“ไม่มีคดีไหนที่จับไม่ได้ ถ้าจะทำจริง ๆ เพราะว่าคนทำต้องทิ้งหลักฐาน”

 

ถือเป็นตำนานระดับอาจารย์สร้างผลงานพิชิตคดีสำคัญไว้มากมาย

พล...วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ อดีตผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ทิ้งลูกศิษย์เป็นทายาทนักสืบภูธรภาคใต้ไว้หลายชีวิต เมื่อมีแนวคิดจะผลิตนักสืบรุ่นใหม่ตามโครงการ  DETECTIVE TEAM ฝึกวิชาสืบสวนหวังเป็นโมเดลให้มีคุณภาพจากประสบการณ์ที่ตัวเองสัมผัสมาตลอดอายุราชการ

เจ้าตัวเล่าว่า ช่วงนั้นทำไว้ 3 รุ่น คัดตำรวจที่มีใจอยากเป็นนักสืบจริงๆ มารับการอบรม อยู่ด้วยกันทั้งหมด 45 วัน แต่ต้องผ่านการสัมภาษณ์ก่อนเพื่อดูความคิด จากนั้นโยนคดีที่ยังจับไม่ได้เอามาตั้งโจทย์ใหม่ว่า ที่ทำกันไป ขาดอะไรบ้าง สุดท้ายตามจับหมดได้ทุกคดี ทั้งหลายทั้งปวง ปัญหาเกิดจากทำไม่พอ ทำไม่ครบทุกประเด็น บางคนย้ายมาไม่เคยเป็นนักสืบมาก่อน ไม่เคยมีใครสอนพวกเขา พอเราลองเอาทำจริง ๆ ก็จับได้

“ไม่มีคดีไหนที่จับไม่ได้ ถ้าจะทำจริง ๆ เพราะว่าคนทำต้องทิ้งหลักฐาน อยู่ที่เราทำละเอียดไหม คิดจะเปลี่ยนแปลงวิธีการไหม ถ้าไปสุดแล้วยังไม่ใช่ เราก็ต้องเปลี่ยน ตั้งสมมติฐานใหม่ เหมือนการเดา ถ้ามันไปถูกด้วยเหตุและผล มันก็จะจับได้”

หลังผ่านการฝึกอบรมเกิดผลสำเร็จไปแล้วหลายคดี ได้ประโยชน์สำหรับความรวดเร็วในการทำงาน ได้ประโยชน์ในเรื่องของการรวมเป็นหนึ่งเดียวของนักสืบ ไม่บังข้อมูลซึ่งกันและกัน ช่วยกันทำงาน ด้วยเพราะนักสืบทำงานคนเดียวไม่ได้

“แต่ผมเลือกสอนนะ” พล.ต.ต.วีระศักดิ์จริงจัง “มีหลายหลักสูตรหลายสถาบันเชิญไปสอน ผมมองว่า คนมาเรียนส่วนใหญ่โดนเกณฑ์มา ไม่ได้มีความตั้งใจ ตอนอยู่ภาค 8 ผมถึงเลือกเอง เอารุ่นละ 30 คน ทุกคนตั้งใจหมด เลือกเอาคนที่สมัครใจเป็นตำรวจในพื้นที่ภาค8 มาอบรม ถ้าส่งคนห่วยๆมา ไม่เอา ขอให้คนสมัครใจ ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เอา เอาเฉพาะคนที่ตั้งใจจะเป็นนักสืบ  ปัจจุบันหลายคนได้ดีหมด กลับไปอยู่โรงพักทำงานสืบสวนได้โดยไม่ต้องพึ่งกำลังของสืบสวนภาค เพราะพวกเขามีประสบการณ์จากที่ผมสอนมา”

“ผมสร้างทีมเฉพาะคนที่รักชอบ และต้องสาบานตัวว่าจะทำงานด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประชาชน ผมทำอย่างนั้นเลย” อดีตครูใหญ่ทีมนักสืบภูธรภาค 8 บอกเจตนารมณ์ และย้ำว่า หากตอนสัมภาษณ์บอกว่า ถูกบังคับมา หรือนายส่งมาอบรม เราไล่กลับทันที บางจังหวัดไม่มีสักคน เพราะไม่ได้ตั้งใจมา ผู้ใหญ่บังคับให้มาเรียน หรือคนเรียนต้องการจะเลื่อนขึ้นตำแหน่ง เปลี่ยนหน้าที่ ไม่ตั้งใจจะเป็นนักสืบ ไม่มีใจอยากทำงาน เราไม่เอา เราจะเลือกเอาระดับรองสารวัตรขึ้นไปถึงรองผู้กำกับ เนื่องจากทำงานได้ และเป็นกำลังสำคัญในอนาคต  สอนตั้งแต่ไล่โทรศัพท์ การดูที่เกิดเหตุ แต่สิ่งเดียวที่ทำกันไม่ได้ คือ ต้องใช้ประสบการณ์เยอะ เป็นการซักถามผู้ต้องสงสัยและพยาน

“เรื่องนี้ผมถนัด รับรอง ไม่มีการกระทืบ ไม่มีการอัด ไม่มีการอะไร บางคนสอบถึงเช้า ต่ออีกวันหนึ่งกว่าจะรับ แต่ผมดู ผมรู้แล้วว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ผมเคยคดีฆ่าคนตายที่ภูเก็ต หนีไปอยุธยา ผมเอาเมียมันมาคุย แล้วโทรศัพท์ไปคุยกับมันเลย มันขับรถมามอบตัวที่ชะอำ เรื่องแบบนี้มันเป็นเทคนิค ความสามารถเฉพาะตัวของเราเอง และต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิต”

พล.ต.ต.วีระศักดิ์มองว่า การสืบสวนบางเรื่องไม่มีในตำรา ในชีวิตจริงหลายคนอาจเก่งแต่ในทฤษฎี แต่สืบสวนสอบสวนไม่ได้ ต้องอาศัยประสบการณ์และมีครูที่ดี ยิ่งยุคปัจจุบันตำรวจต้องไปทำงานที่ไม่ใช่งานตำรวจเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ทำกัน ไปเฝ้าระวังป้องกัน ไปสืบสวนหาข่าวล่วงหน้า ดูตามบ้านเก็บข้อมูลพยานหลักฐานไว้ พอเราจับได้ที เราก็ได้ทั้งหมู่บ้าน สมัยนี้แทบไม่มีใครทำ รอดูที่เกิดเหตุอย่างเดียว ไม่สนใจ  รอคดีเกิดแล้วก็ไล่กล้อง การไล่กล้องเป็นแค่พยานแวดล้อม ไม่เห็นตอนยิง หรือไม่เห็นตอนฆ่า ประเด็นนี้ผู้พิพากษาพูดเอง

  “ที่เกิดเหตุถึงสำคัญที่สุด ผมเกิดจากรุ่นเก่าที่ไม่มีเทคโนโลยี ถึงต้องเน้นดูที่เกิดเหตุเป็นหลัก สมัยนี้เวลาได้ตัวมาจากกล้องวงจรปิดก็จริง แต่ตอนซักถาม ถ้าไม่มีที่เกิดเหตุที่เราไปดูมา เราก็ซักมันไม่ถูกหรอก บางคนใช้วิธีแบบเดิม ๆ กระทืบเอาเพื่อให้รับ แล้วพาไปชี้ของกลางก็จบ  ผมถามว่า อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าผิดตัวจะเป็นยังไง ไม่โดนออกจากราชการก็ติดคุก ตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะแล้ว”

อดีตนักสืบเมืองหลวงที่ไปใช้ชีวิตราชการในบั้นปลายพื้นที่ภูธรภาค 8 ยอมรับว่า โตมาในยุคคาบเกี่ยวระหว่างเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามากับไม่มีเทคโนโลยีนอกจากวิทยุสื่อสาร วิทยุติดตามตัวแค่นั้น การตามคนร้ายจากโทรศัพท์มือถืออะไรพวกนั้นยังทำกันไม่เป็น ต่างจากปัจจุบันที่คนทำเทคนิคเยอะ แต่ทิ้งเรื่องเก่าไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดเหตุ เรื่องการสอบปากคำพยาน ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา การที่จะตามคนต้องเข้าใจวิธีการตาม ดูจากข้อมูลแวดล้อม เพราะฉะนั้น ถ้าตรงไหนไม่มีกล้อง คือบอดใช่ไหม

เขายกคดีฆ่าข่มขืนแหม่มชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดมนักสืบกันไปทำ พอไม่มีกล้องเหมือนตาบอด ทำอะไรกันไม่เป็น แต่เราแกะรอยจากพยานแวดล้อมนำไปสู่กระบวนการคว้าตัวผู้ต้องสงสัยชาวพม่ามาสอบปากคำ ตอนแรกไม่รับ เป็นจังหวะที่เขาเกษียณพอดี ไม่มีคนสอบ พล.ต.ท.เดชา บุตรน้ำเพชร เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ต้องขอร้องให้ไปสอบ เป็นงานสุดท้ายทิ้งทวนชีวิตราชการ สอบอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงผู้ต้องหายอมรับสารภาพ

“สาเหตุที่มันรับเพราะอะไรหรือ ก็เพราะเทคนิคเก่าๆ ของผม มันเป็นคนยะไข่ คาดผ้ารัดประคด ของขลังที่มันเชื่อถือ ผมดึงออกให้มันนั่งกับพื้น ในห้องมีตำรวจดู 20 กว่าคนว่า ผมจะสอบยังไง ผมให้มันหันหน้าเข้า พอถอดรัดประคดออกมันก็หน้าซีดแล้ว เป็นเรื่องจิตวิทยา ผมทำมาหลายคดีแล้ว ใครสอบไม่ออก ผมสอบออกหมด ก่อนเอาคำรับสารภาพไปประกอบหลักฐานดีเอ็นเอ ศาลตัดสินประหารชีวิต ผมถือว่า เป็นเบสิกล้วน ๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรเลย” พล.ต.ต.วีระศักดิ์รำลึกความหลัง

เจ้าตัวย้ำว่า นักสืบรุ่นใหม่เลือกใช้เทคโนโลยีและไม่ไปตรวจที่เกิดเหตุ ไม่ไปควานหาพยานหลักฐาน พยายานแวดล้อม เอาเทคโนโลยีเป็นหลักมากเกินไปเพื่อให้เร็ว เช่นเดียวกับการซักถาม ต้องให้คนถามเป็นแล้ว อย่าให้มั่วหลายคน อัดเทป บันทึกวิดีโอไว้เพื่อเอาไปใช้ในชั้นศาล สมัยเป็นผู้การสืบสวนภูธรภาค 8 ยืนยันได้ว่า ไม่มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา จับได้ทุกรายไม่มียกฟ้อง ติดคุกหมด

ย้อนไปถึงการซักถามผู้ต้องสงสัย ตำนานนักสืบคนดังเชื่อว่า ขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณบวกพรสวรรค์ และหลักจิตวิทยาที่นักสืบหลายคนต้องใช้เวลาเรียนรู้  ขึ้นอยู่กับเทคนิคการถามของแต่ละคน ความรู้รอบตัวต้องมี ถ้าผู้ต้องสงสัยเป็นคนเหนือ เราต้องพูดเหนือ เป็นคนอีสาน เราต้องพูดอีสาน ให้เหมือนเป็นพวกเดียวกันจะได้รู้สึกอุ่นใจ แล้วแต่ความสามารถของนักสืบแต่ละคน

“ในการซักถามเรื่องพวกนี้จะยาก มันต้องมีเซ้นส์ และประสบการณ์การชีวิตด้านสืบสวนที่มากพอสมควร ต้องมีทั้งจิตวิทยา ตรรกะ วัฒนธรรม ประเพณี ผมเป็นคนที่พูดได้หลายภาษา ถ้าคนใต้ผมก็พูดใต้ ถ้าคนเหนือก็พูดเหนือ คนอีสานก็พูดอีสาน ทำให้ได้เปรียบ ทางใต้การสอบปากคำง่ายตรงที่ เราบอกว่า เราเป็นนักเลง คุณเป็นนักเลงหรือเปล่า พูดถึงตรงนี้คนมีวัฒนธรรม ประเพณีที่ไม่เหมือนกันกับคนภาคอื่น ถ้าบอกเป็นนักเลงก็บอกว่า เราพูดจริงพร้อมช่วยเหลือ ถ้าเห็นด้วยก็ยอมรับ ช่วงนั้นถึงทำงานสนุกมาก พอมีเหตุเกิดก็อยากจับ”

ประสบการณ์ของ พล.ต.ต.วีระศักดิ์ยังบอกทฤษฎีคดีอาชญากรรมได้ด้วยว่า คดีฆ่าข่มขืน ประเด็นสำคัญคือ คนร้ายจะไม่มาไกลจากที่เกิดเหตุ หรือคนร้ายอยู่ละแวกนั้นอยู่แล้ว เป็นหลักในการสืบสวนคดีข่มขืน  เช่นเดียวกับคดีฆ่าหั่นศพที่เขาจับคนร้ายเยอะสุดในประเทศไทย ต้องดูจากที่ทิ้งศพเป็นหลัก ยิ่งแผนประทุษกรรมของคนต่างชาติจะเสี่ยงเอาศพไปทิ้งไกล ต้องมีห้องเช่า อาพาร์ตเมนต์อยู่ย่านนั้น ที่เหลือเป็นหน้าที่ของตำรวจต้องกระจายกันเดินหาข่าว

สำหรับเส้นทางชีวิตของ พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ลูกชายวิศวกรเกิดย่านสีลมใจกลางเมืองหลวง แต่ไปโตเบตง ชายแดนด้ามขวานจังหวัดยะลา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวีระราษฎร์ประสานจนจบมัธยมต้นถึงย้ายเข้าสงขลาไปต่อโรงเรียนวรนารีเฉลิม กระทั่งสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขยับชีวิตจากผืนแผ่นดินภาคใต้ไปไกลอยู่ภาคเหนือด้วยความที่อยากเป็นนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พอจบมาผิดคาดเมื่อไม่มีการเปิดสอบ ตัดสินใจเบนเข็มสอบเข้าหลักสูตรนักเรียนนักร้อยตำรวจพิเศษรุ่น 8 ก่อนจงใจลงบรรจุเป็นตำรวจตระเวนชายแดนแดนอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (สมัยนั้น)

อยู่ปีเดียวสอบเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจแล้วหักเหลงตำแหน่งรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ทำได้ 2 เดือนขยับทำหน้าที่หัวหน้าสายสืบพิสูจน์ฝีมือพิชิตคดีฆ่าโบกปูนชิงทรัพย์สาวใหญ่เจ้าของบ้านแถวพงษ์เพชร ไปตามจับได้ที่จันทบุรีจากหลักฐานที่เกิดเหตุ พยานบุคคล ทำให้เจ้าตัวรู้สึกมีความสุขและสนุกมากที่ได้ไปตามจับคนร้าย จุดประกายอยากเป็นนักสืบนับแต่นั้น

ต่อมาเลื่อนเป็นสารวัตรสืบสวนโรงพักสุทธิสารจับกุมคดีสำคัญมากมาย ผู้บังคับบัญชาควรให้กลับไปแก้ปัญหาในพื้นที่เก่าท้องทุ่งบางเขนที่เต็มด้วยปัญหาอาชญากรรม สร้างชื่อติดกลุ่มนักสืบดาวรุ่งยอดฝีมือของนครบาล รับรางวัลสืบสวนดีเด่นจากชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม ก่อนโยกข้ามหน่วยเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ตาม พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ที่ย้ายขึ้นเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม มีโอกาสคลี่คลายคดีสืบสวนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคลายปมคดีฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ จับผู้ต้องหายกทีมขยายต่อถึงการติดตามเพชรซาอุดีอาระเบียคืนที่ใช้เวลานานนับเดือน

เมื่อ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผู้เป็นนายขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เขาตัดสินใจย้ายตามไปนั่งเก้าอี้ผู้กำกับการสืบสวนสวนตำรวจภูธรภาค 8  คุมพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คลี่ปมฆ่าข่มขืนแหม่มบนเกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และอีกหลายคดี แต่เพียงปีเดียวคืนกรุงเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 4 อยู่ยาวนาน 7 ปี พิชิตคดีดังเมืองหลวงคว้ารางวัลสืบสวนยอดเยี่ยมจากชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม 2 ปีซ้อน

คดีที่ประทับใจที่สุดสมัยนั้น พล.ต.ต.วีระศักดิ์เล่าว่า เป็นคดีฆ่าหั่นศพต้องใช้เทคนิคในการหารายละเอียดหลักฐานทั้งหลาย ก่อนได้หลักฐานชิ้นสำคัญเป็นแปรงสีฟันติดอยู่กับชิ้นส่วนศพระบุ “เดอะไนน์” เป็นชื่อโรงงานผลิตแปรงแจกตามอพาร์ตเมนต์ ไล่ไปตามหาจนเจออพาร์ตเมนต์หนึ่งที่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุทิ้งศพ สืบจนไปตามจับคนร้ายได้ ส่วนอีกเคสเป็นคดีฆาตกรต่อเนื่องฆ่าชิงทรัพย์ชาวต่างชาติที่ลงเครื่องบินสนามบินดอนเมืองเอาศพไปทิ้งตามพงหญ้า ผู้ต้องหาชื่อ นายอับดุล กานาม อัลฟายิด มูฮัมเหม็ด ชาวอียิปต์ ขับรถไปหาเหยื่อที่ดอนเมืองออกอุบายรับขึ้นรถมา ระหว่างทางซื้อน้ำให้กินแล้วใส่ยานอนหลับก่อนพาไปฆ่าชิงทรัพย์เอาบัตรเอทีเอ็มไปกดเงิน ตำรวจใช้เวลาประมาณเกือบเดือนถึงจะจับได้ ฆ่าไปแล้ว 8 ศพ ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต อยู่ในคุกได้ 3 ปีก็เป็นวัณโรคตาย

กระนั้นก็ตาม ประสบการณ์โชคโชนของเขายังไม่วายเจอคดีที่หดหู่ใจสะท้อนกระบวนการยุติธรรมทั้งที่เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ตัวผู้ต้องหา ได้ของกลาง พร้อมคำรับสารภาพตรงกับสภาพหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เป็นคดีใหญ่และโด่งดังมากสมัยนั้น เมื่อคนตายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกสาวคู่ขาฆ่าชิงทรัพย์ ตามจับผู้ต้องหาได้ ผู้บังคับบัญชาไม่เชื่อ เอาสำนวนไปให้ตำรวจอีกหน่วยทำ ท้ายสุด ผู้หญิงที่ฆ่าเป็นแค่คนรับของโจร ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นแพะติดคุดเจอตัดสินประหารชีวิต

สวมบทผู้กำกับการสืบสวนนครบาลนาน 7 ปีกว่าจะเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 แต่ถูกจับไปนั่งคุมงานบริหารที่ตัวเองไม่ถนัด ถึงตัดสินใจย้ายไปอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หวังช่วย พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนแรกก่อร่างสร้างหน่วยใหม่ แต่เอาเข้าจริงกลับแย่กว่าองค์กรตำรวจหลายเท่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องโยกกลับมาสวมเครื่องแบบอีกครั้ง กระทั่งขึ้นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนอำลาชีวิตข้าราชการตำรวจ

วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ !!!

 

RELATED ARTICLES