“เราพยายามบริหารทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

 

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายลุกลามไปทั่วโลก

จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ศูนย์กลางการติดเชื้อในระยะเริ่มต้น ก่อนแพร่ออกมาคร่าชีวิตผู้คนเรือนแสน มีผู้ติดเชื้ออีกหลายล้านชีวิต กลายเป็นวิกฤติยิ่งกว่าสงครามโลก

เสมือน ตัววายร้าย ที่ยากจะสกัดให้หยุดในเวลาอันรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทยระยะแรก แตกแถว แนวรับยังไม่ได้มาตรฐานมั่งคงแข็งแรงพอ โชคดีมี บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับมือ

พวกเขาคือ นักรบเสื้อกาวน์ ยอมเสียสละอุทิศตัวบนความเสี่ยงอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อจนทำ ตัวเลข เป็นที่น่าพอใจ

เฉกเช่นบรรดาขุนพลหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์กับครั้งหนึ่งใน สมรภูมิสงครามเชื้อโรค

 

เปิดตัวหมอหนุ่มผู้เชี่ยวชาญ ได้แรงบันดาลจากครอบครัว

หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 โรงพยาบาลตำรวจ หลังจาก พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ มอบหมายภารกิจสำคัญให้ พ.ต.อ.จิรายุ วิสูตรานุกูล นายแพทย์ (สบ4) หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลตำรวจรับผิดชอบวางแผนรับมือสถานการณ์การระบาดของเชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่ที่หลายคนแทบไม่เคยรู้จักมาก่อน

นายแพทย์หนุ่มเกิดในครอบครัวหมอและพยาบาลในจังหวัดร้อยเอ็ด พ่อเป็นจักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ส่วนแม่จบศิริราชพยาบาลตามไปอยู่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดด้วยเช่นกัน ส่วนตัวเขาเรียนจบประถม 2 ที่โรงเรียนร้อยเอ็ดก็เข้ากรุงเทพฯ มาต่อโรงเรียนไผทอุดมศึกษา เพราะครอบครัวมองว่า หากอยู่ต่างจังหวัดโอกาสจะสู้เด็กเมืองหลวงน้อยกว่า ก่อนไปจบชั้นมัธยมโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

การที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของหมอและพยาบาลทำให้เขาเห็นการดูแลลคนไข้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจบมัธยมสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อเนื่องจนได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ

 

ดูแลด้านโรคติดเชื้อเพียงคนเดียว เกี่ยวประสบการณ์สู่โรงพยาบาลตำรวจ

เรียนจบแพทย์เลือกไปใช้ทุนต่างจังหวัดกลับสู่ถิ่นเกิดจังหวัดร้อยเอ็ด สูดกลิ่นอายชนบทอีกครั้งจนได้รับรางวัลแพทย์ใช้ทุนประทับใจของโรงพยาบาล  ปีเดียวมีข่าวโรงพยาบาลตำรวจเปิดโครงการเตรียมรับแพทย์ที่กำลังใช้ทุนเพื่อมาศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ตามโครงการร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะโรงพยาบาลตำรวจกำลังจะขยาย เขาเป็นรุ่นแรกเข้ามาอยู่ประจำกลุ่มงานอายุรกรรม ก่อนได้รับรางวัลแพทย์ประจำบ้านดีเด่น 2 ปีซ้อน และมีโอกาสไปดูงานประชุมประจำปีของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยที่พัทยา จังหวัดชลบุรี  ทำให้เจ้าตัวรู้สึกชอบ

พ.ต.อ.จิรายุเล่าว่า มีความสุขในการทำงานตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ กระทั่งอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ชวนบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อเป็นอาจารย์แพทย์ต่อจึงตกลงเป็นแพทย์ตำรวจ และเรียนต่อในสาขาโรคติดเชื้อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงพยาบาลตำรวจไม่เคยมีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อมาก่อน

“ผมรู้สึกชอบว่า จะวินิจฉัยโรคอย่างไร รักษาคนไข้กลุ่มโรคนี้ได้อย่างไร หลังจบการฝึกอรมได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม เป็นแพทย์โรคติดเชื้อคนเดียวของโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน  มันคงเป็นสาขาที่ค่อนข้างขาดแคลน แม้แต่โรงเรียนแพทย์ก็ขาด รุ่นผมจบมาทั้งประเทศมี 12 คน เพราะว่างานมันหนัก ใช้ความละเอียดในการดูแลคนไข้ ไม่เหมือนกับโรคอื่น             ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์เยอะ อาจจะไม่ตรงไปตรงมามาก”

 

รับภารกิจที่เจ้าตัวภูมิใจ ดูแลรักษาคนไข้ติดเอชไอวี

เขายกตัวอย่าง หมอเบาหวานเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลได้ผลเลย หมอหัวใจมีเครื่องตรวจการเต้นของหัวใจ ไม่ต้องทำอะไรมาก หลายโรคมีเครื่องมือที่ไปจิ้มแล้วบอกคนไข้ว่า เป็นโรคอะไร ควบคู่กับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วคิดวิเคราะห์ผลเพื่อประเมิน แต่สำหรับโรคติดเชื้ออาจจะต้องใช้เวลา ใช้ความคิด วิเคราะห์ให้ขาด และเสี่ยงสูง ถ้าวิเคราะห์ผิด คนไข้ไม่หาย แถมอาจจะแย่ลงจนถึงเสียชีวิตได้ โรคพวกนี้วิธีการตรวจไม่ใช่ง่ายๆ อย่างโรคทั่วไป ต้องวินิจฉัยว่า คนไข้เป็นอะไรจากประวัติเป็นหลัก การตรวจร่างกายใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการมาเสริมเฉยๆ มีความยากในระดับหนึ่ง

หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อยอมรับว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นความโชคดี ทำงานคนเดียวก็จริง งานหนัก แต่ได้เจออะไรเยอะมาก ประสบการณ์เยอะขึ้น ให้เราสามารถดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น สมัยก่อนหนักที่สุด ที่พบ เป็นเคสติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงเข้าไปในกระแสเลือด เมื่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจะมีความยากในการรักษา เพราะยาที่ใช้เฉพาะ ไม่มี  ต้องใช้ยาหลายตัวผสมกัน ดูการตอบสนองว่า ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทว่าโอกาสที่จะเสียชีวิตมีมาก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด หากคนไข้ยังไม่หายขาด  เราต้องอัพเดตความรู้เราเป็นระยะ ๆ เพื่อให้คนไข้อาการดีขึ้นมากที่สุด

เจ้าตัวเล่าประสบการณ์ต่อว่า ในอดีตภาวะของโรคติดเชื้อส่วนมากคนไข้ติดเชื้อเอชไวดีเป็นหลัก ทำให้อัตราการตายสูง เราเป็นหมอติดเชื้อคนเดียวของโรงพยาบาลตำรวจ ขณะนั้นมีคนติดเชื้อเข้ามารักษา 800 รายแล้ว ต้องวางแผนจะบริหารจัดการ 800 รายนี้อย่างไรให้อาการดีขึ้น ตั้งแต่สร้างทีมเพื่อดูแลคนไข้ เราคนเดียวดู 800 รายได้ไม่หมดแน่นอน ต้องมีพยาบาล เภสัชกรคอยช่วยกันดูแล เรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำมาจนปัจจุบัน 1,600 รายแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พยายามประคอง ถือเป็นภารกิจที่เหนื่อย แต่ภูมิใจที่ทำให้คนไข้หลายคนใช้ชีวิตอยู่ได้ถึงทุกวันนี้

 

วางระบบปฏิบัติหน้าที่ครบวงจร ปัดเป่าบรรเทาร้อนคนติดเอดส์

พ.ต.อ.จิรายุทำผลงานสำคัญร่วมกับคลินิกส่งเสริมสุขภาพเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีทุกสิทธิการรักษาของโรงพยาบาลตำรวจอย่างครบวงจร จัดให้มีระบบการเจาะเลือดและเอกซเรย์ปอดเพื่อเตรียมความพร้อมและหาโรคติดเชื้ออื่นที่มีร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี รวมทั้งจัดให้มีระบบการเจาะเลือดเพื่อตรวจติดตามการรักษาหลังได้รับยาต้านเอชไอวีทุก 6 เดือน ทำให้ลดปัญหาการวินิจฉัยเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยาได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ดำเนินการให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิประกันสังคมที่มีวินัยในการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นอย่างดี สามารถรับยาต้านไวรัสเอชไอวีได้ครั้งละ 3 เดือน มีเขาเป็นแพทย์ผู้เดียวที่จะสั่งจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีได้ครั้งละ 3 เดือน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะถูกสอนให้ท่องชื่อยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ตัวเองใช้อยู่ ช่วยลดปัญหาการได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีผิดชนิด ขณะเดียวกันได้มีการประสานกลุ่มงานเภสัชกรรมจัดให้มีเภสัชกรมาทำหน้าที่คลินิกส่งเสริมสุขภาพทำหน้าที่ดูแลเรื่องวินัยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยติดเชื้อทุกราย

ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ส่งให้โรงพยาบาลตำรวจได้รับใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยบริการที่มีคุณภาพในการดูแลรักษาดีเยี่ยมด้านเอชไอวี/เอดส์ ประจำปีงบประมาณ 2553 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 13 กรุงเทพมหานคร  โล่รางวัล Best Recruitment Award กิจกรรมระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในโปรแกรม NAPDAR โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2558 จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรางวัลอื่นอีกมากมาย “เป็นภารกิจหนึ่งที่ภูมิใจมาก โรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากสัมผัส ไม่มีใครอยากยุ่ง  แต่เราเป็นหมอ รู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติของโรคติดต่อได้อย่างไร  มันไม่ได้ติดจากการตรวจธรรมดา เหมือนกับเชื้อไวรัสโควิด เราเช่นกันว่าจะติดอย่างไร ถามผม ๆ ไม่ได้กลัวว่าจะติด เพราะผมรู้ว่าจะป้องกันตัวอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ และเพื่อไม่ให้คนรอบข้างติด หรือบุคลากรที่ทำงานกับเราติด”

 

ผ่านอบรมรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009  โควิด-19 ก้าวมาถึงไม่วิตกกังวล

เมื่อเข้ามารับภารกิจกลางสมรภูมิเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อคนเดียวของโรงพยาบาลตำรวจยอมรับว่า โชคดีที่ปี 2552 ได้รับโอกาสเข้าฝึกอบรมด้านโรคติดเชื้อในสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเมื่อมีโรคระบาดที่มีการติดต่อทางระบบทางเดินหายใจนำมาใช้ในการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนตัวถึงไม่ได้มีความกังวล แต่รู้สึกเป็นห่วงประชาชน ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า เนื่องจากในช่วงแรกที่มีการระบาด คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดีเท่าที่ควร

“เรามีแบบอย่างของการรับมือกับโรคพวกนี้จากไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีการระบาดเยอะเหมือนกัน แต่อัตราการตายอาจจะไม่เท่าตัวโควิด-19 ตอนที่ต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ในเมืองไทย เราเห็นข่าวแล้วที่ประเทศจีนที่กำลังมีการแพร่ระบาด คิดว่า มันต้องมาแน่ เราเริ่มมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อวางแผนรับมือว่า คนที่เข้ามารักษาโรงพยาบาลตำรวจต้องมีมาตรการดำเนินกการอย่างไร จะพาไปตรวจวิเคราะห์ตรงไหน ส่งแล็บที่ไหน และถ้าอาการหนักจะไปส่งหอผู้ป่วยไหน ใครจะไปดูแลคนไข้ อุปกรณ์ป้องกันของบุคลากร มีอะไรบ้าง คิดภาพรวมให้เป็นระบบ” นายแพทย์หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลตำรวจอธิบาย

วางแนวทางการปฏิบัติจนสถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามขึ้นในเมืองไทย เขาบอกว่า พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่ลงมาเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดเชื้อ ตั้งเขาเป็นเลขานุการดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก ทำหน้าที่ให้คำแนะนำขั้นตอนการทำงาน ยอมรับว่า ตอนแรกอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ทุกคนกลัว ต้องสวมหน้ากาก N95 ใส่ชุดป้องกันเชื้อเต็มรูปบบไม่ว่าจะสัมผัสมาก สัมผัสน้อยแค่ไหน จริงๆ คนที่สัมผัสใกล้ชิดที่สุด คือ คนที่ไปตรวจจมูกคนไข้ กลุ่มนี้คือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง  หรือพยาบาลที่ดูแลคนไข้หนักที่ต้องดูดเสมหะคนไข้ หรือพ่นยาคนไข้ กลุ่มที่ต้องการอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบ

 

คอยตระเวนให้กำลังใจทีมขุนศึก นึกวิธีแนะนำการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“เราพยายามบริหารทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด บอกทีมงาน ให้กำลังใจในสถานการณ์ขาดแคลน ตั้งต้นที่หลักวิชาการก่อน จัดประชุมวิชาการอยู่หลายครั้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบว่า โรคนี้เป็นอย่างไร การดำเนินทำอย่างไร กลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์จะบริหารจัดการแบบไหน ใช้อุปกรณ์ป้องกันอะไรบ้างที่เหมาะสม หลักการที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนกลัว ทุกคนอยากป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด กลายเป็นความระแวง จริง ๆ ไม่ถึงขนาดนั้น ต้องมีการประเมินความเสี่ยงว่า จะเป็นโรคนี้มากน้อยขนาดไหน ใช้ทรัพยากรเต็มรูปแบบ แน่นอนว่า ไม่มีทางเพียงพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจากห้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นต้องทำให้มันอยู่ในมาตรฐาน ให้ความมั่นใจ เดินไปดูหน้างานเองทุกที่ ว่า ใช้อุปกรณ์ป้องกันได้ถูกต้องหรือไม่ มีปัญหาอะไรที่จะแก้ได้ แก้ให้ตรงนั้นเลย ช่วงแรกจะเหนื่อยมาก เพราะจะเดินไปดูหน้างานเองทุกที่”

พันตำรวจเอกนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจสารภาพว่า ระยะแรกที่ทุกจะกังวลหมด เนื่องจากความรู้ไม่มี เมื่อเกิดความกังวล ปัญหาก็จะตามมา ที่ทำได้ คือ เดินไปดูหน้างานทุกที่ ไปนั่งคุยว่า ทุกคนมีปัญหาอะไรบ้าง ที่ถูกควรจะต้องทำอย่างไร อาทิ ที่หอผู้ป่วย ทั้งคลินิกโรค และหน่วยคัดกรองคนไข้ รวมทั้งที่ห้องฉุกเฉินว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไหม ใช่โรคนี้หรือไม่ “ผมเปิดเครื่องไว้ตลอด เป็นมา 10 ปี ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือ ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นแพทย์โรคติดเชื้อคนเดียว ที่ห้องฉุกเฉินกี่โมงกี่ยามจะโทร.มาหาตลอดว่าจะเอายังไงดี ไปอยู่ตรงไหน จะบริหารจัดการอย่างไร  ผมต้องพร้อมรับปรึกษา เมื่อมีปัญหาความไม่มั่นใจจนทีมงานพร้อม มั่นใจดีขึ้นแล้ว”

พ.ต.อ.จิรายุบอกด้วยว่า อัตราผู้ป่วยติดเชื้อของโรงพยาบาลตำรวจจะน้อย เนื่องจากภารกิจหลักเรา คือตำรวจ และครอบครัวตำรวจ คนธรรมดาใช้สิทธิ 30 บาท ประกันสังคมเดินมาที่เราได้ รวมถึงคนธรรมดาที่ไม่มั่นใจอยากจะมาตรวจโรงพยาบาลตำรวจ เราดูแลให้ได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ระยะแรกจะมีตำรวจติดเชื้อด้วย เช่นเดียวกับคนที่มีความเสี่ยงเราจะให้นอนโรงพยาบาลทุกคนตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าผลตรวจเป็นลบก็กลับบ้านได้ ถ้าเป็นบวก คือ เป็นโรคจริง จะรายงานไปตามระบบให้กรมควบคุมโรคมาสอบสวนโรคว่า คนข้างเคียงเป็นใคร ส่วนคนไข้เราให้การรักษาตามมาตรฐาน ทุกคนรักษาที่เราหมด ไม่ได้ส่งไปที่ไหน

 

ดูแลผู้ป่วยทั้งหมด 38 ราย ไร้ยอดตายมีแต่หายกลับบ้าน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 เดือน โรงพยาบาลตำรวจเริ่มให้การรักษาดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันที่ผู้ป่วยรายสุดท้ายกลับบ้านไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม รวมผู้ป่วยทั้งหมด 38 ราย มีผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ 13 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว พ.ต.อ.จิรายุเผยขั้นตอนการรักษาว่า ใช้ยาตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง เพียงแต่ให้การดูแลเวลามีปัญหาอะไรต้องรีบแก้ไข ส่วนใหญ่ยาต้านไวรัสตัวนี้ ถ้าเป็นน้อยใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน เป็นเยอะใช้ประมาณ 10 วัน แต่ต้องมีการสังเกตอาการหลังจากนั้นด้วยว่า อาการดีขึ้นแค่ไหนตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

หัวหน้าทีมปฏิบัติการรับมือวายร้ายไวรัสสายพันธุ์ใหม่อธิบายเพิ่มเติมว่า คนไข้ที่กลับบ้านได้ต้องใส่หน้ากากอนามัยต่ออีก 14 วันโดยประมาณในระหว่างใช้ชีวิตปกติ แต่สำหรับคนไข้รายใดเป็นตำรวจมารักษากับเราต้องกลับบ้านไปในชุมชน ในแฟลต หรือโรงพักเดียวกัน ไม่แน่ใจจะดูแลตัวเองดีแค่ไหน เราจะให้นอนพักรักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจยาวเกือบเดือนเพื่อป้องกันความปลอดภัย

“ ที่ผ่านมารักษาหายหมด โอกาสจะกลับมาเป็นโรคใหม่ยังไม่มี แต่คนที่ติดเชื้อแล้วไปติดเชื้ออื่นในช่วงเวลาต่อ ๆ มาอาจเป็นไปได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอ เรื่องนี้ต้องตั้งต้นที่ภูมิต้านทานของร่างกายเราเองก่อน พอมันอ่อนแอจากอะไรก็ตามจะติดเชื้อได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้ก็ได้ อาจเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน เป็นแล้วก็หาย ไม่ได้เป็นเรื้อรัง ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ในอนาคตอยู่ที่ตัวคนไข้ เช่น พักผ่อนน้อย เครียด อาจทำให้ติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนตามมามากกว่า” พ.ต.อ.จิรายุระบุ

 

ห่วงโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ลดอัตราการเสี่ยงได้ต้องใช้วิชาความรู้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลง นายแพทย์หนุ่มมีความเห็นว่า  คงเป็นจังหวะที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ทำให้เรามีเวลาวางแผนตั้งรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ เราไม่มีทางรู้ว่า ต่อไปหากประเทศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มีคนต่างชาติที่อาจจะในประเทศบ้านเกิดยังควบคุมโรคไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย โอกาสแพร่เชื้ออาจจะมีอีกได้ ดังนั้น ต้องพยายามตั้งรับสถานการณ์เหล่านี้ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ในอนาคตที่จะมีมาเรื่อย ๆ ต้องคอยสังเกต ตั้งรับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ดูข้อมูลข่าวสารข้างนอกว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อป้องกันปัญหา ดูแลคนไข้ และทีมงานบุคลากรของเราได้เต็มที่

เจ้าตัวเปรียบเทียบด้วยว่า ที่ผ่านมาเชื้อเอชไอวีโอกาสทางติดต่อเฉพาะทางเพศสัมพันธ์ สัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่ง ไม่ได้ติดง่าย คล้ายกับเชื้อหวัดโควิด-19 ก็ไม่ได้ติดง่าย โรคที่น่ากังวล คือ โรคที่ฟุ้งกระจายลอยไปลอยมาในอากาศมากกว่า เนื่องจากเป็นละอองที่ดูน่ากลัว เราต้องหายใจโดยไม่รู้ว่า รอบตัว คือ อะไรบ้าง แต่สำหรับโควิด เราป้องกันได้ว่า โอกาสเสี่ยงจะติดจากใคร ติดจากที่ไหน

“ความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่กลัวไปจนระแวงไปหมด สังคมอาจมองว่า บุคลากรทางการแพทย์เหมือนว่าจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากคนไข้กลุ่มนี้มากที่สุด แต่จริง ๆ ถ้าดูตามสถิติ มีแพทย์ที่ติดเชื้อกลุ่มนี้น้อยมาก เพราะจะรู้อยู่แล้วว่า โรคมันจะมีโอกาสติดเชื้อได้ทางไหน ส่วนใหญ่โรคที่จะติดมาจากคนไม่ได้ทันระวังตัวเอง ไปสัมผัสกับโรคมา คิดว่าไม่ใช่แล้วติดมา ถ้าเราระมัดระวังตัวเอง ดูแลตัวเองอย่างดี มันจะมีโอกาสติดน้อย อันตรายมันก็จะน้อยลงด้วย” พ.ต.อ.จิรายุทิ้งท้าย

 

…………………………

เหมือนเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส ในวันที่เชื้อโควิดระบาด

ายแพทย์ (สบ5) กลุ่มงานศัลยกรรม ปฏิบัติราชการหัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอก(ห้องฉุกเฉิน)โรงพยาบาลตำรวจ

...บัญชา ชีวะอิสระกุล ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้แรงบันดาลใจอยากเรียนแพทย์เพราะย่าป่วยเส้นโลหิตในสมองแตกจึงสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบออกมายังได้ วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขา ประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มงานครั้งแรกเป็นประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี แล้วย้ายไปประจำโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

เจ้าตัวเล่าว่า ชอบเรื่องสมองกับระบบประสาทเป็นพิเศษ เหมือนเป็นอะไรที่น่าทึ่ง ท้าทาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนใกล้ตัวเป็น ถึงตัดสินใจเรียนเฉพาะทางด้านระบบประสาทไปใช้ทุนต่างจังหวัด ตอนอยู่แม่สอดเป็นหมอผ่าตัดสมองคนแรกของที่นั่น นาน 3 ปีรู้สึกอยากทำอะไรมากขึ้น อยากผ่าตัดที่ซับซ้อนมาขึ้น พอดีโรงพยาบาลตำรวจขาดแคลน ต้องการพัฒนาหน่วยศัลยกรรมประสาทจึงขอย้ายมาเป็นแพทย์ตำรวจ

สะสมประสบการณ์ขยับมาทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอกดูแลรับผิดชอบห้องฉุกเฉิน ควบคู่กับคุมงานผ่านตัดเหมือนเดิม แต่ได้ดูงานบริหารมากขึ้น กระทั่งเจอสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ต.อ.บัญชายอมรับว่า หลายคนช็อก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่กลัวการติดเชื้อ เพราะยังไม่รู้จักโรคนี้ดี เป็นเรื่องใหม่มาก ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาทุกวัน

“ผมจะต้องบอกน้อง ๆ ที่เป็นหมอ พยาบาลห้องฉุกเฉิน ต้องกระตือรือร้น หาความรู้ใหม่ๆ พร้อมที่จะปรับตัวเสมอ เพื่อเป็นปฏิบัติใหม่ทุกวัน สิ่งสำคัญคือ เราได้กำลังใจจากต้นสังกัด ประชาชนคนไทย ได้เครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยจำนวนมาก จำเป็นต้องตระหนักและตอบแทนพวกเขาด้วยการทำงานให้ดีที่สุด ดูแลคนไข้ที่เข้ามารักษาทุกคนให้ดีที่สุด แล้วพยายามอย่าให้ตัวเองติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อ เพราะถ้าบุคลากรทางการแพทย์ ติด เละเลย คนไข้ลำบากแน่ เป็นสิ่งที่ผมเน้นย้ำที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลตำรวจในระหว่างวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด” พ.ต.อ.บัญชาว่า

หัวหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลตำรวจเล่าด้วยว่า แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ แต่เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินโดนตรวจและกักตัวไป 7 ราย เนื่องจากไปสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่ทราบมาก่อน ทว่าไม่มีใครได้รับเชื้อ ทำให้เรามีประสบการณ์ มีความระมัดระวังมากขึ้น ขณะนี้วิกฤติอาจแค่ผ่อนคลาย สถานการณ์อาจตีกลับมาใหม่อีกก็ได้ ต้องย้ำทุกคนว่า ห้ามประมาท

เขาบอกอีกว่า ตอนแรกมีความเครียดอยู่ ปะปนเป็นความกลัวจากคนไข้ที่เข้ามาบางรายมีอาการอย่างอื่นก็ได้ เราไม่มีทางรู้ว่า ติดเชื้อโควิดหรือไม่ เช่นตำรวจโรงพักแห่งหนึ่งพาชาวต่างชาติคนหนึ่งมาส่ง มีอาการไข้ ไอ หอบ เราต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจ  มานั่งดูก็คิดว่า ติดโควิดหรือไม่ เพราะอาการคล้าย ไม่มีประวัติ รู้แค่เป็นชาวต่างชาติ ซักประวัติไม่ได้ ทุกคนที่ไปตรวจถึงต้องกักไว้ก่อน รอจนกว่าผลตรวจจะออก

“มันเป็นโรคอุบัติใหม่ ถ้าเป็นวัณโรค หรือโรคติดเชื้อที่แพร่ทางอื่นเราจะรู้ โรงพยาบาลตำรวจถึงต้องสร้างห้องแรงดันลบสำหรับตรวจคนไข้ หรือห้องตรวจหาเชื้อเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ห้องแบบนี้ ถ้าคนไข้เข้ามาในห้องแอร์อาจต้องให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่ว” นายแพทย์หนุ่มว่า

“เหมือนเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส ในวันที่เชื้อโควิดระบาด อนาคตเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรทำนองนี้มาอีกหรือเปล่า เราต้องพร้อมที่จะรองรับ บุคลากรทางการแพทย์หลายคนอยู่หน้างานทำงานหนักกว่าผม เสี่ยงกว่าผมอีกเยอะ ผมอาจพูดในฐานะตัวแทนว่า หมอ พยาบาลทุกคนยินดีทำเต็มที่ เพราะรับรู้ถึงกำลังใจจากแนวหลัง จากประชาชน จากผู้บังคับบัญชาทั้งหมด พวกเราสู้เต็มที่ เพราะพวกเขาไม่ทิ้งพวกเรา แล้วเราทิ้งคนไข้ไม่ได้ สถานการณ์หนักแค่ไหน เราก็ต้องทำงาน แม้ช่วงแรกเหนื่อยมาก มีความเครียดสูง เพราะกังวลรอลุ้นผลตรวจ” พ.ต.อ.บัญชาทิ้งท้าย

 

…………………………………………

สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า คือ เราจะทำอย่างไร ไม่ให้สถานการณ์มันแย่ลง

ายแพทย์ (สบ 5) หัวหน้ากลุ่มงานศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ

...เอกลักษณ์ ดีรุ่งโรจน์ หมอหนุ่มชาวเมืองหลวงจบมัธยมโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพ ไปสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากช่วยเหลือคน มีดีกรีครบเครื่อง ตั้งแต่ วุฒิบัตรประกอบความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประกาศนียบัตรหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบิน สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ และประกาศนียบัตรหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและความกดบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

หลังจากจบแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลเปิดรับบรรจุแพทย์เพื่อเข้าศึกษาต่อเฉพาะทางสาขา เวชศาสตร์ครอบครัว มีจุดประสงค์หลัก เพื่อดูแลสุขภาพข้าราชการตำรวจทั่วทั้งประเทศ ทำให้เขาเกิดความสนใจ เพราะเป็นงานที่ท้าทาย สามารถทำประโยชน์ให้แก่ตำรวจ เริ่มบรรจุตำแหน่งนายแพทย์ (สบ 1) กลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตำรวจ เคยมีบทบาทเป็นหัวหน้างานลำเลียงทางยุทธวิธี งานการแพทย์ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า เป็นนายแพทย์กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลตำรวจ และเป็นหัวหน้าโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ ก่อนกลับมาเป็นหัวหน้ากลุ่มงานศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ

เจ้าตัวยังพบเห็นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างจากตำรวจทั่วไป เช่น นักบิน ช่างอากาศยาน นักประดาน้ำที่ขาดการดูแลจากแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นเหตุผลให้ไปศึกษาต่อหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบิน และแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ นำวิชาความรู้ที่ได้มาช่วยเหลือและดูแลตำรวจอย่างทั่วถึง

เมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดของเชื่อไวรัวโควิด- 19 กลุ่มงานของเขามีภารกิจหนักในการลำเลียงผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อมารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล ท่ามกลางนโยบายหลักสำคัญ คือ ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อให้ดีที่สุดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่  เนื่องจากเป็นภารกิจที่จะต้องสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโดยตรง หากเกิดการติดเชื้อขึ้นในบุคลากรของกลุ่มงานจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายในโรงพยาบาลตำรวจทั้งหมด

“ผมมองว่า แพทย์ทุกหน่วยมีความสำคัญหมด เพียงแต่ว่า ใครจะทำหน้าที่อะไร อย่างตัวผมเอง ถ้าในส่วนของศูนย์ส่งกลับเป็นเรื่องของการลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ และคนไข้ที่ติดเชื้อมาที่โรงพยาบาลตำรวจ อัตราความเสี่ยงไม่พ้นเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานทั้งหมด ตั้งแต่พลขับ เจ้าหน้าที่สื่อสาร รวมถึงพยาบาล เพราะฉะนั้นบุคลากรกลุ่มนี้ทั้งหมดต้องมีการป้องกันตัวเต็มที่ ต้องยอมรับว่า ตอนแรกยังไม่รู้ความจริง ทุกคนก็กลัว ยิ่งเมื่อต้องออกไปรับคนไข้ถูกวินิจฉัยแล้วว่า ติดเชื้อ ต้องมีการสัมผัสที่ใกล้ชิด จำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจหลักการปฏิบัติว่า อุปกรณ์ป้องกันมีมาตรฐานอยู่แล้ว แค่ต้องทำให้ถูกขั้นตอน ตั้งแต่การใส่ การถอด โอกาสเสี่ยงติดเชื้อย่อมไม่มี”

ตลอด 2 เดือนเศษในการปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.อ.เอกลักษณ์ยืนยันว่า ทีมงานศูนย์ส่งกลับลำเลียงผู้ป่วยปริมาณไม่น้อย ทั้งภายนอกโรงพยาบาล และภายในโรงพยาบาล มีทั้งผู้ป่วยปกติ ผู้ป่วยอการแย่งลงต้องนำส่งห้องไอซียูวันละหลายรอบ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดติดเชื้อจนสถานการณ์ปัจจุบันคลี่คลายลงบ้างแล้ว ถือว่า ทุกคนเหนื่อยกันหมด “สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า คือ เราจะทำอย่างไร ไม่ให้สถานการณ์มันแย่ลง ถ้าให้ผมมองการที่เราจะต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างเพื่อให้โรคนี้มันหายไปให้ได้ แต่มาตรการเหล่านี้ต้องมีผลกระทบกับทุกฝ่าย เช่น ชาวบ้านอาจจะเดือดร้อนในการทำมาหากินในการทำงาน แม้บุคลากรทางการแพทย์เองมีผลกระทบด้วยเช่นกัน”

หัวหน้ากลุ่มงานศูนย์ส่งกลับ โรงพยาบาลตำรวจยอมรับว่า เจ้าหน้าที่หลายคนต้องระแวงทุกวัน แพทย์กลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อเวลากลับบ้านไม่สามารถไปนั่งคุยนั่งเล่นกับคนในครอบครัวได้ ต้องรีบทำความสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ยิ่งพอเวลามีไข้ เริ่มป่วย บางทีเป็นความหวาดระแวงมากกว่าคนปกติ กลัวติดเชื้อ กลัวนำเชื้อไปติดครอบครัวลูกเมีย

“ผมเชื่อว่า ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่สำคัญที่สุด  ผมว่า เราทุกคนต้องคิดไว้ในใจอยู่เสมอว่า ถ้ายอมอดทน แล้วสุดท้ายโควิดมันจบ มันผ่านไป ควบคุมสถานการณ์ได้ ทุกคนก็จะมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติเร็วขึ้น แต่หากทุกคนคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง หรือไม่สนใจ ถ้ามันกลับมาระบาดอีกรอบ ผมว่ามันจะเกิดผลกระทบมาก และน่าจะหนักกว่ารอบแรก”

พันตำรวจเอกนายแพทย์ฝากข้อคิดว่า คนไทยต้องมีวินัย ยังต้องใส่ใจ เสียสละในสิ่งที่อาจจะไม่ได้ทำ หรืออาจจะทำไม่ได้สักช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เชื้อไวรัสหมดไปจริง ๆ อย่าทิ้งภาระให้แพทย์ พยาบาลอย่างเดียว การไม่ได้ระมัดระวังตัวเองมากพอ ตรงนี้อันตราย แต่ถ้าทุกคนร่วมใจกัน คิดว่า น่าจะควบคุมได้ยาก มาตรการที่ออกมาถือว่า ดีแล้ว เพียงแต่อาจไม่ทำให้ถูกใจทุกคน เพราะฉะนั้น ถ้าเราประมาท ต่อไปในระลอกใหม่อาจจะทำให้แย่กว่าเดิม อย่าชะล่าใจ เพราะยังไม่ได้ชนะขาดจนกว่าที่จะมีวัคซีนออกมา

……………………………………………………….

 

เป็นความภาคภูมิใจของพยาบาลวิชาชีพอย่างเรา

ยาบาล (สบ3) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหอผู้ป่วย มหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

  ...หญิง กัญญรัตน์  ธีรานันท์ ชาวจังหวัดเพชรบุรี หลังจากจบมัธยมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ เข้ามาเรียนวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ บรรจุอยู่แผนกอายุรกรรมนานกว่า 30 ปี กระทั่งขยับมาทำหน้าที่หัวหน้าหอผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีดีกรีพยาบาลศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สุขศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เธอถือเป็นบุคลากรพยาบาลกลุ่มแรกที่เปิดหอผู้ป่วยใหม่เพื่อรับเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศ ยอมรับว่า ความรู้สึกแรกตกใจ กังวลสารพัด เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีหน่วยนี้อยู่ในโรงพยาบาลมาก่อน ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ไม่มีตัวอย่างให้เห็น ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่หมด แต่สิ่งที่กังวลมากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติงาน แต่เป็นปัญหาที่ต้องพาทีมพยาบาลเข้าไปตรงจุดนั้น เราจะทำความเข้าใจอย่างไร เป็นสิ่งที่ยากกว่า

หัวหน้าทีมพยาบาลมากประสบการณ์ต้องอธิบายทำความเข้าใจถึงสถานการณ์จนสามารถช่วยกันจัดเตรียมสถานที่เตรียมความพร้อมเปิดรับผู้ป่วยได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 วันจากที่ได้รับคำสั่งลงมา  ใช้พื้นที่บริเวณตึกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ชั้น 10 ที่เดิมเป็นสถานที่จัดเตรียมไว้สำหรับเปิดเป็นหอพักแพทย์ “มันเป็นสถานการณ์ใหม่ของทุกคนเช่นกัน จากความรู้สึกกลัวและกังวลในตอนแรก ความรู้สึกค่อย ๆ ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องมีสติในการทำงาน ดูแลคนไข้แล้วต้องไม่ลืมที่จะดูแล ระมัดระวังตัวเอง เนื่องจากมีภาวะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ”

พ.ต.ท.หญิง กัญญรัตน์ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานอื่นที่เปิดใหม่เพื่อรองรับกับสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 เช่นกัน นำเอาประสบการณ์ที่เผชิญมาก่อนไปถ่ายทอด โดยเฉพาะเรื่องการดูแลพยาบาลผู้ป่วย เจ้าตัวจำภาพได้แม่นว่า คนไข้คนแรกที่หายกลับบ้าน พยาบาลออกมายื่นส่งหน้าห้อง รู้สึกดีใจกับเขา และยังติดตามสอบถามอาการทางโทรศัพท์ บางรายติดต่อมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ เมื่ออยู่ที่บ้าน พยาบาลจะให้คำแนะนำไปตามอาการ

การปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยช่วงแรก เธอมองว่า กังวลกลัวโรงพยาบาลจะรับไม่พอ หากสถานการณ์การระบาดลุกลามหนัก เดิมทีเปิด 13 เตียงเต็มหมด ต้องเปิดวอร์ดใหม่อีกชั้นทยอยรับคนไข้มาเรื่อย ๆ บังเอิญควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง จากที่ดูเหมือนถอดใจไปตั้งแต่แรก ต้องบริหารจัดการท่ามกลางกำลังพยาบาลที่จำกัด ไม่เคยคิดว่า ต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ถึงกระนั้น เราผ่านอะไรมาเยอะไม่ได้เครียดมาก เป็นห่วงแค่พยาบาลจบใหม่ บางคนหน้าเสียพอรู้ว่า ต้องมาทำหน้าที่ ถึงต้องให้กำลังใจว่า เราเป็นพยาบาลมีหน้าที่ดูแลคนไข้อยู่แล้ว ต้องทำได้ และเรารู้วิธีการป้องกันความเสี่ยงดีกว่าใคร ลดความกังวลได้พอสมควร

พยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยเล่าด้วยว่า พวกเราเกือบทุกคนไม่ได้กลับบ้านอย่างน้อย 1 เดือน แม้รู้ตัวไม่ได้ติดเชื้อ แต่การที่กลับบ้านไปอยู่กับใครสักคนแล้วเกิดมีอาการเป็นไข้หวัดขึ้นมาจะลำบาก มีผลกระทบให้เกิดความกังวลถึงต้องยอมเสียสละเรื่องครอบครัว เลือกใช้ชีวิตกินนอนอยู่โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยไปด้วย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย รู้สึกมีกำลังใจกันดี สุขภาพร่างกายทุกคนแข็งแรง ไม่มีใครป่วย ได้เวลาพักเพื่อรอรับสถานการณ์ในอนาคต

“อาชีพพยาบาลแทบจะหนีไม่พ้น เมื่อมีโรคใหม่ หรือสถานการณ์อะไรก็ตามที่จะต้องรองรับตลอดเวลา เป็นวิกฤติที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ตั้งแต่ทำงานมา สารภาพว่า สถานการณ์วิกฤติไวรัสครั้งนี้แตกต่างคนไข้อายุรกรรมที่ปกติหนักอยู่แล้ว  เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่ไม่ได้มีการผ่าตัด เรียกได้ว่าเป็นแผนกที่หนักที่สุดในโรงพยาบาล ฉะนั้นการที่เราไปดูผู้ป่วยติดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งที่อาจเป็นเพราะเรามีประสบการณ์มาพอสมควรเกี่ยวกับการดูแลคนไข้ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เรารู้วิธีการป้องกันอยู่แล้ว”

เธอทิ้งท้ายความรู้สึกว่า ดีใจกับโรงพยาบาล ดีใจกับประเทศของเราที่สามารถผ่านสถานการณ์นี้มาได้ อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่ง เราไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายจะกลับมาอีกหรือไม่ อย่างน้อยเราได้รับมือมาแล้ว และประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ “เป็นความภาคภูมิใจของพยาบาลวิชาชีพอย่างเราที่ได้เป็นคนหนึ่งในส่วนร่วมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ร่วมมือแก้ไขปัญหา ได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วย มีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถในวิชาชีพพยาบาลที่เรารักต่อสู้กับสถานการณ์ที่เราไม่คาดว่า จะเกิดขึ้น

“ขอบคุณผู้บังคับบัญชาทุกท่าน ขอบคุณน้อง ๆ พยาบาลทุกคนที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ใช้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาช่วยกันคิดหาวิธีการทำงานที่ปลอดภัยและรัดกุมจนสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นได้  สุดท้ายขอขอบคุณผู้ป่วยทุกท่านที่หายป่วยกลับบ้านได้ ทำให้พยาบาลอย่างเรายิ้มได้อย่างมีความสุขในวันนี้” พ.ต.ท.หญิง กัญญรัตน์ว่า

 

………………………………………….

 

ทำแล้วมีความสุข ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ภาคภูมิใจ

ยาบาล (สบ5) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลตำรวจ

...หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ ทายาท พ.ต.ท.สันติ ศรีสง่า อดีตสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ วัยเด็กย้ายตามพ่อไปอยู่หลายจังหวัด เห็นพ่อสัมผัสช่วยเหลือชาวบ้านลงพื้นที่เยี่ยมเยียน กลายเป็นแรงบันดาลใจอยากทำงานช่วยสังคม เมื่อจบมัธยมโรงเรียนหอวัง ถึงไปสอบเข้าวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

เลือกเป็นพยาบาลอยู่ห้องคลอดนาน 3 ปี ไปเรียนต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรวิสัญญีพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ย้ายมาอยู่หน่วยรับผู้ป่วยในดูแลเรื่องห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลตำรวจทั้งหมดที่เป็นแผนกเปิดใหม่ของโรงพยาบาล ถือเป็นงานท้าท้ายเสมือนเป็นเซ็นเตอร์ประสานข้อมูลการรับผู้ป่วยที่จะต้องมานอนพักรักษาอาการในโรงพยาบาลตำรวจจนได้รับเสียงชื่นชมทั้งภายใน และภายนอกองค์กร

หลังจากนั้นไปช่วยราชการประจำสำนักงานแพทย์ใหญ่ถึง 3 ยุค ตั้งแต่ พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก พล.ต.ท.ภาสกร รักษ์กุล และพล.ต.อ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ ก่อนมีโอกาสช่วยงานประชาสัมพันธ์ประสานสื่อมวลชนให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมัยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถือเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้รับรู้ถึงปัญหาสังคม นำวิชาพยาบาลไปช่วยแนะนำการดูแลคนป่วย คนพิการ หรือคนสูงอายุให้ความรู้ความเข้าใจแบบง่าย ๆ ตามประสาชาวบ้าน

กลับมาได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ สวมบทหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเปิดพื้นที่บนโลกออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลตำรวจ สื่อสารความรู้ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปมากขึ้นถึงโครงการต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลตำรวจทำประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามแบบมาตรฐานสากล

ประจวบเหมาะเกิดวิกฤติระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่รัฐบาลมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนหยุดทำงานอยู่บ้านเพื่อหยุดการกระจายเชื้อ เธอจึงนำเอาโซเชียลมีเดียในมือไปใช้ติดต่อประสานคนคนไข้เป็นช่องทางช่วยให้คำแนะนำการบริการทางแพทย์ที่ไม่สะดวกต่อการเดินทางมายังโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง

เธอมองว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสร้างความเครียดแก่บุคคลทั่วไปไม่น้อย เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่โรงพยาบาลตำรวจกังวลมากที่สุด ถึงทำเพจเฟซบุ๊ก Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพจิตอีกช่องทาง มีคณะจิตแพทย์ นักจิตวิทยา คอยตอบคำถาม หรือช่วยหาวิธีผ่อนคลายความเครียด

“งานประชาสัมพันธ์ส่วนมากเป็นเรื่องของการให้ความรู้ที่ถูกต้อง แต่เรายังให้ขวัญและกำลังใจ หลายคนได้คุยกับเราแล้วเข้าใจไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาล จากช่วงแรกจะมุ่งมาโรงพยาบาลอย่างเดียวเกี่ยวกับเรื่องเชื้อโควิด เพราะกังวลว่าจะเป็นหรือไม่เป็น ต้องตรวจหาเชื้อพิสูจน์ให้ชัดไป พอเราอธิบายว่า เคสไหนบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง มีอาการเบื้องต้นอย่างไรที่เข้าเกณฑ์ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล แม้ผลตรวจออกมาก็ยังบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นหรือไม่ เพราะฉะนั้นการอยู่บ้านสังเกตอาการตัวเอง กินร้อน ช้อนตัวเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด พอพวกเขาได้คำแนะนำจากเราที่เป็นทีมแพทย์ พยาบาลก็สบายใจ ตรงนี้เราถือว่า ได้ช่วย ไม่ทำให้คนไข้ต้องมาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนมาก ลดความวิตกกังวล ให้กำลังใจทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้ามีปัญหาอะไรสงสัยสามารถติดต่อกลับมาที่เราได้ 24 ชั่วโมง” พ.ต.อ.หญิง ศิริกุลอธิบาย

ขณะเดียวกัน เธอได้ต่อยอดเป็นโครงการอินเลิฟออนไลน์ รับยาที่บ้าน​ ด้วยการส่งยาทางไปรษณีย์ไม่เสียค่าใช้จ่าย พ.ต.อ.หญิง ศิริกุลเล่าว่า ใช้เวลาประชุมแค่ 2 ครั้ง ถึงวันนี้ประสบความสำเร็จ มีผลตอบรับ คนไข้พอใจ แม้บางรายอาจไม่เข้าใจบ้าง เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ พอเราอธิบายก็เข้าใจ “ทุกอย่างต้องใช้ความอดทน ใช้หัวใจในการทำงาน บ่อยครั้งเราเป็นศูนย์กลางรับเรื่องทุกอย่าง เพราะบุคลากรมีน้อย แต่ถือว่า เราได้ทำ ทำแล้วมีความสุข ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ภาคภูมิใจ”

พยาบาลสาวนักประชาสัมพันธ์ยังมีโอกาสไปร่วมร้องเพลงให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อสู้ภัยโควิด เมื่อได้นักแต่งเพลงเป็นคนไข้เก่าของโรงพยาบาลเคยพานักดนตรีจิตอาสามาร่วมร้องเพลงที่ลานดนตรีของโรงพยาบาลชักชวน เพราะอยากให้แพทย์ พยาบาลมาร่วมร้องและเล่นดนตรีเอง มีทั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลตำรวจ

“ชื่อเพลงไม่มีภูเขาสูงเกินปีนป่าย ความหมายดีมาก คือ ให้กำลังใจทุกคน ให้กำลังใจประชาชน ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 เพียงแต่คนแต่งอยากให้ผู้ที่ถ่ายทอดเป็นบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า เป็นอะไรที่น่าจะยังไม่มีคนทำ ยอมรับว่า ตัวเราไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่อย่างน้อยก็ได้ให้กำลังใจพวกเขาในฐานะคนที่อยู่แนวหลัง เป็นตำนานของบทเพียงที่ช่วยกัน คิดว่า กำลังใจสำคัญที่สุดในเวลาเกิดวิกฤติ น่าจะเป็นเพลงเดียวที่ทั้งแพทย์ พยาบาลได้มาทำดนตรีเอง มาขับร้องเอง” พ.ต.อ.หญิง ศิริกุลว่า

 

RELATED ARTICLES