“ทุกคนผ่านการคัดเลือก คัดสรรมาแล้วว่า ครบหลักเกณฑ์”

 

ชื่อเสียงของ นามสกุล อาจไม่ได้เป็นต้นทุนต่อยอดติด ดาวเงิน ประดับบ่า

เพราะทุกชีวิตต้องร่วมฟันฝ่าการฝึกฝนอบรมหลักสูตรเดียวกันแบบไม่แบ่งชนชั้นลูกเต้าเหล่าผู้เป็นนายตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน

คือ เจตนารมณ์ของ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) ตั้งแต่เริ่มต้นรุ่นแรกมาจวบจนถึงรุ่น 45 ประจำปีงบประมาณ 2563 ทั้งหมด 300 นาย

ไม่ใช่มีที่สำรองไว้เพื่อ ลูกท่านหลานใคร อย่างที่โดนวิพากษ์วิจารณ์

นักเรียนนายร้อยตำรวจอบรมสัญญาบัตร (นอส.) ทุกคนล้วนต้องหมอบคลานวิ่งคลุกฝุ่นตามแบบทดสอบเท่าเทียมกัน เพื่อหลอมรวมระเบียบวินัยให้เป็นหนึ่งเดียวก่อนออกไปรับใช้ประชาชน

นอส.นิติธร ประชันกาญจนา คือตัวอย่าง ลูกชาวนา มากด้วยความสามารถจากตำรวจชั้นประทวนขอเลื่อนติดยศ ร.ต.ต.เป็นเสมือนพี่ใหญ่ของเพื่อนในรุ่น

 

ดั้นด้นจากเด็กท้องนาภาคอีสาน สู่บทหนุ่มโรงงานก่อนทะยานเป็นตำรวจ

ปากกันตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นชีวิตราวกับผู้พ่อลิขิตทางเดินให้เป็นตำรวจ ถึงเลือกตั้งชื่อ “ภูธร” เหตุเพราะเปิดฟังสถานีวิทยุตำรวจภูธรจนคุ้นหู เกิดจังหวัดขอนแก่น เป็นพี่ชายคนโตของบ้านที่มีพี่น้อง 4 คน จบประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านหนองแวงท่าวัด ไปต่อมัธยมศึกษาจากโรงเรียนแวงน้อยศึกษา

เจ้าตัวเล่าว่า เป็นเด็กเลี้ยงควายบ้านนอก เคยทำงานจับกัง หลังจากจบมัธยมต้องออกจากบ้านมาสู้ชีวิต มีเงินแค่ 200 บาท ทำงานโรงทอผ้าแถวสมุทรปราการเป็นช่างซ่อมจักรแล้วเจอพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 โรงงานถูกยุบ ต้องออกไปเกณฑ์ทหารได้ 2 ปี ตัดสินใจสอบเข้าเป็นนักเรียนตำรวจนครบาล รุ่น 70

บรรจุตำแหน่งพลสำรองพิเศษ งาน 5 กองกำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติพิเศษ ก่อนย้ายลงเป็นผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง หารายได้พิเศษช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงาน คือ ขับรถซื้อเศษเหล็กไปขาย กระทั่งนิตยสารชีวิตต่อสู้ผ่านไปเจอระหว่างแต่งเครื่องแบบตำรวจเชื่อมเหล็กอยู่จะชวนไปออกรายการสู้แล้วรวย แต่เขาปฏิเสธเพราะยังไม่รวย

 

เกิดแยกชีวิตที่พลิกผัน ในวันที่ยิงปืนพลาดเป้า

หลังจากนั้นเกิดจุดพลิกผันของชีวิต ขณะเข้าเวรอยู่ตอนเกือบ 2 ทุ่ม เจ้าตัวเล่าว่า มีวัยรุ่นเอาอิฐตัวหนอนขว้างใส่ตู้จราจรกระจกแตกหมด เรานอนอยู่ในตู้ กระโดดออกมาชักปืนไล่ยิงไป 6 นัด ไม่โดนสักนัด เพราะไม่มีความสามารถเรื่องการใช้ปืนดีพอ ได้แต่ฝึกตอนสมัยเรียนเท่านั้น ต่อมาสายตรวจไล่จับคนร้ายส่งพนักงานสอบสวนได้ รีบตื่นเช้าไปถามวินมอเตอร์ไซค์หาสนามยิงปืนละแวกดอนเมือง

“ได้ความว่าเปิดวันแรกที่สนามธูปะเตมีย์ ก็ได้ไปซ้อม ยอมควักกระเป๋าซื้อกระสุนนัดละ 8 บาท เบิกปืนหลวงไป แรก ๆ ยิงไม่เข้าเป้า ไปทุกวัน เจอนักกีฬาทีมชาติเป็นทหารอากาศมาซ้อมยิงปืนเตรียมแข่งภายในกองทัพอากาศ นั่งดูเขาซ้อมอยู่หลายวัน อยากรู้จัก อยากได้วิชาจากเขา เลยลองขออนุญาตไปช่วยติดเป้าให้ ตอนแรกเขาไม่ยอม เพราะเห็นเราเป็นตำรวจ” นอส.นิติธรย้อนความหลัง

“ตอนหลังเขายอม ผมวิ่งติดเป้าให้อยู่ประมาณ 4-5 วัน โบกรถเสร็จไปวิ่งติดเป้าในสนามจนเขาเห็นความตั้งใจที่อยากจะได้วิชา เพราะผมสารภาพว่า ยิงปืนไม่เป็น ช่วยสอนผมหน่อย เขาแปลกใจ ไม่คิดว่าตำรวจยิงปืนไม่เป็น แต่ตำรวจเรา ผมบอกได้เลยว่า ทุกคนคิดว่า ตัวเองยิงปืนดีแล้ว เก่งแล้ว คิดเสมอว่าตัวเองยิงปืนเป็น แล้วไม่หมั่นฝึกซ้อม ไม่หมั่นหาวิชาความรู้  ตรงนี้ คือ จุดด้อย ทุกคนที่มีปืน คิดว่ามีปืน ยิงปืนได้ แต่พอเจอสถานการณ์จริง ไม่เหมือนกันอย่างที่คิดเลย”

 

ลูกนักการเมืองท้าดวลแท่งเทียน เพื่อเขียนเช็คตบรางวัลเรือนแสน

ความพยายามบวกความตั้งใจที่แน่วแน่ทำให้เขาได้รู้จัก ร.อ.สุเมธ อารยวงษ์กุล ครูสอนยิงปืนคนแรก นำไปสู่เส้นทางการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ส่งแข่งขันยิงปืนชิงแชมป์เอเชียที่สนามหัวหมากคว้าอันดับ 4 ทั้งที่ไม่เคยแข่งขันอะไรที่ไหนมาก่อนในชีวิต  นอส.นิติธรเล่าว่า ฝึกซ้อมเก็บตัวอย่างเดียว ไม่ต้องไปคุยกับใครตามแบบแผนที่ครูฝึกวางไว้ ให้ยิงนัดเดียวต้อง 10 เท่านั้น คือ ความลำบากในการซ้อม การมีวินัยของเรา สุดท้ายแข่งยิงปืนปีเดียวได้ 2 เหรียญทองในกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นมีโอกาสได้สปอนเซอร์รายสำคัญจากค่ายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งของลูกชายนักการเมืองชื่อดัง เมื่อต้องไปรับคำท้าดวลปืนยิงแท่งเทียนระยะ 25 เมตรนัดเดียวต้องโดนจะมีเงินรางวัลให้แสนบาท เพราะสงสัยในตัวเขาที่มาซ้อมยิงในสนามทุกวัน “กดดันมาก บอดี้การ์ดเขาเยอะ ช่วงนั้นก็เริ่มมืดแล้ว 6 โมงเย็น ผมใช้ปืนกล็อก 19 ยิงนัดเดียวโดนเทียนขาด ตื่นเช้ามาเขาเซ็นเช็คมาให้ตามที่บอกไว้ ก่อนพาไปทำสัญญาที่ค่ายโทรศัพท์มือถือเป็นสปอนเซอร์รายเดือนให้อีกต่างหาก”

คว้ารางวัลแม่นปืนมากมายในนามทีมชาติ ก่อนประสบอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้าแขนหักทำให้ผลงานดรอปลงไป ถึงกระนั้น นอส.นิติธรมองว่า หากไปไกลกว่านี้ ทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิก ถ้าได้ก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้คงไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไปกับที่เราต้องหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เลยช่างใจ หยุดไว้ก่อน ประคองไว้ เอาแค่ในประเทศ คือ ในระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น

 

โยกติดอาร์มกองปราบปราม ติดตามแกะรอยสืบสวนคดีมากมาย

ยิงปืนนามทีมตำรวจมาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน อาจไม่ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ต่อเนื่อง แต่ได้ความภูมิใจที่เป็นนักกีฬายิงปืนคนเดียวไม่มีปืนเป็นของตัวเอง ทว่ามีผู้ใหญ่สนับสนุน อาทิ พ.ต.อ.พิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ สมัยอยู่โรงพักดอนเมืองเป็นผู้พาเข้าวงการยิงปืนตำรวจ ประยงค์ สุทธิสุคนธ์ นายสนามยิงปืนหัวมากสนับสนุนปืนให้มาแข่งขัน ส่วนกระสุนซ้อมและเบี้ยเลี้ยงได้จากสปอนเซอร์ค่ายโทรศัพท์มือถือ “ชีวิตผมมาจากปืน ถ้าผมไม่ยิงปืน ชีวิตผมไม่มาถึงวันนี้ คงเป็นตำรวจจราจรคนหนึ่งโบกรถอยู่อย่างนั้น”

ปี 2556 เส้นทางชีวิตราชการเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อย้ายไปเป็นผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม เปลี่ยนหน้างานมาทำสืบสวน ได้ พ.ต.อ.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง สมัยเป็นรองผู้กำกับสอนทักษะการทำงานประกอบกับใช้วิชาครูพักลักจำ เรียนรู้ยุทธวิธีในการจับกุม ยุทธวิธีในการทำงานที่ไม่เคยสัมผัส เพราะเคยแต่โบกรถอย่างเดียว ประเดิมแฟ้มแรกด้วยการลงไปทำคดีฆาตกรรมน้องเปิ้ลที่จังหวัดระนอง

“ไปอยู่ที่นั่น 16 วัน มันเป็นโรงเรียนหนึ่งเลย คนอื่นบอกว่าเหนื่อย ผมบอกว่า มาเรียนสืบสวน ความคิดต่างกัน คดีนี้พนักงานสอบสวนเก็บหลักฐานไว้น้อยมาก ผ่านมา 10 กว่าวันแล้วจนกองปราบปรามต้องลงไปจากไม่รู้อะไรเลย  ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร ข้อสันนิษฐานอะไรคิดว่า เป็นจริงไปหมด ใครว่าอะไรก็เฮกันไป สุดท้ายพอรู้ตัวด้วยไหวพริบ ปฏิภาณ หรือกึ๋นอะไรก็แล้วแต่ก็ไม่รู้ เดินดินจนได้ตัวผู้ต้องหา”

 

รับรางวัลโล่เกียรติยศ แทบลืมคิดเลื่อนยศเป็นนายตำรวจ

เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคดีนั้นเอาเป็นตำรานักสืบส่วนตัวก้าวต่อไปในการออกตามตะครุบผู้ต้องหาตามหมายจับเก่าทำตัวเลขสถิติติดอันดับต้น สะสมวิชาจากนักสืบรุ่นเก่าที่มารุมสอน ทุกคดีที่สำคัญ ลงไปทำหมดจนได้ฉายา “ตำรวจเหล็กของกองปราบปราม” มีผลงานสืบสวนไล่ล่าจับกุมไอ้ตั้ม หรือ เอ็ม มือสังหารโหด “เศรษฐีนีสายบุญ” ยัดตู้เย็น จังหวัดเชียงใหม่ จับกุม “ปุ๊ขาโหด” ฆ่ายกครัว 5 ศพจังหวัดอุตรดิตถ์

จับกุมนาย ณัฏฐกิตติ์ หรือหมี วงศ์อนันต์สุข เจ้าของโรงงานเชือดหมูยิงสารวัตรกำนันราชบุรี พร้อมเพื่อนดับ 2 ศพคางานเลี้ยง รวบนายอำนาจ หรือเก่ง หยาดเพชร ผู้ต้องหาก่อเหตุยิงถล่มบ้านพลโททหารเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย

นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลโล่เกียรติยศ สืบสวนดีเด่นของกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม ประจำปี 2560  รับโล่เกียรติยศสืบสวนคดีสำคัญของกองปราบปราม ประจำปี 2561 โล่เกียรติยศและประกาศเกียรติคุณสืบสวนดีเด่นของกองปราบปรามในวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประจำปี 2562  มดงานของหน่วยตำรวจติดอาร์มกองปราบปรามบอกว่า งานสืบสวนถือว่า ไปถึงจุดที่เราอยากจะไปทำ เราอยากจะไปจับกุมผู้ต้องหาก็สามารถที่จะหาจนเจอ หมกมุ่นอยู่กับงานลืมแนวคิดติดดาบเลื่อนชั้นเป็นสัญญาบัตรกับเขา แม้ตัวเองจะมีดีกรีปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ต้องยอมรับว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันที่ใครก็อยากมาอบรม เพราะเป็นของสุภาพบุรุษ ผมก็เป็นส่วนหนึ่งในความฝันที่อยากจะติดดาว หลังจากมีผู้จุดประกายเมื่อปี 2562 ขณะไปยิงปืนที่ภูธรภาค 3  ท่าน พล.ต.ต.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ถามว่า ทำไมยังเป็นนายดาบอยู่ นึกว่าเป็นนายร้อยไปแล้ว นักกีฬาคนอื่นมาทีหลังยังติดยศ พ.ต.ท.แล้วด้วยซ้ำ”

 

สุดท้ายยอมเลือกเส้นทาง เข้าอบรมอยู่ในรั้วสามพราน

นอส.นิติธรสารภาพว่า ไม่เคยส่งรายชื่อขอเข้าอบรมเป็นนายตำรวจ เพราะมีความสุขกับการทำงานจนไม่คิดว่า เรื่องยศตำแหน่ง เราทำงาน เรารู้หน้าที่ วัตถุประสงค์ของตำรวจ คือ การเอาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี การเป็นตำรวจ คือ เป็นผู้พิทักษ์ รับใช้ประชาชน เราเป็นนักสืบ ภารกิจหลักต้องสืบสวนเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ดูผู้หมวด ผู้กอง สารวัตรก็ทำงานเหมือนเรา ไม่มีอะไรต่างกันมาก แค่เป็นผู้บังคับบัญชา เราไม่ได้คิดตรงนั้น ลืมคิดไปเลยว่า ต้องมาอบรมเอานายร้อย ทำงานจนเพลิน พอมารู้สึกตัวอีกทีตอนนายถามว่าทำไมยังเป็นดาบอยู่

นายดาบตำรวจกองปราบปรามมีคุณวุฒิครบหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ปี 2546 ตามระเบียบของหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแบ่งประเภทผู้มีสิทธิออกเป็นสายกีฬา ทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ และตำแหน่งเฉพาะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขาดแคลน  ดังนั้นเขาถึงเลือกตัดสินใจเข้าร่วมอบรมเป็นรุ่น 45

เขาการันตีว่า เพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนล้วนมีศักยภาพหมด มีความสำคัญ มีดีอยู่ในตัวทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับเส้นสาย หรือนามสกุล อย่างสายกีฬาก็สร้างผลงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติครบหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่าง เราได้เหรียญของกีฬากองทัพไทย 3 ปีติดต่อกันก็ครบองค์ประกอบทันทีที่จบปริญญาตรีสามารถเข้ามาอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้แล้ว เช่นเดียวกับทายาท คือ พ่อแม่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อันนี้ต้องให้  อีกส่วนเป็นกลุ่มผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง

 

รับประกันแทนเพื่อนร่วมชั้น ถึงมีลูกท่านหลานเธอต้องเจอเหมือนกัน

“รุ่นนี้เป็นรุ่นที่รวบรวมคนมีวิชาความรู้เข้ามาอยู่เยอะมาก ไม่ใช่ว่า ลูกท่านหลานเธอ ไม่ใช่เลย ทุกคนมีความสามารถ ผมรับประกันได้ ยิ่งเข้ามาเจอน้อง ๆ ผมกลายเป็นผู้อาวุโสแล้ว ถูกยกเป็นที่ปรึกษาของรุ่นคอยดูแลแนะนำน้องแต่ละคน พวกเขาทุกคนมีคุณสมบัติพอที่จะเข้ามาอบรมเป็นนายตำรวจ เนื่องจากความรู้ ความสามารถแต่ละด้าน ไม่เหมือนกัน แต่สังคมภายนอกจะชอบเหมารวม ทั้งที่ทุกคนผ่านการคัดเลือก คัดสรร มาแล้วว่า ครบหลักเกณฑ์ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดบังคับไว้ ถึงจะเข้ามาอบรมได้ เป็นความภูมิใจของทุกคนที่เข้ามาด้วยความสามารถ”

  วันแรกของการฝึกอบรมเปลี่ยนคำนำหน้าจาก ด.ต.มาเป็น นอส. เจ้าตัวสัมผัสได้ว่า แก่กว่าคนอื่นมาก  ทีแรกหวั่นๆ เรื่องพละกำลัง มี พล.ต.ท.อาชวันต์ โชติกเสถียร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจมารับด้วยตัวเอง เพราะใส่ใจกับรุ่นนี้มาก เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ที่สำคัญหุ่นทุกคนต้องเฟิร์ม “ท่านผู้บัญชาการไม่ชอบคนอ้วน คนไหนที่ท่านหมายไว้ต้องลดน้ำหนักอย่างน้อย 7-10 กิโลกรัม เนื่องจากเรื่องบุคลิกของนักเรียนนายร้อยตำรวจอบรบสัญญาบัตรต้องมีความเป็นผู้นำ จำเป็นต้องเน้นย้ำตรงนี้มาก”

ความที่เป็นตำรวจเก่ารุ่นใหญ่ส่งให้กลายเป็นพี่เลี้ยงน้อง ๆ ในรุ่นที่คอยให้คำปรึกษา นอส.นิติธรบอกว่า เพื่อนร่วมรุ่นเกรงใจมากกว่า ไม่ได้เห็นว่า เราแก่ แต่เป็นผู้มีคุณวุฒิ สามารถบอกแนะนำอะไรได้ พยายามให้กำลังใจกันเสมอว่า เวลาฝึกเหนื่อยก็ต้องเหนื่อยด้วยกัน เพราะที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเน้นเรื่องความสามัคคี โดนจวกก็โดนจวกทั้งหมด  ทำผิดคนหนึ่ง คือเอาผิดทั้งหมด

 

ดุจโรงหลอมเหล็กให้เป็นเนื้อเดียว เกี่ยวความรู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

“ไม่ว่าจะลูกใครที่นี่ไม่สน เวลาจวกก็จวกเหมือนกันหมด ไม่มีเลือก ตั้งแต่ผู้ช่วย ผู้หมวด ผู้กองจะฝึกเรื่องวินัย ความสามัคคีจะเน้นมาก ดูจากการตรวจจะไม่แยกตรวจ ผิดคนเดียวเอาโทษทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีอะไรต้องเตือนกัน เพราะเป็นรุ่นเดียวกัน ผมว่า มันเหมือนโรงหลอมเหล็กโรงหนึ่ง ผมมีความชำนาญเรื่องเหล็ก ถึงอยากขอยกตัวอย่างเป็นเหล็ก สถาบันนี้เป็นโรงหลอมเหล็ก นักเรียนมาจากตรงไหนก็ไม่รู้ที่เอามาโยนลงเตาหลอม เศษเหล็กไหนที่แข็งมันก็จะใช้ไฟเยอะเพื่อหลอมละลายให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

ว่าที่นายร้อยตำรวจมองอนาคตตัวเองด้วยว่า อยากกลับไปทำงานตำแหน่งหน้าที่เดิม เพราะเสียดายวิชาความรู้ อย่างน้อยอยากทำงานสืบสวนต่อไป  เราได้วิชาดีจากนักสืบรุ่นเก่าๆ ที่มาสอน เราโชคดีที่หัวไวในเรื่องงานสืบสวน เพราะใส่ใจ ตามที่ผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งให้โอวาทไว้ว่า ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำหน้าที่นั้น ถ้าไม่เข้าใจก็มาถาม

“มันอยู่ในสมองเราเลย ใครมีหน้าที่อะไรก็ให้ทำตามหน้าที่ ผมคิดว่า นี่แหละอุดมคติของผม รู้หน้าที่ มีวินัย ไม่หยุดนิ่ง  มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้น  ถือ วินัยตำรวจสำคัญที่สุด แล้วต้องไม่หยุดนิ่งในการหาความรู้ใส่ตัวเอง” เจ้าของฉายาตำรวจเหล็กทิ้งท้าย

……

ผมได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มันไม่ใช่แค่นามสกุล ผมทำได้ทุกอย่างเหมือนคนอื่น

  นอส.พรรษวุฒิ แสงสิงแก้ว ลูกชายนายทหารบก ส่วนแม่เป็นน้องสาว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา เจ้าตัวเปลี่ยนมาใช้นามสกุลตามผู้เป็นลุง ได้รับการเลือกให้เป็นประธานนักเรียนนายร้อยอบรมสัญญาบัตรรุ่น 45

จบมัธยมต้นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปต่อมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมทีผู้บังเกิดเกล้าอยากให้เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แต่บังเอิญสอบติดเตรียมอุดมแล้วถึงเบนเข็มมาเรียนสายอุดมศึกษาแทน

เจ้าตัวรับว่า ตอนแรกมีความคิดอยากเป็นทหารตำรวจตามรอยพ่อและลุง รวมถึงนักบิน สุดท้ายพอจบมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรนี้เพื่อเป็นตำรวจสัญญาบัตร หลังก่อนหน้าบรรจุเป็นนายสิบตำรวจอยู่ฝ่ายประมวลผล ศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง เหตุผลเพราะอยากเป็นตำรวจเอง ไม่ได้ถามลุงหรือใคร แต่ไปเรียนให้ทราบ ลุงบอกว่าดี สนับสนุนด้วย

“พอเข้ามาแล้ว ถามว่าโดนมองมีเส้นสายด้วยหรือไม่ ผมว่าต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อลบความคิดเหล่านั้นให้ได้ ต้องฝึกหนักเหมือนคนอื่น สำหรับผมก็ไหวอยู่ สบายมาก ผมมีความคาดหวังในอนาคต คือ อยากทำงานตำรวจให้ดีที่สุด จากที่ได้มาสัมผัสตำรวจก็ไม่ต่างจากที่คิดไว้ตอนแรก มองว่า เข้ามาแล้ว ระเบียบอะไรก็ต้องเป๊ะ  ปกติคุณลุงสอนเรื่องระเบียบอยู่แล้ว คุณลุงจะเป๊ะมาก เลยเข้าใจระบบ คุณลุงยังสอนตั้งแต่เด็ก ๆ เลยว่า ต้องเป็นคนที่ตรงต่อเวลา แล้วถ้าไปทำงาน ต้องไปก่อนนาย แล้วกลับทีหลัง” หลานชายอดีตผู้นำปทุมว่า

“ที่สำคัญ คุณลุงจะสั่งสอนเสมอ ต้องเป็นคนดี คนเก่ง แล้วก็มีคอนเน็คชั่น ชีวิตถึงจะดำเนินต่อไปได้ดี แต่การคนอื่นมองที่นามสกุล ยอมรับว่า รู้สึกกดดัน รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องทำให้ดีเหมือนคุณลุง ผมว่า ผมได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มันไม่ใช่แค่นามสกุล ผมทำได้ทุกอย่างเหมือนคนอื่น”

นอส.พรรษวุฒิบอกว่า โชคดีที่ได้ทำตามความวันตอนเด็ก อยากเป็นทหารตำรวจ ถึงอยากฝากว่า ทุกคนมีสิทธิได้เป็นตำรวจหมด ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนที่มีนามสกุลใหญ่โต ขอให้มีแรงบันดาลใจ และพิสูจน์ตัวเองได้ ก็สามารถเข้ามาได้ เหมือนรุ่นปัจจุบันทุกคนมีโปรไฟล์หมด ทั้งที่ทั้งนั้นล้วนตรงตามระเบียบหลักเกณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีใครแหกระเบียบเข้ามาได้ เมื่อได้เป็นตำรวจแล้วทุกคนต้องมีอุดมการณ์อยากทำอะไรเพื่อประเทศชาติ รับใช้ประชาชน ทำหน้าที่เต็มประสิทธิภาพของตัวเองให้ดีที่สุด

 

ส่วนตัวไม่กดดัน แค่ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้มีอะไรพิเศษ

นอส.หญิง พรนับพัน เมฆหมอก หลานสาว พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชาวจังหวัดเพชรบุรี พ่อทำงานกระทรวงสาธารณสุข แม่เป็นพยาบาล ย้ายมาเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพมหานคร มาใช้ชีวิตอยู่บ้านลุง แต่ไม่ได้ค่อยสัมผัสชีวิตตำรวจมากนัก เนื่องจากเวลาที่ลุงอยู่บ้านไม่ได้ทำตัวเป็นตำรวจ

ขณะที่ตัวเธอเองไม่เคยคิดมาเป็นตำรวจเหมือนกันตามความตั้งใจสมัยเด็ก ไม่อยากรับราชการ รู้สึกไม่ถูกกับแบบฟอร์ม หรือกรอบระเบียบทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้รักอิสระ อยากทำอย่างอื่นที่ได้ออกความคิด เมื่อเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได่ทำงานเขียนบทละครโทรทัศน์หลายเรื่องตามแบบที่ตัวเองอยากทำ

“เหมือนว่ามันใช้ชีวิตอิสระที่เราชอบ” หลานสาวรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนดังว่า แต่สุดท้ายผู้เป็นลุงรบเร้าให้เข้ารับราชการตำรวจ เพราะไม่มีใครใกล้ตัวเดินตามรอย ถึงตัดสินใจเข้าเป็นนายสิบตำรวจสังกัดกองตำรวจสื่อสาร ก่อนเข้าอบรบหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 45

“ความจริงตั้งแต่เรียนจบแล้ว คุณลุงมาถามว่า อยากเป็นตำรวจไหม ตอนแรกก็ไม่คิด พอเราใช้ชีวิตอิสระไปจนสุดในสิ่งที่เราอยากได้ แล้วรู้สึกว่า พอแล้ว ถึงหันกลับมาคิดอยากทำงานที่มั่นคง ตัดสินใจเป็นตำรวจ พอเข้ามาแล้วถามว่าเหมือนแบกนามสกุลเข้ามาด้วยหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่กดดัน แค่ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ทุกคนเห็นว่า เราเป็นเรา ทุกคนจำเราได้ก็ในฐานะที่ชื่อของเรามีนามสกุลนี้ แต่เวลาเรียกก็เรียกชื่อเรา คือ ตัวตนของเราอยู่แบบนี้ “

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่รั้วสามพราน เธอยอมรับว่า ไม่เคยคิดจะมีระเบียบเยอะมาก อาจเพราะไม่ได้สัมผัสมาก่อน แต่ไม่ได้กดดันอะไรมากมาย คิดว่า เรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป เป็นหน้าที่เป็นความรับผิดชอบของเราก็ทำไป ทำให้ดีที่สุด เป้าหมายในอนาคตก็คิดเช่นกันว่า ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  ถึงจะเจออุปสรรค ชีวิตคงไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องยอมรับ แค่นั้นเอง

“โรงเรียนนายร้อยตำรวจสอนให้พวกเรามีระเบียบวินัย ฝึกฝนร่างกาย ฝึกความอดทน มีโอกาสได้เห็นอะไรหลายอย่าง ในเรื่องความเป็นมนุษย์ ได้เห็นผู้คน ได้รู้ว่าผู้คนมีหลากหลายรูปแบบ บางคนถอดใจ บางคนโอเค บางคนมาโอเค สำหรับเราแค่ทำต่อไปให้จบเท่าที่ความสามารถของตัวเองจะทำได้” นอส.หญิง พรนับพันทิ้งท้าย

 

เราแบกนามสกุลคุณพ่อมาด้วยก็ต้องทำตัวให้ดี

นอส.หญิง นิชกานต์ เหรียญราชา ลูกสาว พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เรียนจบมัธยมต้นโรงเรียนราชินี ต่อมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความฝันอยากเป็นนักการทูต กำลังได้รับข้อเสนอไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ แต่ผู้พ่อแนะนำให้ลองมาเป็นตำรวจก่อน

เธอตัดสินใจมาเป็นตำรวจ ถามว่าอยากเป็นไหม เจ้าตัวยอมรับว่า ตอนแรกยังไม่ค่อยอยาก เพราะเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยยังหาแนวทางสิ่งที่ชอบให้กับตัวเองยังไม่เจอ ก่อนหน้าไปลองฝึกงานเกี่ยวกับตัวกลางระหว่างรัฐกับเอกชนในการประสานงานหอการค้า และที่สถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนงานเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ช แต่ยังไม่เจอตัวเอง

“สัมผัสชีวิตตำรวจมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเป็นตำรวจ เห็นคุณพ่อทำงานตั้งใจมากๆ รู้สึกว่าคุณพ่อได้ทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ยิ่งตอนที่เป็นผู้การปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของคุณพ่อ ถึงมองว่า อาชีพตำรวจน่าสนใจ มีอะไรหลายๆ อย่างที่ท้าทาย  พอเข้ามาเป็นตำรวจยิ่งชอบมากขึ้น”

ลูกสาวนายพลคนดังสอบสวนกลางบอกว่า เรียนจบหลักสูตรนานาชาติทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษา มีส่วนช่วยงานได้ไม่น้อย การฝึกอบรมเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรอาจดูเหมือนหนักสุดในชีวิตอาจด้วยความที่เคยสบายมาก่อน แต่ตอนหลังก็ปรับตัวด้วยได้ ความจริงก็เหมือนเป็นเกมๆ หนึ่ง เลยรู้สึกสนุก ทำให้ไม่เครียด

“ถามว่ากดดันหรือไม่ที่ถูกมองเป็นลูกนายพลตำรวจ มีเส้นสายหรือเปล่า คือเหมือนกับว่า เราแบกนามสกุลคุณพ่อมาด้วยก็ต้องทำตัวให้ดี ทำอะไรต้องทำเหมือนเขา ที่ผ่านมาคุณพ่อก็ไม่ได้ช่วยอะไร หนูตั้งใจทำเพื่อคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนๆ ในกลุ่มอาจจะมีบ้างที่กดดันเรา เพราะคิดว่า เป็นลูกท่านหลานเธอ ทำให้หนูต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ไม่ได้เข้ามาเพราะเส้นสาย”

ส่วนความคาดหวังในอนาคต นอส.หญิง นิชกานต์ว่า อยากขยับสายงานอำนวยการไปทำงานสอบสวนตามที่ผู้พ่อแนะนำว่า สนุก ทำให้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น รู้จักคนมากขึ้น  พ่อจะสอนเสมอว่าตำรวจจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องวางตัวให้ดี ยิ่งใส่เครื่องแบบต้องอยู่ในระเบียบ ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ทำเพื่อประชาชน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน อบายมุข หรือสิ่งที่ไม่ดี และอย่าทำตัวทุจริตต่อหน้าที่สำคัญสุด

 

 “มันเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิต พยายามมองบวก

  นอส.หญิง จอมจุฑา ศิลาอาสน์ ทายาทสาวสวยลูกคนเดียวของ พล.อ.วิโรจน์ ศิลาอาสน์ อดีตเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เกิดจังหวัดจันทบุรี ก่อนย้ายตามพ่อมาอยู่เมืองหลวง หลังจบมัธยมปลายโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นเข้าประกวด “เคแบงก์ อี-เกิร์ลส์” ของธนาคารกสิกรไทย เซ็นสัญญาทำงานอยู่ 3 ปี กลับไปช่วยทำสวนทุเรียนที่บ้านเกิดจันทบุรี ดูแลเรื่องระบบจัดเก็บผลไม้ของคนงาน ดูแลเรื่องลูกค้า

ระหว่างนั้น นายพลทหารผู้พ่อทาบทามให้ลองมาเป็นตำรวจ เธอเล่าว่า พ่อขอร้องมานานมากแล้วอยากให้รับราชการ  ตั้งแต่เรียนจบ แต่ปฏิเสธมาตลอด ยอมรับเป็นคนค่อนข้างอารมณ์ศิลปิน ไม่อยากรับราชการ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ชอบจับธุรกิจกับเพื่อนไปเรื่อง ตั้งแต่ ขายเสื้อผ้า ขายกระเป๋า หาเวย์ของตัวเอง พอโตขึ้นพ่อเริ่มพูดจริงจังมากขึ้นเป็นเหตุผลทำให้ตัดสินใจเป็นตำรวจ

อดีตสาวเคแบงก์ อี-เกิร์ลสบอกว่า ชอบตำรวจไหม ตอบแบบกลาง ๆ ไม่ได้ชอบ หรือไม่ชอบ  เพราะจริง ๆ ไม่เคยอยู่ในสังคมตำรวจ ตั้งแต่เล็กจนโตจะคุ้นเคยอยู่ในกรมทหารมากกว่า นิสัยออกจะแบบผู้ช่วยด้วยซ้ำ ภาพตำรวจในอดีตถ้าเอาตามตรงค่อนข้างลบจากประสบการณ์ที่เจอมา แต่ไม่ได้เหมารวมทั้งองค์กร เท่าที่เจอไม่ค่อยไปในทางที่ดีเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม เธอเริ่มต้นชีวิตนายสิบตำรวจสังกัดศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง ก่อนเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 45 เหมือนเพื่อนรุ่น 300 กว่าชีวิต ยอมรับว่า กดดันมาก เพราะเคยถามรุ่นพี่ที่รู้จักกันตอนแรกบอกชิลมาก ไม่มีใครพูดว่าจะหนักขนาดนั้น ร้องไห้กันระงม

“พอปรับตัวได้เราจะมองว่า มันเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิต พยายามมองบวก ต่อไปคงไม่ได้มาทำอะไรอย่างนี้อีกแล้ว เหมือนกลับมาเป็นชีวิตเด็กนักเรียนอีกครั้ง หลังจากที่เราเรียนจบไปนอนแล้ว ได้มาอยู่กับเพื่อน ๆ  มีกดดันบ้าง ด้วยความที่คุณพ่อเป็นข้าราชการ ถ้าเราทำไม่ดีมันจะมีผลกระทบไปถึงตระกูล เวลาเครียดมีโทรศัพท์ไประบายกับคุณแม่บ้าง อาจเพราะเราเป็นลูกสาวคนเดียว  คุณพ่อคุณแม่จะห่วง”

ชีวิตของเธอผ่านเรื่องราวหนักมาแล้ว แต่หลังเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรทำให้สนุกขึ้น แถมวาดฝันไว้ในอนาคตอยากทำงานสืบสวนหาข่าวกรองคล้ายสันติบาล อยากทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาษาต่างประเทศ แม้ที่ผ่านมายังไม่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตัวเองเท่าที่ควร “คิดถูกนะที่เข้ามาเป็นตำรวจ เพราะปกติเป็นคนที่ดื้อมาก ๆ แต่ว่า ไม่ได้เกเร อยากทำอะไรก็ทำ  พอมาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ฝึกฝนปรับตัวให้ต้องอยู่ในระเบียบมากขึ้น เป็นอะไรที่ไม่เหมือนกับตัวเอง”

“สารภาพเลยว่า ปกติทำไม่ได้แน่นอน แต่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องปรับตัว พยายามจะมีส่วนร่วมกับเพื่อนเยอะๆ ถึงแม้ว่าแบบจะเหนื่อยจนแทบไม่มีเวลานอน คือ ทุกคนจะเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะลูกใครก็แล้วแต่ ความจริงไม่ใช่ว่าจะต้องลูกท่านหลานเธอ ลูกชาวบ้านทั่วไปก็มีเยอะแยะที่เข้ามา เราต้องลบภาพที่มองเป็นรุ่นลูกเทพออกไป เพราะอย่างน้อย เราอยากเป็นตำรวจเพื่อทำให้ตำรวจดีขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงเลยตัดสินเข้ามาตรงนี้” นอส.หญิง จอมจุฑาว่า

 

 

 

RELATED ARTICLES