ศิลปะกับกระบวนการยุติธรรม

กลายเป็นศิลปินที่นำเอาศิลปะมาใช้กับงานตำรวจ

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้จัดนิทรรศการศิลปะ PERSON TO PERSON บอกเล่าเรื่องราวผ่านผลงานของตัวเองเพื่อส่งต่อสังคม

จากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่ง

งานจัดขึ้นที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง (ศิลป์ พีระศรี) ถนนราชวิถี แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5  – 30  กันยายน 2563

เจ้าตัวต้องการสื่อสารการทำงานที่นำศิลปะมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมและความสงบสุขของประชาชน เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ได้ศึกษางานศิลปะ

ให้เห็นว่า ศิลปะ กระบวนการยุติธรรม ตำรวจและประชาชนทุกคนมีความใกล้ชิดกัน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันป้องกันอาชญากรรม สังคมจึงเกิดความสงบสุข

งานแสดงศิลปะครั้งนี้ของเขา เริ่มจากสถานที่แห่งนี้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน สมัยเป็นนักเรียนศิลปะที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง ทราบประวัติของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นที่เคารพและศรัทธาเป็นอย่างมาก

กระทั่งวันหนึ่งเขาเดินทางกลับมาที่บ้านอาจารย์ฝรั่งอีกครั้ง รู้สึกอบอุ่น เหมือนบ้านศิลปะของอาจารย์เป็นเหมือนบ้านของเรา ทั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีความคิดจะแสดงงานศิลปะบ่อยนัก เพราะชีวิตในปัจจุบันการทำงานถูกเผยแพร่ถึงประชาชนเหมือนกับงานนิทรรศการศิลปะเพื่อสังคมอยู่แล้ว

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์มีโอกาสนำความรู้ศิลปะที่เรียนมาไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กเยาวชนและประชาชนในสังคมไม่น้อย โดยเฉพาะการทำกิจกรรมจิตอาสาให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการป้องกันอาชญากรรมตามโครงการสเกตช์ภาพเตือนภัย​ ให้สังเกตจดจำ​ และการทำภาพสเกตช์จำลองใบหน้าเด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน

ผู้กำกับการมือสเกตช์ภาพอันดับต้นของเมืองไทยย้อนวันเก่าสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย จังหวัดเพชรบุรี ด้วยว่า เป็นปฐมบทของความรักในศิลปะ เริ่มเขียนภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความรักที่เกิดขึ้นของจิตใจ เป็นภาพถ่ายที่มีอยู่ทุกบ้าน

ปรากฏว่า ภาพเขียนของ ด.ช.ชัยวัฒน์ บูรณะ เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าประกวดภาพในงานกาชาดประจำจังหวัดเพชรบุรี รับรางวัลชนะเลิศ รับใบประกาศนียบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่เขายังเก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้

นิทรรศการศิลปะ PERSON TO PERSON หมายถึงจากคนหนึ่งถึงคนหนึ่ง จากเด็กตัวเล็กชอบศิลปะ มาเรียนศิลปะ มาทำงานศิลปะ แล้วนำความรู้ทักษะเข้ามาใช้ในการทำงานกับกระบวนการยุติธรรมในบทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ส่งต่อถึงประชาชน

งานศิลปะในครั้งนี้จะถ่ายทอดงาน Digital Paint เป็นส่วนมากที่ต่อยอดการทำงานจากสเกตช์ภาพใบหน้าคนร้าย การสเกตช์ภาพจากศพ และการสเกตช์ภาพจำลองเด็กหายให้มาอายุเทียบเท่าปัจจุบันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

“จากความคิดแรกที่เกิดขึ้นเพียงว่าอยากใช้คอมพิวเตอร์เขียนภาพแบบไม่ต้องใช้เทคนิค แต่ใช้พูกันใช้สีจากคอมพิวเตอร์จำลองให้ภาพที่ออกมาได้ความรู้สึกเหมือนภาพที่เขียนด้วยสีน้ำมัน หรือสีอะคริลิก” ศิลปินสีกากีอธิบายเนื้องาน

ทว่าความภาคภูมิใจมากสุด คือได้ร่วมกับ “มูลนิธิกระจกเงา”  สเกตช์ภาพจำลองเด็กหายในมีอายุเทียบเท่าปัจจุบันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 เพราะการเฝ้ารอการกลับมาของลูกคือความหวังของคนเป็นแม้ แม้เวลาผ่านมาเนิ่นนานสักเพียงใดก็ตาม

มันเป็นความโหดร้ายของชีวิตแม่ที่ไม่อาจรู้ชะตากรรมของลูก

งานนิทรรศการครั้งนี้ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ถือโอกาสทำภาพสเกตช์ของ “น้องจีจี้” ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม วัย 9 ขวบ ที่หายตัวไปเป็นระยะเวลา 10   ปี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 เป็นภาพสเกตช์จำลองเปรียบเทียบใบหน้าขณะน้องโตขึ้นจนมีอายุ 19 ปี มาจัดแสดงด้วย

ในวันที่ 14 กันยายน 2563 จะมีมูลนิธิกระจกเงาร่วมเสวนาในประเด็นการป้องกันเด็กหาย เป็นการช่วยประชาชนสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมงานรับทราบข้อมูลเด็กหายทั่วประเทศเพื่อช่วยกันแชร์หาเบาะแสติดตามกันเป็นวงกว้างมากขึ้น

นำเด็กเหยื่อบริสุทธิ์เหล่านั้น คืน สู่อ้อมอกผู้เป็นพ่อแม่

         

 

 

RELATED ARTICLES