“เหมือนชีวิตมันลิขิตไม่ได้”

 

ได้รับเลือกเป็น “ข้าราชการดีเด่น” เนื่องในวันข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 สมราคา พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง เปิดใจเมื่อครั้งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกาบัง จังหวัดยะลา นายตำรวจหนุ่มนักรบผู้กล้าแห่งปลายด้ามขวาน

ชีวิตของเขาผ่านสมรภูมิเดือดภาคใต้มาตั้งแต่เรียนจบนักเรียนนายร้อยตำรวจ

เกินกว่า 18 ปีแล้วที่เขาปักหลักพยายามดับความรุนแรงในพื้นที่ แม้ห้วงเวลานี้อาจเห็น “แสงสันติสุข” ที่ค่อนข้างริบหรี่ แต่ก็ดีกว่าไม่คิดทำอะไร ด้วยอุดมการณ์และความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้นายพันตำรวจเอกหนุ่มไฟแรงรับรางวัลความภาคภูมิใจตอบแทนคุณงามความดีที่สะสมมา

นิตยสาร COP’S ถือโอกาสนำเรื่องราวของเขามาเสนอผู้อ่านให้รับรู้ภารกิจหลักที่หนักบนผืนแผ่นดินใต้สุดของเมืองไทย

เลือดเนื้อเชื้อไขตำรวจแท้ แต่เกือบแย่ไปฟาดปากทายาทเจ้าพ่อ

สนธยา ธูปทอง ซึมซับในเลือดเนื้อเชื้อไขผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มาจากรุ่นปู่ที่เป็นจ่ากองโรงพักนางเลิ้ง ถ่ายทอดสู่พ่อเป็นตำรวจป่าไม้ เขาเกิดที่กรุงเทพมหานคร เติบโตวิ่งเล่นอยู่โรงพักที่ปู่ประจำการณ์อยู่ วัยเด็กค่อนข้างเกเร เปลี่ยนที่เรียนบ่อย ขยับรกรากไปแถวคลองรังสิต ก่อนมีเรื่องกับวัยรุ่นในถิ่น ถึงขนาดฟาดปากกับลูกหลานเจ้าพ่อตระกูลใหญ่ในปทุมธานี

เจ้าตัวเล่าว่า อยู่ไม่ได้ต้องย้ายตามพ่อไปอำนาจเจริญ ขณะนั้นเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ยอมรับว่า ใจร้อน เป็นตัวแสบพอสมควรทะเลาะกับวัยรุ่นในถิ่น พวกเขามีทั้งวินมอเตอร์ไซค์ พวกสองแถวแถวรังสิต ทำให้ต้องไปอีสาน เพราะพ่อรับราชการอยู่ที่นั่น

กระทั่งจบชั้นมัธยมปลาย ตัดสินใจมุ่งหน้าสอบเข้าเตรียมทหารรุ่น 34  ตามความใฝ่ฝันในตอนเด็ก เพื่อจะก้าวต่อเป็นนายร้อยตำรวจรุ่น 50 เพื่อนร่วมรุ่นอาทิ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานตำรวจภูธรตันหยง จังหวัดนราธิวาส พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.สำราญ นวลมา ผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ

 

ได้แรงบันดาลใจตำรวจรุ่นพี่ เลือกวิถีทางเดินชีวิต

“ทำไมถึงอยากมาเป็นตำรวจ คงเพราะจิตวิญญาณ ไม่รู้สินะ เพราะ ปู่ผม พ่อผมก็เป็นตำรวจ” พ.ต.อ.สนธยาระบายความในใจ  “แต่จริงๆแล้ว ก็มีเรื่องที่จำฝังใจที่อำนาจเจริญ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ตอนนั้นตำรวจรุ่นพี่กำลังจะแต่งงาน ปรากฏว่า มีกะเทยทั้งอำเภอมากรีดเลือดหน้าเสาธงที่หอประชุมประกาศความน้อยเนื้อต่ำใจอาลัยนายตำรวจรุ่นพี่คนนี้

“พี่คนนี้กลายเป็นไอดอลผมเลย” นายตำรวจหนุ่มว่า แกพูดจากไพเราะ สุภาพ ทำให้กะเทยชอบทั้งอำเภอ คิดว่า ต้องเป็นแบบนี้ให้ได้ เป็นตำรวจที่ทำให้ทุกคนหลงรัก ประกอบกับเราเห็นมาตั้งแต่เกิด ได้ไปขายขนมปัง ข้างๆ โรงพักนางเลิ้ง

“มันอาจเป็นวิถีชีวิตลิขิตให้ผมเดินมาทางนี้ก็ได้” พ.ต.อ.สนธยาบอกกับตัวเอง

 

คลุกคลีตีโมงกลุ่มเพื่อนนักกีฬา เรียนไปเรียนมาถูกตัดแต้ม

ตอนสอบเตรียมทหารได้ เขาเล่าว่า พยายามปรับตัวใหม่ไม่ถึงกับเกเร แต่ชอบอยู่กับเพื่อน สนุกกับเพื่อน เพื่อนว่าอะไรก็ว่าตามกัน ถึงขนาดถูกจับป๊อกเด้งยกก๊วน 15 คน โดนลงโทษตั้งแต่ตีสองถึงบ่ายสองโมง ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ให้แบกปืนหนัก 15 กิโลกรัม แบกเป้ แบกโต๊ะ ทุกมิติในกระบวนการลงโทษของเตรียมทหาร เรียกได้ว่า เราโดนทุกขั้นตอน

“แต่ก็ดีเพราะตอนที่ขึ้นเหล่า เหมือนว่า เราผ่านตรงนี้มาได้ อาศัยว่า เราสนุกกับเพื่อน ทำงานกับเพื่อน เหมือนมันต้องมาเรียนซ้ำอีก เราก็สนุกกับเพื่อนดีกว่า ตามวิถีของเด็กวัยรุ่น พอมาอยู่นายร้อยตำรวจ ร่างกายเราแกร่ง ผมมาอยู่ชมรมว่ายน้ำก็อาศัยร่างกายฟิต รุ่นผมมีนักกีฬาหลายคน ทั้ง ประเสริฐ ช้างมูล ภูเมธ อั๊งสุวรรณกูล วีรยุทธ ตาสีพันธ์ พยงค์ เอี่ยมสกุล ไล่กับรุ่น 49 ที่มีวีระศักดิ์ เดชประมวลพล วทัญญู วิทยผโลทัย”

พ.ต.อ.สนธยาย้อนความหลังว่า  ตัวเองไม่ใช่โควตานักกีฬา แต่มีเพื่อนนักกีฬาเต็มไปหมด พอปี 4 คะแนนพอไปได้จริงๆ แต่ก็เหมือนมาใช้เวรใช้กรรม อีกเดือนเดียวก่อนจบถูกจับตัดแต้มอีก ด้วยความสนุกเกินเหตุ มองว่า ชีวิตลูกผู้ชายต้องครบเครื่อง คิดว่า ยังไงก็สอบผ่าน โดนตัดแต้มหล่นมา 100 กว่าอันดับ อยู่ที่ 160 กว่า

 

คนสุดท้ายลงมาสายสอบสวน รับมือสถานการณ์ป่วนที่เจาะไอร้อง

ผู้กำกับนักรบแดนใต้หัวเราะว่า เดิมคะแนะสามารถเลือกภาคอีสานได้สบาย อยากไปลงที่นั่นเพราะเป็นถิ่นเก่าที่ตัวเองคุ้นเคย มีคนยอมรับมากกว่า ทำไปทำมาต้องเลือกลงเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นคนสุดท้ายที่ได้ตำแหน่งสอบสวนโรงพัก นอกนั้นไปตำรวจตระเวนชายแดน

“ไม่เคยคิดว่าจะไปอยู่โรงพักใต้สุด ก่อนหน้าเคยฝึกงานอยู่กับธีระชัย เด็ดขาด พี่รุ่น 48 ได้ประสบการณ์มาพอสมควร จำได้แม่นว่า วันที่ 12 มกราคม 2541 เท้าแตะพื้นที่เจาะไอร้อง จากวันนั้นถึงวันนี้รวม 18 ปีเศษแล้ว ผ่านไปไวมาก”

อดีตผู้หมวดอำเภอเจาะไอร้องเล่าว่า ตอนนั้นเริ่มมีสถานการณ์ใบไม้ร่วงแล้ว มีสายสืบถูกยิงที่ป่าไผ่ใกล้โรงพยาบาลเจาะไอร้อง เกิดเหตุประจำ ทว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะใส่ อยู่ที่ว่าใกล้สีอะไรก็เป็นสีนั้น ตอนมาใหม่ ๆ โชคดีได้พี่เลี้ยงดี หัวหน้าโรงพักดี สมชาย ยอดแก้ว เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับพ่อสมัยเรียนโรงเรียนตำรวจนครบาล แกเลยรักเราเหมือนลูก

 

โดนลอบวางระเบิดเสียงดังสนั่น ไม่เสียขวัญรอดตายมาได้

นายตำรวจหนุ่มผ่านวิกฤติมาไม่น้อยในห้วงเวลา 1 ปี 10 เดือนบนสมรภูมิรบนอกตำราพื้นที่เจาะไอร้อง เขาจำได้แม่นว่า เข้าเวรสอบสวนผลัดแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2541 มีคดียิงกันตาย 4 ราย 5 ศพ สมัยนั้นร้อยเวรต้องพิมพ์มือเอง โรงพักเป็นแค่กิ่งอำเภอยังไม่ประกาศเป็นอำเภอ ตรวจที่เกิดเหตุได้ 3-4 ครั้งในวันนั้นต้องบอกเลิกให้มูลนิธิจัดการพิมพ์ลายนิ้วมือแทน เพราะไม่ไหวแล้ว

“หัวหน้าโรงพักแซวเลยว่า ถ้าวันไหนผมเข้าเวร แกไม่กล้ากลับบ้าน เพราะต้องมีคดีแน่ ๆ ” พ.ต.อ.สนธยาว่า

ผ่านประสบการณ์เยอะตั้งแต่ยศ ร.ต.ต.ถึงขั้นถูกลอบวางระเบิด เมื่อ พล.ต.ต.ไพโรจน์ ธนิกกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ในสมัยนั้น มีคำสั่งให้ไปจับทหารค้าเฮโรอีนน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม  “ผมเป็นคนอยู่ไม่สุขก็ไปกับลูกน้อง แต่เหมือนมีเซ้นท์ว่า กลับดีกว่า ปรากฏว่า เขาวางระเบิดเคโมไว้ แต่จังหวะที่วาง ไม่ทันปักให้มันแน่น อยู่ใต้ต้นมะขาม เสียงมันดังสนั่น เล่นเอาหูอื้อเลย รถลอย แต่ไม่สูง แท่งระเบิดมันแหงนขึ้นพอดี โชคดีมากเลย นั่น คือสุดๆ ผู้การไพโรจน์ ก็บอกว่า เอ็งเก่ง แกก็บอกให้ลงประจำวันไว้เพื่อรายงานเหตุให้ผู้บัญชาการเป็นวิกฤติตรงนั้นตั้งแต่เป็นตำรวจใหม่ ๆ ”

ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ เมื่ออยากจะผงาดอยู่ในพื้นที่

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีเหตุการณ์ปะทุขึ้นเรื่อย ๆ เช่นระเบิดรถไฟเที่ยวสุดท้าย เป็นจังหวัดที่เขาเข้าร้อยเวรอีกตามเคย ทำให้ได้ขึ้นรถไฟฟรีนานกว่า 4 ปี จนผู้ว่าการรถไฟยุคนั้นเกษียณอายุราชการ พ.ต.อ.สนธยาแสดงความเห็นว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น มีขบวนการซ้ำซ้อนมาช้านาน มันมีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ 7 หัวเมือง ตันหยงมัส คือ หนึ่งในหัวเมืองนราธิวาสที่เกิดความรุนแรงบ่อยครั้ง ถ้าศึกษาจากเรื่องปืนใหญ่ปัตตานีจะรู้ว่า คือ เรื่องจริง

“ลงเจาะไอร้อง ตามประสาคนไม่เคยอยู่ ชีวิตเคยอยู่แค่ทางอีสาน ผมจำเป็นศึกษาประวัติศาสตร์ของอาจารย์ที่เคยอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมถึงข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ เพราะก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็ศึกษาพอสมควร เจาะไอร้อง เจาะหรือจาเราะ คือ ลำธารใกล้เนินเขา ไอคือน้ำ ร้อง คือ เสียงร้อง มีน้ำตกที่สวยมากประมาณ 8 ชั้น สวยกว่าน้ำตกที่บาเจาะอีก เช่นเดียวกับเทือกเขาบูโด”

“1 ปี 10 เดือน ที่มาอยู่ที่นราธิวาส นายบอกให้มาอยู่ ก็ครับอย่างเดียว ตำแหน่งพนักงานสอบสวน แต่ทำหน้าที่อื่นด้วย ได้พี่เลี้ยงฝึกค่อนข้างดี ผมชอบ”

เผชิญมรสุมถูกร้องเรียน เป็นบทเรียนบินเข้าแจงในสภา

อย่างไรก็ตาม เขาได้เผชิญมรสุมครั้งแรกในพื้นที่เจาะไอร้อง เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อไปจับปืนชาวบ้านแล้วเกิดปัญหาโดนร้องเรียน ทั้งนี้ พ.ต.อ.สนธยา เล่าว่า มีโรงเรียนใหญ่จุคน 4,000-5,000 คน ของมะเซ อุเซ็ง คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ  หัวหน้าโรงพักยอกว่า ใครจับปืนได้ให้กระบอกละ 2,000 บาท เลยไปจับได้ในโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา โรงเรียนเอกชนสอบศาสนาอิสลาม แค่นั้นแหละเป็นเรื่อง

อดีตนายตำรวจโรงพักเจาะไอร้องว่า ถูกกรรมาธิการการปกครอง มีเด่น โต๊ะมีนา นัจมุดดีน อูมา เรียกพบด่วน ให้ไปชี้แจงตอน 9 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ต้องขึ้นเครื่องบินเที่ยวแรกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต้องไปถึงรัฐสภาประมาณ 8 โมงกว่า ยังแต่งเครื่องแบบ ร.ต.ตอยู่เลย ยังคิดในใจว่าจะต้องจบชีวิตราชการวันนั้นหรือเปล่า

“โชคดีผมถ่ายภาพขั้นตอนการจับกุม เอาฟิล์มไปล้างเป็นหลักฐานชี้แจงกรรมาธิการ คิดดูล่ะกันว่า เป็น ร.ต.ต.คนเดียว ต้องไปนั่งอยู่กับเด่น โต๊ะมีนา ก็คิดว่ายังไงก็สู้ หัวหน้าบอกให้ไปคนเดียว นั่งเครื่องไป แต่ก็อยู่มาจนทุกวันนี้ 18 ปีกว่า นับเป็นวินาที เหมือนเขาบอกว่าจงรักกันไว้ทุกเวลา ทุกนาที”

ประจันหน้าแกนนำ “มะแซ อุเซ็ง” คนที่ทางการเพ่งเล็งป่วนไฟใต้

ว่าถึงมะแซ อุเซ็ง ที่ตอนหลังถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าแกนนำบีอาร์เอ็นต้องหนีการจับกุม พ.ต.อ.สนธนา สัมผัสมาจากการทำงานมวลชนในพื้นที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่า อดีตคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ  จะอยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในพื้นที่

ประวัติของมะแซ อุเซ็ง มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเลขที่ 33/1 ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เคยเป็นทหารเกณฑ์ ในค่ายเสนาณรงค์ มีส่วนร่วมในการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในระหว่างปี 2522-2525 ก่อนจะมีประวัติการฝึกการก่อวินาศกรรม และการรบแบบกองโจรจากโรงเรียนนายร้อยประเทศลิเบีย ถูกจับตาเป็นแกนนำใหญ่ควบคุมปฏิบัติการในพื้นที่นราธิวาส

ในอดีตของมะแซ ยังเป็นครูสอนศาสนาโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา เป็นประธานองค์การบริหารส่วนตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง บ้านเกิด มีบทบาทในฐานะเลขาธิการมุลนิธิศูนย์ตาดีกานราธิวาส หรือปูซากา (PUSAKA) จัดตั้งกลุ่มครูสอนศาสนาเป็นเครือข่าย ขยายฐานมวลชนแนวร่วมสมาชิก หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านยึดเอกสารแผนปฏิวัติ 7 ขั้นตอน ทำให้เขาถูกตั้งข้อหานับแต่นั้นมา “ผมสงสัยคนอื่นในบ้านแกมากกว่า อันนี้ผมคิดเอง จากที่ผมเคยสัมผัสมะแซ อุเซ็ง ที่โรงพัก แต่นั้นก็เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผม” พ.ต.อ.สนธยาขยายความคิด

 

ย้ายเป็นพนักงานสอบสวนเมืองยะลา ได้เวลาจุดชนวนปล้นปืนค่ายปิเหล็ง

วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อผู้ใหญ่เห็นความสามารถชวนมาเป็นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา อยู่ได้ 5 ปีเศษ สถานการณ์ไฟใต้ระอุจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หรือที่ทหารและชาวบ้านเรียนกันติดปากว่า ค่ายปิเหล็ง ท้องที่เก่าที่เขาคุ้นเคย

พ.ต.อ.สนธยาลำดับภาพในสมองว่า กองพันทหารพัฒนา มีหมู่บ้านอยู่ข้างหลัง เป็นป่าสาคู ที่เคยไปทำโครงการด้วงสาคู กิโลกรัมละ 200 บาท เป็นจุดที่เข้าตีค่ายได้ง่าย อย่างที่บอกไว้ตอนแรก จริงๆแล้ว ชาวบ้านเจาะไอร้องเขาใสนะ ใครอยู่ใกล้ก็สีนั้น แต่เราต้องเข้าใจรอบการก่อเหตุ สมัยก่อนนราธิวาสมีปีละ 2 ครั้ง เหมือนต่อวีซ่า ทุกคนที่ปฏิบัติจะเข้าใจ ก่อนทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในปีนั้น

“สมัยก่อนรบกันในป่า มียุทธศาสตร์ ยุคท่านธีรยุทธ บุตรศรีภูมิ บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ สุนทร ซ้ายขวัญ นายเขาจะพูดกันว่า สมัยพี่เป็น ร.ต.ต. ก็มีโจรแล้ว แต่จะอยู่ในป่า ผิดกับเดี๋ยวนี้เกาะพื้นที่หมด ถ้าเราไม่มีมวลชน เราต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ตรงนี้ให้ได้ จริงๆ ชาวบ้านใสมาก แต่เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่อย่างนั้นคุยกับพวกเขาไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง”

ออกนอกสมรภูมิได้เดี๋ยวเดียว ต้องเลี้ยวกลับลงมาพื้นที่สีแดง 

หลังเหตุการณ์ปล้นปืนจุดชนวนไฟใต้ลุกลาม 3 จังหวัดด้ามขวานประเทศ ปีเดียว พ.ต.อ.สนธยา ขยับเลื่อนเป็นพนักงานสอบสวน สบ 2 ติดยศ พ.ต.ต.อยู่เมืองยะลา ไม่กี่เดือนโยกลงเป็นพนักงานสอบสวน สบ 2 สถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เหมือนจะโบกลาพื้นที่สีแดง ทำไปทำมาแค่เดือนเดียว ผู้ใหญ่จับขยับกลับมาเมืองยะลาอีกครั้ง  ก่อนได้เป็นสารวัตรหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

แค่ 2 เดือนปรับโครงสร้างยกฐานะโรงพัก ทำให้ต้องย้ายออกเป็นพนักงานสอบสวน สบ 2 สถานีตำรวจภูธรคูเต่า จังหวัดสงขลา ยุค พล.ต.ท.เจษฎากร นะภีตะภัฏ นั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เจ้าตัวว่า ตอนนั้นคิดว่า มีนายเป็นใหญ่แล้วจะขอลงทำหน้าที่จราจร ก่อนเข้าห้องประชุม การเมืองแรง นายขอไปลงนาขยาด ที่พัทลุง บอกว่าอยู่ติดถนนใหญ่เหมือนกัน คำสั่งออกมาชื่อไปเป็นสารวัตรสถานีตำรวจภูธรบาตูกาโมง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ลงสมรภูมิรบอีกระลอก

“เหมือนชีวิตมันลิขิตไม่ได้ เหมือนเขากำหนดว่า ทุกคนต้องมาเจอกันวันนี้ ถ้าอิสลาม ก็อัลเลาะห์กำหนด” นายพันตำรวจเอกหนุ่มมองโลกในแง่บวก และที่บาตูกาโมงนี่เอง ทำให้เขาได้มาทำงานร่วม “สมเพียร เอกสมญา” ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา ท่ามกลางความรุนแรงเก็บกวาดผู้ก่อความไม่สงบเงียบหายไปพักใหญ่ ” มีเวลาทำงานพัฒนา สร้างมวลชนในพื้นที่ และต้องขอบคุณพี่เพียร ที่ทำให้ตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สิทธิทวีคูณเป็นรางวัลตอบแทนด้วย”

 

รับภาระความรับผิดชอบหนัก ขอปักหลักไม่ย้ายเพราะเสียดายสิ่งที่ทำ

2 ปีที่เขตติดต่ออำเภอบันนังสตา ดินแดนเหมืองแร่เก่าตามท้องเรื่องของมหา’ลัยเหมืองแร่ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนไว้ สุดท้ายเขาเลื่อนขึ้นเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ทำโครงการเซฟตี้โซนกลางเมืองยะลา แต่ไม่วายโดนลอบวางระเบิดป่วนหลายครั้งติดต่อกัน รวมค่าเสียหาย 100 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส

“ถามว่า ผมอยากย้ายออกนอกพื้นที่หรือไม่ บังเอิญผมมีครอบครัวอยู่ตรงนี้ แม้บางครั้งมันก็อิ่ม ถามว่า อยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ในระดับหนึ่ง บางครั้งมันเสียดายอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำไว้ด้วยระยะเวลานาน 18 ปีกว่า” พันตำรวจเอกนักรบสมรภูมิเดือดภาคใต้ระบายความรู้สึก

เขาอยู่เมืองยะลาอีก 2 ปี เห็นรถระเบิดลอยสูงเท่าตึก 2 ชั้น ส่วนคนกระเด็นสูงประมาณชั้น 4 เพราะมีแรงถีบ เหนื่อยมาก นอนวันละ 4 ชั่วโมง แบกภาระหน้าที่ด้วยคิดว่า การที่อยู่ตรงนี้ได้เพราะยังอายุไม่มาก

 

ยอมรับการเรียนรู้วัฒนธรรม ทำทุกอย่างไม่ให้สร้างเงื่อนไข

ต่อมา ขยับนั่งสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และขึ้นผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีเหตุยิงระเบิดเข้ามาในโรงพัก เพราะว่ารอบๆ โรงพักเต็มไปด้วยแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบปะปนอยู่จากกรณีของตากใบ มีตัวการใหญ่เข้าไปถล่มฐานนาวิกโยธินในพื้นที่

“แต่แล้วก็เกิดปัญหา เมื่อตำรวจโรงพักผมไม่ยิงคนบ้าตาย กลายเป็นเงื่อนไขชาวบ้าน ทั้งที่คนตายเป็นคนจากที่อื่น น่าสงสารตรงแฟนก็พิการ  ลูกเพิ่งตลอดไม่กี่วัน ไม่รู้จะทำยังไง คนตายเดินเอาหินไปแจกแล้วเริ่มอาละวาด ทำให้ถูกยิง ผมก็ต้องจ่ายค่าทำศพในเบื้องต้น ที่นี่ปัญหามันเกิดขึ้น มันมีค่านายหน้า ชาวบ้านเชื่อผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โต๊ะอิหม่ามบางคน ทุกอย่างต้องผ่านคนเหล่านี้ เป็นข้อเท็จจริงใน 3 จังหวัด ถ้าผ่านมาทางคนเหล่านี้ เขาจะดูแล เราถึงต้องเข้าใจวัฒนธรรม ค่าน้ำร้อนน้ำชาของพวกเขา”

แก้ไขสถานการณ์ทำความเข้าใจชาวบ้านท้องถิ่นผ่านพ้นไปด้วยดี พ.ต.อ.สนธยา ย้ายเป็นผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรกาบัง จังหวัดยะลา เขตติดตามชายแดนประเทศมาเลเซีย สร้างมวลชนประสบความสำเร็จ เพราะชาวบ้านที่นั่นจะรักถิ่นฐาน มีโรงเรียนปอเนาะป่าพร้าว เป็นปอเนาะต้นแบบ มีความร่วมมือจากชาวบ้าน ทำให้กาบัง ค่อนข้างแข็งเรื่องภาคประชาชน ความร่วมมือของมวลชน

 

ภาคภูมิใจได้งานมวลชน ส่งผลได้รับรางวัลมากมาย

“ผมเรียนรู้การทำงานมวลชนจากผู้กำกับสมเพียร ประกอบกับที่ผมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เพราะได้ภรรยาเป็นมุสลิม จึงมีเวลาไปหาชาวบ้านตอนละหมาด” ผู้กำกับการสถานีตำรวจกาบังเล่าถึงหลักการทำงาน เขายืนยันว่า ชาวมุสลิมกับไทยพุทธอยู่กันมานานอย่างสงบ แต่มีบางกลุ่มเอาความรู้ไปบิดเบือน ชาวบ้านหลายคนใส ใสจนน่าตกใจ ปัจจัยหลายอย่างเกิดจากความไม่เข้าใจกันมากกว่าในหลายมิติจนบ่อยครั้งนำเอามาเป็นข้ออ้างสร้างเงื่อนไข

ประสบการณ์ตลอด 18 ปีเศษบนปลายด้ามขวาน พ.ต.อ.สนธยา ยังมีความภาคภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สารถีประจำรถยนต์พระที่นั่งถวายและถวายความปลอดภัยแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้เสด็จในพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ได้รับการยกย่องเป็นพนักงานสอบสวนดีเด่นระดับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ปี 2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศพัฒนาโรงพักเพื่อประชาชนดีเด่นระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปี 2546

รับรางวัลสถานีตำรวจชนะเลิศการประกวดการฝึกระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ปีซ้อน รับรางวัลข้าราชการผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในรอบปีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปีงบประมาณ 2558 ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น จังหวัดยะลา กลุ่มข้าราชการระดับอำนวยการระดับต้นประจำปีงบประมาณ 2558 และข้าราชการพลเรือนดีเด่น เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ปี 2559

เจอโศกนาฏกรรมสูญเสียน้องเมีย เสียดายเป็นนายตำรวจอนาคตไกล

สำหรับเส้นทางในอนาคต พ.ต.อ.สนธยา สารภาพว่า ไม่แน่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดตลอดหรือไม่ เพราะครอบครัวของภรรยาเคยประสบมรสุมชีวิตเมื่อต้องสูญเสียน้องชายที่เป็นนายตำรวจหนุ่มจากเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

ศกนาฏกรรมครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 (ศูนย์ปราบปรามน้ำมันเถื่อน) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อจับกุมผู้ค้าน้ำมันเลี่ยงภาษี โดยใช้เส้นทางถนนสายชนบทบ้านจะมือฆา หมู่ 7 ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย

ร.ต.ท.อนาวิล อาคุณชาดา เป็น 1 ในนั้นที่ทำครอบครัวภรรยาของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกาบัง แทบช็อก เพราะน้องชายเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 62  นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 46 เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจในโควต้าจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมัยที่ยังเป็นนักเรียนเคยทำกิจกรรมร่วมกับชมรมดนตรีไทยเป็นนายตำรวจหนุ่มอนาคตไกล ที่มีกำหนดจะเข้าพิธีวิวาห์กับคนรักซึ่งเป็นแพทย์หญิง ในวันที่ 27 ตุลาคม 2556 ก่อนจะจบชีวิตเพียงเดือนเดียว

ยอมรับเบื่อและท้อแท้ ตอนแย่กลับไม่มีคนเคียงข้าง

“คนดีมาถูกยิงตาย น้องเมียผม เขาเกิดที่นั่น โตที่นั่น เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก น้องสาวเมียก็ไปซื้อบ้านอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว ทำให้ผมเบื่อตรงนี้เหมือนกัน เคยคิดขอย้าย แต่ผู้กำกับทั่วประเทศมี 3,000 กว่าอัตรา อะไรก็แล้วแต่ ผมอยู่มา 18 ปีแล้ว อยู่ก็อยู่ได้ คงไม่เป็นไร กำไรชีวิตแล้ว กาบังก็ดี ชาวบ้าน ลูกน้องคุยกันรู้เรื่อง”

เขาอธิบายว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือมาก เราพยายามจะปลูกฝังความรักถิ่นฐานบอกว่า ตรงนี้เป็นที่มั่นสุดท้ายแล้ว ไม่อย่างนั้นต้องไปอยู่มาเลเซีย ถ้าไม่รักษาแผ่นดินสุดท้ายแล้วจะให้คนที่อื่นมาอยู่หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนต่างถิ่น ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะเชื่อว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริทำให้เกิดบีอาร์เอ็น พูโล

“ผมว่า ปัญหานี้ยังอีกนานกว่าจะหาสันติสุขเจอ เหมือนที่ท่านธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ ท่านสุนทร ซ้ายขวัญ ท่านบุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ พูดไว้ว่า พี่รบตั้งแต่ ร.ต.ต. เหมือนผมมาลง ร.ต.ต.ก็เจอแล้ว ท้อไหม ก็มีบ้าง บางครั้ง ถ้าเราสนุกก็เพราะชาวบ้านให้ความร่วมมือ ทำให้มีกำลังใจ แต่ถ้าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ ก็ท้อเหมือนกัน เหมือนเดินไม่มีคนเคียงข้าง มันว้าเหว่” พ.ต.อ.สนธยาถอดความในใจภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบชายแดน 3 จังหวัดปลายด้ามขวาน

 

RELATED ARTICLES