“เรื่องสั้นที่ผมเขียน หรือบทความ ผมว่า 60 เปอร์เซ็นต์มาจากชีวิตจริงที่โรงพักภูธร”

ดีตนายตำรวจนักเขียนเรื่องสั้นคนดังของวงการ

พ.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์ ที่หลายคนเป็นแฟนคลับติดตามผลงานกันงอมแงม แม้ปัจจุบันวัยล่วงเลยมา 78 ปีแล้ว แต่เจ้าตัวยังคงร่ายน้ำหมึกลงในคอลัมน์ “กาแฟโบราณ”ของหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์

ประวัติเป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไปต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 12 ทั้งที่ใจจริงอยากเป็นสถาปนิก แต่สอบเข้าสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ ชีวิตถึงพลิกผันมาเป็นตำรวจ

มีพรสวรรค์เรื่องขีดเขียนตั้งแต่เรียนอยู่ในรั้วชมพูฟ้า ถึงขนาดเขียนการ์ตูนส่งหนังสือกระดิ่งทองเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง “ผมว่ามันเป็นความชอบส่วนตัว ไม่รู้หรอกว่ามีพรสวรรค์ ได้เขียนการ์ตูน เขียนภาพ เขาใช้เขียนหมด ยกเว้นเรื่องสั้น เพราะผมเขียนเรื่องสั้นแนวความรักส่งไป เขาถามว่าเรารักใครแล้วหรือ คงจริงอย่างที่เขาว่า เพราะตอนนั้นผมไม่รู้จักความรัก” พ.ต.อ.มนัสย้อนอดีต

เขาได้อาจารย์ถาวร ชนะภัย นักเขียนเรื่องสั้นรางวัลโบว์สีฟ้าเป็นผู้ขัดเกลาฝีมือเริ่มต้นแนะนำให้ไปอ่านสงครามชีวิตของ “ศรีบูรพา” เพื่อให้รู้จักว่า รักคืออะไรแล้วค่อยถึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรัก แต่พอเข้าสู่รั้วสามพรานทำให้ห่างจากการเขียนหนังสือไปโดยปริยาย

บรรจุลงเป็นรองสารวัตรโรงพักบางเขนแล้วย้ายไปอยู่มีนบุรี และหัวหมาก กระทั่งเผชิญชะตากรรมถูกย้ายออกนอกหน่วยไปอยู่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาได้กลับมาจับปากกาเขียนหนังสืออีกครั้งกลายเป็นก้าวเริ่มต้นสู่ก้าวการเป็นเจ้าพ่อเรื่องสั้นในเวลาต่อมา

พ.ต.อ.มนัสเล่าว่า ทำงานไม่เก่ง นายไม่ชอบ โดนตำรวจกล่าวหาแล้วไปฟ้องนาย และนายเชื่อ แค่เรื่องไปจับเหล้าเถื่อนของผู้หญิงแก่ที่นอนเฝ้าคนคลอดลูกในกระต๊อบ สมัยก่อนจะใช้เหล้าขาวดื่มเป็นยาตอนอยู่ไฟ เราไม่จับดำเนินคดีเลยมีคนเอาไปฟ้องนายทำให้ถูกย้าย วิเชียร แสงแก้ว เป็นผู้กำกับมาบอกล่วงหน้า พอมาภูธรก็เขียนจดหมายถึงนายขอความเป็นธรรม เพราะเราไม่ผิด ผู้กองที่ระโนดยังเตือนว่า อย่าส่งเลยเดี๋ยวก็ถูกย้ายอีก ทะเลาะกับนายไม่ดี แต่เราไม่สน

ปรากฏมีเพื่อนร่วมรุ่นไปเล่าความจริง หมวดมนัสถึงย้ายกลับเป็นรองสารวัตรกองปราบปราม วิเชียร แสงแก้ว ดันตามเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม แต่ไม่มีการพูดถึงเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นอีกเลย ทำไปทำมาเขายังเป็นลูกน้องมือดีของผู้บังคับการที่ไว้วางใจใช้งาน อย่างไรก็ตาม การย้ายไปอยู่ภูธรคราวนั้นมีส่วนให้เขาได้ประสบการณ์มากมาย

“เรื่องสั้นที่ผมเขียน หรือบทความ ผมว่า 60 เปอร์เซ็นต์มาจากชีวิตจริงที่โรงพักภูธร” เจ้าตัวทบทวนความหลังที่เอามาโลดแล่นเป็นตัวหนังสือในเรื่องสั้นกว่า 100 เรื่องของตัวเองจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ผิดกับอาชีพรับราชการตำรวจที่ไม่มีโอกาสรุ่งโรจน์เป็นถึงนายพล เกษียณอายุราชการแค่ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร

อดีตนายตำรวจที่วางปืนมาจับปากกาเล่าว่า ตอนเป็นรองผู้กำกับการข่าวของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไปช่วยราชการสำนักงานพจน์ บุณยะจินดา สมัยนั้นเป็นผู้บังคับการกองสารนิเทศ กรมตำรวจ นายคงหมั่นไส้เลยย้ายไปเป็นรองผู้กำกับการสุนัขตำรวจ ชีวิตจึงเลิกเขียนหนังสือ ไม่ยุ่งอีกเลย แค่เขาไปเซ็นชื่อ โชคดีอยู่ใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน ถือโอกาสขับรถไปเที่ยวหาเพื่อนเก่าหลาย ๆ เขาก็ยุให้กลับมาเขียนหนังสืออีก เพราะตอนนั้นชื่อกำลังดังพอสมควร

“ก่อนหน้าผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นจริงจังตอนอยู่กองปราบปราม เขียนเรื่องราวของตำรวจออกแนวตลก แฮปปี้เอนดิ้งส่งหนังสือชาวกรุง เขียนเรื่องแรกลงเลย ส่งไปก็ได้ลงทุกครั้ง เขาก็ให้เขียนส่งไปตลอด ได้ค่าเรื่องประมาณ 200 บาท กระทั้งมีชื่อติดในทำเนียบ รุ่นเดียวกับวสิษฐ เดชกุญชร ต่อมาลงสยามรัฐ ที่นับว่าเป็นสนามนักเขียน ถือว่าสอบผ่าน พูดแล้วเหมือนโม้ ทั้ง 2 แห่งลงเรื่องของผมทันทีไม่เคยปฏิเสธ ไม่เคยโยนลงถังขยะ เหมือนโชคดีที่มีคนชอบ พี่ปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ชอบ พี่นพพร บุณยฤทธิ์ บรรณาธิการนิตยสารชาวกรุงก็ชอบ”

ผลงานของมนัส สัตยารักษ์ รวบรวมเป็นเรื่องสั้นออกพ็อกเกตบุ๊ก 4-5 เล่มได้อาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นที่ปรึกษา เขาบอกถึงแรงบันดาลใจว่า บางทีเราอ่านเรื่องของคนอื่นที่เขียนเก่งๆ โดยเฉพาะของฝรั่ง ที่ดังๆ เราก็ทึ่งว่า เขียนมาได้อย่างไร รู้สึกประหลาดใจ ทว่าอีกมุมคิดว่า เราน่าจะเขียนได้แบบนี้บ้าง ด้วยความที่เป็นนักเขียน บางทีเราไปอ่านบางเรื่องที่ตีพิมพ์ ถ้าเราเขียนเอง เราอาจจะเขียนได้ดีกว่านี้ มองว่าเขียนได้แค่นี้เองหรือ เราก็จะลองเขียนดู อาจจะบังเอิญ เพราะบางเรื่อง นานๆ ไป อ่านแล้วทึ่งเลยว่า เราเก่ง แต่บางเรื่องก็ไม่ค่อยชอบ

พ.ต.อ.มนัสยอมรับว่า ปัจจุบันมีนักเขียนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักมนัส สัตยารักษ์แล้ว ขนาดสมัยก่อนเพื่อนบางคนยังไม่เคยอ่าน บางคนไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า เราเขียนหนังสือ เคยดัง แต่มันก็หายดังแล้ว นอกจากแฟนจริงๆ ถึงจะตามผลงาน มีอยู่ปีเคยไปงานชุมนุมนักเขียน เดินไปแทบไม่รู้จักใคร และไม่มีใครรู้จักเรา เจอรู้จักกันแค่คนเดียว คือ สันติ เศวตวิมล เท่ากับว่า เราไม่ดังจริง ในวงการนักเขียน คนที่รู้จักเรา คือ กลุ่มเล็กๆ พวกชาวกรุง รุ่นเก่าๆ ตำรวจรุ่นก่อนจะรู้

“ไปงานวันนั้นผมไม่รู้จักใคร ก็ไม่กล้าไปอีก ตอนเจอสันติก็ส่งเหล้ามา ผมก็บ่นว่า ไม่รู้จักใคร สันติบอกว่า รู้จักเขาคนเดียวพอแล้ว พอสันติกลับ ผมก็กลับ ปีที่พี่ปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ตาย ใครๆก็ไป ผมก็ไม่กล้าไปคนเดียว เลยชวนช่วง มูลพินิจไปด้วย ช่วงกำลังดัง ใครเจอก็ยกมือไหว้ ช่วงมันก็เหนียมๆ แล้วมาแนะนำผม ซึ่งก็ไม่มีใครรู้จัก ผมเลยบอกช่วงว่า ทีหลังอย่าแนะนำนะ” นักเขียนเรื่องสั้นรุ่นลายครามหัวเราะ

เจ้าของผลงานรวมเรื่องปืนพูดได้ไปจนถึงกระสุนนัดที่ 4 ยังมีแนวคิดว่า อยากรวบรวมเรื่องสั้นที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน เป็นเรื่องราวไม่เกี่ยวกับตำรวจเขียนทิ้งไว้นานแล้วสามารถทำเป็นพ็อกเกตบุ๊กได้อีก 2 เล่ม แต่ยังลังเล เพราะได้ยินมาว่า เรื่องสั้นตายแล้ว ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า ถามเพื่อนๆ ที่เขาพิมพ์กัน ก็ยืนยันว่า ขายได้ เช่น ณรงค์ จันทร์เรือง แต่ก็ไม่กล้าเสนอขาย กลัวเขาปฏิเสธ กะว่าจะพิมพ์เองให้เขาช่วยขาย ไม่อยากให้เขาขาดทุน สมัยนี้นักเขียนพิมพ์เองหลายคน

การเป็นนักเขียน พ.ต.อ.มนัสว่า เหมือนผ่อนคลาย เอางานมาระบายใส่ตัวหนังสือ บ่อยครั้งมีเรื่อง ทะเลาะกับนาย เช่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2416 พวกเราเหนื่อย เพราะไม่ชอบรัฐบาล ประชาชนชนะ ดันเอา ปรากฏว่า เอาพล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร โยกมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ “ผมเขียนลงในสยามรัฐรายวัน ใช้ชื่อ อ.ตร.อันตราย เป็นข้อเขียนที่ผมใส่ยศด้วย เพราะผิดหวังมาก เราเหนื่อยแทบตายกว่าจะล่มเผด็จการทหาร กลายเป็นทหารออกมาคุมตำรวจ ผมก็เขียนไป เหมือนกับเป็นแถลงการณ์ ทำนองว่า ใครจะไปเห็นด้วย แบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยยังไง แบกทหารเป็นอธิบดีกรมตำรวจ พอเขียนเสร็จได้ลง เขาก็ฮือฮา เพราะว่าผมเป็นตำรวจและใส่ยศด้วย”

 “ตอนนั้นอยู่กองปราบ ผู้การมโน สมิตะพินทุ ขอร้องอย่าเขียน ผมก็บอกว่า เขียนไปแล้ว และยังจะเขียนอีก คือไม่เห็นด้วยที่เอาทหารมาเป็นอธิบดี ด้วยหลักการเหตุการณ์ 14 ตุลาตายไปตั้งเท่าไหร่ เราผิดหวัง ผมโดนหาว่าบ้าที่วิจารณ์อธิบดี แต่อธิบดีประจวบ ไม่ตอบโต้อะไร ตอนนั้นผมเหมือนบ้าดีเดือด ไม่อยากเป็นตำรวจ แกเรียกผมไปคุย พยายามอธิบายว่า แกไม่ได้อยากมา ไม่ได้ดิ้นรนเอง คล้ายๆ ว่า ประชาชนที่ชนะให้แกมา เพราะแกกับถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร คนละขั้วกัน” อดีตตำรวจปากกาคมเล่าวีรกรรม

หลังได้รับการชี้แจง เขายืนยันว่า ไม่ได้เสียใจที่เขียน เพราะเขียนไปตามข้อเท็จจริง ก็เข้าใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ผู้การมโนถึงกับน้อยใจ เพราะแกรักเรา แกก็บอกว่าจะเขียนก็เขียน แต่อย่าใส่ยศได้ไหม เราไม่ให้ ตอบปฏิเสธไป รู้สึกเสียใจจนทุกวันนี้ ถ้ารับปากคงหมดเรื่อง ถึงบอกว่าสมัยนั้นบ้าดีเดือด ถึงไม่ได้ย้ายไปไหน เพื่อนเป็นสารวัตรกันหมด เราอกหักตลอด ถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อหาให้เกิดความแตกสามัคคีเสนอให้ออกจากราชการ แต่เรื่องยังไม่เสร็จ สุดท้ายเงินเดือนไม่ขึ้นมา 3 ปี ถูกดองสมัยพจน์ เภกะนันทน์ เป็นอธิบดี เฉลิม อยู่บำรุงชวนไปลงเล่นการเมือง แต่ใจเราไม่สู้ บุคลิกเราไม่ได้ด้วย

ผ่านมาหลายปีไปเจอประจวบ สุนทรางกูร ที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่างการกระทรวงมหาดไทยในงานเลี้ยงหนังสือพิมพ์ประชาชาติ พ.ต.อ.มนัสเล่าว่า ท่านก็ใจนักเลงมาถามว่า ได้ข่าวเงินเดือนไม่ขึ้น 3 ปีแล้วหรือ เราก็ครับ แกกวักมือเรียกท่านวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจให้ตรวจสอบ ท่านวิฑูรย์ยืนยันว่า คืนให้ย้อนหลังแล้ว เขียนโน้ตเอาไว้ว่าให้อภัยเรื่องนี้ให้ตั้งแต่ต้นแล้วจึงถือว่าไม่มีความผิด ย้ำด้วยว่า นักข่าวบางกอกโพสต์มาขอยืนบนเก้าอี้แล้วถ่ายต้นฉบับไว้ลองให้ไปหาดู แต่ในสำนวนไม่มี คิดดูว่า ขนาดตำรวจด้วยกันยังแกล้ง ต้องรอกระทั่งยุคอธิบดีศรีสุข มหินทรเทพ เรื่องนี้ถึงได้จบรวม 3 ปี ใครต่อใครไปไหนหมดแล้ว

“แต่ตอนนั้นไม่เสียใจเลย มันเหมือนว่า ผมไม่อยากเป็นตำรวจแล้ว มันไม่เหมาะ เป็นนักเขียนดีกว่า”ตำนานนายตำรวจนักเขียนเรื่องสั้นทิ้งท้าย

 

 

 

RELATED ARTICLES