ยอด 7 วันอันตราย

 

ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามตาย

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำหนดสำหรับโลกใบนี้

จะรณรงค์ป้องกัน กวดขัน ตักเตือน ไม่ให้เกิดความประมาท แต่ไม่อาจหยุดยื้อ “มัจจุราช” กระชากชีวิตมนุษย์จากอุบัติเหตุบนท้องถนน

7 วันอันตราย กำลังเป็นงานท้าทายของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

ผลของคำตอบยังล้มเหลว

เทศกาลวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา แม้จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อวายร้ายไวรัสโควิด-19 พังสถิติสูงขึ้นรายวัน แต่การเดินทางกลับภูมิลำเนาตามประเพณีปีใหม่ไทยยังมีอยู่ต่อเนื่อง

เรื่องของอุบัติเหตุถึงเกิดขึ้นเป็นตัวเลขสูงขึ้นเหมือนเคย

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปีระบุข้อมูลศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช 2564

รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ถือเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”

เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนในองค์การบริหารส่วนตำบล/หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.20 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.79

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,389 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 316,725 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 65,549 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,631 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,201 ราย

ทว่าผลสรุปยอดอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์

ที่ตั้งมอตโตเป็น 7 วันอันตราย”

พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,357 คน

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็น 0 ) มี 5 จังหวัด

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช 106 ครั้ง

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด ได้แก่ ปทุมธานี จำนวน 10 ราย

ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนเกิดจากความประมาทของชีวิตจนต้องอุทิศด้วยความตาย

 

RELATED ARTICLES