“ไอ้คำว่าวิสามัญฆาตกรรม ถ้าคนไทยรู้จักยอมรับความจริง มันเป็นอีกวิธีหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม”

รรดาทำเนียบมือปราบของวงการสีกากี ถ้าขาด พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจคงขาดอรรถรส

ตำรวจพันธุ์บู๊ระดับตำนานท่านนี้เป็นชาวราชบุรี วัยเด็กเคยอยากเป็นทหารตามพี่เขย แต่พอไปเที่ยวเบตง เห็นตำรวจก็มีรถถังไว้ต่อสู้โจรจีนเลยเปลี่ยนความคิด แถมมีอยู่วันหนึ่งขโมยขึ้นบ้าน เหมือนวิญญาณตำรวจเข้าสิง สล้างคว้าซ้อมวิ่งไล่ตามพร้อมตะโกนบอกสามล้อที่มาจอดในบ้านหลายคันขี่ไล่ไปจับได้ก็เลยเกิดความสนุกจุดประกายต้องเป็นตำรวจ

สมัยนั้นการเป็นตำรวจไม่ง่าย เขาต้องใช้เวลานาน 3 ปี ถึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 14 แต่ก่อนหน้าเรียนอยู่ไพศาลศิลป์ และระหว่างที่ยังเข้าตำรวจไม่ได้ก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นเหตุให้มีเพื่อนฝูงมากมายหลายกลุ่ม ก่อนฉายแววเป็นนักสืบมือปราบตั้งแต่ฝึกงานอยู่โรงพักพระราชวัง

พล.ต.อ.สล้างย้อนลำดับความเป็นมาว่า มีคดีใหญ่ครึกโครมเมื่อนายทหารคนสนิทจอมพลประภาส จารุเสถียร ไปก่อคดียิงเศรษฐีคนหนึ่งในร้านไอสกรีมคิงส์บูรพา ย่านวังบูรพา คดีนี้มีพยานหลายคนเห็น คุณสุมน สุมนเตมีย์ นักกีฬาเหรียญทองยิงปืนทีมชาติที่เสาร์-อาทิตย์มักไปเล่นปืนด้วยกันโทรศัพท์มาบอกข่าว “ผมเป็นแค่นักเรียนนายร้อยฝึกงานไปรายงานผู้บังคับบัญชาว่ารู้ตัวคนร้ายกลับไม่มีใครเชื่อ พอกลับไปที่บ้านก็เอารูปหมู่ผู้ต้องสงสัยตอนเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองไปขยายให้แม่ค้า พนักงานเสิร์ฟในร้านยืนยันว่าใช่ ผมเลยจับกุมคดีใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก และวันที่ขออนุมัติจับก็เพิ่งติดร้อยตรีได้วันเดียว”

ปรากฏว่าผลสอบได้ที่ไม่ดีอยู่ 5 อันดับสุดท้ายต้องไปเริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวดตระเวนชายแดนที่อำเภอฝาง เชียงใหม่ ใช้เวลา 11 เดือนไปกับการฝึกหลักสูตรพลร่มและอาวุธพิเศษ รวมทั้งหลักสูตรสุเทพ คือการโรยตัว การรบหลังแนวข้าศึก อยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยของกองพล 93 เป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่จะมีการสร้างตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯประทับแรม กำลังของตำรวจตระเวนชายแดนต้องทำหน้าที่เป็นรั้วนอนถวายอารักขา สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงทราบว่ามีตำรวจเป็นรั้ว ทรงเสด็จนำอาหารไปพระราชทานให้ และทรงรับสั่งว่า เพิ่งรู้มีตำรวจแต่งตัวเหมือนทหารอีกหน่วยหนึ่ง

วันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯยอดดอยปุย ที่อยู่สูงกว่าพระตำหนักภูพิงค์ ทรงขับรถพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ปรากฏว่า รถพระที่นั่งติดหล่ม รถในขบวนอีก 23 คันก็ติดหมด พล.ต.อ.สล้างเล่าว่า ตัวเองยศน้อยสุดขับรถตามหลังขบวน ต้องหาทางหนึ่งทางใดเพื่อจะช่วยพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จพระราชดำเนินต่อได้เลยวิ่งข้ามเขาไปอีกด้านเพื่อสำรวจเสร็จทางแล้วตัดสินใจขับรถตัดเขาให้ตกลงอีกด้าน โชคดีที่ไม่ตกเหวแล้วถอยหลังไปรับ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ต่อถึงยอดดอยปุยได้คันเดียว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ เจ้าฟ้าทุกพระองค์ และหม่อมหลวงบัว กิตติยากร

หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็แปรผัน สมเด็จพระนางเจ้าฯรับสั่งให้ไปถวายความอารักขา และช่วยฝึกให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมารเข้มแข็งเหมือนตำรวจตระเวนชายแดน และถวายอารักขาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามคำสั่งพิเศษของกรมตำรวจอยู่หลายปี เวลาว่างจากภารกิจถวายอารักขาก็ไปเป็นครูฝึกการรบแบบกองโจรไปทำการรบในประเทศลาว ต่อมาลาวถูกปฏิวัติ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้ทีมสุเทพ ไปช่วยตัวนายพลภูมี หน่อสวรรค์

“ทีมที่อยู่ใกล้ที่สุด คือทีมที่ต้องถวายอารักขา ผมถูกส่งไปช่วยเหลือ แต่การที่เราเป็นครูฝึกรบแบบกองโจร วิธีฝึกรบ คือการเอาชนะโดยไม่ต้องรบ ก็ได้ประสานงานกับ พล.ต.ท.สมควร หริกุล ขณะนั้นเป็น ร.ต.อ. ตกลงกับ พล.ต.ท.ประเนตร ฤทธิ์ฤาชัย ผู้บัญชาการตำรวจตระวเนชายแดน ให้ทหารที่คุมตัวนายพลภูมีคุ้มกันตัวนายพลออกมาเลยด้วยการใช้เงินจ้าง มีทางเราขึ้นเฮลิคอปเตอร์คุ้มกันประสานการปฏิบัติกับพลร่มที่อยู่ในเวียงจันทร์ จนช่วยนายพลภูมีกับครอบครัวและคนสนิทอีก 13 ชีวิตออกมาได้” พล.ต.อ.สล้างยังจำห้วงเวลานั้นได้ติดตา

ปี 2501 ลาวต่อรองให้รัฐบาลไทยนำนายพลภูมีไปอยู่ไกลแนวชายแดนประเทศ นายพลทหารฝ่ายขวาเมืองลาวต้องถูกย้ายไปใช้ชีวิตอยู่จังหวัดสงขลา กรมตำรวจเลยมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สล้างย้ายตามไปเป็นผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ ไปใช้ชีวิตตำรวจเต็มตัวออกแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บ้านวังพาที่ก่อนหน้าเสียกำลังตำรวจไปจำนวนไม่น้อย รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร บอกต้องใช้กำลังไปรบครั้งใหญ่

 “ผมค้านว่า ผมเป็นครูฝึกการรบแบบกองโจร การขี่ช้างจับตั๊กแตนยังไงก็แพ้ แล้วยังเสียหน้า สุดท้ายผมเสนอไม่เพิ่มกำลัง แต่ให้หาทางตัดถนนให้มากที่สุด บังเอิญเจ้ากรมทหารช่างเป็นพี่เขย มีรถทหารช่างจอดอยู่เยอะแยะ ขอช่วยเอารถไปตัดถนนเข้าไปยังวังพาหลายสาย ไปเชิญคนมาเลเซียเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ ผู้ก่อการร้ายได้เงินจากการเข้าเป็นผู้จัดการเหมืองบ้าง ทำงานในเหมืองบ้าง ก่อนสลายตัวหายไปเอง นี่คือการเอาชนะโดยไม่ต้องรบ”

อยู่ประจำหาดใหญ่หลายปีเลื่อนตำแหน่งเป็นถึงผู้บังคับกอง ก่อนย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปรามแล้วเลื่อนเป็นผู้กำกับการ 3 กองปราบปราม เป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม ถึงกลับไปติดยศนายพลตำแหน่งผู้บังคับการเขต12 ที่ยะลา รับผิดชอบ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ หลังกรมตำรวจตั้ง ฉก.ตร.23 มีนายพล 24 คน ใช้เงินงบประมาณปีละ 94 ล้านบาทเข้าไปดำเนินการแล้วยังไม่ได้ผล

ตอนนั้น อนันต์ อนันตกูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เรียก พล.ต.อ.สล้าง ไปหารือเสนอให้ไปเป็นผู้การเขต 12 หลังจากตั้ง ฉก.มาแล้ว 3 ปี “ผมบอกว่า ผมทำงานหลายคนไม่เป็น เพราะ 24 คนที่อยู่เป็นนายผมหมดทุกคน ผมไม่รู้จะไปสั่งใคร ให้ผมรับผิดรับชอบคนเดียวได้หรือไม่ ผู้ใหญ่ตกลงว่าได้ ผมก็ไป ไปถึงคำสั่งออกวันที่ 6 ตุลา วันที่ 13 ตุลาเป็นวันตำรวจ ก่อนไปได้ประสานตำรวจพลร่มแบบส่วนตัว จัดงานสวนสนามที่มีคนดูมากกว่า 3 หมื่นคน เชิญตำรวจมาเลเซีย 300 คน ทั้งกรมตำรวจ และโรงพักชายแดนทั้งหมด ฝนตกก็ไม่ถอย คนมาดูการแสดง การขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผน การโรยตัวจาก ฮ.แล้วปฏิบัติการได้ทันที ก่อนสวนสนามของตำรวจทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้”

“ผมเรียนถึงสภาพปัญหากับท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค น้าของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า เงินทุนที่สนับสนุนผู้ก่อการร้ายในครั้งนั้นมาจากลิเบียประเทศเดียว ถ้าได้คุณหญิงแสงดาว สยามวาลา ที่ชอบพอเป็นการส่วนตัวอยู่กับมูอัมมาร์ กัดดาฟี มาช่วยเราเชื่อว่าเหตุการณ์จะเบาบาง ส่วนอีกด้านหนึ่งผมให้ดำเนินการทางจิตวิทยา และการปราบอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้ปราบสะเปะสะปะ ตอนนั้นมีคนดังชื่อมะ สุไหงบาตู ผมจัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 3 หมวดตามล่า 1 ใน 3 หมวดมีจ่าเพียร สมเพียร เอกสมญาอยู่ด้วย” อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเล่าถึงแนวคิดดับไฟใต้ในยุคนั้น

 “ผมให้ไปบอกญาติพี่น้องมันให้รู้หมดว่า ผู้การเป็นคนใจดี แต่ถ้าใครทำร้ายบ้านเมืองเขาจะใจดำยังไงก็ได้ ถ้ามะหนีไปอยู่มาเลเซีย จะฆ่าลูกฆ่าเมีย ปรากฏว่า เหตุการณ์เริ่มดีขึ้น มีการเชิญโต๊ะอิหม่ามมาดำเนินการทางการเมือง ส่วนผมจะเรียกตัวร้าย ๆ มาหารือเป็นการส่วนตัวพร้อมแจกหนังสือรับรองว่าช่วยเหลือทางการ อนุญาตให้พกปืนได้ แต่จริง ๆก็เพื่อที่เราจะรู้ว่าตัวร้ายทั้งหมดมีใครบ้าง เราก็ต้องยอมเสี่ยง เพราะถึงอย่างไรเขาก็แอบพกอยู่แล้ว ได้ชื่อมา ถ้าจะปราบมันก็ง่ายขึ้น แต่เมื่อจะชนะโดยไม่ต้องรบ ก็ไม่ต้องปราบ พอกัดดาฟีหยุดเงิน ทางนี้ก็เป็นมิตรกัน 14 เดือนไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเลย”

แม้ไฟใต้จะเบาบางลง แต่นายพลมือปราบกลับโดนมรสุมระหว่างเข้าไปคลี่คลายคดีสังหารโกโหลน พ่อค้าแร่เถื่อนที่ถูกยิงตายพร้อมปรีดี สุจริตกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต มีโสภณ กิจประสาน ตกเป็นจำเลย และร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.บุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการกองปราบปรามกล่าวหา ทีมงาน พล.ต.อ.สล้างจับคนร้ายผิดตัว เขาถึงถูกย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา ส่วนลูกน้องอีก 44 คนโดนเด้งออกนอกพื้นที่

 “ผมไม่ยอม ถ้าไปช่วยคนร้ายที่ฆ่าหัวหน้าศาลให้นอนตายกลางถนน จะมีอำนาจแค่ไหนผมก็ไม่ยอม เลยมีปัญหานักการเมือง คดีนี้ศาลตัดสินประหารชีวิตทั้งหมด ผมภูมิใจนะ ถ้าเราไม่จัดการปล่อยให้มันยิงผู้หลักผู้ใหญ่ระดับผู้พิพากษาได้ อีกหน่อยมันจะยิงนายกรัฐมนตรีก็ได้ เวลานี้เราปล่อยปละละเลยกันมาก ตำรวจสมัยก่อนไม่มี ตำรวจด้วยกันถูกยิงยังยอมกันไมได้ เพราะไอ้คำว่าวิสามัญฆาตกรรม ถ้าคนไทยรู้จักยอมรับความจริง มันเป็นอีกวิธีหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมเราใช้ไม่ได้ คนร้ายมีเงินจ้างทนายดี ๆ ก็หลุดหมด”

ตำนานมือปราบกรมตำรวจยกตัวอย่างคดียาเสพติดที่รัฐบาลต่างขั้วจะรื้อฟื้นคดีฆ่าตัดตอนโดยใช้งบประมาณ 40 ล้านบาทเพื่อเล่นงานตำรวจที่ปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของอีกรัฐบาลหนึ่ง ทั้งที่ตำรวจกับรัฐบาลตอนนั้นคิดตรงกันว่า จะปล่อยให้หมาบ้าเป็นหมื่น ๆ ตัววิ่งพล่านอยู่ในเมืองได้อย่างไร คนที่เป็นตัวการสถานเดียวเท่านั้นต้องตาย เพราะดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ คนที่เสพต้องเอามารักษา วิสามัญฆาตกรรมก็มีกันทั่วโลก

“มีคนซักถามผมเรื่องโจ ด่านช้าง อยากให้ตำรวจรุ่นน้อง ๆ รู้ไว้ด้วยว่า ระหว่างที่จับตัวประกันไว้ ผมส่องกล้องดูเห็นมันปล่อยสายไฟลงใต้ถุนบ้าน ผมให้คนเข้าไปดูว่าปล่อยไว้ทำไม สายที่แอบเอาอาหารเข้าไปให้กลับมาบอกว่า ถ้าตำรวจเข้าไปพวกมันจะปล่อยไฟดูดตายทั้งหมด ผมยังไม่ผลีผลาม เพราะผมไม่เคยทำให้ตัวประกันตาย ผมก็ได้รับรายงานว่า โจ ด่านช้าง ถูกจับคดียาเสพติด แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 6 คดี ศาลยกฟ้อง 1 คดี แล้วเราจะพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร เราก็ต้องนับ 1 ถึง 1,000 ถ้าปล่อยไอ้หมาบ้าตัวนี้ไป ลูกเล็กเด็กแดงหลายหมื่นคนก็ต้องเดือดร้อน เพราะมันมีเครือข่ายใหญ่มาก เมื่อคิดได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ผมเชื่ออย่างนั้น” พล.ต.อ.สล้างมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจกับเหตุการณ์วันนั้นว่าถูกต้อง

“มีหนังสือที่ญี่ปุ่นเขียนไว้ว่า ผู้พิพากษาญี่ปุ่นคนหนึ่งมองยังไงก็จำคุกผู้ต้องหากระทำผิดไม่ได้จากการประมวลพยานหลักฐานที่พิจารณา กลางคืนก่อนวันพิพากษาได้ทำตัวเป็นนินจาออกไปฆ่าจำเลยของตัวเอง เพราะรู้ว่าตัดสินเอาผิดไม่ลง เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ผมถึงบอกว่า ตำรวจที่ทำวิสามัญฆาตกรรมเขาไม่เคยได้อะไรเลย ทำคดีก็ไม่มีใครช่วย เขาเสี่ยงด้วยตัวเอง ถ้าเขาไม่สงสารผู้เสียหาย ถ้าเขาไม่สงสารประเทศชาติ ไม่รักษาความยุติธรรมการเอาคนเข้าคุกคนหนึ่งไม่ได้ง่าย การวิสามัญฯก็ไม่ได้เรื่องง่าย”

สมัยอยู่หาดใหญ่ พล.ต.อ.สร้างบอกว่า ทำไมตัวเขาอยู่ได้ถึง 12 ปี เพราะคนหาดใหญ่พูดว่า ไม่มีโจร ก่อนหน้าคนทั้งเมืองมีแต่ความหวาดผวา คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์แล้วถ่ายอุจจาระไว้ มีไม้คมแฝกวางไว้กะว่าถ้าเจ้าของบ้านตื่นมาเจอก็ตีให้ตาย เราก็บอกลูกน้องช่วยกู้ขวัญชาวบ้านหน่อย จู่ ๆ ไม่รู้เป็นยังไงคนที่ขึ้นบ้านก็ถูกแขวนคอตายในเมืองให้คนเห็นทั้งหมด มันก็ทำให้เหตุการณ์เบาบาง เราก็อยู่ได้ เพราะชาวบ้านพูดกันว่า เมืองหาดใหญ่ไม่มีโจร

มือปราบมากประสบการณ์ยังเล่าถึงคดีเรียกค่าไถ่ที่ตัวเองคลี่คลายมาอย่างโชกโชน และไม่สูญเสียชีวิตตัวประกันแม้แต่รายเดียว โดยเฉพาะคดีดังระดับประเทศเมื่อคนร้ายจับนงนุช ตันสัจจา นักธุรกิจสาวใหญ่ไปเรียกค่าไถ่ 3 ล้านบาท ญาติของเหยื่อไม่ไว้วางใจตำรวจ แต่ให้เสี่ยจิว จุมพล สุขภารังษี ผู้กว้างขวางภาคตะวันออกดำเนินการ “ผมเรียกกำพล ตันสัจจา ลูกชายนงนุชมาพบแล้วบอกว่า ถ้าไม่ไว้ใจพี่ไม่เป็นไร แต่ขอแนะนำ ถ้าค่าของคุณแม่มีมากกว่า 3 ล้าน คุณเอาเงินไปไถ่เขาเลย เพราะการที่ให้ไปจ่ายในไร่อ้อยกลางทุ่ง มันเสี่ยง แต่พี่รู้ว่ากลุ่มคนร้ายเป็นใคร โต้งจ่ายไปก่อน ถ้าเชื่อพี่”

“คุณกำพลเลยขับรถไปจ่ายด้วยตัวเอง ทุ่มหนึ่งคุณแม่เขาก็ถูกปล่อยตัว รุ่งขึ้นเราก็ไปค้นบ้านผู้ต้องสงสัยเจอจดหมายอยู่นครพนม มีเฉลิม อยู่บำรุง กับตำรวจมือดีนั่งรถไปกันคันเดียว ตะครุบตัวได้ คนร้ายเป็นหัวหน้าไทยการ์ด คุมคนงานสองหมื่นคน คนแบบนี้ถ้าเราจะเอาความร่วมมือด้วยการข่มเหงรังแกบีบคั้นไปตบตีก็จะได้อะไรไม่หมด หรือไม่ได้เลย ระหว่างทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ได้แวะตลาดพามันลงไปกินข้าว ไม่ใส่กุญแจมือ ผมเชื่อว่าลูกน้องผมเอาอยู่ นั่งขนาบกันไว้ไม่มีคุยเรื่องเรียกค่าไถ่ พอมาถึงประตูน้ำพระอินทร์ ผู้ต้องหาอดรนทนไม่ได้พูดขึ้นมาเองว่า ทำไมท่านไม่ถามเลยครับ ผมบอกลื้อกับอั๊วนักเลงเหมือนกัน เดี๋ยวลื้อก็เล่าให้อั๊วฟังหมดแหละ”นายพลตำรวจรุ่นเก่าบอกเทคนิค

ในที่สุด คนร้ายยอมพาไปจับเพื่อนร่วมแก๊งที่เหลือทั้งหมด “ผมมีข้อตกลงกันว่า คดีที่จับจับนายห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เขาไม่ยอมไปแจ้งความ อีกหลายรายเราก็รู้ เอาอย่างนี้ เราต้องการเงินคุณนงนุชคืนอย่างเดียว ถ้าลื้อฝากคนละบัญชี อั๊วจะไม่ไปแตะ คนร้ายเชื่อในความเป็นนักเลงของผมพาไปจับเพื่อนร่วมแก๊งก่อนเบิกเงินมาคืน แก๊งนี้ใหญ่มาก คุมการ์ดในสนามบินเลือกเหยื่อที่ล้วนเป็นนักธุรกิจดังของเมืองไทย คดีนงนุช ตันสัจจา มือปืนระดับเหรียญทองกรมตำรวจยังถูกยิงตาย คดียาก ๆ แบบนี้ ผมชอบการเอาชนะโดยไม่ต้องรบ ตำรวจที่ซ้อมคนร้ายให้สารภาพถึงได้ข้อมูลนิดเดียว ผมไม่เคยใช้กำลัง แสดงน้ำใจอย่างเดียว คนที่รับสารภาพกับผมต้องมากราบเท้าผมทุกคน”

ท้ายสุด พล.ต.อ.สล้างอยากให้ประชาชนเห็นใจ เรื่องวิสามัญฆาตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นกับประเทศไทยมากที่สุด ไม่มีอะไรดีกว่าตราบใดเรายังแก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทยไม่ได้ ส่วนตำรวจรุ่นใหม่อยากให้จำไว้ว่า ครูของเรา คือพวกจ่า พวกตำรวจเก่า มีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเป็นครู ความรู้ตอนนี้แหละจะบ่งบอกว่าเป็นตำรวจที่ดีได้อย่างไร จะเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนที่เก่งอย่างไร ไม่ใช่ตอนต้นสมัยอยู่โรงเรียน

“ที่น่าวิตกสำหรับองค์กรตำรวจยุคนี้ คนที่อยู่กับนักการเมืองขึ้นมารรวดเร็วเหลือเกิน มันทำงานไม่เป็น มันต้องหล่อหลอมมาทีละนิด ถ้าไปเดินตามนักการเมือง ทั้งชีวิตอยู่กับนักการเมืองหมดแล้วกลับมาเป็นใหญ่ มันไม่ใช่” อดีตนายตำรวจใหญ่ฝากให้คิด

สล้าง บุนนาค !!!

RELATED ARTICLES