“ตัวตำรวจนักสืบเองอย่าลืมว่า จะทำอะไรบุ่มบ่ามเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว”

 

นักสืบระดับตำนานที่ทิ้งตำราแห่งตำนานเอาไว้ให้ต่อยอดมากกมาย

พล...ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยอมรับว่า โลกปัจจุบันหมุนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว พัฒนาการของอาชญากรรมเปลี่ยนไปจากยุคก่อน ตำรวจนักสืบรุ่นใหม่จำเป็นต้องก้าวทันเกม

ย้อนประวัติเส้นทางชีวิต เขาเป็นชาวอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกชาย พ.ต.ท.สด ธิมามนตรี รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 30 บรรจุตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ฉายแววตามจับแก๊งโจรสารพัดจนไปทำหน้าที่หัวหน้าสายสืบ

บินไปเรียนปริญญาโทหลักสูตร Master of Public Affair มหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกานาน 2   ปี กลับมาเป็นรองสรวัตรแผนกสถิติและวางแผน กองกำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ ขยับเป็นรองสารวัตรแผนกทะเบียนผล กองกำกับกำลังพล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นรองสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม กระทั่งคืนสู่เวย์เข้าไปอยู่ในทีมกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ

ผ่านคดีสำคัญระดับประเทศโชกโชน ก่อนโยกเป็นนายเวร พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกรู สมัยตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจทางหลวง แล้วกลับมาขึ้นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ช่วย พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขณะนั้น วางฐานรากหลักสูตรฝึกอบรมต้นแบบโรงเรียนนักสืบนครบาลดีที่สุดในประวัติศาสตร์ กำเนิดทายาท 30 นักสืบดาวรุ่งประดับวงการ

ย้ายเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 2 ก่อร่างสร้างหน่วยใหม่จนผงาดเป็นหัวหน้าหน่วยเก็บกวาดโจรผู้ร้ายจับเป็น-จับตายเป็นเบือ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสืบสวน ปฐมบทของศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุมสำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรม [Command and Control Operations Center (CCOC) for Criminal Investigation] จะสามารถแก้ไขเหตุการณ์วิกฤติได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การสืบสวนคดีสำคัญ การแกะรอยตามหมายจับค้างเก่า แม้กระทั่งรับมือกับสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน

ต่อมาโยกนั่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 7 ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เป็นรองผู้บังคับการหัวหน้าศูนย์สืบสวนนครบาล ประเดิมเก้าอี้ผู้นำที่ตัวเองวางแปลนยกระดับหน่วยนักสืบเมืองหลวง สุดท้ายผลัดถิ่นข้ามหน่วยไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล เป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจนเกษียณอายุราชการ

ตำนานนักสืบชั้นครูมองว่า สมัยก่อนนักสืบอาศัยประสบการณ์ความสามารถเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เมื่อสังคมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหันมาเน้นระบบเทคโนโลยีช่วยคลี่คลายคดี แตกต่างจากเดิมที่มีแค่ 3 มุม คือ เดินดิน เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์  ดังนั้น นักสืบรุ่นใหม่ต้องตามเรื่องเทคโนโลยีให้ทัน แต่อย่าไปลืมพื้นฐานในเรื่องของการเดินดิน หลักพฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญไม่แพ้กัน

  “ถ้ายิ่งคบคนมาก ๆ เราจะยิ่งรู้พฤติกรรมของมนุษย์เป็นยังไง เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยลงไปสัมผัสกับคน บางคดีเจอคนร้ายหลอกก็เชื่อ ทำให้การประเมินสถานการณ์ หรือคดีผิดพลาด แม้ปัจจัยความเครียดอย่างสมัยก่อนจะน้อยลงเพราะมีเทคโนโลยี รวมถึงโซเชียลมีเดียมาช่วยมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะขาดความอดทนในการติดตามคดี เพราะไม่เคยผ่านความยากลำบาก ตรงนี้น่าห่วง”

พล.ต.ต.ปรีชาแนะว่า การทำงานเป็นทีมตามศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุมสำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรม หัวหน้าทีมต้องรับภาระหนักสุด ตั้งแต่ ถูกกระแสกดดันของโซเชียลมีเดีย ของสังคม และผู้บังคับบัญชารอบด้าน คนที่จะมาเป็นหัวหน้าถึงต้องมีภาวะผู้นำที่ปราศจากอัตตา พร้อมรับฟังความคิดเห็นของลูกทีมทุกคน  ที่ผ่านมาหลายคดีสำคัญคลี่คลายลงได้ด้วยความสามารถของตำรวจและการทำงานเป็นทีม เท่ากับแบกความกดดันที่กลายเป็นความคาดหวังของสังคม ถึงกระนั้น เราต้องพัฒนาและตามให้ทันเกมคนร้าย

อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชี้ว่า คนร้ายเริ่มเตรียมการ วางแผนมาอย่างแยบยล หลักฐานต่าง ๆ ที่ตำรวจได้มา ถ้าไม่เก่งจะยากขึ้น ต่อให้มีคดีเกิดขึ้น คนร้ายเดินมารับสารภาพ ถามว่า ตำรวจจะเอาหลักฐานอะไรได้แค่ไหน นอกจากคำพูดของคนร้าย พิสูจน์ได้อย่างไรว่า ใช่ หรือไม่ใช่ โอกาสการผิดพลาดในลักษณะของการหลอกลวง หรือว่าการใช้เฟกนิวส์จะมากขึ้นในอนาคต

ประเด็นนี้ พล.ต.ต.ปรีชาบอกว่า เมื่อคนร้ายคิดจะกระทำความผิดและหาทางออกไว้แล้ว ตำรวจต้องเข้าใจเรื่องความคิดความอ่านของมนุษย์ให้มาก เน้นไปเรื่องหลักพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล จริงอยู่ที่ว่า การทำมากย่อมผิดมาก แต่จะเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง  สมัยก่อน เราจะใช้เหมือนกับแมนนวล ทุกอย่างจะได้มาจากการสัมผัส  ไม่ใช่ว่า พอเราได้ตัวคนร้ายมาแล้ว ทุกอย่างมันใช่เลย ต้องมีการตรวจสอบ เช็กแล้วเช็กอีก เพราะคนเรา วันนี้พูดอย่างนี้ วันรุ่งขึ้นพูดอีกอย่าง ไปพูดกับคนอื่นก็อีกอย่าง  เรื่องการเชื่อจากคนที่พูดถึงลำบาก

“นักสืบรุ่นใหม่มักจะห่างในเรื่องของความเชี่ยวชาญในเรื่องของพฤติกรรมศาสตร์รวมไปถึงจิตเวช  เพราะตัวเองฝังอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป  จินตนาการในลักษณะของแฟนตาซี  คิดไปเรื่อยเปื่อยจนพาทีมงานตกคลอง มันต้องมีความหนักแน่น  ดังนั้น คนที่มีประสบการณ์ของการเดินดินต้องมาประคองกับเด็กที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า เรื่องของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอดเวลา” พล.ต.ต.ปรีชาว่า

อีกส่วนที่เจ้าตัวกังวลและอยากฝากเป็นข้อคิดให้นักสืบรุ่นน้องเกี่ยวกับสังคมโซเชียลมีเดีย หากใช้เชิงบอกได้ก็ดี แค่ถ้าวันหนึ่งก้าวพลาดขึ้นมาจะตีกลับเป็นทวีคูณ ตำรวจที่เล่นโซเชียลมีเดียอันตราย ยิ่งงานสืบสวนด้วยควรเป็นผู้ตามดีกว่า อย่าไปเป็นผู้นำในโลกโซเชียล เพราะอนาคตอาจจะกลับมาฆ่าตัวเอง ทำนองหมองูตายเพราะงู ต้องระวังให้มาก รู้จักการวางตัว อ่อนน้อมถ่อมตน รู้มากแต่นิ่งดีที่สุด เนื่องจากทุกวันนี้เป็นสังคมที่ไม่มีใครซ่อนตัวได้อีกแล้ว เราอาจซ่อนตัวเรา แต่คนอื่นอาจมีภาพเราอยู่ในภาพของเขา โอกาสผิดพลาดสูง หากไปทำอะไรรุ่มร่าม เหมือนกับการทำบันทึกการสืบสวนสอบสวนต้องตามความจริงจะมานั่งมั่ว ๆ อย่างสมัยก่อนไม่ได้เด็ดขาด

“นักสืบอย่าด่วนตัดสินใจอะไรเร็ว ของที่เราเห็น อาจจะใช่วันนี้ อาจจะไม่ใช่ในวันพรุ่งนี้ ควรนิ่ง เดิน ลึกๆ  ก้าวแบบช้า ๆ แล้วไม่พลาด ดีกว่าก้าวเร็วแล้วพลาด สังคมไม่ให้อภัย ทำดีมา 100 ครั้ง พลาดครั้งเดียว ทุกอย่างจบหมดเลย ถึงต้องเน้นเรื่องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจนชัดเจน หลังจากนั้นค่อยตามจับกุม ส่วนมากต่อให้ผู้ต้องหาปฏิเสธก็ดิ้นไม่หลุด บางคดีรวบรวมเก็บหลักฐานใช้เวลาเป็นปี การจับกุมวันเดียวก็จับได้ไม่ยาก แต่จับมาแล้วไม่ใช่ว่าต้องมานั่งหาพยานหลักฐานทีหลัง”

ด้านความก้าวเติบโตของตำรวจฝ่ายสืบสวน พล.ต.ต.ปรีชารับว่า สังคมเปลี่ยนจะให้ไปเหมือนเมื่อก่อนที่ตำรวจนักสืบต้องมีศักดิ์ศรีไม่ใช่แล้ว เด็กรุ่นใหม่มีมุมคิดอีกแบบต้องตามเขา เช่นเดียวกับการที่เราจะไปนั่งฝึกอบรมสอนเขาเหมือนอดีต คงไม่ได้แล้ว ส่วนตัวอยากให้พวกเขาสอนกันเอง เ เราสอนสิ่งที่เป็นอนาคตให้กับพวกเขาเมื่อ 20 ปีมาแล้ว อาจจะล้าสมัย เราสอนอนาคตในสมัยนั้น คือ ปัจจุบันที่ใช้อยู่ แต่สมัยก่อนใครไปเรียน เขาก็นึกว่า พวกนี้มันบ้า  ที่ไหนได้ นำมาปรับใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ แต่พอถึงวันนี้ เปลี่ยนไปอีกแล้ว พวกเขาต้องศึกษาด้วยตัวเขาเอง เพราะมีพื้นฐานจากสมัยเดิมอยู่สามารถต่อยอดได้ เราจะเข้าไปยุ่งวุ่นวายไม่ได้

ท่ามกลางโลกโซเชียลมีเดียที่ทำลายกำแพงความคิดทุกอย่างหมดสิ้น อาจารย์นักสืบรุ่นใหญ่ยังเป็นห่วงการทำงานสืบสวนคดีสำคัญในปัจจุบันที่สังคมออนไลน์จ้องจะค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยตัวเองแข่งกับตำรวจย่อมส่งผลกระทบต่อการแกะรอยติดตามคนร้าย เพราะฉะนั้น ถึงจำเป็นต้องมีโฆษกประจำทีมในแต่ละคดีเพื่อแถลงความคืบหน้าในแต่ละช่วงเวลาให้สังคมเข้าใจ เนื่องจากหลายคดีที่ถูกแทรกแซงโดยโซเชียลมีเดียจนเป็นผลเสีย กดดันการทำงาน แทนที่จะพาคดีไปข้างหน้าเอาผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล กลับต้องมาเสียเวลาทำให้สังคมเชื่อว่า เราจับกุมผู้ต้องหาถูกตัว เพราะสังคมโซเชียลเอนเอียงไปอีกทางแล้ว

โฆษกประจำทีมในเรื่องของการสืบสวนคดี ไม่ว่าจะระดับของกองบัญชาการ กองบังคับการ กองกำกับ หรือโรงพักต่าง ๆ อยากจะให้บรรดาหัวหน้าในแต่ละหน่วยตกลงกันก่อนว่า ใครจะเป็น เพื่อตอบคำถามนักข่าว แล้วอะไรที่แถลงออกไปต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงชนิดรวดเร็วจะกดดันยังไงต้องยอม เพราะสังคมทุกวันนี้มีคดีเกิดขึ้นเมื่อวาน วันนี้เขาอยากรู้ ทุกคนเปิดมือถือหมด นักสืบทำงานยังประชุมไม่เสร็จเลย โลกออนไลน์กระจายข้อมูลหมดแล้ว นี่แหละคือปัญหา สุดท้ายต้องมาแก้สิ่งที่โซเชียลมีเดียพาลงคลองไปแล้ว ต้องมาแก้ต่างว่า ไม่ใช่ ทำไมไม่บอกแต่แรก ไปโทษข่าวไม่ได้ ต้องโทษตำรวจที่ทำงาน”

พล.ต.ต.ปรีชาย้ำด้วยว่า คนจะมาเป็นโฆษกแถลงความคืบหน้าคดีต้องไม่มีอีโก้ ตราบใดมีอีโก้เมื่อไร คดีพังเมื่อนั้น แล้วต้องเอาคนที่มีความเชื่อถือในสังคมมาด้วย ไม่ใช่เอาใครก็ได้มา พอความเชื่อถือไม่มี เวลาโดนผู้สื่อข่าวต้อนก็ไปไม่เป็น ต้องเอาคนที่เชี่ยวชาญจริง ๆ เป็นคนที่มาคอยไกด์ว่า ลักษณะเป็นยังไง สามารถตอบสังคมได้ทุกเรื่อง “ตัวตำรวจนักสืบเองอย่าลืมว่า จะทำอะไรบุ่มบ่ามเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว คิดว่าจะไปหิ้วใคร อุ้มใคร เลิกได้แล้ว วันนี้มันอาจจะปิดได้นิดหนึ่ง แต่มันจะไปเปิดที่อื่น เพราะมันเป็นสังคม No one can hide ที่แปลว่า ไม่มีใครซ่อนได้แล้ว อยู่ที่ว่า ถ้าคุณทำคดี คุณปิดได้ในระยะหนึ่ง อีกหน่อยเพื่อนร่วมงานแค่นั่งอยู่บ้าน ทะเลาะกัน มันก็เปิดเลย มันก็จะเสียหาย ความไว้ใจไม่มี ดังนั้น เรื่องความเป็นเอกภาพของทีมสืบสวนสำคัญ ขึ้นอยู่หลายอย่าง ทั้งประสบการณ์ และผู้นำ ถ้าไม่ดีก็เละ”

เจ้าตัวอยากฝากความหวังผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วยว่า งบประมาณการสืบสวนที่ต่อสู้กันมาตลอดไม่เป็นรูปธรรมเสียที ทั้งที่นับสืบต้องเดินด้วยเงิน ตราบใดยังให้นักสืบทำงาน ผู้ใหญ่ต้องการงานจากนักสืบ แต่เงินไม่เคยให้  พวกเขาก็ต้องหลบไปทางอื่นเพื่อเอางานนั้นออกมา เสร็จแล้วก็เกิดผลเสียหาย จะไปตำหนิ ไปลงโทษพวกเขาอย่างนั้นหรือ ถามว่า ตั้งแต่แรกใช้พวกเขา เอาเงินให้พวกเขาหรือเปล่า พวกเขาต้องกินต้องอยู่ กับครอบครัว ทำไมไปเบียดเบียนพวกเขา ทุกคนอยากทำ ทุกคนอยากมีชื่อ แต่ไม่เคยควัก หลายคนมีแต่สั่ง แต่เวลาสั่ง ไม่เคยเอาเงินไปให้ หรือให้ก็อย่างเก่งก้อนหนึ่ง เริ่มมีคดีให้สักหมื่น ถามว่า คดีนี้ตั้งหลายแสนให้แค่หมื่นเดียวจะไปเอาอะไร

พล.ต.ต.ปรีชาแสดงความเห็นว่า ต้องมีการวางมาตรการเป็นระเบียบ อะไรที่เบิกได้ อะไรเบิกไม่ได้ แล้วก็เบิกอย่างรวดเร็ว เพราะหลายเรื่องไม่สามารถจะมีใบเสร็จมาเบิก  ครั้งหนึ่งเคยพูดในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการในเรื่องของกองทุนสืบสวนว่า ต้องให้เบิกให้ง่าย แต่การเบิก ไม่ใช่ว่า เราลงทุนไปร้อยแล้วเราได้ผลร้อย เพราะเรื่องการสืบสวนคดีอาญาเป็นเรื่องที่บางอย่างสูญเสียไปมาก กว่าจะได้ผลกลับมา แล้วบางทีได้ผลกลับมาอาจจะไม่คุ้มกับที่เสียไป ถ้าคิดแบบกำไรขาดทุน แบบนี้ตาย ต้องคิดว่า ถ้ามีสัก 10 เคส สำเร็จสัก 5 เคสยังดี ให้คิดถึงประสิทธิภาพรวมๆ แล้วเงินงบประมาณ อย่าไปคิดว่า จ่ายไปร้อยแล้วต้องได้คืนร้อย ข้อเท็จจริงไม่ใช่

“เรื่องของงานสืบสวน ผมกล้ารับประกันเลยว่า ถ้าเงินถึงฝ่ายปฏิบัติ ทุกคดีไม่มีจับไม่ได้ ผู้ใหญ่ในสมัยนั้นสู้กันมาสู้กันหลายยุค พอเกิดกองทุนสืบสวนขึ้นมาก็มีปัญหา คือ เบิกไม่ได้อีก  มันต้องมีคนที่ใจกว้างจริง ๆ ที่จะมาพิจารณาเรื่องของงบอันนี้ อย่าไปถือระเบียบแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมองแบบมีเหตุมีผลด้วย ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ลองถามเลย พวกตำรวจฝ่ายสืบสวนด้วยกัน หลายคน ไม่ต้องการยศ พวกเขาต้องการเงินเพิ่มพิเศษ แล้วทำไมไม่ทำ เพราะฝ่ายอำนวยการมองคนละมุม” พล.ต.ต.ปรีชาว่า

ทิ้งท้าย เจ้าตัวมองภาพตำรวจที่ก้าวกระโดดมาคุมงานสืบสวน แต่ขาดประสบการณ์และพื้นฐานการตัดสินใจควรมีที่ปรึกษาเชี่ยวชาญคอยแนะนำอยู่ข้างตัว ไม่เช่นนั้นจะเป๋ไปกันหมด เวลามีปัญหาไม่กล้าตัดสินใจ พอพลาดขึ้นมาก็หนีปัญหาแล้วไปโทษลูกน้อง นี่คือ บทพิสูจน์ภาวะผู้นำของนักสืบ  ต้องเป็นคนที่นิ่ง  สู้ได้ทุกอย่าง พร้อมผิดชอบทุกกรณี ต้องใจกว้างในเรื่องของงบประมาณ  เรื่องของการรับฟัง นำมาวิเคราะห์แล้วตัดสินใจ อดีตที่ผ่านมาพวกเราทำงานกันเป็นทีม เราไม่เคยพลาด เพราะเรารับฟัง

“ในที่เราทำงานกันอยู่ เราไม่มียศ มีแต่พี่น้อง มีเพื่อนบางทีมที่เราส่งไป สารวัตรเพิ่งย้ายมาใหม่ไม่มีประสบการณ์ เรายังให้สารวัตรอยู่ข้างหลังนายดาบเลย เขาไม่มาถือว่า ผมเป็นสารวัตรนะ คุณเป็นนายดาบ คุณต้องฟังผม มันไม่ใช่  เมื่อก่อนนี้จะเป็นนักสืบ เราเทรนกันหนักนะ เทรนเสร็จเราต้องประกบให้ทำงาน อย่างน้อย 5 ปีถึงจะปล่อยเดี่ยวได้ ไม่ใช่ว่า พอเป็นได้นิดๆ หน่อยแล้วปล่อยไปเลย เพราะเด็กรุ่นใหม่อายุยังน้อย ความหุนหันพลันแล่นมันสูง ดังนั้นการควบคุมอารมณ์ต้องมีสูงมาก ความผิดพลาดจะไม่มี”

ถึงกระนั้น เขารู้สึกว่า ฝ่ายสืบสวนจะเป็นมืออาชีพเหมือนสมัยอดีตคงลำบาก เพราะสังคมเปลี่ยน คนมีเส้นสายอยากมาเป็น ทั้งที่รู้ว่า ตัวเองมาก็เป็นไม่ได้ แต่ไม่สนใจ แล้วใครจะไปรู้ นอกจากพวกเดียวกัน โกหกคนข้างนอกได้ แต่โกหกคนข้างในไม่ได้หรอก พอเวลามีเรื่อง ดิ้นอย่างกับถูกน้ำร้อนลวก ยิ่งเวลาขึ้นเป็นหัวหน้าทีม ถ้าไม่นิ่ง ลูกทีมก็แย่

ปรีชา ธิมามนตรี !!!

 

RELATED ARTICLES