว่า อยากทำ เพราะอยู่ที่นี่ ไม่ได้ค่อยได้ร้องเพลงเท่าไหร่ เมื่อเพื่อนมาชวนก็คิดว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ได้ช่วยสังคม เป็นวงดนตรีการกุศลถึงไม่ลังเล”

 

น้อต-นรต.ภัทรพงศ์ วิชัยดิษฐ์

มือกลองหนุ่มหน้าทะเล้น ลูกหลานตระกูลดังภาคใต้ เล่นกลองมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ชอบดนตรี ร่วมวงประกวดแข่งขันในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน มาเป็นตำรวจเพราะแม่อยากให้รับราชการทหารตำรวจ

“ตอนแรกผมก็ไม่ชอบ เพราะชอบเล่นดนตรี ตอนเด็กๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรี แต่ความคิดของผู้ใหญ่ คือ อาชีพตำรวจแบบนี้มันมั่นคง แม่บอก ตอนแรกก็คิดต่อต้าน ไม่ชอบ แต่พอแม่บอกว่า เป็นอย่างนี้นะ เราก็เริ่มเรียนรู้ คิดว่ามันก็ดี บางอย่างที่เราชอบ มันสามารถทำควบคู่กันได้ อย่างเรามาเป็นตำรวจ เราก็ยังสามารถเล่นดนตรีได้ ก็เลยมาทางนี้”

เขาเลือกเข้าชมรมดนตรีสากลมาตั้งแต่อยู่เตรียมทหาร พอเพื่อนชวนมาช่วยตีกลองก็รู้สึกภูมิใจ “ผมมองว่า Sampran charity เป็นกิจกรรมเข้าถึงประชาชน  เป็นการฝึกตัวเองไปในตัวด้วย ฝึกการให้ การพูดคุย การปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ถ้ามีโอกาสก็ไปร่วมกิจกรรมกัน อย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งที่เราชอบ แล้วได้ทำเพื่อคนอื่นด้วย”

 

 

เน-นรต.เนติชนม์ ยศแผ่น

มือกีตาร์มาดเข้ม  เล่นดนตรีมาตั้งแต่ประถม 6 เพราะชอบ ตอนนั้นตั้งใจซื้อกีตาร์มาประดับห้อง ก่อนมาหัดเล่นเป็นเรื่องเป็นราว ศึกษาคอร์สเอง จนมาเรียนต่อโรงเรียนเตรียมทหาร คิดว่า พอมีพื้นฐานมาบ้างเลยเข้ามาอยู่ชมรมดนตรีสากล

เขาได้รับอิทธิพลมาจาก พ.ต.อ.ถนอมศักดิ์ ยศแผ่น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เป็นแรงบันดาลใจเข้าสู่รั้วสามพราน การเข้ามาอยู่ชมรมดนตรีสากลทำให้ได้เพื่อนอุดมการณ์เดียวกัน แม้ช่วงแรกต้องปรับเข้าหากันบ้าง แต่ไม่เป็นปัญหา

“ผมรู้สึกดีนะที่ได้มาทำกิจกรรมเพื่อการกุศล เพราะตอนแรกเล่นดนตรีเฉยๆ ก่อนเพื่อนมาชวน คิดว่า น่าสนุกดี ได้เล่นตามที่เราถนัด มีการซ้อมกันที่หอ ซ้อมเวลาที่เขาไม่ว่า มีการตอบรับดี คิดว่าน่าจะมีสมาชิกเพิ่ม เพราะยังขาดบางอย่าง”

 

 

กานต์-นรต.กษิดิศ อภิชนางกูร

มือกีตาร์อารมณ์ดี ชาวสามพราน จังหวัดนครปฐม ทันทีที่เข้าสู่รั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เพื่อนชวนมาเล่นดนตรี เขาตอบรับทันที เพราะเห็นว่า หัวใจเดียวกัน เนื่องจากตัวเองชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก

“ผมมีความสุขที่ได้เล่น เป็นการคลายเครียดได้ด้วย มันก็มีบ้างที่เราใช้ดนตรีรีแล็กซ์ รู้สึกดีที่ได้มาทำตรงนี้ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เป็นพื้นฐานเรื่องของการให้ อนาคตถ้ามีโอกาสก็จะทำไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ ต่อไปก็ยังอยากจะมารวมกันอีกในอนาคต เมื่อไปทำงานแล้ว”

 

 

มะปราง-นรต.หญิง ชวิศา ลาภมาก

ฝ่ายประสานคนขยันประจำวง สาวชาวน่าน ลูกผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ ฝันอยากเป็นหมอตามชนบทช่วยคนด้อยโอกาสไม่ได้ไปโรงพยาบาล บังเอิญป้าที่เลี้ยงมาเสีย และพี่สาวเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงก่อนหน้า ทำให้เลือกทางเดินสู่รั้วสามพราน

“ความจริงชอบเล่นแซกโซโฟน แต่ไม่เก่งถึงขนาดเล่นกับวงได้ พอเห็นเพื่อนมีกิจกรรมดนตรีการกุศลเลยอาสาเข้ามาช่วยทำบอร์ดช่วยประชาสัมพันธ์ ติดต่อประสานงาน เดินถือกล่องรับบริจาค มองว่า ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรขอแค่มีจิตใจชวยเหลือสังคมก็ดีทุกอย่างแล้ว”

 

นิ-นรต.หญิง นิรัฐกานต์ บุญรอด

มือชัตเตอร์ถ่ายทอดเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง สาวเชียงใหม่อยากเป็นผู้พิพากษา ดันสอบติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงเลือกทำเพื่อแม่ แต่ลงเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ควบคู่ไปด้วย ตามอุดมคติที่เชื่อว่า ทุกอย่างทำได้ ไม่เป็นไรแน่นอน

“การเข้ามาอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รู้สึกเกินความคาดหมาย เขาสอนการฝึก สอนการใช้ชีวิตที่ต้องเจออุปสรรคหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจ ใช้ความอดทนเป็นที่ตั้ง โชคดีได้เพื่อนช่วยกันประคับประคอง ถือเลือกมาทำกิจกรรมดนตรีการกุศล ทำทุกอย่างตั้งแต่ถ่ายรูป ประสานงาน และถือกล่องเรี่ยไรรับเงินบริจาค มันเป็นกิจกรรมที่ดี ทำดีเพื่อสังคม พาให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ”

RELATED ARTICLES