“ข่าวอาชญากรรมก็ยังถือว่าเป็นครูที่ดีที่สุด”

นข่าวอาชญากรรมมากอาวุโสระดับตำนานที่วงการสีกากียุคเก่ารู้จักกันดี

บุตรดา ศรีเลิศชัย อดีตประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม ลูกหม้อหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์และจรรยาบรรณในวิชาชีพแรงกล้า

เขาเกิดอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เลือกไปทำงานการไฟฟ้า และสำรวจเส้นทางของกรมทางหลวง ก่อนเข้ามาช่วยงานญาติที่โรงพิมพ์แถวบางกระบือ หวังจะนำประสบการณ์งานไปช่วยงานโรงพิมพ์ที่ลาดหญ้า กาญจนบุรี  บังเอิญไปเจอครูเก่าเป็นภรรยาของประสิทธิ์ เหตะกูล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เห็นลักษณะการเป็นผู้นำ ชอบทำกิจกรรม น่าจะเหมาะกับอาชีพนักหนังสือพิมพ์

กลายเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสื่อมวลชนนับแต่นั้นมาตลอด 35 ปี

“ถ้าผมอยู่บ้าน คงเป็นได้แค่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อะไรพวกนี้” บุตรดารำลึกอดีต เขาเริ่มงงานวันแรกกับเดลินิวส์ สี่พระยา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ด้วยความที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนนักข่าวอาชญากรรมสมัยก่อน ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์ ไม่มีวุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย เข้าไปนั่งรถตระเวนข่าวอาชญากรรมประจำเขตกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ยุค “ณรงค์ มหานนท์” เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

บุตรดาเล่าว่า ทำงานเป็นนักข่าว มีช่างภาพร่วมรถอีกคน จำได้ว่า จับกล้องถ่ายถ่ายภาพลงตีพิมพ์ครั้งเป็นรูป พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ จัดงานวันเกิด ช่างภาพอาวุโสตอนนั้นไม่อยู่พอดี ยุคก่อนจะตระเวนไปเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโรงพัก นักข่าวยังมีไม่กี่ฉบับ แต่ละคนก็มาจากหลากหลาย ก็ต้องมาหาความรู้ ประสบการณ์ มีรุ่นพี่คอยสั่งสอน “ที่จริงแล้วการมาอยู่ข่าวอาชญากรรม ถือเป็นพื้นฐานของงานหนังสือพิมพ์ที่ดี ถือเป็นโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ดี เพราะข่าวอาชญากรรม เป็นข่าวที่ละเอียดอ่อน เพราะต้องรู้รายละเอียดทั้งเรื่องของเหตุการณ์ เวลาส่งข่าว ต้องมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งหมด จะต่างจากข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรมชื่อนามสกุล อายุ ชื่อตำแหน่ง ครอบครัว แต่ถ้าไปทำข่าวการเมือง ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง จบ รายละเอียดมันไม่เหมือน ฉะนั้นการสร้างคน ข่าวอาชญากรรจะ สร้างคนในสายข่าวมากที่สุด”

เขายอมรับว่า ความได้เปรียบของการเป็นนักข่าวอาชญากรรม คือ มีโอกาสพบเจอคนเยอะตั้งแต่ระดับล่างจนสูงสุด  การคบหาการเจอตำรวจสารพัดเหลี่ยม ทำให้รู้เท่าทันคนในสังคม ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราจะอยู่กับตำรวจยาก รุ่นพี่หลายคนยังโดนหลอกมาแล้ว หรือนักข่าวหลอกนักข่าวฉบับอื่นก็มี ภาษาข่าว เรียกว่า เต้าข่าว การทำงานแบบนี้ก็ถือว่า เป็นการทำงานที่ชิงกัน เจอกันบนแผงตอนเช้า บางทีข่าวเดียวกัน แต่กั๊กประเด็นกันก็มี เพราะนโยบายหนังสือพิมพ์ไม่เหมือนกัน ภาษาเราก็คือ บอกข่าวไม่หมด แต่ถามว่าเราไม่ได้ปิดข่าวนะ ก็ต้องไปหารายละเอียดบ้าง ไม่ได้มาเอาอย่างเดียว มาลอกอย่างเดียว

“มันไม่มีตำราสอน ต้องเรียนรู้จากสนามจริง” คนข่าวอาชญากรรมอาวุโสมองแบบนั้น เขายังยกตัวอย่าง สราวุธ วัชรพล ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปัจจุบันนี้ ตอนเรียนจบจากสหรัฐอเมริกามาใหม่ ๆ ป๊ะกำพล วัชรพล ยังให้มานั่งรถตระเวนข่าว ให้ไปเดินขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยก “นั่นก็หมายความว่า ป๊ะกำพลมีสายตากว้างไกล เป็นลูกเจ้าของก็จริง แต่ก่อนที่คุณจะขึ้นไปบริหาร คุณต้องมารู้ฐานทั้งหมด นอกจากไปตระเวนข่าวแล้ว ยังถูกจับไปฝึกแผนกอื่นด้วย พอขึ้นไปบริหาร พวกลูกจ้างจะไปหลอกเขาได้ไหมล่ะ เพราะเขาได้ไปเห็นมาหมดแล้ว ฉะนั้นเขาก็รู้เท่าทัน เขาก็บริหารได้ นั่นคือสายตาของป๊ะกำพล ไม่ใช่ลูกมีอันจะกิน คุณก็เพียงแต่นั่งบริหาร”

ลูกหม้อหนังสือพิมพ์ค่ายสีบานเย็นยืนยันว่า สมัยก่อนนักหนังสือพิมพ์มีอุดมการณ์ เงินเดือนก็ไม่มาก แต่ทำงานกันด้วยอุดมการณ์ แล้วก็จรรยาบรรณ พูดง่ายๆ สมัยนั้นคุณธรรมสูง แม้ใครจะนินทาว่า เราก็กินเหล้ากับตำรวจ แต่มันเป็นเรื่องของการเข้าสังคม แต่ถามว่าอย่าไปทำอะไรให้มันลึกมากกว่านั้น ต้องแยกกันให้ได้ว่าเราใคร เขาใคร นั่น คือ พื้นฐานของข่าวอาชญากรรม

เพียงไม่กี่เดือนหลังเข้าทำงานสวมวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ บุตรดาต้องเผชิญเหตุการณ์ใหญ่ในวิบัติประเทศของการนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ประเดิมงานสำคัญครั้งแรกที่เจ้าตัวไม่เคยลืมภาพสลดหดหู่ครั้งนั้น เขาเล่าว่า มันเป็นงานหินที่นักข่าวทุกสายถูกระดมไปอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยสัญชาตญาณที่เพิ่งทำงานได้ 3 เดือน เรามีส่วนทำให้ ปรีชา โพธิ์เล็ก ช่างภาพเดลินิวส์ได้ภาพยอดเยี่ยม เมื่อเหลือบไปเห็นฝูงชนลากศพนักศึกษาออกมาแขวนที่ต้นมะขาม มีจุดไฟเผานั่งยาง เรามีแค่กระดาษกับปากกา แถมยังต้องมาหลบกระสุนอีกเลยตะโกนบอกช่างภาพ เป็นชอตประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านกำลังตอกอกศพนักศึกษาพอดี ได้รางวัลติดอันดับอาเซียน

“มันก็มาจากไหวพริบ ถามว่าพอได้รางวัล ผมมีอะไรได้ด้วยไหม ไม่มีเลย เพราะไม่ใช่เราถ่าย แต่ถามว่าช่างภาพเขาได้ เราเป็นนักข่าว ถ้าไม่เอื้ออาทร จะได้หรือไม่ เหมือนทุกวันนี้ ที่เราจะมีนักข่าว ช่างภาพ คนขับรถ ผมถึงตั้งชมรมเอาคนขับรถมาเป็นสมาชิกด้วย เพราะถ้าไม่มีเขาจะมีเราไหม ถ้าเขาไม่พาเราไปที่เกิดเหตุ”

บุตรดาอยู่ในทีมนักข่าวอาชญากรรมร่วมก่อตั้งชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม อย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2522 มี สอน สุขบรรจง เป็นประธานคนแรก ส่วนตัวเขาเป็นประธานคนที่ 3 และอีกหลายสมัยขัดตาทัพยามมีปัญหา ด้วยความคิดที่ว่าอยากพัฒนาองค์กร พัฒนาวิชาชีพที่ต้องมีองค์กรยอมรับ หลังชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม เกิดขึ้น บุตรดาพาตัวเองเป็นกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สร้างฐานยกระดับนักข่าวอาชญากรรมไม่ให้ถูกมองเป็นนักข่าวสายโจรอีกต่อไป

เจ้าตัวมุ่งมั่นว่า ต้องทำอย่างไรให้ตำรวจศรัทธา สมัยก่อนทำชมรมก็เชิญให้ตำรวจมาร่วมงาน ให้มารู้มาเห็น ไม่ต้องมาจ่ายเงิน ไม่ต้องมาอะไร รางวัลที่ได้มาไม่ต้องสนับสนุน ตำรวจถึงศรัทธา เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังบอกเลยว่า ตำรวจคนไหนได้รางวัลจากชมรมเอาไปเลย 3 ขั้น เพราะถือเป็นผลงานที่มี่หัวหน้าข่าวมาช่วยกันตัดสิน และกลั่นกรองมาแล้วอย่างดี

ชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม ยังริเริ่มตั้งฉายาประจำปีแก่ตำรวจครั้งแรกสมัย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับฉายา “หลิวลู่ลม”บุตรดาให้เหตุผลว่า ทำไมนักข่าวสายการเมืองยังตั้งฉายานักการเมืองได้ แล้วนักข่าวอาชญากรรมทำไมถึงจะทำไม่ได้ ถือเป็นครั้งแรกของการให้ฉายาตำรวจของนักข่าวอาชญากรรม

ผู้ก่อตั้งชมรมนักข่าวสายตำรวจรับว่า  ตอนนั้นยังไฟแรง อยากจะพัฒนาองค์กรวิชาชีพ หากยังมัวแต่พูดอยู่ข้างนอก ก็คงไม่ได้เริ่มทำ ไม่มีโอกาส และยังได้ทักษะจากสมาคมนักข่าวมาพัฒนาชมรม มีการจัดประกวดภาพข่าวจากเดิมที่ให้รางวัลเฉพาะตำรวจเท่านั้น  คิดว่า แล้วพวกเราล่ะทำไมประกวดไม่ได้หรือ นอกจากนี้ ยังไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเพิ่มเติม เพื่อเอาหลักวิชาการมาผสมอีกทาง ไม่ได้เอาปริญญามาประกอบอะไร แต่ต้องการไปเอาแก่นของวิชา

อยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์สังกัดเดียวตั้งแต่เริ่มทำงานถึงเกษียณอายุเมื่อปี 2557  บุตรดาบอกว่า เราเป็นเด็กชนบท การทำงานในสังคมบ้านนอก เดินผ่านคนจะต้องก้ม เรียบร้อยจะตาย เรียนหนังสือก็อยู่กับวัด แล้วพอเข้ากรุงเทพฯ สังคมแบบนี้ ก็อยู่ในความทุกข์ของคนอื่น ถามว่า ชีวิตจริง ก็ต้องเห็นใจเขา แต่อาชีพเรา มีอะไรก็ต้องเอาข้อมูลมาให้หมด ต้องเอาข่าวมาให้ได้ เพราะอะไร มันเป็นอาชีพ ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องทำ ก็เป็นอะไรที่ต้องเหมือนจิ้งจก ต้องเข้าให้ได้ ถึงกระนั้นก็ตาม อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่า นักข่าวอาชญากรรมไม่ใช่โจร เราก็มีคุณธรรมของเรา

อดีตประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมให้ข้อคิดว่า การทำงานของนักข่าวต้องให้เกียรติตำรวจ  ให้เกียรติแหล่งข่าว บางครั้งเขาจะมองหัวจรดเท้า เขาก็จะดูถูกเรา เลยต้องบอกว่า ขอร้องทีเหอะ รองเท้าแตะอย่าใส่ ร้องเท้าผ้าใบก็ยังดี ใส่เสื้อผ้า อย่างน้อยก็ต้องเอาเข้าในกางเกงเสีย นั่นคือ การแต่งตัว ต้องอยู่ในตัวเราหมด ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะเอาแหล่งข่าวที่ไหนมาเชื่อถือเรา “สมัยนั้นเราจะถูกเคี่ยวมาจากรุ่นพี่ ถึงได้ดี เพราะเราได้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ ถึงกล้าพูดได้ว่า เมื่อเทียบกับข่าวแต่ละแผนก ข่าวอาชญากรรมก็ยังถือว่าเป็นครูที่ดีที่สุด อาชญากรรมมันเป็นเบสิก เป็นครูของพวกเรา”

ตลอดระยะเวลาการทำงานหนังสือพิมพ์กว่า 38 ปี เจ้าตัวสารภาพว่า  ผลงานข่าวอาจไม่ค่อยโดดเด่น แต่ต้องไม่เสียกับงานในหน้าที่ความรับผิดชอบ ถามว่า มีตกข่าวบ้างไหม ทำข่าวอาชญากรรม อย่ามาพูดเลยว่า ไม่ตกข่าว ก็ตกกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่า อธิบายเหตุผลได้หรือไม่ว่า ตกเพราะอะไร มันก็มีบ้าง ตกข่าวมันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องปกติของการทำงาน คนเราถ้าทำงานแล้วไม่มีข้อบกพร่องมันเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะช่วยทำให้เราได้รู้ตัวเรา เพิ่มทักษะ ความสามารถ

“ผมคิดว่า ความสำคัญของสื่อมวลชนก็อยู่ที่ความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม ไม่รู้นะผมมองว่า ตรงนี้มันสำคัญที่จะทำให้เราอยู่ได้ ไม่เช่นนั้น ถ้าผมไม่เรียนรู้ ไม่มีสามัญสำนึก ไม่มีจรรยาบรรณ หรืออุดมการณ์นะ ถามว่าไปองค์กรไหนก็ไม่ได้ แต่พอเอ่ยชื่อปั๊บ เขาจะรู้กิตติศัพท์ และยอมรับตัวเราเอง ผมถึงบอกว่า ข่าวอาชญากรรมมันสร้างอะไรให้กับผมมาก” บุตรดาทิ้งท้าย

 

 

 

RELATED ARTICLES