“คุณค่าของเราคือว่า มันต้องผัวหาบ เมียคอน”

ะใภ้สาวอดีตตำรวจมือปราบภูธรคนดังเมืองเพชรบุรี

คุณแหม่ม-พิมพ์วรัชญ์ คล้ายคลึง ภรรยาแสนสวยของ พ.ต.อ.พงศ์อานันต์ คล้ายคลึง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการภาคอาวุโสเพชรเหรียญทอง 109 บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด

ทั้งคู่พบรักกันตั้งแต่ฝ่ายหญิงเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ขณะที่ฝ่ายชายเป็นนักเรียนเตรียมทหารชั้นปี 2 คุณแหม่มเล่าว่า ผู้ใหญ่แนะนำให้รู้จักกัน แต่ยังไม่ได้คบกันจริงจัง เรามีพี่น้อง 4 คนเป็นผู้หญิงหมด ไม่เคยรังเกียจคนในเครื่องแบบ แฟนของพี่สาวก็เป็นทหารหมด แต่มาตัดสินใจคบกันเป็นแฟนตอนที่เรียนอยู่ปี 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกริก ส่วนเขาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจปี 2

“แหม่มเป็นคนตามใจพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่สนับสนุนแล้ว แหม่มก็ไม่ขัด บังเอิญป้าก็รู้จักกับพ่อสามี ป้าไม่มีลูก ก็เลี้ยงแหม่มมาเหมือนลูก เลยยุให้มาจีบหลานสาว แรก ๆ  ก็คบกันผิวเผินไม่ได้ให้ความสัมพันธ์ของคำว่าแฟน มาเริ่มจริงจังตอนปี 2 รู้สึกดีกับผู้ชายคนนี้ แม่สนับสนุนเต็มที่ เพราะเขาเสมอต้นเสมอปลาย ก่อนนั้นแม่จะห้ามเสมอว่า เขายังเป็นเด็กอยู่ ไม่จำเป็นต้องซื้อของมาฝากพ่อแม่ เนื่องจากจะเคยตัวกลายเป็นต้องซื้อของมาตลอด และมองว่า เขาเป็นคนที่มีสัมมาคาราวะ กตัญญูต่อพ่อแม่เขา สิ่งสำคัญที่เขาแสดงให้เห็นคือ ไม่ใช่ผู้ชายที่ติดผู้หญิงจ๋า จะแบ่งเวลาเลยว่า วันเสาร์จะอยู่กับเราเวลานี้ ส่วนวันอาทิตย์จะเป็นวันของพ่อแม่เขา จุดนี้เป็นจุดทำให้ ถ้าคนเป็นแฟนอาจจะงอนกันบ้าง แต่พ่อแม่แหม่มชอบ มั่นใจว่า ถ้าจะให้แต่งงานกับลูกสาวคงดูแลได้”

หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณแหม่มบอกว่า ได้ตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นคนแรกของรุ่น นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 เพื่อนในรุ่นของสามียังครหากันว่า จะอยู่กันทนไหม สุดท้ายบางคนที่พูดกลับเลิกรากันก่อนแล้ว กลายเป็นเราป๊อปปูลาร์ของรุ่นไปเลย ตอนนั้นทำงานไปด้วยรับเป็นเอเจนซี่ขายตั๋วเครื่องบินอาหรับ ก่อนย้ายเป็นเซลส์บริษัทเฟอร์นิเจอร์ เราเป็นผู้หญิงที่อยู่บ้านไม่ได้ แค่ 3 ชั่วโมงก็อยู่ไม่ได้ ต้องทำงานตลอด รู้สึกว่า เงินเดือนตำรวจน้อยมาก ถ้าไม่ทำงานเราจะถือสโลแกนว่า ต้องกอดคอกันตาย

ชีวิตแต่งงานเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว ปลูกต้นรักด้วยความทรหดอดทนกระทั่งเกิดพยานรักออกมาถึง 3 คน ประกอบด้วย นันท์ธิรัตน์ คล้ายคลึง ปัจจุบันเป็นนักวิชาการพัฒนา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร.ต.อ.จิรโชติวัจน์ คล้ายคลึง รองสารวัตรตำรวจท่องเที่ยว และพิสิษฐ์พล คล้ายคลึง อยู่ระหว่างศึกษาต่อยังประเทศนิวซีแลนด์

คุณแม่สาวลูกสามยอมรับว่า  พอมีลูก รู้เลยว่า วันนั้นต้องตัดสินใจ คือ จะเป็นแม่ที่อ่อนแอไม่ได้โดยเด็ดขาด ความรับผิดชอบมันสูง ตราบใดที่เราอ่อนแอ เราจะไม่มีวัคซีนอยู่ในตัวเลย ยิ่งเราเป็นภรรยาตำรวจที่โตมาจากด้านสืบสวนตลอด กิจกรรมเยอะ มีลูก 5 ปี 1 คน เว้นอีก 4 ปี มีอีกคน ลูกต้องเข้าโรงเรียนก่อน สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์ติดต่อสื่อสาร บางครั้งสองจิตสองใจว่า คิดถูกคิดผิด บางครั้งชั่ววูบว่า เราคิดผิดหรือ อยากกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ด้วยความที่มีป้าดูแลตลอดเวลา วันนี้คิดว่า ต้องอดทน นอนร้องไห้กับหมอนประจำ แต่มันไม่ได้ มันต้องสู้ ถ้าวันนี้ท้อ หรือทิ้งไป เรารู้เลยว่า ตัดสินใจกับปัญหาแค่นี้ไม่ได้ วัยเราแต่งงานเร็ว มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา ต้องพลิกตัวเองมองเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก มุ่งไปหาเรื่องใหญ่ นั่นก็คือความสุข เช่น เห็นสามีมีความสุขกับงานเพื่เอก้าวหน้า เราจำเป็นต้องดูลูกให้มีคุณภาพ ต้องให้ลูกเรียนเก่ง

ศรีภรรยารองผู้การนักสืบมองว่า ต้องตั้งใจทำงาน คิดว่าจะทำงานอะไรดีที่เหมาะกับเรา หลังแม่เริ่มมีโรคประจำตัว เริ่มเลี้ยงหลานไม่ไหว ก่อนตกผลึกเป็นคนขายประกันชีวิตดีกว่า ทั้งที่เคยไม่ชอบกับอาชีพนี้ แต่มาวันหนึ่ง มีผู้ใหญ่เป็นภรรยารองผู้การทำให้เราเห็นว่าสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เติบโตในอาชีพนี้ได้ เราเริ่มค้นหาว่า มีอะไรดี เลยตาสว่าง  คือ เราสามารถดูแลลูกได้ รับส่งลูกได้ เป็นงานที่ไม่มีเพดานจำกัด อีกอย่างเราคิดว่า เราขายตัวเองได้ เริ่มศึกษางานว่า ไม่ใช่ประกันชีวิตอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงการบริหารงานการเงินการธนาคาร ตรงกับที่เรียนมาจึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เราเป็นคนตัดสินใจแน่วแน่และไม่มีคำว่า ถอย ทุบหม้อข้าวตัวเอง ลาออกจากงานเก่า ปัจจุบันทำงานอยู่เอไอเอก็นับแล้ว 23 ปี

“แหม่มว่า สามารถกำหนดเวลาได้เอง แฮปปี้ที่ได้ส่งลูก มีความสุขที่จอดรถเห็นลูกลงเดินเข้าโรงเรียน นั่นคือสิ่งที่เรามอง ก่อนมาดูแลตัวเอง ออกไปทำงานแค่ 9 โมงครึ่งถึงบ่ายสาม เสร็จแล้วจะทิ้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกลับมาดูแลลูก ทุ่มเทพาไปเรียนพิเศษ แหม่มพบแล้วกับความเป็นแม่บ้านเต็มตัวกับจุดตรงนี้ สามีก็แฮปปี้ วันหนึ่งครูโทรศัพท์มาบอกลูกแขนหัก แหม่มก็พร้อมทิ้งทุกอย่างเพื่อมาหาลูกได้ เลยคิดว่า งานนี้คงเหมาะกับเรา มันทำให้เราลืมเรื่องการอะโลน และโลนลี่ไปเลย”

เธอรับว่า เหนื่อยกับการเลี้ยงลูกมาก คิดว่า ถ้าเลี้ยงเขาให้ได้มีคุณภาพ เชื่อว่า เขาต้องสำเร็จทุกคน สามารถเดินตามไลน์ที่เรากำหนด เคยบอกกับลูก 2 คนแรกว่า แม่ขอโทษลูก อาจปล่อยปละละเลยเพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงวิกฤติทำมาหากิน พ่อก็เงินเดือนไม่มาก ที่สำคัญภาระเยอะแยะ ลูกต้องกินเอง เสื้อผ้าต้องใส่เอง พอมีน้องคนที่ 3 มันเป็นช่วงสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้ว เริ่มมีลูกจ้างคนใช้คอยดูแล สองคนแรกก็จะบอกว่า แม่เลี้ยงลูกโหด เหตุผลเพราะเราต้องการให้มีคุณภาพ

“แหม่มบอกลูกเสมอว่า การที่จะเป็นลูกแม่ สิ่งสำคัญ คือ ลูกอ่อนแอไม่ได้ ทั้งกายและใจ ถ้าอ่อนแอจะกลายเป็นผู้แพ้ ทำอะไรก็แล้วแต่ ลูกต้องฝืน แม่ไม่ต้องการให้ลูกเลอเลิศ แค่เพียงให้รู้ว่า พ่อไม่มีเวลาให้พวกเรา แต่เราต้องแข็งแรงด้วยตัวเอง และเราจะต้องไม่ทำให้พ่อผิดหวัง พ่อเป็นพ่อที่ดีของเรา พ่อไม่ให้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับแม่  ถ้าพ่อมีเวลา พ่อจะทุ่มเทให้กับครอบครัวเต็มร้อย” แม่บ้านสาวใจแกร่งส่งเสียงจริงจัง

“ถึงเขาจะไม่มีเวลาร้อยครั้ง แต่ถ้าวันไหนจัดเต็มสักครั้งก็ถือว่า สุขใจ เพราะเหนือสิ่งอื่นได้ แหม่มว่า สามี คือ ทองเนื้อเก้า 20 กว่าปีที่อยู่ด้วยกัน เขาไม่เคยทำอะไรให้แหม่มชีช้ำ ค่อนข้างดูแลแหม่มดีด้วย ถึงเราจะไม่ทำงาน เขาก็ดูแลเราได้ แต่ความรู้สึกของแหม่มมันไม่ใช่ คุณค่าของเราคือว่า มันต้องผัวหาบ เมียคอน อีกอย่างโดยอาชีพของเขา สักวันหนึ่งถ้าเขาจะอยู่ หรือไม่อยู่ เราต้องบอกว่า เราอยู่ได้ เราต้องสามารถโอบอุ้มทุกสิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นภาระ หรืออะไรก็ตาม ลูกเราต้องดูแลได้หมด นั่นคือความคิดของแหม่ม เราต้องพร้อมจะลุกขึ้นมาได้เสมอ”

อย่างไรก็ตาม คุณแหม่มยังมีอารมณ์น้อยใจบ้างในบางเวลา เธอรับว่า บางครั้งกับสามีก็อยู่เหมือนมุมแดงมุมน้ำเงิน มีอยู่คืนเราจะไปนอนแล้ว เห็นโทรศัพท์ตลอดวัน รู้สึกโมโห ถึงขนาดบ่นออกไปว่า ขอโอกาสให้เราบ้างได้ไหม พร้อมจะไหว้พระกับเราหรือยัง ก็เข้าใจภารกิจเขานะ อยู่กันมาถึงวันนี้ เป็นทั้งคู่คิด และเพื่อน เวลาจะคุยกันจะบอกเสมอ ถ้าเราจะคุยกันด้วยเวลาจำกัด  อย่าเอาเปลือกมาคุยกัน ต้องคุยกันถึงแก่น แต่เขาก็ไม่เคยทำให้เราเสียใจ

 “ที่สำคัญ เวลาเห็นเขาซีเรียสเรื่องงาน แหม่มจะบอกกับเขาเสมอว่า เธอสบายใจนะ แหม่มและลูกจะไม่ทำตัวให้เธอรู้สึกหนัก เพราะแหม่มคิดว่า อาชีพเขาคงหนักเพียงพอแล้ว” สะใภ้ตระกูลคล้ายคลึงแย้มเคล็ดการครองเรือน

 

RELATED ARTICLES