“ผมก็ไม่ได้เก่ง ความสำเร็จของคดีไม่ใช่มาจากใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นทีมงาน ต้องไม่มีเก็บ ไม่มียัก มีอะไรต้องพูดกัน”

รั้งหนึ่งหนุ่มน้อยหน้าเข้มชาวอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าจะมายึดอาชีพเป็นตำรวจ

แต่ระหว่างที่เรียนจบโรงเรียนอำนวยศิลป์รอสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดันเกิดนึกสนุกเมื่อเพื่อนชวนไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่มีโควต้านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แค่ 37 คน

ทำให้ชื่อของ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ติดทำเนียบตำนานนายตำรวจนักสืบมือปราบที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้

นายพลตำรวจหน้าหยกท่านนี้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 16 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี พล.ต.อ.อัยยรัช เวสะโกศล พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกูร พล.ต.ท.เขตต์ นิ่มสมบุญ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ และ พล.ต.ต.พีระพล สุนทรเกตุ เป็นต้น

เริ่มต้นรับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เพียง 3 ปี พล.ต.ต.พิชัย กุลละวณิชย์ จเรตำรวจได้ปฏิรูปกองบัญชาการศึกษาครั้งใหญ่ หลังพบว่านายตำรวจที่เข้าไปเป็น “แม่แบบ” ในสถาบันการศึกษาสีกากีมีปัญหาจึงมีโครงการคัดเลือกอดีตนักเรียนนายร้อยที่มีประวัติการเรียนดี ประพฤติดีเข้าไปทำหน้าที่แทน

มีส่วนทำให้อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 16 อย่าง “หมวดวรรณรัตน์” ถูกเกณฑ์เข้าไปทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดในโรงเรียนตำรวจภูธร 6 จังหวัดนครปฐมนานถึง 5 ปี

ก่อนโดนส่งไปฝึกหลักสูตรการรบในป่าและการปราบจลาจลที่รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ฝึกยุทธวิธีต่อต้านการก่อการร้ายหน่วยกรีนเบเร่ของสหรัฐอเมริกา พาลูกน้องออกลุยปราบขบวนการโจรก่อการร้ายบนเทือกเขาบูโด จังหวัดปัตตานี รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับ พ.ต.ท.ราชศักดิ์ จันทรัตน์ พ.ต.ต.สรรเพชร ธรรมาธิกุล ร.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ และ ร.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ อยู่ราว 6 เดือนถึงได้รับการพิจารณาโยกย้ายเข้ากรุงเป็นสารวัตรประจำกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ สมัย พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ ดำรงตำแหน่ง “ผู้กำกับการ”

จุดประกายความเป็นนักสืบตามแกะรอยสืบสวนคดีดังมากมาย จับตายคนร้ายที่ก่อกรรมทำเข็ญสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานับไม่ถ้วน

โดยเฉพาะ “มือปืนรับจ้าง”ที่รับงานฆ่าสุจริตชน

ปี 2519 ย้ายเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงนาน 3 ปี เลื่อนเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรี และรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้แล้วจึงขยับนั่งเก้าอี้ “ผู้กำกับสืบสวนใต้”

โยกเป็นผู้กำกับการนครบาล 9 ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ และรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการใช้วิชาสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงอยู่หลายปีกว่าผู้บังคับบัญชาจะเห็นคุณค่าเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี

ถัดมาอีกข้ามฝั่งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ ก่อนได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม

เปิดเกมพิชิตคดีฆาตกรรม 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันฑ์สาวไปสู่การจับกุมพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ พร้อมทั้งติดตามเพชรที่เหลือบางส่วนคืนให้แก่ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย

กระทั่งขึ้นผู้ช่วยและรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อยู่เบื้องหลังคลายปมคดีดังสะเทือนขวัญระดับประเทศ อาทิ คดีฆ่าแขวนคอ 5 ศพครอบครัวบุญทวี คดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และคดีระเบิดรถแม่ ส.ส.คมคาย พลบุตร

ส่งผลให้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แล้ว “คัมแบ็ก” เข้ากรุงไปนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายน 2543

ตลอดชีวิตราชการนานกว่า 30 ปี พล.ต.ท.วรรณรัตน์วนเวียนอยู่ในวงการนักสืบสะสมประสบการณ์จนถือได้ว่าเป็น “อาจารย์ใหญ่” ของงานสืบสวนสอบสวนที่ครบเครื่องอีกคนหนึ่ง มีลูกศิษย์ก้นกุฏิมือดีจำนวนไม่น้อย เช่น กฤษฎา พันธุ์คงชื่น วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ  วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ และปรีชา ธิมามนตรี เป็นต้น

พล.ต.ท.วรรณรัตน์บอกว่า “การเป็นนักสืบไม่มีใครเก่งคนเดียว ต้องทำงานกันเป็นทีม ทำคนเดียวไม่ได้ เชื่อผม มันไม่ได้เด็ดขาด  ที่ผ่านมาต้องช่วยกันคิดช่วย กันวิเคราะห์ อันไหนก่อนหลัง ดึงตำรวจที่เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ เข้า มานั่งคิด ไม่ถือเขา ถือเรา แลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งนายสิบ หรือจ่า ที่ชำนาญพื้นที่”

ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

“ผมก็ไม่ได้เก่ง ความสำเร็จของคดีไม่ใช่มาจากใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นทีมงาน ต้องไม่มีเก็บ ไม่มียัก มีอะไรต้องพูดกัน เมื่อเสร็จแล้วผมจะพาคนที่ทำงานทั้งสัญญาบัตรและประทวนเข้าไปหาผู้ใหญ่ เปิดโอกาสให้เขาได้พูด ได้ยิน ได้ฟังด้วยตัวเอง ทุกคนก็แฮปปี้”

นายพลตำรวจนักสืบชั้นครูแนะว่า ปัจจัยที่ทำให้งานสืบสวนประสบความสำเร็จอีกอย่างคือ ต้องครบเครื่องทุกรูปแบบ นักสืบต้องมีประสบการณ์ มีทีมงานที่แข็งแกร่ง วางเครือข่ายของสายลับและหน่วยข่าว ใช้วิทยาการให้สอดคล้องกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพราะมันบิดเบือนไม่ได้

 “หากอันไหนเดินมาผิดทาง ต้องหยุดเลย อย่าดันทุรัง ต่อไปข้างหน้าอาจจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ตรงนี้น่าเป็นห่วง”

ยกตัวอย่างคดีที่ประทับใจคือคดีฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันฑ์ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ อธิบายว่า เป็นคดีที่ครบเครื่อง ใช้ทั้งวิทยาการ นิติวิทยาศาสตร์ สายลับ ใช้ทุกขบวนอย่างละเอียดถี่ถ้วย มีทีมงานผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนช่วยกัน ตั้งแต่ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย พล.ต.ต.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง  พ.ต.อ.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ และ พ.ต.อ.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว ที่สมัยนั้นยังอยู่กองปราบปราม

หรือคดีลึกลับซับซ้อนที่ต้องใช้ความสามารถในคดีฆ่าแขวนคอ 5 ศพครอบครัวบุญทวี  ถือว่า ยากมาก มองเหมือนเป็นคดีฆ่าเพราะความเครียดแค้น มีคนอิทธิพลที่ชาวบ้านเชื่อว่าเกี่ยวข้อง แต่ตำรวจรู้ว่าไม่ใช่ ก็ต้องไม่ทำตามกระแส สุดท้ายประสบความสำเร็จเพราะได้งานมวลชนช่วยไปหาของกลาง กระทั่งตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี

แต่ที่ถือว่าหินสืบสวนยากสุด อดีตมือปราบคนดังระบุว่า เป็นคดีเกี่ยวกับการลอบวางระเบิด “ ใครว่าแน่ๆ เจอคดีเหล่านี้เข้าก็แทบหงายท้อง เพราะไม่ค่อยทิ้งร่องรอย โดยเฉพาะระเบิดที่ตั้งเวลาไว้  พยายานหลักฐานน้อยมาก ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ขบวนการก่อการร้ายยิ่งลำบาก”

พล.ต.ท.วรรณรัตน์ยังมีมุมมองถึงบรรดาตำรวจนักสืบยุคปัจจุบันด้วยว่า “ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจจริงใจกับงานสืบสวนน้อยไปหน่อย อนาคตมันจะขาดช่วง งานสืบสวนใช่ว่าใครจะทำได้ ความเจริญเติบโตในหน้าที่ของพวกเขาต้องมองด้วย พอมีเรื่องใหญ่โต หน้าสิ่วหน้าขวานต้องเรียกเขาไปทำ แต่ต่อไปพอมีคดีใหญ่จะหาใครไม่ได้”

“ผมพยายามปลูกฝังนายตำรวจรุ่นใหม่ในเวลาไปเป็นอาจารย์สอนในหลักสูตรสืบสวน แต่บางกองบัญชาการกลับไม่เห็นความสำคัญ ไม่เข้าใจ อ้างไม่มีกำลังจึงไม่ยอมส่งคนมาอบรม  บางคนเรียนจบไป ไม่ได้ใช่งาน ถูกแต่งตั้งไปทำหน้าที่อะไรไม่รู้ ผมว่าน่าเสียดาย เพราะเราถ่ายทอดวิชาการสืบสวนไว้เยอะมาก ได้ พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรีเป็นตัวหลัก”

ปรมาจารย์นักสืบของวงการตำรวจบอกอีกว่า  อาชีพของตำรวจคือการจับคนร้าย คนจะนึกถึงตำรวจเวลาเดือดร้อน แล้วตำรวจสนองตอบความต้องการความเดือดร้อนของชาวบ้านได้แค่ไหน

“หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงเข้าใจจะเป็นประโยชน์มหาศาล งานพวกนี้เป็นงานช่วยคน ช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อน ช่วยปกป้องไม่ให้ผู้ร้ายมันอาละวาด จับให้มันเข้าคุกเร็วขึ้น ความจริงผมเกษียณมาแล้วก็ไม่อยากให้ความเห็นอะไรมาก เดี๋ยวจะกระทบคนที่อยู่ แต้ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจ รู้หน้าที่มันก็จบ”

สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การแต่งตั้งโยกย้าย ต้องให้ความเป็นธรรม ตำรวจถ้าตั้งใจสูงขนาดไหนแล้วไม่ได้รับการเจริญเติบโตในหน้าที่ หลายปีผ่านไปก็เกิดท้อแท้ และหยุดทำงาน “ ผมก็เคยท้อ ตอนไม่ได้ขึ้นผู้การ คิดลาออกแล้วจะให้ลูกชายลาออกด้วย ให้ไปเรียนเมืองนอก ไม่ให้มีเยื่อใยเลย เพราะมันไม่เป็นธรรม แต่สมัยนั้นผู้ใหญ่ยังพอเห็นบ้าง  ถ้าเป็นชั้นผู้น้อยล่ะ ก็มีแต่เฉาลงไปจนหมดความยาก แต่งตั้งไม่เป็นธรรม ไม่อาศัยผลงาน ความรู้ ความสามารถ พวกพ้องมากเกินไปก็จะเสียหาย” พล.ต.ท.วรรณรัตน์ให้ความเห็น

ก่อนทิ้งท้ายฝากถึงผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบว่า สมัยก่อนกองสืบสวนเป็นหัวใจจริงๆ เพราะท้องที่ไม่มีกำลังและเวลาเพียงพอ  แต่การแต่งตั้งในระยะหลังเลือกเอาคนไม่มีภูมิในการสืบสวนเข้ามาทำหน้าที่ในกองสืบสวนส่งผลกระทบต่อการทำงาน และเกิดผลเสียต่อชาวบ้านโดยตรง

เป็นความห่วงใยถึงนักสืบรุ่นน้องของมือปราบหน้าหยกแห่งวงการสีกากี

วรรณรัตน์ คชรักษ์ !!!

 

RELATED ARTICLES