“ตำรวจท่องเที่ยวต้องเน้นไปที่เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว”

พลิกโผข้ามฟากมานั่งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวคนที่ 3 ในทำเนียบประวัติศาสตร์หน่วย

พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ นายพลหนุ่มใหญ่ที่มีเส้นทางเติบโตมาจากภูธรภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่จนแทบไม่มีใครรู้จักฝีไม้ลายมือมากนักในพื้นที่อื่น

เหตุเพราะเลือกก้มหน้าก้มตาทำงานตามหน้าที่ให้สำเร็จตามเป้าแล้วเก็บตัวไม่ค่อยปรากฏออกสื่อ

กระทั่งได้รับความไว้วางใจจาก “ผู้เป็นนาย” มารับงานใหม่ในบท “แม่ทัพหน่วย” ขับเคลื่อนหน้างานที่เสมือนหน้าตาของประเทศ

ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคง ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการสร้างความมั่นใจและความสะดวกปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติที่ทันสมัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

เกิดในถิ่นฉลามเมืองชลบุรี มีเพื่อนชวนสอบเข้านายร้อยตำรวจ

ประวัติของ พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ เป็นคนภาคตะวันออก เกิดในครอบครัวทำการค้าเล็ก ๆ ในเมืองชลบุรี เริ่มวัยประถมโรงเรียนพานทอง ก่อนศึกษาต่อโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนประจำชื่อดังของจังหวัด ใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ แต่เหมือนโชคชะตาพาให้มาสวมบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในทันทีที่เพื่อนรักสมัยชั้นประถมชักชวนให้ไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

  “อาจด้วยแรงชวนของเพื่อน” เจ้าตัวไม่เคยลืมเพื่อนที่ชื่อ “ปรีชา เจริญสหายานนท์” ที่ปัจจุบันโยกไปนั่งตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กอดคอพากันเดินสู่รั้วสามพรานสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38  “สมัยก่อนมีทางเลือกไม่เยอะนะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน พ่อแม่ผมถึงจะยึดอาชีพค้าขายก็ไม่ขัดอะไร” พล.ต.ต.เชษฐาว่า

บรรจุครั้งแรกตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนอง ตามคำชักชวนของนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ “เขาเป็นพี่ปกครอง ชวนไปอยู่ ผมเป็นเด็ก และคุ้นเคยกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำชีวิตตำรวจเรียนจบออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะไปอยู่ที่ไหน เพราะไม่ได้สนใจ พอรุ่นพี่ชวน คิดว่า อย่างน้อยไปอยู่ มีพี่ที่รู้จักดูแลเราได้ แค่นั้นเอง”

 

เปิดฉากกวาดล้างผู้ร้ายแดนใต้ ได้รับมอบหมายเป็นชุดเฉพาะกิจจังหวัด

ผู้หมวดป้ายแดงได้นายตำรวจรุ่นพี่เป็นเสมือนอาจารย์สอนงานสืบสวนสอบสวน รู้จักทำสำนวนคดีและออกติดตามคนร้าย รับหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนแค่ 2 ปีก็เริ่มฉากบู๊นอกเครื่องแบบในหน้างานสืบสวน พล.ต.ท.เชษฐาเล่าว่า ตอนนั้นภาคใต้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ถูกปราบปรามกลายเป็นโจรผู้ร้ายอาละวาดเต็มไปหมด ส่วนใหญ่อยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ถูกท่านสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ผู้กำกับจังหวัดเอาจริงเอาจัง กระทั่งหนีกระเจิง

อดีตหัวหน้าสายสืบโรงพักเมืองระนองเล่าอีกว่า แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก แต่ระนองถือเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่บูมมาก และค่อนข้างสงบ พวกโจรผู้ร้ายหลายคณะถึงฉวยโอกาสหลบร้อนหนีคดีจากนครศรีธรรมราชเข้ามาอาศัยจำนวนมาก เป็นหน้าที่เราต้องกวาดต้อนจับกุม มีทั้งโจรทางบก และโจรสลัดในทะเล ทำให้ต้องเล่นฉากบู๊มาตั้งแต่ตอนนั้น

เจ้าตัวได้รับมอบหมายให้เป็นชุดเฉพาะกิจของจังหวัดตามคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเฉพาะ เนื่องจากระนองเป็นเมืองเศรษฐกิจระดับต้น ๆ ของภาคใต้ในสมัยนั้นสูสีกับเกาะภูเก็ตและหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมืองชายแดนที่คึกคัก มีประมง มีแร่ มีป่าไม้ และไม้นำเข้า ถึงเป็นที่รวมดาวโจรอยู่กันเต็มไปหมด แต่ส่วนมากเป็นคนมาจังหวัดอื่น

ปะทะเดือดแก๊งโจรสลัด ก่อนขยับผลัดรับงานหน้าใหม่

ครั้งหนึ่ง นายตำรวจหนุ่มพาทีมลุยปราบโจรสลัดที่ปล้นเรือประมงไปซ่อนตัวอยู่บนเกาะพยาม เกิดการปะทะดุเดือด ส่งโจรสลัดเป็นผีเฝ้าเกาะ 2 ศพ  หลังจากนั้นไม่นานนำกำลังติดตามคนร้ายคดีชิงทรัพย์แล้วแย่งปืนตำรวจยิงเกือบตาย ออกตามล่าล้อมจับในป่าชายเลน คนร้ายยังฮึดสู้ยิงตำรวจบาดเจ็บอีก สุดท้ายต้องโดนจับตายตามระเบียบ

อยู่เมืองระนองนาน 5 ปี ขึ้นเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม โรงพักเมืองระนองถิ่นเดิม ก่อนโยกเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เปลี่ยนหน้าฉากการทำงานใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณชายหาดป่าตอง เน้นดูแลเรื่องการป้องกัน ปรับระบบสายตรวจให้มีแผนงานมากขึ้นในการตรวจ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ให้มีช่องว่างช่องโหว่ในการก่อเหตุแก่นักท่องเที่ยว

ต่อมาย้ายเป็นสารวัตรทะเบียนพล สำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 ช่วยงาน พล.ต.ท.วิรุฬห์ ฟื้นแสน ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 8 แล้วขยับกลับถิ่นเกิดขึ้นรองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรภาค 2 และวนเวียนอยู่แถบนั้น อาทิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง

กลับไปทำงานสืบสวนอีกรอบ ไขคำตอบคดีปล้นรถขนเงินรายใหญ่

คืนบทนักสืบอีกครั้ง เมื่อขึ้นเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 นายพลเลือดฉลามชลเล่าว่า มีคดีเกิดเยอะมาก ใหญ่สุดเป็นแก๊งปล้นรถขนเงินธนาคารกลางเมืองชลบุรีหลายครั้ง แกะรอยตามคดีคลี่คลายจนสามารถรวบตัวคนร้ายได้เกือบหมด ยกเว้นหัวหน้าแก๊งคนเดียวที่รอดเงื้อมือไป เริ่มเกิดเหตุครั้งแรกแทบไม่รู้เลยว่าเป็นฝีมือแก๊งไหน เพราะไม่เคยเกิด เราไล่เช็ก คนร้ายมีวิธีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของตำรวจได้ดีมาก ใช้ทะเบียนปลอมก่อเหตุกว่าจะไล่จนเจอเป็นใคร

คดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2559 แก๊งคนร้ายบุกปล้นรถขนเงินของบริษัท แซมโก้ จำกัด บริเวณหน้าตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ หน้าร้านสะดวกซื้อเทสโก้โลตัส ตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี ได้เงินทั้งหมด 5,379,000 บาท  และอีกครั้งเกิดสาขาย่อยห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาพัทยาใต้ เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 ได้เงิน 8.8 ล้านบาท ตำรวจติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้บางส่วน

ผู้การสืบสวนตำรวจภูธรภาค 2 เก่ายังรู้สึกติดค้างคาใจและติดตามตัวอยู่นานหลายปีก็ไม่มีวี่แวว ทั้งที่ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 3 ปี คดีในพื้นที่ภาคตะวันออกราวร้อยละ 95 สามารถคลี่คลายได้หมด แม้จะเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 แล้วยังตามความเคลื่อนไหวอยู่ เพียงแต่ไม่เจอตัวเท่านั้น กลายเป็นคดีที่คาใจเจ้าตัวมาถึงปัจจุบัน

 

เลือกก้มหน้าตั้งตาทำตามหน้าที่ กระทั่งมีโอกาสมานั่งผู้นำทัพตำรวจท่องเที่ยว

เนื่องจากได้รับความไว้วางใจให้นั่งเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 นาน 3 ปีทั้งที่ปรับแม่ทัพหน่วยไปตามกระแสขั้วอำนาจที่เปลี่ยนค่ายไปแล้วหลายคนจนได้เลื่อนขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 รับผิดชอบงานสืบสวนเป็นหลักต่ออีก 3 ปีถึงมีโอกาสเป็นผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวแบบไม่คาดฝัน “ผมไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง อยู่ตรงกลาง ทำตามหน้าที่อย่างเดียว” พล.ต.ท.เชษฐาว่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

เขายอมรับว่า เลือกไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ แต่เมื่อมาทำหน้าที่แล้วต้องศึกษา และมองว่ามีหลายอย่างต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แนวทางการปฏิบัติ ทัศนคติของตำรวจที่ทำงาน เพราะไม่ตรงตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ “แรกๆ ผมมาศึกษา เห็นแล้วว่า มันต้องเปลี่ยน เดือนแรกที่มาดำรงตำแหน่งผมไม่เขียนนโยบายเลยนะ ขอเข้ามาดูก่อนว่า แนวทางปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาเป็นอย่างไร ตรงกับหน้าที่รับผิดชอบที่ควรจะเป็นหรือไม่ “

“ผมพบว่า มันไม่ใช่ แต่เดิมพวกเขาให้ความสำคัญไปกับเรื่องการปราบปราม ไม่ใช่หน้างานตำรวจท่องเที่ยว คือ หน้างานปราบปรามต้องมีอยู่ เพียงแต่ว่าการให้ความสำคัญ การเวทน้ำหนักของตำรวจท่องเที่ยวต้องเน้นไปที่เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การป้องกัน และการให้บริการสำคัญมากกว่าการปราบปราม แต่งานปราบปรามก็ต้องมีอยู่ ไม่มี ไม่ได้ เพราะเราต้องปราบปรามพวกเอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงนักท่องเที่ยว รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ทว่าน้ำหนักของเรื่องการป้องกัน เรื่องการดูแล การให้บริการนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาน้อยมาก และไม่ดีพอ” ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยววางนโยบายขับเคลื่อนหน่วยชัดเจน

หน่วยต้องมีความแตกต่างท้องที่ เพื่อที่จะสร้างรอยประทับใจแก่นักท่องเที่ยว

เขายกตัวอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติสามีภรรยาไปเที่ยวเล่นน้ำลำพัง ฝ่ายชายจมน้ำตาย หน้าที่ของตำรวจท่องเที่ยวจะร่วมกับตำรวจพื้นที่ไปดูศพ ชันสูตรพลิกศพ เรียบร้อยแล้วจบ กลับมารายงานสถานทูตตามระเบียบของตำรวจท้องที่  แต่งานตำรวจท่องเที่ยวไม่ใช่แบบนั้น ต้องให้เกิดความแตกต่าง คือ ต้องไปดูแลภรรยาผู้ตาย ช่วยประสานเรื่องการรับหลักฐานต่าง ๆ รอใบชันสูตรพลิกศพไปจนถึงรับศพ ส่งศพ ภารกิจสุดท้ายที่จะต้องเลิกของรายนี้ คือ ตำรวจท่องเที่ยวต้องไปส่งภรรยาพร้อมนำศพสามีขึ้นเครื่องบินกลับประเทศบ้านเกิด

พล.ต.ท.เชษฐาอธิบายอีกว่า มีตำรวจท่องเที่ยวตามสนามบินทุกที่อยู่แล้ว สามารถประสานได้ ไม่ถึงกับต้องไปเอง ทำในนามของตำรวจท่องเที่ยวให้จบกระบวนการ หรือว่านักท่องเที่ยวมาเกิดอุบัติเหตุ เกิดถูกทำร้าย ตำรวจท่องเที่ยวต้องแนะนำว่า มีสิทธิประโยชน์อะไรที่ควรจะต้องได้ หรือญาติควรจะต้องได้ ติดต่อจนได้ครบ แล้วส่งกลับ คือ ความแตกต่างของตำรวจท่องเที่ยวกับตำรวจพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาจะเอาตามระเบียบแค่นั้นแล้วจบ

“ถามว่า ทำจบแล้วตามระเบียบ สถานทูตมาดูแลไหม แน่นอนว่า ต้องมาดูแล แต่การประสานงานจะไม่คล่องตัวเหมือนตำรวจ  เพราะฉะนั้นตำรวจท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่จะประสานง่ายกว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจท่องเที่ยว ไม่ใช่ปล่อยให้สถานทูตรับผิดชอบ เราถึงต้องบริการเพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว เมื่อกลับไปจะยิ่งกว่าโฆษณาประเทศไทยด้วยซ้ำ หากทำได้ถึงขนาดนี้จะเห็นความแตกต่างระหว่างตำรวจพื้นที่กับตำรวจท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ไม่งั้นจะไม่แตกต่างเลย แค่ชื่อท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรนักท่องเที่ยวเลย นี่คือ แนวทางที่ผมได้คุยและเขียนเป็นนโยบายไปแล้ว”

 

ปรับเปลี่ยนมอตโต้ใหม่ กลับมาใช้วลีเก่า Your First Friend

“ผมเปลี่ยนแปลง ผมไม่ได้พูดเฉยๆ ผมต้องเปลี่ยนทัศนคติของลูกน้อง การจะเปลี่ยนทัศนคติคนต้องเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง เริ่มจากผมเปลี่ยนมอตโต้ของหน่วย ของเดิมผมไม่เอา มันสื่อไม่ได้ ผมกลับมาใช้ว่า Your First Friend คือ คุณต้องเป็นเพื่อนคนแรกของเขา  นักท่องเที่ยวเข้ามา ไม่มีเพื่อนในนี้ แต่ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนเขา ทำให้รู้สึกอบอุ่น เราเป็นเพื่อนคนแรกของเขา แล้วทำให้ตำรวจเราเองรู้สึกด้วยว่า เมื่อเราเป็นเพื่อนเขา เราต้องรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว คุณต้องทำตัวให้เหมือนเพื่อนเขา” พล.ต.ท.เชษฐาขยายความคิดหลังประชุมมอบนโยบายไปแล้วให้ตำรวจท่องเที่ยวทุกนายพัฒนาศักยภาพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่พร้อมบริการ (  ดูแลนักท่องเที่ยวอย่างดีที่สุดจนส่งกลับบ้านปลอดภัย ด้วยหัวใจและรอยยิ้มที่มีความสุข เมื่อกลับมาอีกครั้งให้นึกถึงตำรวจท่องเที่ยวเสมือนเป็นเพื่อนคนแรก ตามสโลแกน “Your First Friend”

ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวย้ำว่า หน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวต้องเป็นตัวที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่ในจุดที่พอดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ใช่ไปขัดขวาง อย่างนี้ไม่ได้ คำนี้ถึงสื่อได้หลายมุม หลายส่วน ที่ใช้กับตรงนี้เราจะเปลี่ยนทัศนคติตำรวจท่องเที่ยว เมื่อรู้สึกแล้วว่า ต้องเพื่อนเขาแล้วคิดว่าทำงานแค่นี้พอไหม ถามตัวเองแค่นี้ นี่คือสิ่งที่มอบนโยบาย อธิบายให้ฟัง แล้วตำรวจท่องเที่ยวจะไปนึกเองได้ว่า จริง ๆ แล้ว ความเป็นเพื่อนมันจะไม่ได้ทำแค่นั้น

“ผมอยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แล้วรู้สึกถึงสิ่งที่เราสื่อออกไปว่า พวกเขามีเพื่อนนะ คำถามต่อมาคือ เมื่อมีความรู้สึกเป็นเพื่อนแล้ว ทำยังไงต่อดีล่ะ เป็นเพื่อนกันแล้ว รู้จักกับคุณยังไง จะคุยกับคุณยังไง เป้าหมายต่อไปคือ เรามีสายด่วนโทรฟรี 1155 ที่แต่เดิมถูกละเลย เรามี ทว่าการรับรู้ของนักท่องเที่ยวน้อยมาก เรามีบริการ 24 ชั่วโมง มีครอบคลุม 5 ภาษา สามารถสื่อสารช่วยเหลือให้บริการต่าง ๆ ได้หมด แถมมีออพชั่นพิเศษ โทรเข้ามาปุ๊บ จีพีเอสของคนโทรจะระบุทันทีว่า อยู่ที่ไหน ถ้าจะขอความช่วยเหลือ ตำรวจท่องเที่ยวจะเข้าไปถึงได้ทันท่วงที”

 

ขับเคลื่อนแผนไม่ให้เปะปะ ยกระดับงานประชาสัมพันธ์มากกว่าเดิม

พล.ต.ท.เชษฐาว่าถึงนโยบายการบริหารหน่วยต่อไปว่า เมื่อมอบแผนงานแล้วจะต้องประเมินในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือนว่า ทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนโยบายหลักที่จะพยายามสื่อง่าย ๆ ตามคำย่อภาษาอังกฤษของหน่วย  TPB (Thailand Tourist Police) แล้วเราจะทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ T เป็นการทำงานแบบ Teamwork  บูรณาการเป็นทีมกับหน่วยงานอื่นเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะเราไม่สามารถทำงานหน่วยเดียวได้  แม้ตำรวจท่องเที่ยวจะไม่ใช่เจ้าภาพหลัก แต่ต้องเป็นตัวประสานให้แต่ละหน่วย

ส่วนตัว P แม่ทัพตำรวจท่องเที่ยวระบุว่า หมายถึง Planning การวางแผน และ Public Relations การประชาสัมพันธ์ เพราะแต่เดิมทำงานกันไม่ค่อยมีแผน ทำไปตามธรรมชาติที่เคยทำกันมา จำเป็นต้องวางแผนหาข้อมูลเพื่อประกอบในการจัดสายตรวจดูแลความปลอดภัยและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่ตรวจกันสะเปะสะปะ ไปตรวจตรงที่ไม่เคยมีเหตุเกิด เพราะไม่ได้มีการวางแผน ไม่มีข้อมูลประกอบจากการประสานตำรวจท้องที่

“ขณะเดียวกันงานประชาสัมพันธ์สำคัญไม่แพ้กัน ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยไม่รู้ด้วยซ้ำตำรวจท่องเที่ยวทำอะไร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ บางคนคิดว่า ตำรวจท่องเที่ยวคงอยู่แถวสนามบิน คอยดูแลตรงนั้นแล้วจบ ไม่รู้ว่า มีตำรวจท่องเที่ยวอยู่ทั่วประเทศ ยกเว้น เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ  เนื่องจากไม่เคยประชาสัมพันธ์ หน่วย ไปประชาสัมพันธ์หัวหน้าหน่วยไปทำโน่นทำนี่  มันไม่ใช่ อนาคตตำรวจท่องเที่ยวต้องทำงานเชิงรุกในงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียล สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักตำรวจท่องเที่ยวมากกว่านี้”

 

คาดหวังให้ต่างชาติรู้จักหน้างาน ชาวบ้านต้องรับรู้ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล

เจ้าตัวเชื่อว่า ต่อไปนักท่องเที่ยวต่างชาติจะรู้ว่าติดต่อตำรวจท่องเที่ยวได้ช่องทางไหนได้บ้าง สามารถคุยกันออนไลน์ได้ทันทีที่มีปัญหา ขอความช่วยเหลือ แม้กระทั่งถามทางแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวตรงไหน มีบริการตำรวจท่องเที่ยวบริเวณใด ดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำสื่อออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพจต้องอย่างน้อยมีคนติดตามล้านคน ไม่ใช่มีหมื่นกว่าคน โพสต์อะไรไปมีคนกดถูกใจไม่ถึง 10 คน แบบนี้ถือว่า ล้มเหลว

พล.ต.ท.เชษฐาแสดงความเห็นว่า เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเพจของหน่วยงานตำรวจชูแต่ข่าวผู้บังคับบัญชาไปทำนั่น ทำนี่ ไม่มีอะไรที่ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจ เพราะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา ถามว่า อย่างนี้ตำรวจคิดออกไหม เชื่อว่า ตำรวจคิดไม่ออก จำเป็นต้องให้เด็กรุ่นใหม่มาทำ จ้างบุคลากรภายนอกมาทำ ต้องโพสต์เรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวกับตำรวจท่องเที่ยวแล้วชาวบ้านสนใจ

“ยกตัวอย่าง อาจจะโพสต์เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง เดี๋ยวจะหาว่าเพจการท่องเที่ยวมีอยู่แล้ว บางทีเราแค่เอาจุดไหนที่มันแปลกๆ ดึงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดู และย้ำไปว่า หากไปตรงนี้มีตำรวจท่องเที่ยวช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย มีแคปชั่นดึงดูด ไม่ใช่รายงานผลคดี นี่คืองานประชาสัมพันธ์หน่วยที่ผมต้องปรับให้ได้ เหล่านี้เป็นช่องทางง่ายๆ ที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ขอให้ทำถูกจุดแค่นั้นเอง”

 

มุ่งสร้างภาพลักษณ์องค์กร สะท้อนบทบาทการเป็นเพื่อนคนแรก

สุดท้ายเป็นเรื่องของตัว B พล.ต.ท.เชษฐาว่า เป็นเรื่องของ Branding การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ออกไปสู่สังคมต้องทำให้ชัดเจน ตำรวจท่องเที่ยวต้องแตกต่างกับตำรวจท้องที่ รวมถึง Balance ความสมดุล เนื่องจากเห็นว่า ทุกหน่วยมีปัญหาหมด โดยเฉพาะเรื่องกำลังพลสำคัญที่สุด ถ้าตำรวจไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ ด้านความคิด ทัศนคติ หนี้สิน หรือหลาย ๆ เรื่อง จำเป็นต้องแก้ไขให้ได้ เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องดูแลเอาใจใส่เต็มที่ ปรับสมดุลให้เขาอยู่ได้ ปรับทัศนคติให้เขาคิดช่วยเหลือตัวเองด้วยในการอยู่แบบพอเพียง

ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวชี้ว่า เรื่องของสมดุลยังรวมถึงในการครองงานที่ต้องไปผสมกับการสร้างภาพลักษณ์องค์กรด้วย เพราะเวลาลงไปทำงานในพื้นที่ จะหน้าเข้ม หน้าดุไม่ได้แล้ว ตำรวจท่องเที่ยวต้องยิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายดี สุภาพเรียบร้อย จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ คือ แต่งตัวโทรมๆ เหมือนเคยมีปัญหาที่พัทยา ตำรวจท่องเที่ยวไม่ใส่เครื่องแบบไปแสดงตัวแล้วชาวบ้านไม่เชื่อถือ ต่อไปตำรวจท่องเที่ยวต้องแสดงบัตรด้วย ถ้ายังไม่เชื่ออีกต้องเอาตำรวจในเครื่องแบบไปด้วยเป็นหลัก

“ผมมั่นใจว่า ถ้าเห็นภาพตำรวจท่องเที่ยวแต่งเครื่องแบบเรียบร้อย พูดจาสุภาพ มีอาร์มติด นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวรับได้อยู่แล้ว ยิ่งพูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใสกับพวกเขาจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดี ถือเป็นนโยบายหลักๆ ที่ผมทำ เอามาวิเคราะห์แล้วถึงมอบนโยบายตรงนี้ แม้ผมไม่เคยอยู่หน่วยตำรวจท่องเที่ยว ผมต้องทำและคิดว่าน่าจะทำได้ตรงเป้า หวังว่าต่อไปคนจะต้องรู้จักตำรวจท่องเที่ยวเยอะขึ้นในยุคที่ผมอยู่ ต้องรู้จักบทบาทตำรวจท่องเที่ยว ไม่ใช่ตัวผู้บังคับบัญชา เป้าหมายผม คือ อย่างนั้น” พล.ต.ท.เชษฐาทิ้งท้าย

 

 

 

 

RELATED ARTICLES