ไม่ได้ร้องขอให้รัก แต่ขอให้เข้าใจ

 

สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองยังคุกรุ่นต่อเนื่อง แม้จะมีเรื่องของวิกฤติวายร้ายไวรัสระบาดหนัก ไม่อาจหยุดพักหลักการแสดงความเห็นต่างอยู่ฟากตรงข้ามรัฐบาล

ตำรวจย่อมไม่พ้น “หนังหน้าไฟ” ต้องคอยดูแลรักษาความปลอดภัยไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย

กระทั่งเกิดอารมณ์กระทบกระทั่งบาดเจ็บหัวร้างข้างแตกกันเป็นประจำ

ไม่บ่อยนักจะปรากฏภาพ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเดินทางไปตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยเหล่าบรรดาตำรวจหญิงสังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

นายพลระดับรองแม่ทัพนครบาลเพิ่งไปมอบนโยบายให้แนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงผู้ปฏิบัติบริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน

พวกเธอคือ “กองร้อยน้ำหวาน” ที่เข้ามารับภารกิจควบคุมฝูงชน

“หากความรู้สึกนี้จะส่งต่อให้ใครอีกหลายคนในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งว่า ผู้หญิงอาจทำอะไรได้หลายบทบาท แต่สิ่งที่สำคัญกับบทบาทของความเป็นตำรวจหญิง คือ ดูแลประชาชนที่มาร่วมชุมนุมไม่ให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะสุภาพสตรี “ บางคนระบายความในใจ

ย้อนอดีตความเป็นมาของ กองทัพสีกากี ที่หันมาเริ่มให้ความสำคัญกับ “ตำรวจหญิง” ด้วยการเปิดหลักสูตรรับบุคคลภายนอกเข้าผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้าเป็นตำรวจชั้นประทวน สังกัด กองร้อยปราบจลาจลหญิง ขึ้นตรงกับกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเมื่อปี 2553

สมัย พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง นั่งเก้าอี้หัวหน้าคุมหน่วย

ตำรวจหญิงเหล่านี้ถูกฝึกอบรมให้เป็นกำลังสำคัญขององค์กรตำรวจในภารกิจหลากหลายรูปแบบไม่แพ้ตำรวจชาย

โดยเฉพาะหน่วยปราบจลาจลหญิง ภายใต้ชื่อที่ถูกขนานนามว่า “กองร้อยน้ำหวาน” รับงานปฏิบัติการควบคุมฝูงชนและอารักขารักษาความปลอดภัยบุคคลระดับ “วีไอพี”

บรรดาบัณฑิตสาวเกือบ 100 ชีวิตต้องเผชิญกับการฝึกอย่างหนักเพื่อให้ผ่าน “ด่านอรหันต์” ไปยืนสง่างามอย่างภาคภูมิ

เหตุผลมาจากภาวะความตึงเครียดในการชุมนุมที่หันมาใช้ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็กเป็นโล่มนุษย์ด่านหน้าระหว่างการประท้วงตลอดเวลาในสมัยนั้น เป็นเหตุให้ตำรวจถูกอ้างเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบ้าง อนาจารบ้าง

กองร้อยปราบจลาจลหญิงจำเป็นต้องมีมารับภารกิจกดดันระดับชาติ

ประเดิมรุ่นแรกมีผู้สมัครนับพัน ผ่านเกณฑ์คัดเลือกแค่ 95 คน

ระหว่างไปฝึกกับตำรวจพลร่มถูกตำรวจชายแซวว่า อ่อนปวกเปียกเหมือนน้ำหวาน ทำให้พวกเธอเกิดความรู้สึกฮึกเหิม ถือเป็น “ด่านแรก” ที่ต้องทดสอบความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา

 ลบคำสบประมาทจนกลายเป็นที่มาของ “กองร้อยน้ำหวาน”

ทว่าพวกเธอไม่ได้เป็นน้ำหวานอย่างที่เคยถูกปรามาสไว้

นับจากวันนั้นถึงปัจจุบันผ่านไป 11 ปีแล้ว มีการปรับเปลี่ยนถ่ายกองกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนหญิงจากรุ่นสู่รุ่น

พิสูจน์บทแข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย

ทุกคนล้วนเริ่มต้นจากศูนย์แล้วไปหล่อหลอมกันในศูนย์ฝึกในหลักสูตรต่าง ๆ ต้องมาละลายพฤติกรรมเหมือนกันหมด ใครไม่เคยลงน้ำบ่อ ไม่เคยโรยตัว ไม่เคยยิงปืน กินนอนในป่า ต้องได้ทำหมด

“ก่อนจะไปดูแลใครได้ ต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน”  ครูฝึกย้ำเสมอ

พวกรักสวยรักงาม เจอแดดบ่น ผมยาวสลวยต้องตัดผมสั้นมานั่งร้องไห้ ตัดผมทั้งน้ำตา บ่นทุกวัน พอหายเหนื่อยก็เริ่มคิดได้

วัตถุประสงค์สำคัญของการตั้ง กองร้อยปราบจลาจลหญิง ผู้บังคับบัญชาต่างเห็นตรงกันว่า ตำรวจหญิงจะดูนุ่มนวลกว่าตำรวจชาย ยิ่งเวลาไปสัมผัสกับคนที่แข็งกร้าวตามกลุ่มผู้ชุมนุมจะสามารถลดความกระด้าง ลดอารมณ์ของผู้ชุมนุมได้

สุดท้ายพวกเธอไม่ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาเพื่อปะทะหรือสลายฝูงชนคนไทยด้วยกันที่ต้องการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง

ถึงกระนั้นพวกเธออยากให้ผู้ชุมนุมทุกคนรับรู้เท่านั้น

“ไม่ได้ร้องขอให้รัก แต่ขอให้เข้าใจ”

 

RELATED ARTICLES