ขอความกรุณา เมตตา ครับนาย

 

“เมื่ออาสามาเป็นตำรวจและปฏิญาณตนไว้แล้ว ก็ต้องเสียสละ” คำพูดของ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษกประจำหน่วยฝากถึงลูกน้องกลางสมรภูมิชุมนุมความขัดแย้งในความคิดทางการเมือง

แปลกดีที่ผู้เป็นนายยุคนี้ ชอบแก้ตัว แต่ ไม่แก้ไข

พล.ต.ต.ปิยะอ้างว่า นายตำรวจทุกคนเหนื่อยกับการทำงานทั้งสิ้น ตั้งแต่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ไม่ได้พัก

ถึงจะเหนื่อย แต่ก็ต้องสู้

ส่วน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ อีกโทรโข่งมือดีเร่งที่จะดับร้อน หรือ ราดน้ำมัน

“ถึงจะรู้สึกเหนื่อยในการทำงาน ถือเป็นเรื่องปกติ ทุกคนเหนื่อยเท่ากันทั้งสิ้น อยากให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ เกียรติของตำรวจ และไม่มีใครอยากให้ผู้ใต้บังคับบัญชาออกมาเหนื่อย” พ.ต.อ.กฤษณะว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นของ “ตำรวจชั้นผู้น้อย” กับสะท้อนไปไม่ถึง “หัวใจ” ของ “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่”

ผู้เป็นนายบางคน ใจแล้ง และ ใจแคบ

ชอบ “สั่งแห้ง” เป็น “อีแอบ” อยู่ข้างหลังฉากสมรภูมิรบ รอเวลา “วิ่งเต้น” เสนอหน้า หวังก้าวหน้าในชีวิตราชการ

“ขอความเมตตา กรุณา ครับนาย” จดหมายเปิดผนึกจากใจ คฝ. ได้รับคำตอบแทนทันควัน

เจ้าตัวเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ปัจจุบันอายุ 52  ปี ขอถือโอกาสเขียนจดหมายถึงผู้ยังคับบัญชาให้ทราบถึงความรู้สึกผู้ปฏิบัติ

แอ่นออกเปิดตัว ไม่เล่นบท “อีแอบ” ปล่อยพล่ามตามคีย์บอร์ด

ยกเอาคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2564 ถึงการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องมีอายุไม่เกิน 45 ปี มีสุขภาพแข็งแรง เนื่องจากมีเคสตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่มีอายุมากกว่า 50   ปี เสียชีวิตขณะหน้าที่

“ขณะนี้กระผมเองปัจจุบันมีอายุ 52 ปีอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องให้พักด้วย แต่กระผมก็ยังปฏิบัติหน้าที่มิเคยปริปากบ่นตลอดมา”

กระทั่งเคสปฏิบัติที่แยกดินแดง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เขาและชุดควบคุมฝูงชนสถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเหน็ดเหนื่อย เสียสละ ไม่ย่อท้อ มีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บหลายนาย

“ต้องขอบคุณกำลังใจจาก ผบ.พันที่ร่วม ว.4 โดยตลอด”

แต่มีคำสั่งให้ ว.14 กลับถึงที่ตั้งเกือบเที่ยงคืน เจ้าตัวมองว่า ผู้ใต้บังคับบัญชามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า บาดเจ็บหลายนาย เพราะโดนหนังสติ๊กยิง โดนก้อนหิน และโดนแก๊สน้ำตาที่ไหลมาตามกระแสลม จึงได้พิจารณาสั่งการให้กำลังพลโรงพักตัวเอง ที่ไปปฏิบัติภารกิจควบคุมคุมฝูงชนพักพื้นงดเว้นเวรยามเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อให้กำลังพลพักฟื้นร่างกาย สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และจะได้มีขวัญกำลังใจ

“ในการสั่งการครั้งนี้กระผมเองสั่งการโดยมิได้ปรึกษาผู้ใด เพราะดึกมากแล้ว”

ต่อมาเช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เขาได้รับคำสั่งทางไลน์ให้รายงานชี้แจงจากการงด ว.4 เพื่อให้กำลังพลได้พัก อ้างเหตุผลวา เวลาพักมากกว่า 8 ชั่วโมง

“ใช่ครับ มากกว่าแปดชั่วโมง ประมาณครึ่งชั่วโมง ครับท่าน” รองสารวัตรหัวหน้าชุดควบคุมฝูงชนบอก

เขาอธิบายว่า ต้องออกจากโรงพักเวลา 10 โมงเช้า หากนับเวลาที่ไปปฏิบัติหน้าที่มากกว่า 10 ชั่วโมง ทำไมไม่หาคนมาสับเปลี่ยนกำลังตามช่วงเวลาเหมือนการปฏิบัติหน้าที่บนโรงพัก พวกเขาจะได้มีเวลาพักและเข้าเวรปกติได้

หากไม่มีกรณีปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เขาไม่เคยสั่งให้งดเวรยามแต่อย่างใด

“นี่หรือคือ รางวัลที่พวกเราชาว คฝ.ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ไม่เคยปริปากบ่น นอนกลางดิน กินกลางทรายและแดดร้อน ๆ พื้นถนนร้อน ๆ โดยบอกว่า มีเวลาพักต่อเนื่องเวรกินเวลาเกินกว่า 8 ชั่วโมง”

ยอมรับครับ ผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ ท้อแท้ใจ หมดกำลังใจในการปฏิบัติงาน

เจ้าตัวย้ำว่า ถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมาได้ 5 เดือนแล้ว นับจากวันที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ  ในเรื่องสับเปลี่ยนกำลังพลทั้งในระดับสถานี และกองบังคับการ

เขากังวลเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียกำลังพลดังที่เคยเกิดมาแล้ว

ไม่ได้ใจเสาะ เปราะบาง

“ขอความเมตตา กรุณา ครับนาย”

สุดท้าย “ผู้เป็นนาย” ตอบแทนได้สาสม

เป็นคารม “ผสมยาพิษ” หาใช่ “ยาบำรุงหัวใจ “

RELATED ARTICLES