“มันเป็นอุดมการณ์ของผม ผมชอบความยุติธรรม”

ดิ้นต่อสู้ชีวิตกว่าจะมีดาวประดับบ่า มีวิชามากกว่าเป็นนายตำรวจธรรมดา เพราะตีตรา “ด็อกเตอร์” ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ถึงขั้นเป็นแกนนำ “ทุบหม้อข้าว” เพื่อนร่วมอาชีพจนสะเทือนถิ่นเกิดแดนอีสานมาแล้ว

ปัจจุบันกำลังจะมีงานเขียนชีวประวัติตัวเองออกสู่วงการน้ำหมึกในเรื่อง “นายร้อยห้อยกระบี่ขี่ม้าก้านกล้วย” ผลงานบู๊บุ๋นชิ้นเอกของคนสีกากีอย่าง พ.ต.ท.ณรงค์เดช นิมิตร รองผู้กำกับการ(สอบสวน)สถานีตำรวจภูธรเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งเป็นพนักงานสอบสวน (สบ3) สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม

ชีวิตของเขาเริ่มต้นจากลูกครอบครัวชาวนายากจนที่บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นลูกชายคนที่ 4 จากจำนวนพี่น้อง 7 คน แต่พ่อแม่ยังรับหลานที่กำพร้าแม่มาเลี้ยงไว้อีก 2 คน และมีปู่อีกคน สรุปแล้วสมาชิกทั้งบ้านมีจำนวนครบโหลพอดี มีส่วนทำให้เขาต้องดิ้นรนมาตั้งแต่วัยเด็ก อาศัยข้าวก้นบาตรของวัดสว่างวารีที่อยู่ข้างบ้านประทังตัวแบบตามมีตามเกิด

ปกติครอบครัวชาวนาแถบนั้นจะมีเงินส่งเสียลูกให้เรียนแค่ชั้นประถม 4 ทว่าเขาโชคดีมีพี่สาวมาทำงานในกรุงเทพฯ ช่วงส่งเสียให้เรียนจนจบมัธยม 3 โรงเรียนสารคามวิทยาคม พ.ต.ท.ณรงค์เดชเล่าว่า พ่อแม่ผลักดันได้แค่นี้ ตอนนั้นเป็นคนมีอุดมการณ์สูง อยากเป็นทหารตำรวจ สมัยเรียนมัธยมมีความคิดแบบเด็ก ๆ จะเป็นทหารตำรวจต้องใช้พละกำลัง ไม่มีใครแนะนำเลยไปลองผิดลองถูกเรียนโปรแกรมพละศึกษา แต่พอเอาจริง ๆ มันไม่ใช่ ไปสอบนายสิบ สอบจ่าทหารเรือก็ไม่ติด สอบพลตำรวจก็ไม่ได้

นายตำรวจหนุ่มบอกว่า ต้องผันตัวเองไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรภาคค่ำ ตอนเช้าต้องไปตัดไม้เผาถ่านเอาใส่รถเข็นพ่วงจักรยานไปขายในเมือง สายก็กลับไม่ทำนาช่วยพ่อแม่ ตกเย็นถึงไปเรียนหนังสือในเมือง ตั้งใจต้องจบมัธยม 6 ให้ได้ ไม่ยอมแพ้ ใช้เวลา 3 ปีได้วุฒิมัธยมปลายเข้าสอบนายร้อยตำรวจก็ผิดหวัง ความที่เรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนมาความรู้ไม่พร้อม ไม่รู้จะทำอย่างไรจะเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่มีเงิน

จังหวะหลวงพ่อที่วัดสว่างวารีมารู้ว่า เขาอยากเป็นตำรวจเลยพาไปฝากจ่าตำรวจอยู่โรงพักบางเขน เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ หวังรอสอบตำรวจเดือนตุลาคม ตอนนั้นเพิ่งเดือนพฤษภาคม ไปช่วยบ้านจ่าที่แฟนทำโรงน้ำแข็ง ทุกเช้าเขาจะมีหน้าที่ตื่นมายกน้ำแข็งกั๊กใส่เครื่องบดแล้วใส่รถเข็นปั่นไปขายตลาดสะพานใหม่ ได้แค่แรงเดือนละ 550 บาท ด้วยความเชื่อที่ว่า จ่าจะสามารถพาเราไปสอบเป็นตำรวจได้ อยู่ไปอยู่มาเริ่มไม่แน่ใจกว่าจะถึงเดือนตุลาฯ เหนื่อยมาก ตัดสินใจโทรศัพท์หาหลวงพี่กี่รูปที่อยู่วัดชนะสงคราม แกว่าจะได้สอบเป็นตำรวจจริงหรือ ทำเอาเขาฉุกคิด ถ้าไม่ได้แล้วเราจะไปทางไหน

เจ้าตัวเล่าต่อว่า หลวงพี่เลยชวนให้ไปอยู่ที่วัด ไปเป็นเด็กวัดชนะสงคราม มีรุ่นพี่ลูกศิษย์วัดที่เป็นตำรวจทหารแวะมาเยี่ยมหลวงพี่บ่อยครั้งเริ่มเข้ามาแนะนำให้ไปเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงน่าจะเป็นตำรวจได้เหมือนที่ศิษย์รุ่นพี่ทำมาแล้ว ตอนแรกก็ไม่เคยมีความคิดจะเรียนนิติศาสตร์ พอเริ่มคิดก็ติดตรงที่ไม่มีเงิน เลยไปเป็นจับกังอยู่หนองแขมแบกกระสอบขี้เลื่อยทำยากันยุงได้วันละ 50-60 บาท ทำได้ 2-3 เดือนพอได้ค่าเทอมก็ไปสมัครเรียน ตอนนั้นหน่วยกิตละ 18 บาท เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 ต้องเปลี่ยนงานใหม่สมัครเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร แต่ทำไม่เป็น

“เขาถามผมว่า ไม่เคยไปนั่งกินในร้านอาหารหรือ ผมบอกไม่เคย เด็ก ๆ มีพ่อพาไปนั่งร้านก๋วยเตี๋ยวครั้งเดียว เขาเลยให้ไปยกอาหารก่อน สอนฝึกเอาอาหารไปลงตามโต๊ะนั้นโต๊ะนี้  อีกปัญหา คือที่พัก มีหอพักรวม แต่เขาถามว่า ต้องมีคนรับรอง รู้จักใครหรือเปล่า ผมบอกอยู่กับพระ เขาบอกเอาพระมารับรองได้ไหม ผมเลยนิมนต์หลวงพี่มาช่วยเซ็นรับรองค้ำประกันลูกศิษย์เข้าทำงานร้านอาหารกลายเป็นที่กล่าวขานว่า ข้ามากับพระ” นายพันตำรวจโทจำได้แม่น

เมื่อไปเรียนจริง ๆ เจ้าตัวระบายความรู้สึกว่า ยากมาก ประกอบกับไม่มีเวลา ต้องทำงานตอนกลางคืน วนไปวนมาอยู่หลายครั้งจนต้องเปลี่ยนงานบ่อย เพราะปี 2 ต้องไปอยู่รามคำแหงที่หัวหมาก หันไปทำร้านสุกี้แถวพระโขนง เป็นเซลส์ขายหนังสือ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ปั่นรถขายขนมหวาน ทำทุกอย่าง น้ำตาแทบหลายเพื่อหาเงินค่าเทอม บางครั้งรู้สึกท้อ ทำไมเหนื่อยมาก คนอื่นเกิดมา ทำไมพ่อแม่เขารวย เขาพร้อมกว่าเราเยอะ น้อยใจในชีวิต แต่ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้

ผ่านไป 4 ปี เขาว่า เพิ่งได้แค่ 60 หน่วยกิต เพื่อนรุ่นเดียวกันรับปริญญาหมดแล้ว คิดอยู่เหมือนกันจะจบไหม เริ่มไม่ไหว เปลี่ยนไปทำงานที่จะมีเวลาอ่านหนังสือดีกว่า หันมาขายผลไม้รถเข็น ลงทุนขี่จักรยานจากหน้ารามคำแหงไปซื้อผลไม้ที่สะพานขาวมาเข็นขายหน้ามหาวิทยาลัย ช่วงที่จอดก็จะมีเวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น บางวันขายดีโดนตำรวจจับอีก ตอนนั้นปรับกันเป็นคู่ 2 คนคิด 100 บาท แต่เขาคนเดียวขอต่อเหลือ 50 บาท ตำรวจไม่ยอม พอจังหวะตำรวจเผลอต้องเข็นรถหนี นายตำรวจยศร้อยเอกยังอุตส่าห์วิ่งตาม เลยเอาบัตรให้ดูว่า เราเรียนหนังสือไม่มีเงินถึงต้องมาขายผลไม้แบบนี้ ตำรวจก็ด่าหลายอย่าง เราก็ทน สุดท้ายยอม

บางวันมีชั่วโมงเรียนก็ต้องเข็นไปจอดในมหาวิทยาลัย ไม่วายโดนเจ้าหน้าที่ห้าม เพราะเขาไม่ให้เอาของไปขาย “ผมอยู่ปี 5 แล้วเรียนกฎหมาย เริ่มหัวหมอบอกว่า ไม่ได้เอามาขาย แค่เอามาฝากจอดเพื่อจะขึ้นไปเรียน เจ้าหน้าที่ยังมาบอกว่า แล้วเอาเข้ามาได้อย่างไร ผมเลยตอกกลับไป ทำไมรถคันอื่นถึงเอาเข้ามาได้ เขาก็ยอม แต่ไม่ให้ขาย ถ้าขายจับ ก่อนจบยังมาเช่าร้านข้างตึกขายก๋วยเตี๋ยวกับแฟน และเป็นติวเตอร์สอนเด็กไปด้วย”

พ.ต.ท.ณรงค์เดชใช้เวลา 7 ปี เรียนจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหงตรงกับปี 2535 ที่ตัวเขาเข้าร่วมกลุ่มแกนนำนักศึกษารุ่นพี่อย่างวัชระ เพชรทอง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะเป็นคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่พอสมควร ต่อมามีการเปิดสอบหลักสูตรบุคคลภายนอกเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจ พร้อมหลักสูตรตำรวจชั้นประทวนเข้าไปเป็นนายตำรวจ  ตอนนั้นเขาเป็นประเภทหัวแข็งเห็นว่า เปิดสอบภายในก่อนแล้วถ้าไม่ได้มีโอกาสมาสอบรวมกับกลุ่มบุคคลภายนอกอีกมันไม่ยุติธรรม “ผมไม่ยอม ไปล่ารายชื่อขอความเป็นธรรม กรมตำรวจต้องเปิดสอบพร้อมกัน เพื่อไม่ให้มาตัดโควต้าบุคคลภายนอก เป็นแกนนำเองเลย ถือหนังสือไปที่กรมตำรวจ มีคนลงชื่อร่วมเยอะแต่ไม่กล้าแสดงตัว บางคนขู่ว่า ใครมายื่นหนังสือเดี๋ยวโดนแบล็กลิสต์นะ ไปสอบตำรวจไม่ได้ ผมลงไปเต็มตัวแล้ว ไม่ได้ก็ไม่ได้ช่างมัน เพื่อความถูกต้อง สุดท้ายสอบได้”

“ผมเตรียมตัวมาดี อ่านหนังสือมาเป็นปี ดีใจสุด ๆ ตอนเรียนจบ แม่ถึงกับร้องไห้ เรียนจบโดยไม่ได้ใช้เงินสักบาท พอสอบติดนายตำรวจ แม่ร้องไห้หนักกว่าเก่าอีก ลูกสอบได้ ในหมู่คนบ้านนอกสอบเป็นนายสิบ จ่าก็สุดแล้ว สมัยนั้น ผมเคยฝันแค่สอบเป็นพลตำรวจ เกษียณเป็นนายร้อยก็ดีใจแล้ว หวังแค่นั้น พอสตาร์ตครั้งแรกติดยศร้อยตำรวจตรี มันสุด ๆ แล้ว” นายตำรวจระดับด็อกเตอร์ระบายความหลัง

 

ทว่าตอนบรรจุครั้งแรกเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ก็เริ่มต้นไม่สวยเมื่อไปรายงานตัวช้า 5 วัน เพราะรถเสีย แต่ตามระเบียบให้ถึง 15 วัน รองผู้กำกับหัวหน้าสถานีจวกแหลกว่า มาทำงานวันแรกก็รู้แล้วเป็นคนยังไง เป็นแบบนี้แล้วประเทศชาติสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อข้าราชการตำรวจบรรจุใหม่ยังเลวได้ขนาดนี้ ก่อนให้ไปทำรายงานชี้แจงมา เล่นเอาเขาตกใจไปทำงานเป็นตำรวจครั้งแรกถูกให้ทำรายงานชี้แจงรีบโทรศัพท์ไปหาเจ้านายที่เคยฝึกงานโรงพักนิมิตรใหม่ แน่นำให้ทำรายงานแบบนั้นแบบนี้ก็จบไป

หมวดใหม่ป้ายแดงทำงานเป็นพนักงานสอบสวน หากวันไหนไม่ได้เข้าเวรสอบสวนจะพาลูกน้องซึ่งเป็นชั้นประทวนบรรจุใหม่ หรือไม่ก็สิบตรี พลตำรวจ ที่หัวแรง ๆ อุดมการณ์เหมือนกันไปทำงาน พาลูกน้องไปจับไม้เถื่อน มีดาบตำรวจคนหนึ่งเก๋ามากอุดมการณ์จ๋าเหมือนกันร่วมทีม ตกตอนเย็นนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์หาจับไม้ จับการพนัน จับสิ่งผิดกฎหมายหมด เรียกว่า ทุบหม้อข้าวพรรคพวกเดียวกันเอง

“มันเป็นอุดมการณ์ของผม ผมชอบความยุติธรรม ที่สำคัญเป็นการพิสูจน์ในสิ่งที่นายด่าว่า ถ้าคุณเป็นคนแบบนี้คุณจะทำงานได้อย่างไร ผมต้องการให้เขารู้ว่า ผมเป็นคนทำงานจริง ผมจับกันชนิดที่เริ่มมีเสียงบ่นในที่ประชุมว่า รองสารวัตรสอบสวนทำงานข้ามหน้าที่ ผมก็บอกว่า ใครเป็นคนพูด ออกมาพูดกันอย่างลูกผู้ชายดีกว่า ผมทำผิดหน้าที่ตรงไหนครับ ตำรวจมีหน้าที่จับกุมไม่ใช่หรือครับ ในเมื่อคนมีหน้าที่ไม่จับแล้วผมจับ ผมผิดตรงไหน ออกมาคุยกันอย่างลูกชายเลย อย่าแอบ ก็ไม่มีใครยอมออกมา ผมก็เลยทำของผมไปเรื่อย”

สุดท้ายวีรกรรมบ้าดีเดือดของร้อยตำรวจตรีหนุ่มส่งผลให้เจอศึกหนักตามมา เขาเล่าว่า ไปจับไม้ต้องเดินขึ้นเขากับชาวบ้านตอนเที่ยงคืน ไปนอนเฝ้า เพราะหลักการจับไม้ หากจับโดยที่ไม่ได้ของกลางจะดำเนินคดียาก เนื่องจากเคยไปทำตอนแรก ๆ กว่าจะลงมาหารถขึ้นไปขน พวกมันเผาไม้ทิ้งหมดแล้วถึง วางแผนให้มันเลื่อยขนไม้ขึ้นรถก่อนแล้วค่อนล็อกผู้ต้องหาคารถ จับได้ 7 คน พร้อมไม้ และเลื่อยครบองค์ประกอบ มีมาวิ่งเต้นขอ แต่เราไม่ยอม เพราะมันเป็นอุดมการณ์ โดนขู่ย้ายเราก็ไม่สน คิดว่า เราทำดีแล้ว

พ.ต.ท.ณรงค์เดชยอมรับว่า ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของนักการเมืองใหญ่ที่มาขอให้ปล่อยลูกน้องเขา เราก็ไม่ให้ สุดท้ายเจอปัญหาข้อติดขัดคือ พยานที่เป็นชาวบ้านไปด้วยกันถูกขู่ไม่กล้าเซ็นชื่อ กฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าผู้ต้องหาไม่ลงลายมือชื่อ ให้หมายเหตุไว้ว่า ผู้ต้องหาไม่ลงรายมือชื่อพอฟังได้ แต่ถ้าพยานของเราเองไม่ลง ปัญหาเกิดทันที เปิดตำราแทบไม่ทัน หลายคนพยายามกล่อม โดนกดดันจนนายอำเภอที่รู้จักสนิทกันดีเรียกไปหา เป็นคนมีอุดมการณ์เหมือนกัน แต่แกเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนนิ่ง ถามเราว่า ผู้หมวด ผมเข้าใจนะว่าผู้หมวดขยันตั้งใจทำงาน ผู้หมวดรู้จักท่านเสรีอยู่ใช่ไหม เขาขยันนะ ผู้หมวดรู้ไหมว่า ทำไมเขาถึงทำได้ เพราะเขามีแบ็ก ผู้หมวดมีหรือเปล่า ผู้หมวดน่าจะมีอนาคตดีอยู่นะ ถ้าผู้หมวดไปรบกับพวกเขา ผู้หมวดคิดว่าจะอยู่ได้นานหรือ ผมไม่แนะนำนะ ผมเป็นห่วงคุณ คุณจะเอาอย่างไงก็ได้ ผมเข้าข้างคุณอยู่แล้ว ถ้าลุยก็ลุยกัน แต่เราจะสู้เขาได้ไหม แค่ 2 คน

“ผมกลับมานั่งคิด อุดมการณ์ที่ฝันอยากจะทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ยังไม่ได้ทำเลย ต้องมาออกจากราชการก็เป็นไปได้ เพราะรู้ว่าสู้กับอะไรอยู่ มาคิดหาวิธีการสู้ใหม่ดีกว่า กลับไปหารองผู้กำกับบอก ผมทำมาเยอะแล้วให้สั่งไม่ฟ้อง ผมทำใจลำบาก ขัดความรู้สึกตัวเอง เจ้านายเอาไปทำเองเลยแล้วกัน ผลจะออกมาอย่างไร ผมไม่ใส่ใจ” นายตำรวจยอดอุดมการณ์ที่ถูกบีบจนไฟแทบมอดระบายความขมขื่นในอดีต ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแนวความคิด  เพราะมองว่า ตัวเองมีฝีไม้ลายมือในการพูด การนำเสนออยู่ ปรับจากแนวรุกปราบปรามมาใช้แนวบุ๋นเชิงมวลชนปลุกระดมจิตสำนึกชาวบ้าน

ตัวเขาขอเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นหัวหน้าชุดมวลชนพัฒนาโครงการพาชาวบ้านทำโน่นทำนี่ ไปบรรยายตามโรงเรียน ตามวัด หมู่บ้าน และได้โอกาสไปเรียนปริญญาโทเพิ่มเติม เพราะเห็นลูกน้องมีวุฒิปริญญาตรีเกือบหมดแล้ว เหตุผลอีกอย่าง คือ เวลาเป็นวิทยากรพูดคุยกับคนอื่นก็จะเพิ่มเครดิตตัวเองด้วย เขาไปลงเรียนคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาจังหวัดอำนาจเจริญ ไม่ไกลร้อยเอ็ดมากนักใช้เวลา 2 ปีก็จบ กลับมายังได้ทำคุณประโยชน์ให้องค์กรตำรวจในการเป็นวิทยากรโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว มีการเสนอแผนตำรวจชุมชนตำบลเอาประชาชนมาเป็นแนวร่วมบรรจุในแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นโครงการนำร่อง

อยู่อำเภอโพธิ์ชัยนาน 5 ปี พ.ต.ท.ณรงค์เดชทำเรื่องย้ายไปอยู่เมืองมหาสารคามถิ่นเกิด เพื่อคอยดูแลพ่อแม่ เป็นพนักงานสอบสวนและทำหน้าที่หัวหน้าชุดมวลชนเหมือนเดิม แถมเป็นหัวหน้าวงดนตรีตำรวจพิทักษ์สัมพันธ์ จัดรายการวิทยุถ่ายทอดงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และงานมวลชน ขณะที่งานสอบสวนก็ทำหน้าที่ควบคู่ไปด้วย อยู่ไม่นานกลับโดนย้ายไปลงสถานีตำรวจภูธรตำบลหน่อม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ชนิดแทบรับไม่ได้ เพราะตัวเองจบปริญญาโท งานไม่เคยบกพร่อง

เจอมรสุมเที่ยวนั้น นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดที่รู้จักกันเห็นการทำงานแล้วเลยดึงเข้าไปช่วยอยู่หน้าห้องให้เป็นชุดเฉพาะกิจเวลามีหนังสือร้องเรียนขึ้นมาต้องช่วยกรองงานตรวจอีกทีก่อนแทงไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ตอนนั้นพบปัญหา คือ ถึงเวลาให้ต้นสังกัดที่โดนร้องเรียนรายงานมา 15 วันกลับไม่คืบหน้า 1 เดือนผ่านไปก็ไม่คืบหน้า ผู้ว่าฯรู้สึกว่า ทำไมช้าเลยให้เขาลงไปดูเอง 2-3 วันก็ทำรายงานขึ้นมา พ่อเมืองร้อยเอ็ดยิ่งถูกใจมองว่า เขายังทำได้ ทำไมพวกนั้น 15 วันไม่เห็นรายงานขึ้นมา

พนักงานสอบสวนเมืองมหาสารคามบอกว่า หลายครั้งเข้าก็จะเป็นแบบนี้ ให้เราลงไปตรวจสอบทุกครั้งจนเริ่มหนักเลยขอลูกน้องเก่าสมัยอยู่ที่โรงพักโพธิ์ชัยมาช่วย กลายเป็นว่า ลงไปทุบหม้อข้าวพวกเดียวกันเองอีก กระทั่งถูกฟ้องตอนไปจับไม้เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ช่วงนั้นผู้ว่าฯ ตั้งหลักให้สู้คดี เราดูแล้วเอาแน่ไม่ได้จะพาลูกน้องไปโดนฟ้องด้วย วัดใจกับศาลไม่ได้ ต้องใช้วิชาตำรวจแล้ว ขอเข้าไปเคลียร์กับคู่กรณีอยากได้เท่าไหร่เพื่อถอนฟ้อง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ นั่งคุยที่บ้านจนยอม ก่อนซื้อเหล้ามานั่งกินกัน

“พอนั่งได้สักพัก เขาถามผมว่า ไอ้สารวัตรณรงค์เดชมันเก่งมาจากไหน พวกป่าไม้ก็ลงขันจะฆ่า เขาก็จ้างมือปืนไว้แล้ว ถ้าคดีนี้พวกเขาแพ้ ผมก็ตาย คุยกันอย่างลูกผู้ชายเลย ผมก็อำว่า แบบนี้ต่อไปยังจะฆ่าอีกหรือเปล่า เขาว่า เราเป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นน้องกันแล้วไม่ทำหรอก ผมเลยสวนทีเล่นทีจริงว่า แต่ผมก็ยังจับอยู่นะ ไม่ได้เลิกจับ พ้นสถานการณ์ตรงนั้นได้ก็เอามาเล่าให้ผู้ว่าฯฟัง  ท่านก็แนะว่า ผู้ว่าฯจะเกษียณแล้ว เอ็งต้องรีบลงไปนะ อยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าผู้ว่าฯไป เอ็งไม่มีใครแล้วนะ อีกอย่างเอ็งทำกับตำรวจไว้เยอะ เชื่อว่า คงไม่มีใครช่วยเอ็งหรอก”อดีตตำรวจนักบู๊บอก

วันนั้นเขารับปากผู้ว่าฯ แต่อยากลงแบบสวย ๆ เลยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปทำวงดนตรีฟื้นวงคนโคก ทำเพลงเพื่อชีวิตให้จังหวัดร้อยเอ็ด พากันไปบรรยายตามโรงเรียน ไปทอล์กโชว์ สักพักขอย้ายไปช่วยราชการเมืองร้อยเอ็ดแล้วย้ายคืนโรงพักเมืองมหาสารคาม แบ่งเวลาว่างไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เขาคิดไปคิดมาว่า การสอนหนังสือก็ดี รู้สึกสนุกสนาน ไม่ต้องทะเลาะกับใครแถมยังได้แนวความคิดไปสอนคน ถ้าเปลี่ยนตัวเองไปเรียนเพิ่มเติมน่าจะดีกว่านี้ ถึงเลือกเข้าไปเรียนระดับปริญญาเอก คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะยังฝังใจเรื่องป่าไม้ตามประสาเด็กบ้านนอกคลุกคลีอยู่กับป่า ประกอบกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถเคยมีพระราชดำรัสว่า ในหลวงเป็นน้ำ ตัวพระองค์ท่านเป็นป่า ทำให้เขารู้สึกประทับใจหากได้มาทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าของแผ่นดิน

ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าตัวยังมีความฝันว่า อยากเป็นอาจารย์พิเศษสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปลูกฝังแนวคิดเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนนายร้อย สร้างตำรวจที่มีอุดมการณ์ เปิดโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้วให้ตำรวจกับชาวบ้านอยู่ร่วมกันไม่ใช่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์อย่างเดียว “แต่จะเปลี่ยนแนวคิดพวกเขาได้หรือเปล่าไม่รู้ อย่างน้อยเราได้ทำ อย่างถ้า 100 คนเปลี่ยนไปในทางที่ดีสัก 2 คน ก็จะถือว่า อีก 2 คนมาต่อจากเราต่อแขนต่อขาไปเรื่อย ผมว่า ถ้าเราไปสร้างโบสถ์สร้างศาลามันก็ดีแต่เป็นการสร้างวัตถุ ถ้าเราไปสร้างคนให้พัฒนาแนวคิดความไปช่วยคนอื่นมันน่าจะแตกสาขาของความดีออกมา”

เหมือนที่เขาไปเป็นวิทยากรสอนเด็กตามโรงเรียนแถวบ้านเกิด ลงทุนเขียนประวัติตัวเองใช้ชื่อเรื่องนายร้อยห้อยกระบี่ขี่ม้าก้านกล้วยไปเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาให้เด็กอนุบาลได้อ่าน ด้วยความที่เขารู้ว่าเด็กท้องถิ่นมันขาดโอกาส “คล้ายกับผมตอนเป็นเด็กมันขาดโอกาส อยากเป็นตำรวจต้องลองผิดลองถูก ตอนนี้มีโอกาสแล้วอยากจะคืนกลับไปสู่ลูกหลานไว้เป็นแนวให้กับพวกเขา สร้างฝันจินตนาการให้เด็กได้ก้าวไปถูกทาง” หนุ่มพันตำรวจโทด็อกเตอร์ป้ายแดงให้เหตุผล

 

 

RELATED ARTICLES