“การไประงับเหตุทันท่วงที คือ หัวใจของงานสายตรวจ”

คืนถิ่นเก่ากลับมานั่งเป็น “ผู้นำหน่วย” รับผิดชอบงานดูแลป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของคนเมืองหลวง

พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ พยายามนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปเป็น “ตำรายุทธวิธี” เสริมประสิทธิภาพการทำงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้พร้อมรับมือภัยอาชญากรรมทุกรูปแบบ

ควบคู่กับเต็มเติมขวัญกำลังใจเพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่งก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณความเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

ทำตำรวจ “สายตรวจ 191 เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชนในยามมีภัยเดือดร้อนที่พร้อมจะเข้าช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุข

 

ลูกชายนายทหารทัพฟ้า ผ่าเหล่าเข้าสวมบททัพสีกากี

ย้อนไทม์ไลน์เส้นทาง พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ เด็กหนุ่มชาวนครสวรรค์ ลูกชายนาวาโททัพฟ้า กองบิน 2 กองทัพอากาศไทย ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี ชีวิตเลยต้องไปโตอยู่ในค่ายทหารท่ามกลางฝูงบินอากาศโยธิน เริ่มต้นเรียนชั้นอนุบาลถึงวัยประถมโรงเรียนค่ายนารายณ์ศึกษา ไปต่อชั้นมัธยมต้นโรงเรียนวินิตศึกษา มัธยมปลายโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย

ความฝันวัยเด็กอยากเป็นนักบินเหมือนพ่อและพี่ชาย พอไปสอบเข้าเตรียมทหารติดทุกเหล่า ถึงเวลาตัดสินใจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจส่งเอกสารมายืนยันผลการสอบได้ระดับคะแนนดีเยี่ยม “คุณพ่อแนะนำอยากให้เปลี่ยนดูบ้าง เพราะพี่ชาย 2 คนเป็นทหารอากาศหมดแล้ว ชีวิตผมก็เลยเรียกว่า ผ่าเหล่า ไปเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 55 จากที่ไม่เคยใฝ่ฝันจะเป็นตำรวจมาก่อน” เจ้าตัวลำดับชีวิต

เขาบอกว่า พอได้เข้าไปเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทำให้เห็นภาพกว้างขึ้น มองว่า ตำรวจอยู่ในระเบียบวินัย การทำงานต้องมีความเสียสละ ยิ่งเห็นรุ่นพี่ออกไปทำงานสายตรวจป้องกันเหตุ หรือออกจับคนร้าย ถึงเข้าใจได้ว่า ตำรวจเป็นงานที่ท้าทาย น่าสนุก น่าแสวงหาค้นคว้า ทำให้ชอบและซึมซับมาตั้งแต่ตอนนั้น

 

ฝึกงานสัมผัสความจริงภาคสนาม ตามเบียดคะแนนเทอมสุดท้ายได้ที่ 1 

ขณะเดียวกัน นับเป็นความโชคดีของเขาที่ได้เบ้าหลอมดีตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักเรียนฝึกงานโรงพักบางนา มีรุ่นพี่อย่าง “ชูศักดิ์ ขนาดนิด” พี่นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 เป็นพี่เลี้ยงสอนงานสอบสวน พ.ต.อ.ปิยรัชเล่าว่า หลังจากกลับไปเรียนเทอมสุดท้าย ทำให้มองภาพตำรวจแท้จริงเป็นอย่างไร เมื่อได้ออกมาสัมผัสการใช้ชีวิตตำรวจโรงพักจริง ฝึกทำสำนวน ออกตรวจที่เกิดเหตุ ต้องเป็นอย่างนี้เอง ที่เราไม่เข้าใจ พอได้ออกมาใช้ชีวิตจริง ได้ฝึกงาน ได้ทำโน่นทำนี่ ได้ทำสำนวน เราถึงเข้าใจ

พ.ต.อ.ปิยรัชมองว่า ภาพตอนแรกสมัยเรียนในโรงเรียนเหมือนกับวิชาการ เรียนรู้แต่หลักทฤษฎี เมื่อไปเจอของจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะต้องปรับตามสถานการณ์ ตามหน้างานขณะนั้น กระทั่งเรียนจบได้เลือกลงในนครบาล บรรจุที่โรงพักพระโขนง อาจเพราะพื้นที่ติดกับบางนา สถานที่ที่เราคุ้นเคย ประกอบกับมีตำแหน่งว่างตรวจนั้นพอดี

จะว่าไปแล้วจากเดิมที่ค่อนข้างไม่ค่อยสนใจเรียนกลับมาทำคะแนนแรงปลายในเทอมสุดท้ายเมื่อเข้าใจบริบทของความเป็นตำรวจมากขึ้น ทำให้สอบทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 1 ของรุ่นตอนเทอมสุดท้าย แต่นับคะแนนรวม 3 ปีกับอีกเทอม  “เจษฎา บุรินทร์สุชาติ” เพื่อนร่วมรุ่นของเขาถูกบันทึกไว้เป็นที่ 1 ของนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 55

 

มุ่งมั่นปั่นหน้าที่อยู่โรงพักไม่กี่ปี ฉายแววดีลุยงานสายตรวจ 191 

ประเดิมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พ.ต.อ.ปิยรัชว่า มีพนักงานสอบสวนเพียง 9 คน ขณะนั้นถือว่า น้อยมาก พระโขนงมีคดีเยอะ 3,000-4,000 คดี งานล้นมือ แต่ก็ตั้งใจทำงาน ไม่ได้ท้อถอย ฝ่าฟันไป นอนแฟลต ออกเวรก็ขึ้นศาล เป็นพยานชั้นศาล จน พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ขณะนั้นเป็นรองสารวัตรสายตรวจ 191 ที่พักแฟลตเดียวกันมอบโอกาสให้มาทำงานอยู่แผนกสายตรวจ 2 คุมเขตนครบาลใต้ ทำหมดทุกหน้าที่ เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ

ปรับจากหน้างานสอบสวนไปทำงานสายตรวจ มีส่วนอย่างมากให้เขารู้ถึงหน้าที่รับผิดชอบตามหลักการของหน่วย “เราต้องรีบไประงับยับยั้งเหตุ ถ้าเข้าไปถึงไว ประชาชนก็ได้รับการบริการ ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที ไม่อย่างนั้นความเสียหาย หรือความสูญเสียมันอาจจะเกิดขึ้น หรือยกระดับได้ การไประงับเหตุทันท่วงที คือ หัวใจของงานสายตรวจ จำเป็นต้องไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเกิดไปช้า มันอาจจะลุกลามบานปลาย” เจ้าตัวสีหน้าจริงจัง

ทำหน้าที่นั่งรถสายตรวจเมืองหลวงนาน 6-7 ปี เขาขยับขึ้นเป็นนายเวร พล.ต.อ.ชนินทร์ ปรีชาหาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการประจำ เปิดโอกาสให้เรียนรู้งานเอกสาร เรียนรู้จากผู้เป็นนายที่คุมงานป้องกันปราบปราม และหน้างานสืบสวน สะสมประสบการณ์อยู่ 4-5 ปีจน พล.ต.อ.ชนินทร์ ปรีชาหาญ เกษียณอายุราชการ

 

นั่งสถานีตำรวจรถไฟศิลาอาสน์ ได้โอกาสโชว์ผลงานบริการชาวบ้าน

เที่ยวนี้เขาลงไปแจ้งเกิดตำแหน่งสารวัตรสถานีตำรวจรถไฟศิลาอาสน์ กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจรถไฟ ตั้งอยู่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คุมเส้นทางสายเหนือ หยิบเอาโครงการโปลิศอินเทรนไปใช้ขับเคลื่อนตำรวจรถไฟให้เกิดแนวคิดและค่านิยมใหม่ สอดคล้องไปกับโครงการโปลิศมายด์  ที่เจ้าตัวขยายความว่า หน้างานรถไฟ เป็นหน้างานที่น่าศึกษาเรียนรู้  ตำรวจหลายๆ คน ควรจะต้องไปสัมผัส เพราะเกี่ยวกับงานบริการประชาชน บางทีบางคนมักคิดว่า ภาพเป็นตำรวจแล้วไม่ใช่มีหน้าที่จะต้องไปให้การบริการ ไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่จริง ๆ ต้องทำ

“โครงการโปลิศมายด์ ถึงต้องออกมาจากจิตใจ คือ เราต้องอยากให้ใครได้รับการบริการ ได้รับการช่วยเหลือ ใจเราต้องไปก่อน ยิ้มแย้ม ทักเขาก่อน อยากจะได้อะไรก็คุยกับเขา ถ้าไม่รู้จักกัน แค่เราเป็นตำรวจไปทักก่อน ยิ้มแย้มแจ่มใส โอภาปราศรัย อ่อนน้อม แล้วก็มีความพร้อม แต่งกายให้ดูดี ตัดผมเผ้าให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้ชาวบ้านก็จะเริ่มหันมาศรัทธาตำรวจแล้ว”

พ.ต.อ.ปิยรัชพลิกระบบตำรวจรถไฟศิลาอาสน์เป็นต้นแบบการให้บริการยิ้มแย้ม แจ่มใส ทักทาย อ่อนน้อม พร้อมบริการ เบิกบานด้วยมุทิตา เขาเชื่อว่า ถ้าเราช่วยเหลือดูแลประชาชนให้มีความสุข ตัวตำรวจเองก็จะมีความสุขด้วย ปรับทัศคติตำรวจรถไฟใหม่ ตามโครงการโปลิศมายด์ที่ต้องทำออกมาจากจิตใจของตัวตำรวจก่อน

เปลี่ยนอาร์มสังกัดกองปราบ ลับดาบเสริมเขี้ยวเล็บเต็มสมอง

ระหว่างนั้น พ.ต.อ.ปิยรัช ได้ทำโครงการตรวจร่วมกับกองบังคับการปราบปราม จับมือ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขณะนั้นคุมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือคอมมานโด เดินตรวจคู่คอยป้องกันเหตุบนขบวนรถไฟตามเส้นทางสายเหนือ ทำตำรวจรถไฟมีผลงานจับกุมคดียาเสพติดลอตใหญ่จากที่ไม่เคยจับมาก่อน รวมถึงจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีสำคัญได้จำนวนไม่น้อย เพราะนำเอาเทคโนโลยีตรวจสอบข้อมูลหมายจับไปใช้ขณะผู้ต้องหาลงทะเบียนซื้อตั๋วโดยสารรถไฟ

ผลงานโดดเด่นในบทตำรวจรถไฟศิลาอาสน์ ผลักดันให้เขาขยับตำแหน่งเปลี่ยนอาร์มขึ้นเป็นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ถือเป็นโอกาสสำคัญทำนายตำรวจหนุ่มเรียนรู้หลักสูตรการฝึกยุทธวิธีตำรวจหลากหลาย อาทิ หลักสูตร ANTI TERRORISM RESPONSE TACTIC (ACTIVE SHOOTER)  จาก ALERRT FBI USA หลักสูตรการยิงปืนภายใต้สภาวะความกดดัน ปืนกึ่งอัตโนมัติ  หลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายสากล INTRUCTOR ของหน่วยนเรศวร 261

หลักสูตร VIP PROTECTION รุ่นแรกของกองบังคับการปราบปราม จากนั้นบินลัดฟ้าไปอบรมหลักสูตร Israel Tactical คอร์ส  Counter Terror tactics : Hostage rescue, Active shooter & Executive Protection จากสถาบัน Israel Tactical School กลับมาอบรมหลักสูตรการใช้อาวุธปืนไฟฟ้า Teser ศูนย์ฝึกอาวุธปืนไฟฟ้าประเทศไต้หวัน หลักสูตร ยุทธวิธีการใช้อาวุธปืน Sig MPX MCX P320 DMR Operation ศูนย์ฝึก Sig Sauer Academy ณ รัฐบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตร IDPA SAFETY OFFICER ขั้นพื้นฐาน จาก IDPA รวมถึง หลักสูตรสยบบริปูสะท้านคอมมานโด กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ หลักสูตรกระโดดร่ม ความสามารถส่งทางอากาศ ชั้นที่ 3  และหลักสูตรการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง

 

คืนถิ่นนำขุมกำลังดูแลเมืองหลวง ควงนโยบายภายใต้ทีมเวิร์ก  

ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ คืนถิ่นเก่าที่เคยอยู่เมื่อสมัยเป็นรองสารวัตร พ.ต.อ.ปิยรัชบอกถึงนโยบายการทำงานเบื้องแรก คือ สมัยเป็นเด็ก เราอยากให้หน่วยเป็นแบบไหน พอเราโตขึ้น เรามีโอกาสเติมเต็มสิ่งที่ยังขาด เราก็ต้องทำ สมัยนั้นเราเคยคลุกคลีกับลูกน้อง พอเป็นผู้กำกับเราก็ไปคลุกคลีเหมือนเดิม

“ผมพยายามสร้างหน่วยให้เป็นทีมเวิร์ก ลำพังหัวหน้าหน่วยคนเดียว ทำไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นฟันเฟืองสำคัญ คือ รองผู้กำกับ สารวัตร รองสารวัตร ไปจนถึงชั้นประทวน  พวกนี้ คือ ทีมเดียวกัน มองตาต้องรู้ใจ ใครถนัดงานไหนไปลุย ทั้งสืบสวนและสายตรวจต้องไปคู่กัน งานป้องกันปราบปราม งานรับแจ้งเหตุ ต้องไปคู่กับงานบริการประชาชน”

“นโยบายผม ก็เหมือนที่ผมทำตอนสมัยเป็นรองสารวัตร ตามหลักการของหน่วย มีท่านผู้บังคับการ 191 สอนว่า ต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุให้ไวที่สุด เพื่อที่จะไปช่วยเหลือ ระงับยับยั้งเหตุ ภัยต่าง ๆ  ความเดือดร้อนของประชาชนต้องมาก่อน เราต้องรีบเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ก่อนจะยกระดับบานปลายไปอีก” พ.ต.อ.ปิยรัชบอกและว่า ส่วนการปกครองลูกน้องจะเหมือนเป็นครอบครัวมากกว่า ถ้าตำรวจทำงานมีความสุข งานก็ออกมาดี สมกับคำว่า งานสำราญ คนสำเร็จ

งัดเอาตำราวิชายุทธวิธีสากล เป็นกันชนพร้อมรับเหตุวิกฤติ

รถสายตรวจเขตครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร แผนตามพันธกิจเวลามีเหตุต้องไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด แต่ต้องประเมินสถานการณ์ตามยุทธวิธี พ.ต.อ.ปิยรัชถึงนำตำราสากลจากการที่ไปเรียนรู้ในคลังสมองทั้งหมดไปถ่ายทอดแก่ลูกน้องเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ตามนโยบายของ พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ

เขามองภาพอาชญากรรมในอนาคตเป็นภัยร้ายแรงที่แม้ยังไม่เกิดในเมืองไทย แต่จำเป็นต้องนำบทเรียนจากต่างประเทศมาศึกษา หลังพบพฤติกรรมคนร้ายเปลี่ยนเป็นการเข่นฆ่าผู้บริสุทธ์ไร้เหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัว ฆ่าตามความเชื่อ เหยียดผิว ลัทธิ โรคจิต รวมถึงก่อการร้าย เป็นสถานการณ์ร้ายแรงเร่งด่วน ที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าระงับเหตุให้ทันเพื่อหยุดยั้งการเข่นฆ่าชีวิต และลดความสูญเสียให้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่ควรมีทักษะการรับมือต่อสถานการณ์เหล่านี้

พ.ต.อ.ปิยรัชหยิบแบบเรียนของสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ ไปบรรยายให้ความรู้การปฏิบัติการบริหารเหตุวิกฤตการณ์กรณีเหตุ “สังหารหมู่” ให้ผู้เข้ารับการอบรมสายตรวจในกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อกระจายความรู้เหล่านี้ สู่ตำรวจทุกหน่วยงานรับมือเพื่อดูแลชีวิตของประชาชน เพราะเกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมที่เป็นรูปแบบใหม่

 

ถอดบทเรียนผิดพลาดของเหล่าฮีโร่ หาช่องโหว่ชิ้นโตลดการสูญเสีย

“มันจะน้อยแล้วที่ว่าจับตัวประกันเรียกร้องอะไร เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปใช้ปืนมากราดยิงผู้คน ไม่ว่าตามห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือในผับ ความสูญเสียมันเยอะ อนาคตอย่าคิดว่า ประเทศไทยจะไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเตรียมความพร้อม มันไม่ใช่ว่า แค่คอมมานโดกองปราบปราม แค่ว่าอรินทราช 26 หรือนเรศวร 261 ที่เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาสนับสนุน ต้องเป็นตำรวจโรงพักนี่แหละ ทีมีหน้าที่ตรวจตรา รับผิดชอบ ในเขตพื้นที่ตัวเอง”

ผู้กำกับการสายตรวจอธิบายเพิ่มเติมว่า  ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจท้องที่มีโอกาสที่จะเผชิญเหตุหน่วยแรก เพราะฉะนั้นการเข้าไประงับยับยั้งคนแรก ถ้าไม่มียุทธวิธีที่ดีพอ เจอเหตุการณ์แบบนี้ บางทีอึ้ง ทำอะไรไม่เป็น เนื่องจากโดนปลูกฝัง ถูกสอนมาในสถาบันตำรวจว่า ต้องเรียกกำลังเสริม หรือรอหน่วยสวาทถ้าเจอเหตุร้ายแรง ต้องรอหน่วยสนับสนุน แล้วจะทันท่วงทีหรือไม่กว่าหน่วยพิเศษจะเข้ามา ยิ่งช้ากี่ชีวิตต้องเสี่ยงต่อการสูญเสีย เท่ากับเวลากับชีวิตที่แลกกัน เราต้องพยายามที่จะกระจายความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดต่อ

เขารวบรวมความรู้ที่ได้ไปศึกษาอบรมมาตกผลึกทำเป็นตำรายุทธวิธีตำรวจเป็นขั้นตอนอ้างอิงไม่ใช่จะไปสอนกันมั่ว ต้องมีหลัก อย่างในอเมริกา พ.ต.อ.ปิยรัชบอกว่า เอาบทเรียนความผิดพลาดจากฮีโร่ที่เสียชีวิตมาสอน ทำเป็นคอร์สหาช่องโหว่ที่เสียชีวิตไปเพราะอะไร เช่น ยืนตรงประตูไม้ หรือสังกะสี แล้วคนร้ายยิงสวนออกมา การเคลื่อนที่ การสแกนตั้งแต่รับแจ้งเหตุภัยคุกคามเป็นยังไง จะจอดรถสายตรวจตรงไหน การเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่มีภัยทำอย่างไร ถ้าเกิดมีตำรวจหน่วยอื่นมาร่วมด้วยจะต้องทำอย่างไรในการประกอบทีม เนื่องจากมีหลายเคสในต่างประเทศที่ผิดพลาดยิงกันเอง

อบรมยันเรื่องปฐมพยาบาล รับสถานการณ์เลือดตกยางออก

“กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ตำรวจต้องทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชิน สามารถเอาไปทำงานได้อย่างปลอดภัย ถ้าตำรวจไม่เคยฝึกจะทำอะไรไม่ถูก เหมือนกับเป็นการแชร์ความรู้ แชร์วิชาชีวิตให้ตำรวจเราเอง ถ้าเกิดตำรวจทำงานแล้วยังไม่ปลอดภัย ออกไปก็จะอันตรายทั้งตัวตำรวจ ผู้บริสุทธิ์ แม้กระทั่งตำรวจต้องเปลี่ยนพลิกบทให้ไว จากที่ต้องเป็นคนตอบโต้กับคนร้าย พอเราจับคนร้ายได้ เราต้องเปลี่ยนบทมาดูแลปกป้องคนร้ายไม่ให้ถูกชาวบ้านรุมเข้ามาทำร้าย เหมือนตำรวจต้องมี 2 บุคลิกในตัวเองจากผู้ล่าและผู้ป้องกัน”

ผู้กำกับการสายตรวจ 191 สอนไปถึงหลักการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ฝึกอบรมการใช้สายรัดกรณีเพื่อนตำรวจบาดเจ็บ ผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บโดนยิง หรือแม้กระทั่งคนร้าย ตำรวจต้องปฐมพยาบาลเป็นการรักษาชีวิตตำรวจ ผู้บริสุทธิ์ รวมถึงคนร้ายที่ไม่มีทางสู้ สอนในเรื่องเทคนิคการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CARDIO-PULMONARY RESUSCITATION : CPR)  เวลาเผชิญเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ต้องรอทีมแพทย์ รอหน่วยฉุกเฉิน ตำรวจต้องทำเองได้

“ถ้าเป็นเด็กจะต้องทำยังไง อาจจะใช้แค่นิ้ว เด็กโตหน่อยอาจจะใช้แค่มือเดียว ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็สองมือ มีท่า ถ้าเกิดไม่เคยรับการอบรมเลยจะตื่นตระหนก หากไม่ทำอะไรเลยโอกาสสูญเสียมากกว่ารอด เหล่านี้ คือ สิ่งที่ตำรวจสายตรวจ และตำรวจทุกหน่วยต้องเรียนรู้” พ.ต.อ.ปิยรัชว่า

 

ทำอะไรให้นึกถึงพระราชา และศรัทธาที่จะมาจากประชาชน

นายตำรวจหนุ่มตอกย้ำว่า หากแก้ไขสถานการณ์เร็ว ประชาชนก็ได้ประโยชน์ เป็นการสร้างภาพตำรวจ หน่วย 191 ให้ชาวบ้านศรัทธามากขึ้น เพราะเราทำอะไร เรานึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ มีประชาชนเป็นที่ตั้ง ตำรวจทำแล้วประชาชนได้อะไร ไม่ใช่ว่าตำรวจจะได้อะไร เพราะถ้าเราคิดอย่างนี้ ถือว่า จบแล้ว แพ้แล้ว ต้องเปลี่ยนความคิดก่อนว่า การทำโครงการแบบนี้ ประชาชนจะได้อะไรจากโครงการนี้ จากกิจกรรมนี้

“ผมจะสอนจะแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาไว้เป็นทิศทางในการทำงาน อาจจะเหนื่อยหน่อย เวลามีคนบ่นเหนื่อยมาก เพราะภารกิจเข้ามาตลอด หมุนเวียนเปลี่ยนไป ผมจะบอกเสมอว่า คุณเคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานไหม พระองค์มีบ่นเหนื่อยไหม ที่ทำงานของพระองค์ คือ ป่าเขา ไม่มีแอร์ ไม่มีห้อง ประทับกลางแดด ภาพที่พระองค์ทรงงานแล้วมีเหงื่อหยดปลายพระนาสิก ภาพนั้นมันฝังหัวเรา และจะพยายามสอนน้อง ๆ สอนผู้ใต้บังคับบัญชาให้เกิดความซึมซับ”

พ.ต.อ.ปิยรัชว่า ตำรวจสายตรวจ 191 ทุกคนต้องรู้ถึงคำว่า “Unsung Hero” ผู้ปิดทองหลังพระ อยากให้ทุกคนทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนมากกว่าการทำงาน เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังตามรอยพระราชปณิธานในหลวง เมื่อเราเป็นข้าราชการ ความหมายตรงตัวอยู่แล้ว ราชมาจากราชา การ คืองาน ดังนั้นคำว่า ข้าราชการ คือ ผู้ที่มาทำงานถวายพระเจ้าแผ่นดิน  ขณะเดียวกัน เครื่องแบบตำรวจ 191 ทุกคนมีตราอุณาโลมติดอาร์มบนแขน บ่งถึงความเป็นตำรวจที่ทรงเกียรติ เราถูกถ่ายทอดปลูกฝังมาว่า รุ่นพี่ทำไว้ดีแล้ว เรารุ่นหลัง เป็นคลื่นลูกใหม่ คลื่นลูกเก่าโรยราไป คลื่นลูกใหม่ก็ต้องดีกว่า ถ้ามีคนอื่น หรือน้อง ๆ เก่งกว่าก็ดี เพราะหน่วยยิ่งมีการพัฒนา ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่

มั่นใจได้ทีมงานมากคุณภาพ ช่วยหาบความคิดใช้ธรรมะนำชีวิต

ด้วยความที่เหมือนลูกหม้อของหน่วย พ.ต.อ.ปิยรัช มั่นใจจะสามารถสร้างทีมเวิร์กผนึกกำลังให้สายตรวจ 191 ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะทุกคนรู้หน้าที่หมด และรู้จักคุ้นเคยกันมานาน ตั้งแต่ พ.ต.ท.จามร ทองพรรณ รองผู้กำกับการสายตรวจ ดูงานฝ่ายอำนวยการ พ.ต.ท.อัครพล โทยะ รองผู้กำกับการสายตรวจ หน้างานสืบสวนคนนี้เก่งมาก ๆ ผนึกกำลังกับทีม พ.ต.อ.ประสงค์ อานมณี รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ชื่อนี้ไม่ต้องพูดมากในวงการทราบฝีไม้ลายมือดี และมี พ.ต.ท.ฤทธิเดช อนันตโสภณ รองผู้กำกับการสายตรวจ คุมงานยุทธวิธีตำรวจ พ.ต.ท.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ รองผู้กำกับการสายตรวจ จบเรื่องงานสายตรวจมาเฉพาะ พ.ต.ท.กันตพัฒน์ อื้อศรีวงศ์ รองผู้กำกับการสายตรวจช่วยในหลายๆ เรื่อง

ขณะเดียวกัน เขายังมีรุ่นน้องระดับสารวัตรงานคุณภาพคับแก้ว ทั้ง พ.ต.ต.ไพบูลย์ สอโส สารวัตรงานสายตรวจ 1 พ.ต.ต.จักรกริช เวียงสมุทร สารวัตรงานสายตรวจ 2 พ.ต.ต.อัษฎาวุธ ขวัญเมือง สารวัตรงานสายตรวจ 3 พ.ต.ต.มังกร พันธุระศรี สารวัตรงานธุรการ ร่วมกับระดับรองสารวัตรหัวหน้าสายตรวจและทีมงานชั้นประทวน อาทิ ร.ต.อ.แมนรัตน์ หล้าสมบูรณ์  ร.ต.ท.วันชัย อำนวยพานิช  ร.ต.ท.สุรพล อารีชาติ ร.ต.อ.เชษฐพร บัวจันทร์  ร.ต.ท.ชัชรินทร์ อิษฎานนท์ ร.ต.อ.วุฒิชัย บุญยู้  ด.ต.วัลนพ เบญจวิกรัย ด.ต.ไพโรจน์ จำนง  มี ร.ต.อ.วีระยุทธ ตงเท่ง รองสารวัตรงานธุรการ คอยดูงานด้านธุรการ

“อีกเรื่องที่สำคัญ ผมและทีมพยายามถ่ายทอดฝากเรื่องการใช้ชีวิตของตำรวจแก่ลูกน้องทุกคน ให้หวังน้อย หรือมีความอยากให้น้อยที่สุดเสียสละให้เยอะที่สุดแล้วจะพบกับความสุขเพราะที่สุดชีวิต คนเราก็เอาอะไรไปไม่ได้เลยทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ธรรมะในชีวิต คิดดี พูดดี ทำดี ชีวิตก็จะพบแต่ความสุข” นายตำรวจมากอุดมการณ์ระบายความรู้สึก

 

วาดนิยามรถสายตรวจในฝัน นวัตกรรมใหม่ใช้กำราบผู้ร้าย

ทิ้งท้ายเจ้าตัวยังวาดภาพรถสายตรวจในนิยามของเขา ต้องเป็นทั้งรถตรวจการณ์ (patrol) ในเชิงป้องกันอาชญากรรมก่อนเกิดเหตุ และเป็นทั้งรถตอบสนองเหตุการณ์ (first responder) ในเชิงแก้ไขสถานการณ์หลังเกิดเหตุที่มีประสิทธิภาพ อนาคตต้องมีนวัตกรรมรถสายตรวจ หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น  เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดี

นวัตกรรมรถสายตรวจนั้น แยกออกเป็นส่วนของโครงสร้าง อุปกรณ์ส่วนควบทางกายภาพ เช่น โครงสร้างตัวรถ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ได้ว่า รถสายตรวจมีโอกาสที่จะปะทะกับรถคันอื่น ๆ ในระหว่างการไล่ล่า หรือเข้าระงับเหตุได้ ตัวโครงสร้าง (เฟรม แชสซีย์ กันชน ห้องโดยสาร) ควรได้รับการดัดแปลงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น รองรับการปะทะได้มากขึ้น

มีกรง หรือแผ่น อะคริลิคใสสำหรับควบคุมตัวผู้ต้องหา เช่นเดียวกับสีรถต้องสีมีผลทางจิตวิทยาและสายตาของคนสามารถรับรู้ มองเห็นสีต่าง ๆ ได้ชัดเจนในระยะที่แตกต่างกัน การออกแบบสีและลวดลายบนตัวรถจึงมีความสำคัญ  มีสติกเกอร์กันรถชนด้านท้าย Car reflective stickers  มีส่วนควบระบบดิจิทัลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ระบบบันทึกภาพ และ auto video uploading สำคัญมากในแง่ของการต่อสู้ในชั้นศาล การปฏิบัติงานภายใต้กรอบกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน มีระบบวิทยุสื่อสารพื้นฐานของการติดต่อสื่อสาร ติดตั้งอุปกรณ์ส่วนแยกที่ไม่เกี่ยวกับตัวรถ แต่ควรมีในรถ เช่น ปืนลูกซอง หรือปืนกลมือ โล่กันกระสุน  เหล่านี้ล้วนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่รถสายตรวจต้องพัฒนาเพิ่มศักยภาพไว้ใช้ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและดูแลชีวิตทรัพย์สินของคนเมืองหลวง

 

 

RELATED ARTICLES