“ผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะผู้ใต้บังคับบัญชา”

ขยับขึ้นมารับบทผู้นำแทน พล.ต.ท.สุทธิวงษ์ วงษ์ปิ่น ที่ครบเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา กลายเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนแรกในรอบหลายปีที่ได้รับความไว้วางใจให้นั่งตำแหน่งคุมทัพตำรวจเมืองหลวงเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนที่ 50 ในประวัติศาสตร์

แม้ไม่ใช่ “ลูกหม้อหน่วย” แต่ด้วยประสบการณ์ทำงานในวังปารุสกวันนานเกินกว่า 5 ปี ย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางของการบริหารงานองค์กรเป็นอย่างดี

บุคลิกส่วนตัวอาจดูเงียบขรึม ไม่หวือหวา ทว่าถือเป็นนายพลตำรวจครบเครื่องเรื่องบู๊บุ๋นต่อต้นทุนให้รับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินชาวกรุงเทพมหานคร

ภายใต้วิสัยทัศน์ “จงรักภักดี มั่นคง ปลอดภัย รับใช้ประชาชน”

 

ทายาทนักธุรกิจเมืองหอยใหญ่  เลือกเทใจรับบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ย้อนประวัติชีวิต พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา พื้นเพเดิมเป็นชาวสุราษฎร์ธานี เกิดในครอบครัวพ่อแม่ทำธุรกิจสวนปาล์ม โรงโม่ และเหมืองแร่ เป็นลูกชายคนที่ 4 ของตระกูล ที่ต้องไปใช้ชีวิตวัยประถมอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนประจำชื่อดังของจังหวัดชลบุรี กระทั่งตัดสินใจสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ฉีกแนวพี่น้องที่เลือกเดินเส้นทางสายนักธุรกิจกันหมด

เจ้าตัวรับว่า ความคิดตอนนั้นอาจแตกต่างจากคนอื่น บางคนเป็นลูกนักธุรกิจ เห็นพ่อทำธุรกิจก็อยากเป็นนักธุรกิจ บางคนพ่อเป็นข้าราชการก็อยากเจริญรอยตามรับราชการเหมือนพ่อ สำหรับเรากลับกัน พ่อเป็นนักธุรกิจ แต่เราอยากรับราชการสวนทางกับคนอื่น แม้พ่อไม่อยากให้เป็น เพราะมีเชื้อสายจีนย่อมอยากให้ลูกชายทำธุรกิจอยู่แล้ว อยากให้ลูกมาช่วยธุรกิจครอบครัว

“ผมอยากทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง พูดแบบนี้อาจจะดูพระเอกไปหรือเปล่า” เจ้าตัวหัวเราะก่อนน้ำเสียงจริงจัง “ผมคิดว่า อาชีพตำรวจมันแตกต่างนะ ได้ช่วยเหลือคน ส่วนจะช่วยได้มากขนาดไหนก็เป็นความชอบด้วย เพื่อนผมส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจกันเกือบหมด เด็กอัสสัมชัญศรีราชาเป็นข้าราชการน้อยนะ เพราะเป็นลูกนักธุรกิจ สำหรับผม ตั้งใจว่า ถ้าเป็นข้าราชการแล้ว ถ้าไม่ใช่ ไม่ชอบ หรือไม่เจริญรุ่งเรือง หรือเราทำอะไรไม่ได้ เราก็พร้อมจะลาออก”

 

ประเดิมปฐมบทที่บ้านเกิด ได้จังหวะเปิดโอกาสสัมผัสผู้เป็นนาย   

ผ่านเข้าสู่รั้วเตรียมทหารรุ่น 22 ก้าวเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38  ตามความตั้งใจที่อยากทำงานใกล้ชิดประชาชน ได้ดูแลชาวบ้าน ประเดิมปฐมบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่บ้านเกิดในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองสุราษฎร์ธานี ก่อนย้ายเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.ชุมพล อรรถศาสตร์ ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 คุมพื้นที่ภาคเหนือ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์เล่าว่า ท่านชุมพลรู้จักกับพ่อ ถึงขอให้ไปอยู่ด้วย ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เรียนรู้งานกิจการพิเศษที่ตัวท่านเป็นคนเริ่มต้นเขียนแผนกรกฎขึ้นมาใช้เป็นรากฐานในงานกิจกรรมพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจวบจนปัจจุบัน เนื่องจากท่านชุมพลเคยรับราชการอยู่ตำรวจตระเวนชายแดน มีความรู้เรื่องยุทธวิธี และเรื่องกิจการพิเศษ เรื่องความมั่นคง

“แผนกรกฎไม่ใช่แผนรองรับเรื่องการชุมนุมประท้วงอย่างเดียว แต่เป็นแผนที่ร่างขึ้นไว้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ตั้งแต่ไฟไหม้ น้ำท่วม ไปจนถึงการจี้ตัวประกัน หรือเหตุวินาศกรรม มีขั้นเตรียมการ ขั้นก่อนเกิดเหตุ ขั้นเกิดเหตุ และขั้นหลังเกิดเหตุ ให้ตำรวจเตรียมความพร้อม กำหนดแนวทางการปฏิบัติ เป็นแม่แบบจนถึงทุกวันนี้”

 

ไต่เส้นทางสายงานกำลังพล ก่อนไปกำราบคดีอิทธิพลแดนใต้

หลังจากผู้เป็นนายเกษียณอายุราชการตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ เขาย้ายลงเป็นรองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 2 ขึ้นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 6  เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 5 และผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยตำรวจภูธรภาค 1 ล้วนรับผิดชอบงานด้านกำลังพลของหน่วยก่อนขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท

จากนั้นคืนถิ่นเกิดเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมไขคดีสังหารโหดคนงานชาวพม่า 4 ศพ ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2551 ใช้เวลาตามรอยอยู่ไม่นานสามารถจับกุมแก๊งคนร้ายเป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ทั้งหมด 6 คน พฤติกรรมโหดเหี้ยมจับคนงานพม่าทั้งชายและหญิงมัดมือไพล่หลังด้วยสายไฟลากขึ้นรถไปยิงทิ้งอย่างเลือดเย็น

ต่อมาเข้าไลน์นักสืบเต็มตัวตำแหน่งรองผู้บังคับการหัวหน้าศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 คลายปมคดีสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบอีกไม่น้อย โดยเฉพาะคดีมือปืนยิงนายปรีชา เพชรประเสริฐ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพูน บริเวณบนถนนพูลศิริ ในเขตเทศบาลเมืองนาสาร ตำบลนาสาร  อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 รวบตัวนายประสาท หรือสุรชัย หรือไข่  วิชัยดิษฐ์  คนลั่นไกนำไปสู่ตัวผู้บงการและทีมสังหารยกแก๊ง

 

ขึ้นผู้การควบคุมฝูงชน ผจญวิกฤติชุมนุมใหญ่ในเมืองหลวง

กระทั่ง พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จึงเลือกนายตำรวจหนุ่มรุ่นน้องขึ้นมาร่วมทำงานสังกัดทัพเมืองหลวงครั้งแรก เป็นผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2552 ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ระอุแตกกันเป็นสองฝ่าย แบ่งออกเป็นสองสี

พล.ต.ท.ภัคพงศ์บอกว่า กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเป็นหน่วยใหม่ที่ยกระดับขึ้นมาจากกองกำกับการปราบจลาจล ตอนแรกความพร้อมด้านอุปกรณ์และกำลังพลยังไม่ค่อยเรียบร้อย มีแนวโน้มการชุมนุมจะลุกลามมากขึ้น ส่วนตัวอยากอยู่บ้านเกิด แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาให้มาทำงานก็ต้องมา เราไม่รู้เหตุผลว่า เพราะอะไรถึงเลือกเรา ทว่ามาทำงานแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนคนที่ 2 ของหน่วยต่อจาก พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จากรัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมที่ปิดถนนยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน ก่อนจะมีประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง และพระราชบัญญัติฉุกเฉิน มีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังสถานการณ์บานปลายและรุนแรงขึ้น

 

ยอมรับความคิดเห็นแตกต่าง แต่จำเป็นต้องวางทีมรักษาความสงบ

“ผมต้องมาเจอเหตุการณ์คนไทยทะเลาะกันเอง” เขาระบายความรู้สึก “ในความคิดของตำรวจทุกคน เราเคารพในเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้ชุมนุม เพียงแต่ว่า การแตกต่างของฝ่ายไหนก็แล้วแต่ มันก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่น คุณจะชุมนุมจะแสดงออก ถ้าโดยสงบ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ว่าการชุมนุมในช่วงนั้นมันเกิดความรุนแรง ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชน และประเทศชาติจะด้วยเหตุผลอะไรผมไม่ทราบนะ  สมมติว่าเกิดขึ้นในช่วงปกติ การคิดเห็นต่าง ผมว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าทุกคนทุกฝ่ายความเห็นต่างมันอยู่ในกรอบ เพียงแต่ว่ามันอยู่ในกรอบได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง”

“ ผมไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ใครจะมีความเห็นยังไง ผมเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ ถ้าอยู่ในกรอบ ตำรวจก็ต้องอยู่ในกรอบ การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารคนไหนหรอกที่จะทำร้ายผู้ชุมนุม จะมายิง มาเข่นฆ่ามันไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้ามาเพื่อจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมันสงบแค่นั้นเอง แต่การชุมนุมประท้วงช่วงนั้น ผมว่ามันเกินขีดการชุมนุมโดยสงบนะ” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ว่า

นายพลตำรวจผู้ควบคุมสถานการณ์เดือดของการชุมนุมในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคหนึ่งอยู่เคียงข้างผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดหลายเดือน สัมผัสได้ถึงความเหนื่อยล้า ความเครียด ความหิว และความกลัวของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่ชุมนุม เพราะเต็มไปด้วยการใช้ปืน  เสียงระเบิด ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างอดตาหลับขับตานอน กินข้าวไม่เป็นเวลากว่าเหตุการณ์จะยุติลง เจ้าตัวยืนยันคำเดิมว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองโดยมีจุดหมายเดียว คือ ขอให้เหตุการณ์มันสงบ ไม่มีใครมีเจตนาที่จะให้มันเกิดวุ่นวาย หรือทำให้ผู้ชุมนุม หรือใครก็แล้วแต่ได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย คือ เจตนาของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเวลานั้น

 

ย้ายไปนั่งเก้าอี้ชายขอบฝั่งธนบุรี งัดยุทธวิธีรับมือปัญหาอุทกภัย

หลังจากสถานการณ์สงบลง รัฐบาลยังบริหารประเทศไปอีกสักพัก แต่มีการเปลี่ยนแปลงภายในทัพตำรวจเมืองหลวง พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา (ยศขณะนั้น) ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดัน พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ไปอยู่จเรตำรวจ ส่วน พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา พ้นจากหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชนไปนั่งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 เป็นจังหวะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่พอดี

สภาพพื้นที่ของดินแดนชายขอบฝั่งธนบุรีตอนนั้น มีน้ำท่วมขังนานประมาณ 2 เดือน พล.ต.ท.ภัคพงศ์บอกว่า ตำรวจต้องเปลี่ยนการทำงานไปตามสถานการณ์ และได้มีโอกาสงัดแผนกรกฎมาใช้ในพื้นที่ ทำให้อยากขอบคุณท่านชุมพล อรรถศาสตร์ ผู้วาดแผนไว้ อีกทั้ง ท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่เข้าใจระบบการควบคุมสั่งการบริหารงานเพื่อแบ่งแยกหน้าที่การทำงานกันชัดเจนนำร่องไปสู่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจในเวลาต่อมา

“ทำไมแผนกรกฎถึงสำคัญ มันต้องเข้าใจหลักงานของตำรวจก่อน เป็นข้อแตกต่างกับทหาร เนื่องจากตำรวจคุ้นเคยกับใช้กำลังขนาดเล็ก จุดแตกหักของตำรวจอยู่ที่โรงพัก มีกำลังมากสุดไม่เกิน 200 กว่านาย แต่ต้องแยกสายงานอีก  พอเกิดสถานการณ์ไม่ว่าจะน้ำท่วมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ในระยะแรกจะงง เพราะถนัดแต่การใช้กำลังขนาดเล็ก แผนกรกฎถึงมีความสำคัญในการแก้ไขวิกฤติ มันทำให้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ไม่น้อย” อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 อธิบาย

 

กระเด็นออกนอกไปรั้วภูธร ไม่ยอกย้อนคิดอิดออดเพราะกอดวินัย

แล้วในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้อีกครั้งเมื่ออำนาจรัฐบาลสลับขั้ว เขาถูกย้ายเป็นผู้บังคับการประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วโยกพ้นหน่วยเป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 1 “ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่า ผมไม่เหมาะกับการอยู่นครบาล ไม่เหมาะจะอยู่พื้นที่ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ต้องยอมรับ เพราะเราเป็นข้าราชการ จบโรงเรียนหลัก คือ เตรียมทหาร สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนเตรียมทหารปลูกฝัง คือความอดทนอดกลั้น ความมีวินัย ผู้บังคับบัญชาอาจจะมีเหตุผลของเขา ไม่จำเป็นต้องบอกเรา ถ้าเป็นคำสั่งโดยชอบ เราก็ต้องปฏิบัติ”

“คนเรา ไม่ใช่จะได้ตำแหน่ง หรือได้อะไรในสิ่งที่เราต้องการตลอดชีวิตของเรา บางช่วง ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า เราเหมาะในการทำหน้าที่อย่างอื่น เราก็ต้องไป ถ้าเรามีวินัย ถ้าเราไม่มีวินัย ทุกคนก็อยากจะได้ดี ๆ หมด มันจะเป็นเรื่องที่ตำรวจคิดว่า ต้องอยู่พื้นที่ชั้นหนึ่งอย่างหรือ ผมว่า มันก็ไม่ใช่ พอมาเป็นตำรวจนครบาล ทุกคนต้องอยู่ทองหล่อ ทุกคนต้องอยู่ลุมพินี ทุกคนต้องอยู่บางรัก อยู่คลองตันหรือ ถามว่า มันจะได้อย่างนั้นไหม เมื่อผู้บังคับบัญชาย้ายเราไป เราก็ต้องยอมรับ” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ให้เหตุผล

“ผมว่า คนเรามันต้องสู้ ต้องอดทน อดกลั้น ถ้าเราไม่อดทน อดกลั้น เราไม่สู้ เราจะทำยังไง เราก็ต้องยอมแพ้ ก็ต้องลาออก แล้วถ้าเรายอมแพ้ ลาออก เราจะสอนลูกหลานเรา สอนลูกน้องอย่างไรว่า เวลาไม่ได้อย่างที่เราพอใจก็ลาออก อย่าไปทำอย่างนั้น ผมอาจจะคิดผิดหรือเปล่า ผมไม่รู้ หรือว่า ผมอาจจะไม่มีทางไป ผมก็ไม่รู้นะ ส่วนตัวผม คิดแค่ว่า คนเรามันก็ต้องต่อสู้”

 

คืนเก้าอี้รับผิดชอบพื้นที่ทั่วกรุง  มุ่งมั่นภารกิจสำคัญเหนือชีวิต

ระหกระเหินไปทำงานอำนวยการภูธรภาค 1 นาน 2 ปี อำนาจเปลี่ยนขั้วอีกระลอก เขาย้ายกลับมาขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยุค พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่เป็นแม่ทัพเมืองหลวง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานคดีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น อยู่ในคณะทำงานสืบสวนสอบสอบสวนคดีระเบิดศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ และอีกหลายเรื่องในภารกิจพิเศษ เช่น ได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ( โดรน ) กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่สำคัญเท่าความภาคภูมิใจในภารกิจสำคัญสุดเหนือชีวิต เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้อำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นคณะทำงานด้านการถวายความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานหัวหน้าจุดคัดกรองในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานอุ่นไอรักคลายความหนาว งานสวดมนต์ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และเป็นรองผู้บัญชาการโซนช่วยเหลือกำกับการดูแลการปฏิบัติในพื้นที่รับผิดชอบในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

 

ไม่คาดหวังจะเป็นแม่ทัพนครบาล ชูงานมั่นคงของสถาบันมาเป็นอันดับแรก

ตลอดระยะเวลา 5 ปีในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ได้คาดหวังจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้ความไว้วางใจ อาจจะเห็นว่า เราอยู่ที่นี่มาหลายปี เข้าใจปัญหาของนครบาล ทั้งที่ชีวิตเราไม่ได้หวือหวาอะไรเหมือนคนอื่น “ผมว่า มันเป็นจังหวะชีวิตนะ” เขาเชื่อแบบนั้น

แม่ทัพนครบาลคนที่ 50 วางนโยบายการทำงานไว้ชัดเจน เน้นเรื่องความมั่นคงของสถาบันเป็นอันดับแรก เพราะสถาบันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สถานบันพระมหากษัตริย์ได้นำพาประเทศชาติผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง เราเคยเห็นสถาบันคิดไม่ดีกับประเทศไหม คนเรามีความคิดแตกต่างได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย ความที่เราคงความเป็นประเทศไทยอยู่ได้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ชาติคงอยู่

เรื่องนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์มอบนโยบายการบริหารงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับไปปฏิบัติแล้วว่า  การพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดพระเกียรติเพื่อความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ต้องทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มกำลังความสามารถ ต้องไม่มีข้อผิดพลาดอย่างเด็ดขาด อย่าปฏิบัติงานด้วยความเคยชิน ผู้บังคับการต้องลงไปดูรายละเอียดของแผนปฏิบัติการด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ใช้เส้นทางให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และดำเนินการตามโครงการจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ

 

ให้ตำรวจกลับโรงพักทำงาน ย้อนวันวานด้วยจิตวิญญาณของหน้าที่

ตามด้วยการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในสังคม ป้องกันปราบปรามและลดระดับอาชญากรรม บรรเทาความเดือนร้อนต่าง ๆ ของประชาชน  “จริง ๆ เราไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ปัญหาของตำรวจ ความเดือดร้อนของประชาชนขึ้นอยู่ที่โรงพัก ถ้าโรงพักทำงานเข้มแข็ง ตำรวจทุกคนสำนึกในหน้าที่ มันก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ตามหลักคิด BACK TO BASIC คือ กลับโรงพักทำงาน ย้อนวันวาน ทำงานเป็นทีม สิ่งดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ในรูปแบบทันสมัยจับต้องได้ให้บรรลุผลเป้าหมาย”

“เพราะฉะนั้นเราต้องทำอย่างไรที่จะให้ข้าราชการตำรวจทุกคนมาช่วยกันทำงาน รู้หน้าที่ตัวเองว่า คือ อะไร ผมเองจะทำคนเดียวไม่ได้นะ ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนต้องรู้ว่า เราเป็นข้าราชการตำรวจ ประชาชนคาดหวังเรานะ เรามีหน้าที่ เราต้องช่วยกันทำ ไปพูดให้ตายว่า ตำรวจนครบาลเป็นคนดี ชาวบ้านไม่เชื่อหรอก แต่ต้องทำให้เห็น ถ้าตั้งใจถึงตอนนั้นไม่ต้องโฆษณาหรอก ชาวบ้านเห็นเองว่า เราเป็นอย่างไร” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า

“รับผิดชอบงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด พึงระลึกเสมอว่า ทุกข์เล็ก ๆ ของประชาชน หากไม่ได้รับการแก้ไข ทุกนั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วปัญหานั้นจะย้อนกลับมาหาตำรวจเอง” พล.ต.ท.ภัคพงศ์มองแบบนั้น และกำชับผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยต้องมีความเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนลูกน้อง ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องมีวินัย และเชื่อใจผู้นำ

 

ถ่อมตัวบอกไม่ใช่เป็นคนดีทุกอย่าง ทว่าต้องเป็นแบบอย่างผู้ใต้บังคับบัญชา

“ผมไม่ได้บอกว่า ผมเป็นคนดีนะ ผมก็เป็นคนผิดๆ ถูกๆ มันก็ไม่ใช่ว่า ดีหมดทุกอย่าง ผมเองมองว่า การเป็นผู้บังคับบัญชา มันต้องเป็นแบบอย่าง คือ การให้คำแนะนำ ตัดสินใจ อย่าเอาเปรียบเขา อันไหนเป็นสิทธิของเขา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางด้านผลประโยชน์อะไรต่าง ๆ  ของเขา อย่าไปยุ่ง ให้ความเป็นธรรมตามสมควร แม้ว่า ผมจะไม่สามารถให้ความเป็นธรรมทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ได้หรอก มีรักบ้าง ชังบ้าง แต่ขอให้สักร้อยละ 80 ให้พอรับได้”

การเข้ามาทำหน้าที่แม่ทัพนครบาล พล.ต.ท.ภัคพงศ์ไม่รู้สึกลำบากใจในภารหน้าที่เนื่องจากมั่นใจในความสามารถและประสบการณ์ของรองผู้บัญชาการทุกนายล้วนอยู่ในกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาก่อน แถมภาพรวมของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนเป็นคนมีวินัย ตั้งใจทำงาน อุทิศตนเสียสละ

“ถ้าพวกเขาไม่สำนึกในหน้าที่ ก็อยู่ไม่ได้ อันนี้ผมพูด ผมไม่ได้เข้าข้างตำรวจนะ ไอ้ลูกน้องผมที่ไม่ดีก็มี เกะกะเกเร แต่เราเป็นผู้บังคับบัญชาต้องว่ากล่าวตักเตือน ดำเนินการทางวินัย หรืออาญาไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ตามเหตุการณ์ที่ไปประพฤติปฏิบัติ  ไม่ใช่เอาแต่รักลูกน้อง ลูกน้องปฏิบัติตัวไม่ดีแล้วเรายังรัก ปล่อยให้กระทบกับชาวบ้านจะหนักกว่าไหม”

 

เรื่องโยกย้ายอยู่ที่อำนาจผู้ใหญ่ หากคำสั่งออกไปเราจะไม่ทำหรือ

ส่วนปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเนื่องจากเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาในอดีตพิจารณา แค่อยากฝากข้อคิดว่า เราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาต้องอดทน ตัวเราเองก็เคยถูกย้าย ถามว่า ทำไมไม่ร้องเรียน ไม่ฟ้องศาลปกครอง เหมือนที่บอกไว้ว่า คนต้องต่อสู้ ต้องอดทน ต้องอดกลั้น ต้องทำตัวเองเป็นแบบอย่าง เราเป็นตำรวจเป็นหน้าที่ของเรา มีเป้าประสงค์หลักในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เมื่อมีเหตุขึ้นก็ต้องสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานติดตามจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีเอาผิด สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องศาล

พล.ต.ท.ภัคพงศ์บอกอีกว่า ขณะที่การบริหารหน่วยจะเป็นต้องมีฝ่ายอำนวยการ มีปัญหาเรื่องจราจรก็ต้องมีงานด้านการจราจรขึ้นมา องค์กรตำรวจถึงต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ในหลายๆ ด้าน ทุกด้านสำคัญไม่แพ้กัน เป็นหน้าที่รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย “สำหรับผมมองคนละแบบ  คือ ผมต้องทำงานที่ผมชอบอย่างเดียวหรือ บางทีตัวเรามองว่าเป็นคนเก่ง แต่ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองเราอีกแบบหนึ่ง บอกว่า กูโคตรเก่ง แต่ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่า ไม่เก่ง มองตัวเองว่า เราชำนาญเรื่องนี้ ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองแล้วว่าไม่ใช่ ควรให้เราทำอย่างอื่นได้ดีกว่า”

   “ทีนี้ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งการโดยชอบ เราต้องทำยังไง เราจะไม่ปฏิบัติหรือ มันไม่ได้ ถ้าทุกคนจะเลือกตำแหน่งที่ตัวเองรัก ตัวเองชอบหมดแล้วจะทำอย่างไร หากเป็นตำแหน่งเทคนิคที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจริง ๆ อันนี้โอเค  ถ้าไม่ใช่เฉพาะทางแล้วเป็นตำแหน่งที่อยู่ในจุดที่ทำได้ อย่างผมจบโรงเรียนนายร้อยใหม่ๆ ผมเป็นพนักงานสอบสวน ถามว่าดีหรือไม่ ผมมองว่า ยังไงตำรวจก็ต้องผ่านงานสอบสวนนะ ถ้าไม่ผ่านงานสอบสวน คุณจะรู้กฎหมาย คุณจะรู้ระเบียบหรือ แล้วอีกหน่อยคุณจะแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร คุณจะปกครอง บริหารสถานีตำรวจอย่างไร ถ้าคุณไม่รู้งานทุกด้าน”

 

โชคดีได้ทีมงานมากประสบการณ์ ช่วยกันขับเคลื่อนเนื้องานได้ไม่ยาก

ผู้นำนครบาลให้ความเห็นต่อว่า  ครั้งหนึ่งในการรับราชการ หากเราถูกให้ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวน เราไม่ทำเพราะอะไร เพราะเราไม่มีความรู้หรือ ในเมื่อเราจบนิติศาสตร์ เรียนกฎหมายต้องรู้กฎหมายถูกต้องใช่ไหม ก็ต้องทำงานสอบสวนได้ เพียงแต่ว่า ต้องมาดูงานสอบสวน ผู้บังคับบัญชาต้องสนับสนุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปส่งเสริมความก้าวหน้าให้พวกเขา

“ถ้าอย่างนั้น คนเป็นตำรวจต้องบอกว่า ผมเป็นตำรวจครับ แต่ห้ามเป็นสอบสวน ผมเป็นตำรวจครับ แต่ต้องเป็นสายสืบอย่างเดียว แล้วทำอย่างไรล่ะ เพราะเวลารับสมัครตำรวจ หากระบุว่า ตำรวจคนนี้ทำงานเฉพาะสืบสวนอย่างเดียวนะ เราจะรับได้ไหม ผมว่าผู้บังคับบัญชาท่านเข้าใจ ท่านพยายามแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายนะ”

ทิ้งท้ายเจ้าตัวย้ำว่า การมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อาจเพราะผู้บังคับบัญชาเห็นความเหมาะสม อาจเห็นว่า เราอยู่ที่นี่และเข้าใจปัญหา “แต่ผมคนเดียว ทำไม่ได้หรอก ผมโชคดีมีรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการเคยอยู่นครบาลกันมาทั้งหมด ทุกคนตั้งใจจะมาช่วยกันทำงาน และแก้ไขปัญหา ถึงกระนั้นตัวข้าราชการตำรวจในนครบาลต้องช่วยผม ผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะผู้ใต้บังคับบัญชา ถึงผมรับผิดชอบด้านความมั่นคง ถ้าผมไปสั่งเขาแล้วเขาไม่ทำ ผมจะสำเร็จไหม สิ่งที่ผมได้มาก็จากผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งนั้น ผมถึงต้องรักพวกเขา”  พล.ต.ท.ภัคพงศ์ว่า

 

RELATED ARTICLES