“สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะไม่เห็น”

ติดอยู่ในบันทึกทำเนียบนักสืบเป็นศิษย์เอกของ “เชอร์ล็อกนู” พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ตำนานมือปราบระดับปรมาจารย์ผู้ล่วงลับ

พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ชาวอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิษย์เก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ใฝ่ฝันอยากเป็นครูเจริญรอยตามบิดา ตัดสินใจไปลงเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  แต่ไม่รอด ถึงเปลี่ยนไปสอบโรงเรียนตำรวจนครบาลติดเป็นรุ่น 44 ก่อนสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจติด 2 ครั้งกลับตกสัมภาษณ์อ้างว่าหน้าเป็นสิวหัวช้าง ประกอบกับเป็นเด็กบ้านนอก การเตรียมตัวไม่ดีพอ

บรรจุลงเป็นสายตรวจอยู่โรงพักปทุมวัน ระหว่างนั้นหันไปเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และได้ไปช่วยราชการสำนักงาน พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้จนเรียนจบปริญญาตรี ปรับวุฒิเลื่อนชั้นเป็น รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางนา พ่วงดีกรีปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกในเวลาต่อมา

เขาเริ่มต้นเรียนรู้งานจาก “จรูญ รุ่งแสง” สารวัตรสอบสวนรุ่นใหญ่ ได้วิชาสอบสวนมาเต็มเครื่องแล้วย้ายเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ แต่ทำหน้าที่หัวหน้าสายสืบ  มี “สุวัฒน์ ธำรงศรีสกุล” สารวัตรกำลังพล กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ ผลักดันอีกแรง เปิดฉากไล่จับคนร้ายย่านตลาดปีนังยันคลองเตยราบคาบ

โยกเป็นรองสารวัตรสอบสวนโรงพักทองหล่อนาน 2 ปี เปลี่ยนหน้างานมาเป็นจราจรโรงพักพลับพลาไชยเขต  1  สมัย “ศุภชาญ มนูธรรม” นั่งสารวัตรใหญ่ กระทั่ง “วิวัฒน์ วัฒนายากร” มาเป็นสารวัตรใหญ่แทนจึงดึงเขากลับไปทำหน้าที่หัวหน้าสายสืบอีกครั้ง และเหมือนเป็นจังหวะชีวิตที่สารวัตรใหญ่วิวัฒน์พาเขาไปฝาก “ธนู หอมหวล” ผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้

“ผมเป็นหัวหน้าสายสืบทำงานทั้งพลับพลาไชยเขต 1 และเขต 2 ประมาณ 4-5 ปี เริ่มทำงานกับท่านธนู ได้ไปช่วยงานที่สืบสวนใต้ มีกฤษฎา พันธุ์คงชื่น สมคิด บุญถนอม คอยเป็นพี่เลี้ยง กลายเป็นทีมงานของท่านธนูนับตั้งแต่บัดนั้น” พล.ต.ต.เมธีย้อนอดีต เขาเดินตามถือแฟ้มให้ผู้เป็นนายไปประชุมคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ได้โอกาสเรียนรู้งานสืบสวนชนิดหาใครเทียบเคียงได้ เป็นเสมือนนายตำรวจติดตามเกาะติดจน “ธนู”ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

มีการตั้งชุดเฉพาะกิจปราบปรามมือปืนรับจ้างและขบวนการโจรกรรมรถของเมืองหลวง เขาขยับเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ไปมารับภารกิจเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถที่ผู้เป็นนายคุมเกมมอบนโยบายการปราบปรามแบบดุเดือดและเด็ดขาดเพื่อกำราบวายร้ายขโมยรถที่อาละวาดเกลื่อนกรุง

พล.ต.ต.เมธีเล่าว่า ปัญหาเรื่องรถหายเวลานั้นหนักมากในกรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ของประเทศ หายกันเป็นว่าเล่น  หลักการทำงานท่านธนูให้นโยบายไว้ ยอมรับว่า ตอนนั้นรุนแรงมาก ตลาดชายแดนกัมพูชาต้องการมาก พวกนี้จะลักแถววัดพระยาไกรขึ้นทางด่วนไปลงบางนา มุ่งหน้าพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา แล้วมีนักบินจากชายแดนมารับช่วงต่ออีกที กว่าเจ้าของจะรู้ว่ารถหายก็ข้ามฝั่งไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

“ท่านธนูย้ำว่า เรื่องนี้มันเป็นความเดือดร้อนของประชาชนนะ จำเป็นต้องทำแบบเด็ดขาด  ผมใช้วิธีขยายผลจากชายแดนที่กำลังตำรวจตระเวนชายแดนล็อกตัวนักบินไว้ได้ เอามาเค้นเข้ามาถึงกลุ่มคนร้ายข้างใน พวกหัวหน้าแก๊งถูกจับหลายครั้งแล้วยังไม่เลิก นโยบายผู้ใหญ่สั่งไว้เลยให้เด็ดขาด เป็นอันรู้กัน ที่ผมจำไม่ลืมคือ บุญมี แม่นปืน ตามล่าหวดกันจะจะ ไหนว่ามึงแม่นปืนหรือ” อดีตหัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ปราบโจรลักรถหัวเราะ

ทีมงานของพวกเขาไม่มีออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราว อาศัยตึกแถวย่านโคลีเซี่ยมเป็นเซฟเฮาส์ จัดเวรยามคอยรับโทรศัพท์ มีฝ่ายประสานงานคล้ายสิบเวรโรงพัก ส่วนคนอื่นออกหาข่าวจะมารวมกันอีกครั้งตอนถึงเวลาปฏิบัติการลึก ๆ ที่เด็ดขาด มีเงินค่าอาหารค่าทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย คณะทำงาน นอกจากเมธี กุศลสร้าง รับบทหัวหน้าชุดแล้ว ยังมี กฤษณะ คุณากร ประเวทย์ มูลประมุข พีระพงศ์ วงษ์สมาน สุคุณ พรหมายน และพวกบรรดามดงานชั้นประทวนจากสืบสวนใต้เป็นหลัก

เจ้าตัวยอมรับว่า บางทีเราต้องเลี้ยงโจรบางคนไว้บ้าง ถ้าดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต คือ ต่องานใช้งานได้ หาผิดจริงก็ต้องจับดำเนินคดี รู้กันอยู่แล้วว่า ตำรวจกับโจรตรงข้ามกันเสมอ แต่ถ้าเอามาเป็นพวกก็ไม่เสียหายกับเรา ไม่เสียหายกับการทำงาน มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เราก็น่าจะดูแลกันได้ และผลจากการใช้มาตรการเด็ดขาดปราบปรามขบวนการโจรกรรมรถทำสถิติรถหายในกรุงเทพฯ ลดฮวบชัดเจน

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.เมธีได้มีโอกาสไปคลุกคดีสำคัญระดับประเทศเคียงข้างกายผู้เป็นนายที่รับผิดชอบงานปราบปรามอาชญากรรมของนครบาลในทันทีที่เกิดเหตุสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 นายซอและห์ อัลมาลิกิ เลขานุการโทสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ถูกสังหารด้วยปืนขนาด 6.35 ในเขตท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี อีกปีถัดมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มือปืนยิง นายอับดุลเลาะห์ เอ อัลเบซาร์รีห์ เลขานุการโท นายฟาฮัด เอ แซด อัลปาฮลี เลขานุการโท และนายอาหะหมัด เอ อัล ซาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ

“เรามองว่าเป็นความขัดแย้งภายในของเขา ทั้งสืบทั้งสอบ ไม่ง่าย ตั้งแต่คดีแรกแล้ว ตำรวจหาพยานหลักฐานอะไรไม่ได้เลยในสถานทูต เพราะสงวนสิทธิไว้ นอกจากพยานหลักฐานแวดล้อม ผมไปสอบคำให้การกับท่านธนู ไปดูที่เกิดเหตุ แล้วก็สอบพยาน พบคนร้ายเดินมาตามหลังเหยื่อยิงเข้าท้ายทอย นัดเดียว โป้งเดียว ด้วยปืนขนาดเล็กที่มือปืนไทยไม่ใช้ พยานระบุผู้ต้องสงสัยเป็นแขกผิวขาว ใส่สูทคลุม มีปมขัดแย้งกับกลุ่มแมนพาวเวอร์ที่เกี่ยวกับบริษัทจัดหาคนไปทำงานประเทศซาอุดิอาระเบีย” พล.ต.ต.เมธีว่า

กระทั่งเกิดคดีอุกอาจอีกครั้งในปีถัดมา พล.ต.ต.เมธีบอกว่า สุดท้ายทั้งสองคดีไม่มีพยานโยงถึงกลุ่มผู้ต้องหา เป็นคดีที่คาใจมาถึงปัจจุบันจากจุดเริ่มต้นชีวิตนักสืบจนเกษียณอายุราชการจับคนร้ายไม่ได้ เป็นคดีท้าทายความสามารถของรัฐบาลและตำรวจไทย ก่อนจะลามไปถึงเรื่องการหายตัวไปของมูฮัมหมัด อัลรูไวรี นักธุรกิจสัญชาติเดียวกัน

อดีตนายตำรวจนักสืบที่อยู่ในคณะทำงานสางคดีดังสะท้านเมืองเป็นข่าวดังทั่วโลกปฏิเสธให้ความเห็นถึงการหายตัวของอัลรูไวรี บอกได้แค่ว่า ตัวเองเป็นเพียงตำรวจเด็กเดินถือแฟ้มเอกสารให้ผู้เป็นนายที่มีการประชุมกันแทบทุกวัน และมีตำรวจหลายกลุ่มอยากได้ผลงาน ทำกันหลายทีม แยกย้ายออกหาข่าว แม้ท่านธนูจะได้รับมอบหมายจากแสวง ธีระสวัสดิ์ ให้เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน แต่คุมอะไรไม่ได้มาก เพราะบางทีมต่างสายตรงถึงผู้ใหญ่ ในที่สุดจับใครไม่ได้ แถมมีเรื่องคนหายอีก ทำให้คาใจมาตลอด หาคำตอบไม่ได้ว่า จริง ๆแล้วคืออะไร

เก็บแฟ้มสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียเข้าลิ้นชัก “ธนู หอมหวล” เลื่อนขึ้นนั่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไม่วายต้องมาทำคดีการยักยอกเพชรของกลางของประเทศซาอุดิอาระเบียที่มี “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” พ่อค้าเพชรชื่อดังพัวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนปฏิบัติมิชอบ เวลานั้น พล.ต.ต.เมธี ย้ายตามมาเป็นสารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม และขึ้นรองผู้กำกับการ 1  กองบังคับการปราบปราม ดวงยังพาให้ต้องลงคลายปมฆาตกรรมแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์อีกจนได้

“เป็นคดีที่ผมภูมิใจ ทำเองค่อนข้างจะร้อยเปอร์เซ็นต์ สืบเอง จบเอง ด้วยพื้นฐานคดีซาอุดิอาระเบียที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ผมเรียนผู้ใหญ่บางคนครั้งแรกเลยว่า ถ้าเรื่องนี้คนตายเป็นเมียสันติ ผมว่า ไม่ใช่ธรรมดา ผู้ใหญ่คนนั้นกลับไม่เชื่อ เริ่มแกะไปแกะมา บังเอิญผมเคยทำเรื่องการลักรถออกเขมรรู้จักกับสารวัตรพันศักดิ์ มงคลศิลป์ มันประจวบเหมาะบรรจบกันพอดี”

เขาสารภาพว่า อึดอัดไม่น้อยเมื่อสืบสวนไล่ข้อมูลไปมาเจอกันตำรวจที่รู้จักสนิทสนมกันมาก่อน เมื่อพยานหลักฐานงวดเข้ามาทุกที ต้องโทรไปบอกพันศักดิ์ว่า ใกล้ตัวแล้วนะ มอบตัวดีกว่า จำแม่นว่า วันนั้นเป็นวันสถาปนากองบังคับการปราบปราม 1 กันยายน ขออนุญาตท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ ผู้การกองปราบไปเจอพันศักดิ์ที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวเพื่อพาเข้ามอบตัว  “แม้จะภูมิใจ แต่มันก็เป็นความเศร้าใจที่ต้องจับพวกเดียวกันเอง เคยทำงานด้วยกันมา บางทีผมก็อึดอัด แต่พอไปนึกถึงรูปคดีแล้ว ไปเอาเงินเอาทอง ไม่ได้ทำงานเพื่อความสงบสุข เพื่อประเทศชาติเลย”

เป็นรองผู้กำกับการอยู่กองบังคับการปราบปรามนาน 5-6 ปี ขึ้นเป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ลงเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โยกคืนเมืองหลวงนั่งผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 7 กลับมาทำหน้างานถนัดเป็นขุนศึกฝั่งธนบุรี ยุค “วรรณรัตน์ คชรักษ์” รับบทแม่ทัพนครบาล เคียงข้าง พ.ต.อ.อภิชาติ เชื้อเทศ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 8 และพ.ต.อ.บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 9

ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ มีโอกาสปัดฝุ่นศูนย์ป้องกันปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาลอีกครั้ง เมื่อ “กฤษฎา พันธุ์คงชื่น” รับเป็นหัวหอกคุมทีมเน้นมาตรการเชิงรุกเด็ดขาดไม่แพ้สมัย “ธนู หอมหวล” กุดหัวบรรดาตัวเอ้ขโมยรถเป็นผีเฝ้าถนนนับสิบศพ ก่อนจะเจอพิษมรสุมลูกใหญ่พัดพาทีมมือปราบแก๊งลักรถกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศละทางถูกตั้งกรรมการลงโทษลงทัณฑ์กันเป็นหางว่าว

เจ้าตัวโดนคำสั่งเด้งเป็นรองผู้บังคับการอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นประธานดูงานจัดซื้อจัดจ้าง อยู่ 6 เดือนสลับเป็นผู้บังคับการกองตรวจ 4 จเรตำรวจ เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี แล้วถูกพิษสาดสีเสื้อกระเด็นไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง ต้องรอเปลี่ยนค่ายใหม่ถึงได้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจตำรวจภูธรภาค 1 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ต.เมธีบอกว่า ช่วงรับราชการได้นายดี ส่งผลให้ทำงานสนุก ท่านธนูพอลงทำคดีแล้วเหมือนมีคนอยากจะเล่าให้ฟัง เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย อยากจะฝากถึงนักสืบรุ่นใหม่ สมัยก่อนพวกเราทำงานกันละเอียด แต่บางครั้งก็หยาบ ปัจจุบันไม่ได้แล้ว สื่อโซเชียลจ้องอยู่ เพราะต้นทุนตำรวจต่ำ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เอาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวก็เสี่ยงที่จะโดนข้อหามิชอบแล้ว

“ข้อคิดของผมที่ได้จากผู้ใหญ่หลายคนสอนมาตลอดว่า สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะไม่เห็น การทำคดีให้คำนึงเรื่องที่เกิดเหตุสำคัญ บางทีเราไปที่เกิดเหตุแล้วไปเห็นก้นบุหรี่เก็บมาเพราะคิดว่า เป็นของคนร้าย  จริง ๆ แล้วไม่ใช่ กลายเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิดูดแล้วทิ้งไว้ เพราะฉะนั้นบางทีมันต้องหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ อย่าง ความจริงเรื่องเดียวที่ผมไม่ได้จากท่านธนู คือการสอบสวนตะล่อมผู้ต้องหา”

ลูกศิษย์ตำนานนักสืบคนดังบอกว่า ท่านธนูให้จำตัวอย่างการทำงานของนายตำรวจไว้ 2 คน เหมือนที่ได้มาจากท่าน คนแรก ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ สอบผู้ต้องหาสอบพยานไล่กันละเอียดยิบแบบร้องไห้กันเลย แต่ถ้าการรวบรวมพยานหลักฐานต้องยกให้สมคิด บุญถนอม ถ้าเอาแบบนายตำรวจทั้งสองคนนี้ได้สบายแน่นอน

เมธี กุศลสร้าง !!!

 

 

 

RELATED ARTICLES