“ถ้าใครบอกว่า อิสลามสอนให้ฆ่า ใครพูด แสดงว่า คนนั้นไม่ใช่อิสลาม เพราะอิสลามไม่ได้สอน”

 

ชีวิตเคยเกลียดตำรวจเข้ากระดูกดำ เหตุเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนยัดข้อหาที่ไม่ได้กระทำความผิดไปติดคุกฟรีออยู่หลายปี

การีม เก็บกาเม็น คอเต็บมัสยิดเราดอตุ้ลญันนะห์  ประกาศตัวจะไม่ร่วมทำกิจกรรม หรือคบหากับตำรวจอีกเลย กระทั่งสัมผัสโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน COMMUNITY POLICING เมื่อปี 2556 พาให้เขาเปลี่ยนความคิด

เจ้าตัวเป็นชาวมุสลิมเกิดจังหวัดสตูลไปเรียนโรงเรียนสอนศาสนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นสอบชิงทุนไปเรียนต่อประเทศซาอุดีอาระเบียนาน 5 ปี กลับมาเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ ย่านพระโขนง ควบคู่กับการจัดรายการวิทยุ

อยู่มาวันหนึ่งมีคดีอุ้มเรียกค่าไถ่ เขาถูกเหมารวมเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด โดนตำรวจสายสืบคุมตัวเข้าเซฟเฮาส์ซ้อมอย่างทารุณ ทั้งแช่น้ำแข็ง เอากระบอกไฟฟ้าช็อตไข่ ใส่กระสุนปืนในลูกโม่ขู่จะยิงให้ตายหากไม่รับสารภาพ ติดต่อใครไม่ได้ ทรมานแสนสาหัส ด้วยความกลัวจำเป็นต้องเซ็นชื่อลงในกระดาษเปล่ากลายเป็นคำรับสารภาพทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

“ผมไม่เข้าใจ ตำรวจมาถึง จับผมตอนเช้าเลย พาเข้าเซฟเฮาส์ซ้อมผมให้รับสารภาพ เอาแต่เตะจนน่วม บอกว่า มึงต้องรับนะ ผมบอกผมไม่รู้เรื่อง ตำรวจขู่ว่า ไม่รู้ มึงต้องรู้  แล้วก็นั่นแหละ ตอนสุดท้ายเอาปืนจี้ อยู่ในเซฟเฮาส์วันเดียว เตะจนร่วงแล้ว หลายชั่วโมงเจ็บปวดและทรมานที่สุด” เขาระบายความหลัง

สู้คดีในกระบวนการยุติธรรมลงเอยด้วยการติดคุกนาน 6   ปี เนื่องจากไม่มีหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหา ก่อนได้รับอิสรภาพกลับไปอยู่ชุมชนหัวทาง บ้านเกิดจังหวัดสตูล แม้เคยติดคุก การีมยืนยันว่า ภาพพจน์ในสายตาชาวบ้านไม่มีเสีย สมัยอยู่คุกจะมีช่วงออกไปทำงานข้างนอก ได้ละหมาดทุกวันศุกร์ ไปเทศนาที่สุเหร่า เพราะเห็นเราเป็นครู วนเวียนเข้าออกมัสยิดประกอบพิธีทางศาสนาอยู่เสมอ ชาวบ้านเห็นก็เชิญขึ้นไปพูดจนเป็นที่ยอมรับ

“ประวัติผมไม่เคยเสีย เรื่องเดียวที่ติดคุกเพราะโดนยัดข้อหา แล้วในชีวิตมีเรื่องนั้นเรื่องเดียวที่ทำให้พ่อแม่ร้องไห้ ชีวิตผมทำอะไรมากมายไม่เคยทำให้พ่อแม่ร้องไห้ มันทำให้เราเสียใจ ทำให้รู้ชิงชังกระบวนการยุติธรรม เกลียดชังตำรวจ”

กลับมาอยู่สตูลลงประมงจับกุ้ง ไม่สอนศาสนาอีก จนวันหนึ่งเขาเห็นเด็กในหมู่บ้านติดยาเสพติด ไม่รู้หนังสือ นิสัยเกเร มองว่า หากปล่อยไว้แบบนี้แล้วใครจะปราม ช้างตกมันยังมีควาญคอยควบคุม การีมถึงเปลี่ยนใจกลับมาสอนหนังสือ เริ่มจากสอนตามบ้าน ตามสุเหร่า ก่อนจะมีอาจารย์ฝ่ายปกครองมาขอร้องให้ไปสอนโรงเรียนปอเนาะ  เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นาน 6 ปี ลาออกไปทำงานของยูนิเซฟ เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา โรคเอดส์ เรื่องของยาเสพติด และร่างหลักสูตรการป้องกันยาเสพติดในชุมชน

ไม่นานเขาได้พบกับ ด.ต.สุทธินันท์ อันธบาล ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม การีมยอมรับว่า ไม่ถูกชะตาตั้งแต่รู้ว่าเป็นตำรวจ ไม่น่าไปด้วยกันรอด ไม่อยากคบ เกิดกำแพงขึ้นมาทันที แต่ด้วยความที่มาบอกขอเป็นน้องชาย คนเรามักแพ้ลูกอ้อน  แม้เราจะเป็นผู้ชายด้วยกัน มาบอกอย่างนี้ก็ยอม ต้องยอมรับอยู่ข้อหนึ่งว่า มนุษย์เรามันย่อมมีทั้งคนดีและคนชั่ว เราก็คิดว่า ตำรวจไม่น่าจะชั่วทั้งหมด

“พอรู้ว่าเป็นตำรวจ มันก็เหมือนผมสร้างกำแพง เพราะเกลียดตำรวจ พอเราได้เจอ ได้คุยกันไปเรื่อย ๆ เขาก็ฉลาด บอกว่า ลูกชายเขายกให้ผมเป็นลูก นี่แหละความผูกพันมันมา ยกลูกชายให้เป็นลูกชายผม เพราะเคารพเรา พอเคารพเราอย่างนี้ ยังไงกำแพงเราก็สลาย แต่ใช้เวลานาน 6 เดือนถึงจะสนิทใจ เหมือนคำที่ผมบรรยายในมัสยิดว่า ให้ต่อกับคนที่ตัด คือ เชื่อมกับคนที่ตัดเรา ไม่เอาเรา ดึงกลับมาเป็นเพื่อนกับเราให้ได้ สองคนที่เชื่อมกับเราแล้ว เราก็ยิ่งต้องประสานให้แน่น เรียกว่า สร้างความสามัคคี  สร้างความกลมเกลียว เป็นสิ่งที่บังยาซีน หรือดาบสุทธินันท์จำเอามาพูดกันผม”

ทั้งคู่เริ่มเดินหน้าแก้ปัญหาภายในชุมชน อยากทำหมู่บ้านปลอดอาชญากรรม เนื่องจากสมัยนั้นเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด ลักเล็กขโมยน้อย วัยรุ่นพกปืน รถซิ่งเต็มไปหมด ตำรวจท้องที่ไม่สามารถดำเนินการได้จึงหารือแนวทางไปนำเสนอ พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ที่ยังดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปรามลงมาทำโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน

การีมสารภาพว่า ยังไม่เปิดใจให้ตำรวจทุกคน นอกจากดาบสุทธินันท์ เจอผู้กำกับทินกรกวาดขยะ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำเป็นผู้กำกับ แต่งตัวธรรมดา ติดดิน ไม่รู้เป็นใคร ประทับใจจากภาพที่เห็นครั้งแรก พอเปิดตัวที่มัสยิดบอกเป็นผู้กำกับ ทำเอาทึ่ง เริ่มนั่งคุยกัน นำเสนอแนวคิดใช้หลักศาสนาเป็นตัวยึด จัดกิจกรรมแข่งกีฬาชักคะเย่อ เตะบอล ต่อยมวย ให้โต๊ะอิหม่ามลงนวมกับผู้กำกับที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่ายาเสพติดจะหายหมด

ระยะแรก การีมเล่าว่า มีการตั้งด่านตรวจ ปรากฏไม่ยอมรับกัน ต้องดึงคนข้างใน สมมติว่า ตระกูลนี้มีใครที่เขาเกรงใจ ดึงคนนั้นมาช่วย ต้องเอาความเกรงใจก่อน แล้วช่วยคุยกันว่า วันนี้เรามาทำไม่ใช่เรื่องอื่นเพื่อคนอื่นนะ เพื่อลูกหลานเราทั้งนั้น จริง ๆ แล้ว ทุกคนยอมรับปัญหาเกิดจากลูกหลานตัวเอง ความไม่สงบเกิดจากไม่ได้เรียนศาสนาด้วย ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ละคนปล่อยกันไป แล้วแต่ลูกใครลูกมันจะไปพูดว่าลูกมึง ลูกกู ไม่เกี่ยวกัน พอมาตอนหลังลูกเราทั้งหมดไง ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

การีมย้ำว่า เดินตามนโยบายของผู้กำกับทินกร ไม่ต้องการจับ การบังคับใช้กฎหมายไม่จำเป็นต้องจับเสมอไป เมื่อเราได้บอกกล่าวตักเตือนแล้ว สุดท้ายทุกอย่างเริ่มดีขึ้น มีเบาะแสข้อมูลเข้ามา หลายคนนำปืนมามอบให้ตำรวจต่อยอดด้วยการเปิดใจประกาศกลับมาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก กลายเป็นที่มาของสตูลโมเดล

พวกเขาได้รับรางวัลจากคณะกรรมการศูนย์การศึกษามหานคร มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศให้ชุมชนบ้านหัวทาง เทศบาลเมืองสตูล สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็น “เมืองดีเด่นด้านลด หรือปลอดอาชญากรรม”  ด้วยการดำเนินโครงการ “ตำรวจรับใช้ชุมชน” ร่วมกับกองบังคับการปราบปราม พบว่า สมาชิกในชุมชนมีความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างดี รวมทั้งเห็นการดูแลความปลอดภัยของสมาชิกในชุมชนเอง ไม่ต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสาธารณะให้ความร่วมมือกันในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทนใด

การีมบอกว่า อยากต่อยอดโครงการสร้างยะลาโมเดลร่วมกับ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลาอีกครั้ง แม้สภาพพื้นที่และแนวความคิดของชุมชนอาจมีมุมมองแตกต่างกัน “สำคัญที่สุด เป้าหมาย คือ ให้ชาวบ้านตระหนักว่า บ้านของคุณ คุณต้องกวาดเอง จะให้คนอื่นนอกบ้าน มากวาดบ้านคุณมันเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ผมก็เอามาใช้หมด กับการเทศนาวันศุกร์ นั่งธรรมาสน์ ผมจะย้ำเลยว่า บ้านของเรา ทุกคน ทุกคนจะต้องช่วยกันกวาด สองทุกคนจะต้องจุดเทียนไขในบ้าน ให้เกิดแสงสว่างในบ้าน  พ่อเป็นเทียนเล่มแรก ถ้าพ่อเป็นเทียนเล่มแรกที่จุดแสงสว่าง หลังจากจุดดีแล้ว เราก็เอาเทียนของเราที่ติดแสงสว่าง จุดไปยังภรรยา จุดไปยังลูก ถ้าทุกบ้านมีแสงสว่าง หมู่บ้านของเราก็จะสว่างไสว ความมืดต่าง ๆ ก็จะหายไป คือใช้หลักเปรียบเทียบให้ได้ดู”

  “จริงๆ แล้ว อิสลามเราสอนว่า หน้าที่ของเรา คือ ต้องช่วยเหลือกัน คุณจะเป็นใคร ให้คุณเป็นมนุษย์ ให้สร้างความรักต่อกัน ไม่มีศาสนาไหนที่สอนให้ฆ่าแกงกัน ถ้าใครบอกว่าอิสลามสอนให้ฆ่า ใครพูด แสดงว่าคนนั้นไม่ใช่อิสลาม เพราะอิสลามไม่ได้สอน มีแต่สอนให้สันติ สอนว่าทำยังไงให้เกิดสันติ อยู่อย่างมีความสุข แต่ว่ามันถูกลัทธิต่างๆ แนวคิดต่างๆ ที่มันเข้ามาสอดแทรกใส่แนวความคิดนี้ให้ลูกศิษย์มีการบิดเบือนบางอย่าง ส่งผลให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” การีมว่า

เจ้าตัวยังเปรียบเทียบในสังคมมนุษย์เหมือนแก้วน้ำ ประเภทหนึ่งเรียกว่า แก้วน้ำที่หงายขึ้น แต่ไม่มีน้ำสามารถรองรับได้อย่างเดียว คือ ไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นฐาน รับได้อย่างเดียว  ไม่สามารถไปเติมให้ใครได้ เพราะไม่มีทุน มนุษย์ประเภทที่สองเป็นมนุษย์น้ำครึ่งแก้ว  พื้นฐานความรู้ไม่มากก็น้อย บางคนอาจจะมาก อาจจะใกล้ๆ เต็มแก้ว พร้อมจะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเติมให้เต็ม แล้วก็พร้อมที่จะถ่ายเทความรู้ความสามารถของตัวเองให้กับผู้อื่นได้

ส่วนมนุษย์ที่สาม การีมว่า น่ากลัวที่สุด เป็นน้ำเต็มแก้ว ในสังคมบ้านเราเยอะ เวลาจะไปพูดอะไรก็แล้วแต่ พอพูดไปปั๊บ อ๋อ รู้แล้ว จะไม่รับสิ่งใหม่ แต่อย่าให้เป็นประเภทที่สี่ คือ แก้วน้ำที่คว่ำอยู่กลางสายฝน แม้ว่าจะอยู่ในสังคมที่มีนักวิชาการรอบตัว แต่เป็นแก้วที่คว่ำ ไม่รับอะไรเลย จะเปรียบเทียบให้ฟังอยู่ตลอดเลย ในสังคมว่า พวกเราจะเป็นแก้วประเภทไหน  แม้แต่คุยธรรมะวันศุกร์ คนเราจะเป็นแก้วประเภทไหน ให้พิจารณาตัวเอง

ถามว่าสตูลโมเดลจะทำให้ยะลาประสบความสำเร็จได้หรือไม่ การีมตอบทิ้งท้ายว่า คงเป็นไปไม่ได้ แต่ในพื้นที่บางส่วน คิดว่า ทำได้ โดยเฉพาะพื้นที่พหุวัฒนธรรม เราอาจจะมีโอกาสทำได้สูง

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES